แจ้ง ม.112-116 “สื่ออิสระ” อีก 2 ราย เหตุไลฟ์สดกิจกรรมทำโพลขบวนเสด็จ ตร.ส่งฝากขังทั้งที่มาตามหมาย ศาลให้ประกัน ติด EM

เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2565 ที่ สน.ปทุมวัน วรเวช (สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี สื่ออิสระจากเฟซบุ๊กเพจ ‘ปล่อยเพื่อนเรา‘ และ “นุ้ย” (สงวนชื่อสกุล) อายุ 48 ปี สื่ออิสระจากยูทูป ‘ศักดินาเสื้อแดง‘ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียก ในข้อหาหลักตามมาตรา 112 และมาตรา 116 จากกรณีร่วมกิจกรรมทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ บริเวณห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565

คดีนี้ ก่อนหน้านี้มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อนักกิจกรรมและประชาชนไปแล้วรวม 7 ราย ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุ 15 ปี 1 ราย ตำรวจได้ยื่นขอฝากขังผู้ต้องหาทุกคน แม้จะมาพบตามหมายเรียก และศาลอนุญาตให้ฝากขัง แม้ทนายความได้ยื่นคัดค้านการฝากขัง ก่อนจะให้ประกันตัว โดยการติดกำไล EM และกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว

>> ตร.จับ “ตะวัน” ไลฟ์สดก่อนมีเสด็จ คุมตัวแจ้ง ม.112 อ้างกล่าว “ด้อยค่า” กษัตริย์ ซ้ำแจ้งเพิ่มอีกคดี กรณีทำโพลความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ

>> ตร.แจ้ง ม.112-116 ต่อ 5 ประชาชน-1 เยาวชน เหตุทำโพลความเดือดร้อนขบวนเสด็จ ศาลรับฝากขัง เรียกเงินประกันรวม 1,020,000 บาท ภายใต้เงื่อนไข

.

ร.ต.ท.ปาณัสม์ กลิ่นขจร ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อทั้งสองคน ระบุข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับคนอื่นๆ คือการร่วมกิจกรรมของกลุ่มทะลุวัง ทำโพลสำรวจในประเด็นว่า “คุณคิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่?” โดยให้ประชาชนนำแผ่นสติ๊กเกอร์สีเขียวไปร่วมแปะในช่องข้อความว่า “เดือดร้อน” หรือ “ไม่เดือดร้อน”

พนักงานสอบสวนกล่าวหาว่า วรเวชได้ทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายวิดีโอในไลฟ์สดเหตุการณ์ตามจุดต่างๆ ก่อน “นุ้ย” มาเข้าร่วมกิจกรรมด้วย และได้ไลฟ์สดกิจกรรมเช่นกัน

จากนั้น ผู้ทำกิจกรรมได้พยายามเดินไปที่ด้านหน้าวังสระปทุม ตำรวจกล่าวหาว่ามีการพยายามผลักดันแนวกั้นของตำรวจ และฝ่าฝืนจะทำกิจกรรมต่อไป โดยนุ้ยด่ากล่าวถ้อยคำด่าทอเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่พยายามเข้าอุ้มตัวนักกิจกรรมที่เป็นผู้หญิง

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาทั้งสองคน ได้แก่ “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามมาตรา 112, “ยุยงปลุกปั่นฯ” ตามมาตรา 116, ร่วมกันขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ โดยร่วมกันกระทำตั้งแต่สามคนขึ้นไป ตามมาตรา 138 ประกอบมาตรา 140, ร่วมกันฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 368 เฉพาะ “นุ้ย” ตำรวจยังได้แจ้งข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ตามมาตรา 136 อีก 1 ข้อหาด้วย

พฤติการณ์ข้อกล่าวหาไม่ได้มีการระบุแน่ชัดว่าส่วนใดของกิจกรรมที่เข้าข่ายองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 และมาตรา 116

ทั้งสองคนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน 

หลังการแจ้งข้อกล่าวหา ร.ต.อ.ปาณัสม์ กลิ่นขจร พนักงานสอบสวน ได้ยื่นขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ แม้ทั้งสองคนจะมาตามหมายเรียก และไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี โดยอ้างว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีก 10 ปาก และรอผลตรวจลายนิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา

พนักงานสอบสวนยังคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา โดยอ้างว่าผู้ต้องหาได้ร่วมกันกระทำ “ความผิด” กับทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ซึ่งเป็นนักจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองในระยะที่ผ่านมา และมีพฤติการณ์จะไปยุ่งเหยิงต่อพยานหลักฐานหรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าพฤติการณ์ดังกล่าวคืออะไร

ต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้ อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา แต่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้วางหลักทรัพย์คนละ 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมให้ติดกำไล EM โดยอ้างว่า “เพื่อป้องกันการหลบหนี” และกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว ได้แก่

1. ห้ามกระทำกิจกรรมหรือกระทำการใด หรือกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหา ที่อาจทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

2. ห้ามโพสต์ข้อความปลุกปั่น ยั่วยุ ชักชวนให้มีการร่วมกิจกรรมชุมนุมในสื่อโซเชียลมีเดีย หรือเข้าร่วมกิจรรมชุมนุมที่อาจก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง

คำสั่งประกันตัวลงนามโดย นายมนัส ภักดิ์ภูวดล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้

.

ทั้งนี้ ระหว่างทั้งสองคนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ปทุมวัน ยังได้ขอแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน ร่วมกับสื่ออิสระอีก 3 ราย ในกรณีเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2565 มีเพจเฟซบุ๊กชื่อ “Dr.X” โพสต์ข้อความและภาพของตนเอง พร้อมระบุว่าเป็น “ขบวนล้มเจ้า” และ “เตรียมป่วนขบวนเสด็จ #พระเทพ” โดยภาพถ่ายของผู้เสียหายทั้ง 5 คน มีลักษณะเป็นภาพที่ถูกนำส่งออกมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

ทั้งหมดจึงต้องการแสดงตนว่าไม่ได้มีเจตนาตามที่เฟซบุ๊กดังกล่าวกล่าวหา ทั้งข้อความดังกล่าวยังเป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา โดยมีการใส่ความ เพื่อต้องการให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง

พ.ต.ท.สืบสกุล สิมะวรธรรมกุล สารวัตรสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้รับคำร้องทุกข์ไว้ และลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน โดยจะทำการสอบสวนต่อไป

ทั้งนี้จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ตั้งแต่หลังเยาวชนปลดแอกเป็นต้นมา ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบอย่างน้อย 183 ราย ในจำนวน 194 คดีแล้ว

.

X