วันที่ 5 มี.ค. 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุมทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ “ตะวัน” นักศึกษาและนักกิจกรรมวัย 20 ปี จากกลุ่มมังกรปฏิวัติ ขณะไปยืนไลฟ์สดก่อนมีขบวนเสด็จบริเวณถนนราชดำเนินนอก ก่อนนำตัวตระเวนไป สน.พญาไท และสโมสรตำรวจ โดยไม่ให้ทนายความเข้าพบเกือบ 2 ชั่วโมง ก่อนมีการแจ้งข้อกล่าวหารวม 5 ข้อหา โดยมีข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามมาตรา 112 เป็นข้อหาหลัก อ้างว่าทานตะวันกล่าวไลฟ์สดขณะถูกจับกุม มีเนื้อหา “ด้อยค่า” พระมหากษัตริย์
หลังคุมตัวสองคืน ศาลอาญาให้ประกันตัวภายใต้เงื่อนไขห้ามการกระทำการในลักษณะที่ถูกกล่าวหาอีก และให้ติดกำไล EM ซ้ำยังมีตำรวจ สน.ปทุมวัน เข้าแจ้งข้อหา ม.112-116 เพิ่มเติมอีกคดีหนึ่ง เหตุทำกิจกรรมทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จที่บริเวณห้างสยามพารากอน ตำรวจนัดหมายไปขอฝากขังที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ในวันพรุ่งนี้ต่อไป
.
ตร.คุมตัวตระเวนไป สน.พญาไท–บช.ปส. ไม่ใช่ท้องที่เกิดเหตุ ปฏิเสธไม่ให้ทนายพบเกือบ 2 ชั่วโมง
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเวลาประมาณ 18.14 น. ทานตะวันได้ไลฟ์สดทางเฟซบุ๊กส่วนตัวอยู่บริเวณทางเท้าบนถนนราชดำเนินนอก ตรงข้ามกับสำนักงานอาคารสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ (UN) ต่อมาได้มีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบทยอยกันเข้ามาล้อมตัวเธอ โดยพยายามไม่ให้เธอไลฟ์สด อ้างว่าจะมีขบวนเสด็จผ่านบริเวณนี้ และพยายามเชิญเธอออกจากบริเวณดังกล่าว
เจ้าหน้าที่ที่เข้าพูดคุยนำโดย พ.ต.อ.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ ผู้กำกับ สน.นางเลิ้ง ในชุดเครื่องแบบตำรวจรับเสด็จ พร้อมมีการนำกำลังเจ้าหน้าที่กองร้อยน้ำหวาน เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่เป็นชายฉกรรจ์ขับรถจักรยานยนต์เข้ามาล้อมกรอบ รวมกันมากกว่า 50 นาย ส่วนตะวันได้พยายามสอบถามตำรวจกรณีการให้ม็อบชาวนาย้ายออกจากพื้นที่ชุมนุม เพราะมีขบวนเสด็จ
ก่อนเวลาประมาณ 18.25 น. เจ้าหน้าที่กองร้อยน้ำหวานได้เข้าควบคุมตัวทานตะวันขึ้นรถตำรวจ โดยผู้กำกับ สน.นางเลิ้ง กล่าวอ้างว่าเธอขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน บนรถได้มีเจ้าหน้าที่หญิงขึ้นนั่งประกบเธอ และพาตัวไปยัง สน.พญาไท ซึ่งไม่ใช่ท้องที่เกิดเหตุ
เวลา 18.40 น. เมื่อถูกนำตัวมาถึง สน.พญาไท ทานตะวันปฏิเสธไม่ยินยอมลงจากรถของตำรวจ โดยยืนยันว่าตนไม่ได้กระทำความผิดใด แม้เจ้าหน้าที่พยายามเกลี่ยกล่อม ต่อมาได้มีประชาชนและผู้สื่อข่าวอิสระทยอยติดตามไปยังสถานีตำรวจ
จนเวลา 19.12 น. เมื่อทานตะวันยังไม่ยอมลงจากรถ เจ้าหน้าที่ชายนอกเครื่องแบบได้เข้าใช้กำลังเข้ากระชากโทรศัพท์มือถือของเธอซึ่งทำการไลฟ์สดอยู่ ก่อนมีเจ้าหน้าที่ขับรถพาตัวออกจาก สน.พญาไท ทันที โดยไม่มีการแจ้งว่าจะนำตัวไปที่ใด และทานตะวันไม่สามารถใช้เครื่องมือสื่อสารติดต่อใครได้ระหว่างถูกควบคุมออกไปนี้
เวลาประมาณ 19.45 น. หลังมีผู้สื่อข่าวอิสระเดินทางติดตามรถตำรวจไป จึงพบว่าทานตะวันถูกนำตัวไปยังกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ซึ่งอยู่ภายในสโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดี-รังสิต
แต่เมื่อทนายความเดินทางไปถึง บช.ปส. ในเวลาประมาณ 20.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับไม่อนุญาตให้ทนายความพบกับทานตะวัน และไม่อนุญาตให้ติดต่อใดๆ อ้างว่าต้องรอคำสั่ง “นาย” ก่อน จึงจะให้เข้าไปได้ ทั้งที่เป็นสิทธิของผู้ถูกจับกุมในการได้พบและปรึกษาทนายความหรือผู้ไว้วางใจ
หลังการรอคอยเป็นเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง เวลา 21.48 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้อนุญาตให้ทนายความคนเดียวเข้าไปพบกับทานตะวัน แต่ไม่อนุญาตให้มีผู้ไว้วางใจหรือคนอื่นๆ ติดตามเข้าไป
.
.
ตร.แจ้งข้อหา “ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง–ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน” ส่วนตะวันมีรอยแผลฟกช้ำหลังถูกจับ
เมื่อทนายความติดตามเข้าไป พบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เริ่มจัดทำบันทึกจับกุมไปก่อนแล้ว โดยมีการแจ้งข้อกล่าวหา 2 ข้อหา ได้แก่ “ทราบคำสั่งเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 (อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท) และข้อหา “ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 (อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท)
พฤติการณ์จับกุมอ้างว่าระหว่างเจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยรัชกาลที่ 10 ซึ่งเสด็จปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่วัดเทพศิรินทร์ พบว่าผู้ถูกจับกุมได้ไฟล์สดทางสื่อโซเชียล โดยกระทำบริเวณที่เกิดเหตุใกล้กับเส้นทางเสด็จ เจ้าพนักงานเห็นว่าเป็นการกระทำไม่สมควรและอาจเกิดผลกระทบต่อการถวายความปลอดภัยและการถวายพระเกียรติ จึงได้สั่งให้ผู้ถูกจับกุมหยุดการกระทำดังกล่าว แต่ผู้ถูกจับกุมไม่ปฏิบัติตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร พ.ต.อ.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิง 3 นาย เข้าควบคุมตัว แต่ผู้ถูกจับกุมได้ขัดขืนโดยการใช้เท้าถีบเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ
เจ้าหน้าที่ตำรวจยังอ้างว่า การกระทำของทานตะวันอาจเข้าข่ายความผิดฐานอื่นด้วย จึงได้ทำการตรวจยึดโทรศัพท์มือถือจำนวน 1 เครื่อง เพื่อทำการตรวจสอบ และยังอ้างว่าการควบคุมตัวผู้ต้องหา อาจมีกลุ่มมวลชนที่สนับสนุนหรือคัดค้านช่วยเหลือหรือทำอันตรายผู้ถูกจับกุม จนเกิดเหตุวุ่นวายจนเป็นอุปสรรคขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ จึงได้นำตัวทานตะวันไปที่ บช.ปส.
ทานตะวันได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม เนื่องจากเจ้าพนักงานได้ยึดโทรศัพท์มือถือโดยไม่มีเหตุอันควร และไม่แจ้งว่าจะพาตัวผู้ถูกจับกุมไปที่ใด
จากนั้น เวลาประมาณ 1.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่ายังไม่ได้ตรวจร่างกายของผู้ต้องหา และต้องตรวจสอบว่ายังมีการกระทำเข้าข่ายข้อหาอื่นๆ หรือไม่ จึงไม่ปล่อยตัวทานตะวันหลังแจ้งข้อกล่าวหา โดยเบื้องต้นพบว่าทานตะวันมีบาดแผลรอยช้ำบริเวณแขนข้างขวา อันเนื่องจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่ด้วย
นอกจากนั้น ยังมีรายงานว่าในช่วงกลางคืน ทานตะวันได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวไปคุมขังในห้องขังรวมกับผู้ต้องขังคดียาเสพติดรายอื่นๆ ภายใน บช.ปส. โดยไม่ได้มีอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในสถานที่ห้องขังที่มีความคับแคบ
.
.
แจ้งข้อหา ม.112-พ.ร.บ.คอมฯ เพิ่มอีก อ้างกล่าวถ้อยคำในไลฟ์มีเนื้อหาด้อยค่ากษัตริย์
วันที่ 6 มี.ค. 2565 เวลา 11.40 น. หลังทนายความเดินทางเข้าไปพบทานตะวันใน บช.ปส. อีกครั้ง ได้รับทราบจากเจ้าหน้าที่ว่าได้รับคำสั่งให้แจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 เพิ่มเติมกับทานตะวัน โดยให้รอพนักงานสอบสวนของ สน.นางเลิ้ง เดินทางมาแจ้งข้อกล่าวหาในช่วงบ่าย
ต่อมา พ.ต.ท.สำเนียง โสธร รองผู้กำกับสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อทานตะวัน ภายใน บช.ปส. ใน 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) และ มาตรา 14 (3)
พฤติการณ์ข้อกล่าวหาระบุว่าทานตะวันได้ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 ตั้งแต่เวลาประมาณ 18.14 น. โดยเปิดเป็นสาธารณะ เพื่อถ่ายทอดสดขบวนเสด็จ เจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นว่าไม่เหมาะสมจึงได้ตักเตือนให้หยุดการถ่ายทอดสด แต่ผู้ต้องหากลับฝ่าฝืน และไม่หยุดถ่ายทอด กลับใช้คำพูดอธิบายในขณะทำการถ่ายทอดสด ลักษณะเสียดสีว่าในขบวนเสด็จมีม้ามาด้วย ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจม้า มาทำหน้าที่ถวายความปลอดภัย ผู้ต้องหาได้ใช้คำพูดไม่เหมาะสม จนเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ห้าม และขอให้ออกจากพื้นที่ แต่ผู้ต้องหาก็ยังดื้อดึงที่จะฝ่าฝืนกระทำต่อไป
เจ้าหน้าที่ยังกล่าวหาอ้างว่าทานตะวันได้บรรยายถ้อยคำขณะไลฟ์สดที่อ้างว่าเป็น “การท้าทายและยั่วยุ” เจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยผู้ต้องหาไม่ยอมหยุด เจ้าหน้าที่จึงได้จับกุมตัว นำตัวไปที่ทำการของพนักงานสอบสวน (โดยข้อเท็จจริงไม่ได้มีการนำตัวไปที่ สน.นางเลิ้ง ซึ่งเป็นที่ทำการของพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด) จากนั้นจึงนำตัวไป สน.พญาไท เจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าระหว่างนั้นทานตะวันยังไม่หยุดไลฟ์สด แต่ได้บรรยายต่อว่า
“…เพียงแค่คนคนเดียวเสด็จต้องย้ายม็อบชาวนาที่เขามาเรียกร้อง เขาต้องการให้คนลงมาฟังปัญหาของเขา มาแก้ปัญหาของเขา แต่ไม่มีใครคิดได้สักคนว่า ต้องไปฟังปัญหาเขา แก้ปัญหาเขา แล้วก็ไปไล่เขาออก มันทำไมนักหรอคะ กะอีแค่ผ่านแล้วเห็นชาวบ้านเนี่ย เห็นชาวบ้านที่เขาเดือดร้อนเนี่ย คนที่เขาให้ภาษี คนที่เขาจ่ายภาษีให้พวกพี่เนี่ย คนที่เขาจ่ายภาษีที่พระมหากษัตริย์เขาใช้เนี่ย พี่รับใช้ใครอยู่คิดสิคิด หนูมาคนเดียว เมื่อกี้มากันกี่คน เป็น 50 คน 60 คน เลยมั้ง นั่นหน่ะ อารักขาความปลอดภัยอะไร ไปรักษาประชาชนนู่น ม็อบชาวบ้านเขาต้องย้าย เขามานานเท่าไหร่แล้ว เขามาร้อนๆ เนี่ย พระมหากษัตริย์พี่อ่ะอยู่ที่ไหน มาฟังความเดือดร้อนประชาชนไหม เขากลับมาไทยเนี่ย เขามาฟังบ้างไหม กะอีแค่เสด็จผ่านแล้วจะเห็นเข้าเนี่ย แทนที่จะไปคุยว่าปัญหามันคืออะไร จะช่วยแก้กันยังไง ให้ประเทศชาติมันเจริญ ไปไล่เขาออก ไปลากเขาออก คิดดิ คิดไม่ได้แล้วจะมาเป็นตำรวจทำไม ต้องเรียน เรียนมารับใช้ประชาชนไม่ใช่หรา หรือรับใช้องค์ราชัน แค่นี้ยังคิดไม่ได้เลย..”
ตำรวจกล่าวหาต่อไปว่า ผู้ต้องหาได้พูดว่า “…ก็จำเอาไว้ว่าม็อบชาวนาต้องย้ายแทนที่จะไปฟังปัญหาเขา แทนที่จะไปฟังปัญหาเขา แต่กลับไล่เขาออก เพียงเพราะมีคนคนเดียวเสด็จ ก็จำเอาไว้ละกัน ระหว่างประชาชนกับพระมหากษัตริย์อ่ะ ใครมันสำคัญกว่ากัน”
ผู้กล่าวหาอ้างว่าคำพูดดังกล่าว สื่อความหมายว่า ผู้พูดเห็นว่ากลุ่มผู้ชุมนุมที่เป็นชาวนาซึ่งมีจำนวนหลายคน มีความสำคัญมากกว่าพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นบุคคลเพียงคนเดียว กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ควรจะต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นในขณะที่พระมหากษัตริย์เสด็จผ่านเส้นทางนั้น พระมหากษัตริย์ควรเข้าไปรับฟังปัญหาของกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็นในเชิงตัดพ้อ ทั้งยังเป็นการด้อยค่าพระมหากษัตริย์ ว่าพระมหากษัตริย์ไม่มีความสำคัญ
ตำรวจกล่าวหาต่อไปว่า ผู้ต้องหาได้พูดว่า “…กะอีแค่ผ่านแล้วเห็นชาวบ้านเนี่ย เห็นชาวบ้านที่เขาเดือดร้อนเนี่ย คนที่เขาให้ภาษี คนที่เขาจ่ายภาษีให้พวกพี่เนี่ย คนที่เขาจ่ายภาษีที่พระมหากษัตริย์เขาใช้เนี่ย พี่รับใช้ใครอยู่ คิดสิคิด…”
ผู้กล่าวหาอ้างว่าคำพูดดังกล่าว สื่อความหมายว่าตำรวจต้องรับใช้ชาวบ้าน เนื่องจากชาวบ้านเป็นผู้จ่ายเงิน (ภาษี) ให้กับตำรวจ ทั้งยังจ่ายเงิน (ภาษี) ให้พระมหากษัตริย์นำไปใช้อีกด้วย ซึ่งถ้อยคำดังกล่าว เป็นการพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ในทางเสื่อมเสีย กล่าวหาว่าพระมหากษัตริย์นำเงินของชาวบ้านไปใช้ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนทั่วไปที่ได้เข้าชมการเผยแพร่ภาพสดดังกล่าว เสื่อมศรัทธาต่อพระมหากษัตริย์ ทำให้พระมหากษัตริย์ทรงถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง ถือเป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และเป็นการกระทำที่มิบังควร จาบจ้วง ล่วงเกิน ทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท
ตำรวจกล่าวหาต่อไปว่า ผู้ต้องหาได้พูดว่า “…พระมหากษัตริย์พี่อ่ะอยู่ที่ไหน มาฟังความเดือดร้อนประชาชนไหม เขากลับมาไทยเนี่ย เขามาฟังบ้างไหม กะอีแค่เสด็จผ่านแล้วจะเห็นเข้าเนี่ย แทนที่จะไปคุยว่าปัญหามันคืออะไร จะช่วยแก้กันยังไงให้ประเทศชาติมันเจริญ…”
ผู้กล่าวหาอ้างว่าคำพูดดังกล่าว สื่อความหมายว่าพระมหากษัตริย์ไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งเป็นการพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ในทางเสื่อมเสีย อาจทำให้ประชาชนทั่วไปที่ได้เข้าชมการเผยแพร่ภาพสดดังกล่าว เสื่อมศรัทธาต่อพระมหากษัตริย์ ทำให้พระมหากษัตริย์ทรงถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง ถือเป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และเป็นการกระทำที่มิบังควร จาบจ้วง ล่วงเกิน ทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท
ผู้กล่าวหาอ้างว่าคำพูดทั้งหลายที่ผู้ต้องหามีการบรรยายประกอบในขณะถ่ายทอดสดสู่สาธารณะ ไปยังผู้ฟังทั้งหลาย โดยมีเจตนาพิเศษ เพื่อให้ผู้ที่รับฟังมีความคิดและเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เป็นการด้อยค่าต่อพระมหากษัตริย์ ว่าพระมหากษัตริย์เป็นปัญหาและเป็นเหตุให้กลุ่มม็อบชาวนาต้องเคลื่อนย้าย ทั้งความจริงไม่ถูกต้อง เนื่องจากกลุ่มม็อบชาวนาที่มาเรียกร้องบริเวณดังกล่าว ส่วนใหญ่มีความจงรักภักดี และพอทราบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าจะมีเส้นทางเสด็จ ทุกคนก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือขยับออกจากพื้นที่เส้นทาง แต่การที่ผู้ต้องหามีการบรรยายให้เกิดการเข้าใจผิด ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมต้องถูกไล่ออก หรือถูกลากออกเพราะขบวนเสด็จนั้นเป็นเรื่องเท็จ ที่ผู้ต้องหาได้พูดลงในการถ่ายทอดสดผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 และการกระทำของผู้ต้องหามีเจตนาเล็งเห็นผล หรือประสงค์ต่อผล ว่าถ้อยคำในการบรรยายขณะถ่ายทอด มีลักษณะเป็นการด้อยค่าต่อพระมหากษัตริย์ และประชาชนทั่วไปที่รับฟังรับชมการถ่ายทอดสดของผู้ต้องหา ที่มีความรู้ความเข้าใจไม่เท่ากัน เกิดความเข้าใจผิดต่อพระมหากษัตริย์ มีความคิดด้อยค่าดูหมิ่นเกลียดชังต่อพระมหากษัตริย์ได้
หลังรับทราบข้อกล่าวหา ทานตะวันได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายใน 30 วัน และปฏิเสธจะลงลายมือชื่อใดๆ ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม
จากนั้น พนักงานสอบสวนไม่อนุญาตให้ประกันตัวทานตะวันในชั้นสอบสวน แต่จะยื่นขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลอาญาในวันรุ่งขึ้น ทำให้เธอต้องถูกควบคุมตัวที่ บช.ปส. อีกหนึ่งคืน โดยมีรายงานว่าเธอถูกนำตัวไปควบคุมร่วมกับผู้ต้องหาในคดียาเสพติดอื่นๆ เช่นเดิมกับคืนก่อนหน้า
.
.
ศาลให้ประกันตัว กำหนดเงื่อนไขห้ามทำกิจกรรมเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ พร้อมให้ติดกำไล EM
วันที่ 7 มี.ค. 2565 พนักงานสอบสวนได้ยื่นขอฝากขังทานตะวันต่อศาลอาญา ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ศาลได้อนุญาตให้ฝากขัง ทนายความได้ยื่นขอประกันตัว
ต่อมาศาลอาญาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์ 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้ผู้ต้องหากระทำในลักษณะแบบเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ หรือเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และกิจกรรมหรือการกระทำใดๆ ในอันที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมกับให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็คทรอนิกส์ (EM) โดยให้มาดำเนินการภายในวันที่ 8 มี.ค. ศกนี้
ผู้พิพากษาผู้สั่ง ได้แก่ นายชาญชัย ณ พิกุล
.
.
ตร.สน.ปทุมวัน เข้าแจ้งข้อหา ม.112-116 “ตะวัน” อีกคดี เหตุกิจกรรมทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ
ขณะเดียวกันในช่วงสาย ระหว่างทานตะวันถูกควบคุมตัวอยู่ที่ บช.ปส. ได้มีพนักงานสอบสวนจาก สน.ปทุมวัน เข้าแจ้งข้อกล่าวหาในอีกคดีหนึ่ง จากกรณีกิจกรรมทำโพลสอบถามความคิดเห็นว่า “ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่” ที่บริเวณลานหน้าห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565
จากการตรวจสอบพบว่าตำรวจเพิ่งมีการออกหมายเรียกทานตะวันให้ไปพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 10 มี.ค. 2565 โดยระบุว่าคดีมี พ.ต.ท.นพดล สินศิริ กับพวก เป็นผู้กล่าวหา ร.ต.ท.ปาณัสม์ กลิ่นขจร รองสารวัตรสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้เดินทางเข้าแจ้งข้อกล่าวหาก่อนในวันนี้ทันที
คดีนี้ ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 4 ข้อหา ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, ข้อหาขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 และข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368
พฤติการณ์ข้อกล่าวหาระบุถึงกิจกรรม “คุณคิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่?” เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 โดยกลุ่มทะลุวัง ที่บริเวณห้างสยามพารากอน โดยกล่าวหาว่าทานตะวันพร้อมกับนักกิจกรรมคนอื่นๆ ได้ร่วมกันชูป้ายข้อความ และเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ด้วยการนำสติกเกอร์สีเขียว ไปติดในช่องข้อความคำว่า “เดือดร้อน” และ “ไม่เดือดร้อน” โดยมีการเดินไปทำกิจกรรมยังที่ต่างๆ
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามปิดกั้นไม่ให้เดินไปทำกิจกรรมที่บริเวณด้านหน้าวังสระปทุม แต่ผู้ต้องหาได้ผลักดันแนวกันของตำรวจ โดยมี พ.ต.อ.พันษา อมราพิทักษ์ ผู้กำกับ สน.ปทุมวัน ได้ประกาศให้ผู้ต้องหาและพวกออกไปจากบริเวณนี้ แต่ผู้ต้องหายังฝ่าฝืนจัดกิจกรรมต่อไป โดยผู้เข้าร่วมที่ได้ด่าทอเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อนมีการแยกย้ายและออกจากบริเวณดังกล่าวไป ผู้กล่าวหาจึงได้มาร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา
ทั้งนี้พฤติการณ์ข้อกล่าวหา ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าส่วนใดของกิจกรรมดังกล่าวที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามข้อหามาตรา 112 และมาตรา 116
ทานตะวันได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป
จากนั้น พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้ลงบันทึกประจำวันไว้ และได้นัดหมายไปยื่นขอฝากขังผู้ต้องหาที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ในวันพรุ่งนี้่ (8 มี.ค. 2565) ต่อไป เวลา 16.40 น. ทานตะวันจึงได้เดินทางกลับออกจาก บช.ปส.
การแจ้งข้อหามาตรา 112 ในอีกสองคดีดังกล่าว ทำให้สถิติคดีข้อหานี้นับตั้งแต่การชุมนุมเยาวชนปลดแอกเป็นต้นมา เพิ่มขึ้นเป็นไม่น้อยกว่า 188 คดี และมีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 174 คน แล้ว
>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-65
.
.
ศาลอาญากรุงเทพใต้ให้ประกันตัว พร้อมเงื่อนไข 5 ข้อ
วันที่ 8 มี.ค. 2565 หลังทานตะวันเดินทางมารายงานตัวกับพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ตำรวจได้ยื่นขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาล และศาลได้อนุญาตให้ฝากขัง ก่อนทนายความจะยื่นขอประกันตัวทานตะวัน
ต่อมาเวลา 15.30 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันตัวจำนวน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว ได้แก่
1. ห้ามทำกิจกรรมหรือการกระทำใดที่อาจเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
2. ห้ามโพสต์เชิญชวน ปลุกปั่น ยั่วยุ ชักจูงประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมในสื่อโซเชียลมีเดีย หรือร่วมชุมนุมที่อาจก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง
3. ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล
4. ให้ติดอุปกรณ์กำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM)
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาในคดีนี้รวม 9 ราย ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุย่าง 15 ปี หนึ่งราย โดยนอกจากทานตะวัน มีกำหนดให้ผู้ถูกออกหมายเรียกรายอื่นๆ อีก 8 ราย เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ปทุมวัน ในวันที่ 10 มี.ค. 2565 นี้ โดยตำรวจระบุว่าจะแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 และมาตรา 116 ต่อทุกคน และเตรียมจะยื่นขอฝากขังต่อศาลทั้งหมดด้วย
.