อัยการสั่งฟ้องคดี ม.112-116 “สามราษฎรใต้” โพสต์ภาพสถานที่ในเมืองพัทลุง พร้อมใส่ข้อความการเมือง อ้างทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธากษัตริย์

เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2565 ที่ศาลจังหวัดพัทลุง สามสมาชิก “ราษฎรใต้” ได้แก่ ศุภกร ขุนชิต นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่, อลิสา บินดุส๊ะ สมาชิกกลุ่มนักกฎหมายอาสา “Law Long Beach” และชมพูนุท (สงวนนามสกุล) นักศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เดินทางเข้าฟังคำสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการจังหวัดพัทลุง ในข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามมาตรา 112, ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กรณีถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมกันขับขี่รถไปถ่ายภาพในตัวเมืองพัทลุง เมื่อช่วงกลางดึกวันที่ 24 พ.ย. 2563 และนำภาพถ่ายไปใส่ข้อความทางการเมืองโพสต์ลงในเพจเฟซบุ๊ก “พัทลุงปลดแอก” และ “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน”

คดีนี้ ตำรวจได้เข้าจับกุม ศุกภร ขุนชิต ถึงภายในมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2564 ขณะเขากำลังเพิ่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยอ้างหมายจับของศาลจังหวัดพัทลุง ก่อนนำตัวไปสอบสวนที่ สภ.เมืองพัทลุง ก่อนที่เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2564 อลิสาและชมพูนุทจะได้เดินทางเข้ามอบตัวหลังทราบว่าถูกออกหมายจับเช่นเดียวกัน โดยทั้งสามไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน ก่อนศาลจะให้ประกันตัวทั้งสามในชั้นสอบสวนระหว่างพนักงานสอบสวนยื่นขอฝากขัง โดยใช้ตำแหน่งของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ต่อมาวันที่ 6 ก.พ. 2565 พนักงานสอบสวน สภ.เมืองพัทลุง ได้จัดทำบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีนี้ใหม่ ตามที่ผู้ต้องหาร้องขอ เนื่องจากในบันทึกมอบตัวหรือบันทึกขอฝากขังเดิมนั้น ไม่มีการระบุพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาให้ชัดเจนว่าการกระทำใดที่เข้าข่ายข้อกล่าวหา ทำให้ผู้ต้องหาไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ทั้งยังมีการระบุวันที่เกิดเหตุผิดพลาด โดยระบุว่าเหตุเกิดวันที่ 24 ส.ค. 2563 ก่อนตำรวจจะมีการแก้ไขเป็นวันที่ 24 พ.ย. 2563 ในบันทึกข้อกล่าวหาใหม่นี้

จากนั้นวันที่ 14 ก.พ. 2565 ทั้งสามคนได้ยื่นขอความเป็นธรรมไปยังพนักงานอัยการ เพื่อขอให้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ แต่จนวันที่ 15 ก.พ. 2565 อัยการก็ได้มีคำสั่งฟ้องคดีนี้ทันที และทั้งสามได้เดินทางไปรับทราบคำสั่งฟ้องตามนัดหมาย

หลังทราบคำสั่งฟ้อง ทนายความได้ขอเลื่อนนัดสอบคำให้การมาเป็นวันที่ 21 ก.พ. 2565 นี้ และศาลมีคำสั่งอนุญาต อีกทั้งอาจารย์ที่เคยใช้ตำแหน่งประกันตัวทั้งสามคนในชั้นสอบสวน ติดภารกิจ ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ในวันนี้ และศาลไม่อนุญาตให้มอบอำนาจให้ทนายความดำเนินการแทนในเรื่องการประกันตัว จึงให้ในวันนัดสอบคำให้การ ให้นายประกันเดินทางมาศาลเพื่อทำสัญญาประกันตัวอีกครั้ง

ต่อมาในวันที่ 21 ก.พ. 2565 ศาลจังหวัดพัทลุงได้อ่านคำฟ้องคดีให้จำเลยทั้งสามฟัง ทั้งหมดยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลได้กำหนดวันนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานต่อไปในวันที่ 15 มี.ค. 2565 เวลา 13.30 น.

.

อัยการบรรยายฟ้องภาพและข้อความที่โพสต์ ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสถาบันกษัตริย์

สำหรับเนื้อหาคำฟ้องมีนางสาวอรอุษา สงจันทร์ พนักงานอัยการจังหวัดพัทลุง เป็นผู้เรียงฟ้อง โดยสรุประบุว่าเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2563 เวลากลางคืน จนถึงวันที่ 25 พ.ย. 2563 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันถ่ายรูปสถานที่ต่างๆ ที่เป็นเชิงสัญลักษณ์ อนุสรณ์สถาน พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ในท้องที่อำเภอเมืองพัทลุง แล้วนำไปตัดต่อพิมพ์ประกอบข้อความที่จัดทำขึ้น แล้วนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ผ่านเพจเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “พัทลุงปลดแอก” จำนวน 5 ภาพ โดยมีข้อความที่ประกอบภาพสถานที่ต่างๆ ได้แก่ “Land of Compromise ทำไมใช้ ม.112 #กษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ”, “ไปด้วยกัน ไปได้ไกล ไปด้วยความรักความสามัคคี”, “EAT THE RICH”, “คิดถึงยอด SCB ใจจะขาด” และ “เผด็จการจงพินาศ เป็ดก้าบ ก้าบ จงเจริญ”

ขณะเดียวกัน อัยการยังได้บรรยายฟ้องในส่วนที่อ้างว่าจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันถ่ายรูปสถานที่ต่างๆ ในท้องที่อำเภอเมืองพัทลุง แล้วนำไปตัดต่อพิมพ์ประกอบข้อความ โพสต์ในเพจเฟซบุ๊กชื่อว่า “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” จำนวน 15 ภาพ โดยมีข้อความที่ประกอบภาพสถานที่ต่างๆ ได้แก่ “เลียตีนให้ตายยศมึงก็ไม่เท่า ฟู ฟู #สุนัขทรงเลี้ยงด้วยภาษีประชาชน” “เผด็จการจงพินาศ เป็ดก้าบ ก้าบ จงเจริญ” “1 2 3 4 5 ไอ้เหี้ย…” “Land of Compromise ทำไมใช้ ม.112 #กษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ”, “#ภาษีกู #ภาษีกู #ภาษีกู”, “ก็เสียภาษีเหมือนกัน ทำไมถึงไม่มีรถไฟฟ้า ให้ดูที่บ้านเราบ้าง“, ภาพสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว, “จะปรับตัวทั้งที ช่วยมีสมองหน่อยน้า”, “กูสั่งให้มึงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ”, “3,008 ศพ ถีบลงเขา เผาลงถัง”, “#เราต้องช่วยกันเอาความจริงกันออกมา”, “King Killer”, “เราคือคนไทย เพราะเราถูกล่า อาณานิคม”, “ประชาชน=เจ้าของประเทศ” และ “30 นี้เจอกันแบบเบิ้มๆ ที่หอนาฬิกาหาดใหญ่”

พนักงานอัยการอ้างว่าภาพและข้อความดังกล่าวมีเจตนาพาดพิงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี เป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น ใส่ความ และแสดงความอาฆาตมาดร้ายและทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง และทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้

การโพสต์ภาพและข้อความดังกล่าวมิได้กระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ทั้งมีความมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระด่างในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรและเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินได้ อีกทั้งทำให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างร้ายแรง อันเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

หากจำเลยทั้งสามขอปล่อยตัวชั่วคราว อัยการระบุว่าขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล

.

ฐานข้อมูลคดี

คดี 112 “3 นักกิจกรรม ‘ราษฎรใต้'” เหตุโพสต์ภาพพร้อมข้อความแสดงออกทางการเมืองในเพจ “พัทลุงปลดแอก”

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

นักศึกษา ม.อ. ถูกล้อมจับคดี ม.112 เหตุถ่ายภาพจุดต่างๆ ในเมืองพัทลุง พร้อมใส่ข้อความการเมืองโพสต์ช่วงปี 63 ก่อนได้ประกันตัว

‘2 ราษฎรใต้’ เข้ามอบตัวคดี ม.112-116 ที่ สภ.เมืองพัทลุง ก่อนศาลให้ประกัน

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

.

X