วันที่ 13 มี.ค. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษา ในคดีของ “พรชัย วิมลศุภวงศ์” หนุ่มปกาเกอะญอวัย 38 ปี ที่ถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 สืบเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความ 4 ข้อความลงในเฟซบุ๊ก เมื่อช่วงปลายปี 2563 มีเนื้อหาสื่อถึงพระมหากษัตริย์ที่วางตนไม่เป็นกลาง เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง และเชิญชวนให้ไปร่วมการชุมนุมทางการเมืองในช่วงดังกล่าว
.
พรชัยถูกจับ-คุมขัง 44 วัน ก่อนได้ประกันออกมาต่อสู้คดี
คดีของพรชัยนี้มี เจษฎา ทันแก้ว อดีตการ์ดของกลุ่ม กปปส. เป็นผู้กล่าวหาเอาไว้ ย้อนกลับช่วงวันที่ 10 มี.ค. 2564 พรชัยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบมากกว่า 10 นายเข้าจับกุม ตามหมายจับของศาลจังหวัดเชียงใหม่ บริเวณหอพักย่านจังหวัดนนทบุรี ต่อมาพรชัยถูกพาตัวไปที่ สภ.รัตนาธิเบศร์ และมีการสอบสวนทันที โดยไม่มีทนายความเข้าร่วมด้วย ก่อนตำรวจ สภ.แม่โจ้ เจ้าของคดี จะมารับตัวพาไปยังจังหวัดเชียงใหม่ และมีการสอบปากคำอีกครั้งในช่วงกลางดึก โดยไม่มีทนายความเข้าร่วมเช่นกัน พรชัยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหามาโดยตลอด
วันถัดมา พนักงานสอบสวน สภ.แม่โจ้ ได้ยื่นขอฝากขังพรชัยต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยศาลอนุญาตให้ฝากขัง และยกคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องหา เป็นเหตุให้พรชัยถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางเชียงใหม่
วันที่ 12 มี.ค. 2564 ในระหว่างถูกคุมขัง พรชัยยังถูกพนักงานสอบสวน สภ.บันนังสตา จังหวัดยะลา เข้าแจ้งข้อกล่าวหาในเรือนจำ ข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อีกคดีด้วย โดยคดีนี้มี วัชรินทร์ นิวัฒน์สวัสดิ์ อดีตผู้ชุมนุม กปปส. เช่นกัน เป็นผู้ไปกล่าวหาไว้
ในห้วงเวลาโรคแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 พรชัยถูกขังอยู่ในเรือนจำกลางเชียงใหม่ ทำให้พบอุปสรรคอย่างมากในการใช้ชีวิตและการสื่อสารกับทนายความ หลังจากถูกขังเป็นเวลา 16 วันพรชัยได้ประกาศอดข้าว-อดน้ำ เพื่อประท้วงคำสั่งไม่ให้ประกันของศาล ก่อนจะตัดสินใจยุติการอดข้าว-น้ำ หลังอดไปได้ 3 วัน เนื่องจากปวดท้องอย่างหนัก
จนในวันที่ 21 เม.ย. 2564 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวพรชัย ทำให้เขาถูกคุมขังเป็นเวลารวม 44 วัน แต่หลังจากถูกปล่อยตัว เขาพบว่าตัวเองติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ต้องพักรักษาตัวต่อมา
.
ภาพรวมการสืบพยาน อัยการฟ้องโพสต์เฟซบุ๊ก 4 ข้อความ – จำเลยต่อสู้คดี ปฏิเสธไม่ใช่ผู้โพสต์
คดีนี้พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2564 บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า จำเลยนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยการโพสต์ข้อความและรูปภาพลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว จำนวน 4 ข้อความ ระหว่างวันที่ 18 ต.ค. 2563 ถึงวันที่ 19 พ.ย. 2563 ที่สื่อถึงพระมหากษัตริย์ใช้อำนาจไม่เป็นกลาง และยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งเป็นข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้ประชาชนเกิดความแตกแยก และเคลือบแคลงสงสัยในพระมหากษัตริย์
จำเลยต่อสู้ว่าไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความทั้ง 4 ข้อความ เนื่องจากเฟซบุ๊กของตนถูกแฮ็กในช่วงดังกล่าว และไม่เคยเห็นข้อความและรูปภาพตามที่โจทก์กล่าวหามาก่อน
วันที่ 6-7 และ 9 ธ.ค. 2565 เป็นวันนัดสืบพยาน อัยการโจทก์นำพยานเข้าสืบทั้งหมด 6 ปาก ได้แก่ 1. เจษฎา ทันแก้ว สมาชิกกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ผู้กล่าวหา 2. ผศ.ดร.สุนทร ยอดคำ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผู้ให้ความเห็น 3. ส.ต.ท.เมธาสิทธิ ยะผูก เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้รวบรวมพยานหลักฐาน 4. พ.ต.ท.ฤทธิ์ชัย บรรเลงสุวรรณ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ตรวจสอบข้อมูลเชื่อมโยงจำเลย 5. ร.ต.อ.สาริน อินต้อ พนักงานสอบสวน ผู้รวบรวมพยานหลักฐาน และ 6. พ.ต.ท.พงษ์ศักดิ์ เรือนแก้ว พนักงานสอบสวน ผู้รับสำนวน
ส่วนฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าสืบทั้งหมด 3 ปาก ได้แก่ 1. จำเลย 2. พยานผู้เชี่ยวชาญด้านอิเล็กทรอนิกส์ และ 3. ยิ่งชีพ อัชชานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อประชาชน (iLaw)
.
ผู้กล่าวหา – พบเห็นโพสต์ข้อความหมิ่นกษัตริย์ในเฟสบุ๊ค จึงได้แคปภาพจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือนำมาพิมพ์ให้พนักงานสอบสวน
เจษฎา ทันแก้ว สมาชิกกลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์ และอดีตการ์ด กปปส. ผู้กล่าวหาในคดีนี้ เบิกความโดยสรุปต่อศาลว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 ช่วงที่พยานขับรถไรเดอร์ส่งอาหารและกำลังรอรับออเดอร์ ได้เปิดดูโทรศัพท์ก็ได้พบเห็นโพสต์ในเฟซบุ๊กของกลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นกลุ่มเพื่อนๆ ของพยาน ที่มีการแชร์ข้อมูลการชุมนุมที่กรุงเทพฯ โดยพยานเห็นว่ามีโพสต์ข้อความที่หมิ่นกษัตริย์ ซึ่งพบว่าเป็นโพสต์สาธารณะที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าดูได้
พยานจึงได้ทำการค้นหาข้อมูลของจำเลยซึ่งตรงกับผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว เมื่อกดเข้าไปดูในบัญชีก็พบว่ามีการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการชุมนุม และปลุกเร้าให้มีผู้คนเข้ามาชมโพสต์ของตนเอง อีกทั้งมีข้อความที่เป็นการหมิ่นกษัตริย์ จึงเชื่อว่าเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กนี้มีเจตนาดูหมิ่น-ใส่ร้ายพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ซึ่งทำให้ผู้ที่เข้ามาอ่านเข้าใจผิดต่อพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์
ในโพสต์เฟซบุ๊กที่ 1 และโพสต์ที่ 3 มีการโพสต์ภาพบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กประกอบข้อความ ทำให้ผู้ที่เข้ามาดูเชื่อว่าผู้โพสต์เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริง ซึ่งตรงกับภาพถ่ายที่พนักงานสอบสวน สภ.บันนังสตา จังหวัดยะลา เป็นผู้พิมพ์มาจากเฟซบุ๊ก
หลังจากนั้น พยานจึงได้บันทึกข้อความดังกล่าวไว้ในโทรศัพท์มือถือ และได้นำไปตรวจสอบภาพถ่ายและข้อความที่บ้านอีกครั้ง ก่อนจะเลือกภาพถ่ายเพื่อไปจ้างร้านถ่ายเอกสารในการพิมพ์ข้อความดังกล่าวออกจากโทรศัพท์ ต่อมาจึงได้นำภาพและข้อความมอบให้กับพนักงานสอบสวน สภ.แม่โจ้ เพื่อดำเนินการกับผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กนั้น
แม้พยานจะไม่รู้จักหรือเห็นหน้าจำเลยมาก่อน แต่บุคคลในภาพถ่ายในเฟซบุ๊กดังกล่าว ปรากฏภาพเป็นคนเดียวกันกับจำเลยในคดีนี้
พยานตอบทนายความถามค้าน รับว่า ได้นำภาพถ่ายและข้อความไปมอบให้พนักงานสอบสวน สภ. แม่โจ้ ในวันที่ 19 พ.ย. 2563 ทั้งหมด 20 แผ่น โดยพนักงานสอบสวนไม่ได้นำออกจากโทรศัพท์มือถือของพยานโดยตรง แต่ใช้เอกสารที่พยานพิมพ์มาแล้ว และนำมาดำเนินการเพียง 7 แผ่น ส่วนอีก 13 แผ่น พยานไม่ทราบว่าพนักงานสอบสวนได้นำเข้าสู่สำนวนหรือไม่
ในการบันทึกภาพหน้าจอโทรศัพท์นั้น พยานไม่ได้ทำการบันทึกทันทีที่พบเห็น แต่ตรวจสอบเฟซบุ๊กไปเรื่อยๆ ก่อนจะกลับมาบันทึกหน้าจอในภายหลัง โดยใช้เวลาบันทึกไม่เกิน 1 ชั่วโมง โดยหลังจากวันที่ 19 พ.ย. 2563 พยานได้เข้าไปติดตามเรื่องกับพนักงานสอบสวนทุกวัน ซึ่งพยานเป็นนักเคลื่อนไหวปกป้องสถาบันฯ ที่เคยไปกล่าวโทษให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 หลายคดี แต่ไม่เกิน 10 คดี โดยเป็นผู้กล่าวหาต่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ด้วย
พยานทราบชื่อเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กในคดีนี้ จากกลุ่มปิดในเฟซบุ๊ก “ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์” ที่พยานทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเป็นสมาชิกอยู่ในกลุ่มด้วย โดยพยานมักจะเข้าไปดูอยู่บ่อยครั้งจะมีอยู่ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเชียงใหม่ปกป้องสถาบัน, ไทยภักดี เชียงใหม่ ซึ่ง 2 กลุ่มดังกล่าวจะมีกลุ่มไลน์ด้วย และกลุ่มพิทักษ์ราชบัลลังก์ ซึ่งกลุ่มเฟซบุ๊กดังกล่าวมักจะมีการเผยแพร่และสืบค้นหาตัวผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ โดยจะมีผู้โพสต์หาตัวผู้ต้องสงสัยและจะมีสมาชิกในกลุ่มช่วยกันสืบหา
สำหรับจำเลยในคดีนี้มีสมาชิกในกลุ่มหลายคนช่วยกันค้นหาข้อมูล และนอกจากคดีนี้จำเลยยังถูกดำเนินคดีที่ศาลจังหวัดยะลาในข้อหาเดียวกันด้วย แต่เป็นการกระทำคนละครั้งกัน อย่างไรก็ตามพยานไม่รู้จักกับผู้กล่าวหาคดีที่จังหวัดยะลา
พยานเคยร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. โดยเคยเป็นการ์ดรักษาความปลอดภัยในที่ชุมนุม โดยจากการที่พยานเคยร่วมชุมนุมและทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่นั้นได้ถูกดำเนินคดีข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น พกพาอาวุธโดยไม่ได้รับอนุญาต และพยายามฆ่า พ.อ.วิทวัส วัฒนกุล ซึ่งปัจจุบันคดีถึงที่สุดและพ้นโทษแล้ว
ตั้งแต่ พ.ศ.2563 จนกระทั่งปัจจุบัน ที่มีการชุมนุมคณะราษฎรหรือเยาวชนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านรัฐบาล พยานก็เคยเข้าร่วมกลุ่มต่อต้านผู้ร่วมชุมนุมด้วย ที่บริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ และยังเคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนแสดงความอึดอัดใจที่ผู้ชุมนุมได้กล่าวถ้อยคำหรือเขียนข้อความหมิ่นกษัตริย์
อย่างไรก็ตาม พยานทราบอยู่แล้วว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคยมีพระเมตตารับสั่งไม่ให้ใช้มาตรา 112 กับประชาชน
.
.
พยานนักวิชาการด้านภาษาไทย ชี้ข้อความในโพสต์เป็นคำบริภาษหรือคำด่า เมื่อดูแล้วเข้าใจว่าผู้โพสต์มีเจตนาหมิ่นกษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน
ผศ.ดร.สุนทร คำยอด อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เบิกความต่อศาลว่า เมื่อประมาณปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 ได้มีพนักงานสอบสวน สภ.แม่โจ้ นำข้อความหมิ่นกษัตริย์ในเฟซบุ๊กให้พยานช่วยตรวจดู เพื่อให้พิเคราะห์ว่า เมื่อมีผู้พบเห็นข้อความแล้วจะรู้สึกอย่างไร
เมื่อเห็นโพสต์เฟซบุ๊กทั้ง 4 โพสต์ในคดีนี้ พยานเข้าใจได้ว่าผู้โพสต์รูปภาพและข้อความต้องการลดทอน ดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน โดยใช้คำบริภาษหรือคำด่า คำไม่สุภาพ ทำให้เข้าใจได้ว่าพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบันทรงยุ่งเกี่ยวกับการเมือง โดยมีการสนับสนุนบุคคลต่างๆ นอกจากนี้ยังทำให้สถาบันต่างๆ ตกต่ำ
อย่างไรก็ตาม พยานได้ตอบทนายความถามค้าน รับว่าเหตุที่พยานได้เข้ามาเกี่ยวข้องคดีนี้ เนื่องจากพนักงานสอบสวนได้ส่งข้อความโพสต์เฟซบุ๊กไปยังอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้นำผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยมาให้ความเห็น จากนั้นอธิการบดีจึงได้ส่งหนังสือมาตามลำดับจนมาถึงพยาน ในฐานะเป็นประธานหลักสูตรภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์
.
สองตำรวจตรวจสอบเฟซบุ๊ก-ข้อมูลของจำเลย ตรวจข้อมูลโดยเทียบใบหน้าและข้อมูลในเฟซบุ๊กจึงเชื่อว่าเป็นจำเลย แม้พบเฟซบุ๊กคล้ายกันหลายบัญชี
ส.ต.ท.เมธาสิทธิ ยะผูก ผู้บังคับหมู่งานป้องกันและปราบปราม เจ้าหน้าที่สืบสวน สภ.แม่โจ้ ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ตรวจสอบข้อมูลในบัญชีเฟซบุ๊กว่าเป็นใคร เมื่อดูรูปจากโปรไฟล์ในบัญชีเฟซบุ๊กพบว่าเป็นภาพของจำเลย
เมื่อเข้าไปดูโพสต์ในเฟซบุ๊กดังกล่าวแล้วพบว่ามีการโพสต์ข้อความในคดีนี้บางข้อความ ส่วนข้อความอื่นๆ ไม่พบ พยานเข้าใจว่าอาจมีการลบข้อความออกไปแล้ว จากนั้นพยานได้ติดตามเฟซบุ๊กดังกล่าวและได้พบคลิปวิดีโอที่เจ้าของบัญชีโพสต์คลิปวิดีโอแนะนำตนเอง โดยอ้างว่าตนเองชื่อ มาริโอ ชินเร่อ เป็นชนเผ่าปกาเกาะญอ และได้พูดถึงเรื่องการเมือง
ต่อมาพนักงานสอบสวน สภ.แม่โจ้ ได้รับหนังสือจากกองกำกับการสืบสวนภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ว่าเจ้าของเฟซบุ๊กดังกล่าวคือจำเลยในคดีนี้ พยานจึงได้นำภาพจำเลยในข้อมูลทะเบียนราษฎร์กับภาพโปรไฟล์ และคลิปวิดีโอแนะนำตนเองในเฟซบุ๊กดังกล่าวมาเปรียบเทียบกัน พบว่ามีลักษณะตรงกัน จากนั้นพยานจึงได้กล่าวหาจำเลยต่อพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีตามมาตรา 112, 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
อย่างไรก็ตาม พยานได้ตอบทนายความถามค้าน รับว่า พยานทราบว่าเจ้าของเฟซบุ๊กคือจำเลยในคดีนี้จากเอกสารที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ โดยพยานไม่ได้สืบทราบด้วยตนเอง และภาพโปรไฟล์ในเฟซบุ๊กและตามโพสต์ต่างๆ แสดงว่าเป็นภาพของจำเลยเท่านั้น โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กดังกล่าว ส่วนในการค้นหาข้อมูลทางคอมพิวเตอร์นั้น พยานก็ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
นอกจากนี้ปรากฏตามรายงานสืบสวน เอกสารพยานของโจทก์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามใช้เทคนิคการสืบสวนที่เรียกว่า “Phishing” ซึ่งเป็นการสืบสวนโดยการพิมพ์ข้อความหลอกเข้าไปในแชทเฟซบุ๊กว่ามีเรื่องอะไรน่าสนใจ เมื่อเจ้าของบัญชีตอบกลับข้อความที่พิมพ์ไว้ ก็จะสามารถตรวจสอบ IP Address ของเจ้าของบัญชีดังกล่าวได้ แต่เจ้าของบัญชีนี้ไม่ได้อ่านข้อความที่ส่งไป
พ.ต.ท.ฤทธิชัย บรรเลงสุวรรณ สารวัตรสืบสวน กองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ เบิกความต่อศาลว่า เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2563 มีหนังสือจากกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ให้ตรวจสอบผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว จากนั้นผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายให้พยานเป็นผู้ตรวจสอบ
ต่อมาพยานได้เข้าตรวจสอบเฟซบุ๊กดังกล่าว เนื่องจากเปิดเป็นสาธารณะ พบข้อความโพสต์เกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2563 จากนั้นพยานจึงลองค้นหาบัญชีที่ใกล้เคียงกันโดยเปลี่ยนชื่อบัญชีท้ายจาก “xe” เป็น “ex” พบว่ายังมีบัญชีอีก 1 บัญชี และเมื่อเข้าไปดูพบว่ามีการโพสต์ภาพของบุคคลที่มีหน้าตาเหมือนกับบุคคลในเฟซบุ๊ก ซึ่งมีชื่อบัญชีที่คล้ายกัน และเมื่อนำบัญชีทั้งสองบัญชีมาเปรียบเทียบแล้ว เชื่อว่าเจ้าของบัญชีดังกล่าวเป็นบุคคลเดียวกัน
เมื่อพยานนำภาพบุคคลดังกล่าวไปเปรียบเทียบใบหน้าที่กรมการปกครอง พบว่ามีบุคคลที่มีใบหน้าคล้ายกับบุคคลในเฟซบุ๊กดังกล่าวหลายคน แต่เมื่อนำมาตรวจสอบกับข้อมูลในบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวแล้วพบมีชื่อสถานที่อยู่และสถานศึกษาของเจ้าของบัญชี เมื่อนำไปประกอบกับคลิปวิดีโอแนะนำตัวของจำเลยพบว่าตรงกับภูมิลำเนาของจำเลย จึงเชื่อว่าจำเลยเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวจริง โดยใช้เวลาตรวจสอบเป็นเวลา 1 เดือน
อย่างไรก็ตาม พยานตอบทนายความถามค้าน รับว่า พยานตรวจสอบข้อมูลเฟซบุ๊ก เมื่อค้นหาบัญชี ชื่อเหมือนกันกับบัญชีเฟซบุ๊กในคดีนี้ พบชื่อบัญชีเหมือนกัน 2-3 บัญชี รวมทั้งบัญชีที่โจทก์นำมากล่าวหาในการฟ้องคดีนี้ และพบชื่อคล้ายกันอีก 1 บัญชี นอกจากนั้น พยานจำไม่ได้ว่ามีอีกหรือไม่ และ จากการตรวจสอบเฟซบุ๊กดังกล่าว พบเพียงภาพที่โจทก์ฟ้องเพียง 1 โพสต์ ส่วนภาพอื่นนั้นพยานไม่พบ
ในการตรวจเฟซบุ๊กที่มีชื่อใกล้เคียงกัน ได้ตรวจเพียงใบหน้าที่มีลักษณะคล้ายกันกับจำเลยคดีนี้ โดยมีการโพสต์คล้ายกัน แต่ไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลเชื่อมโยงของผู้ใช้บัญชีทั้งสองบัญชี ซึ่งความจริงแล้วพยานไม่ทราบว่าใครจะนำข้อมูลมาโพสต์ลงในบัญชีเฟซบุ๊กทั้ง 2 บัญชี
.
สองพนักงานสอบสวน ผู้รวบรวมพยานหลักฐาน สอบปากคำ – ได้รับเอกสารหลักฐานจากผู้กล่าวหา แต่เมื่อเปิดเข้าไปในเฟซบุ๊ก กลับไม่พบข้อความทั้งหมด
ร.ต.อ.สาริน อินต้อ พนักงานสอบสวน สภ.แม่โจ้ เบิกความต่อศาลว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2563 มีนายเจษฎา ทันแก้ว นำเอกสารของผู้ใช้เฟซบุ๊ก พร้อมกับเอกสารที่ผู้ใช้บัญชีดังกล่าวโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก และนำโทรศัพท์มาเปิดข้อมูลที่บันทึกมาให้ดู จึงได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบและให้นายเจษฎากล่าวโทษผู้กระทำความผิดดังกล่าว
เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2563 พยานได้ใช้โทรศัพท์ของตนเข้าแอพพลิเคชั่นเฟซบุ๊กเพื่อค้นหาข้อมูลดังกล่าว พบภาพของบุคคล ทราบภายหลังคือจำเลยคดีนี้ ซึ่งมีคลิปวิดีโอที่จำเลยพูดถึงเรื่องการเมือง และแนะนำตนเอง โดยในวิดีโอดังกล่าวยาวถึง 27 นาที แต่พยานทำการบันทึกมาเพียง 1 นาที จากนั้นพยานจึงได้ค้นหาข้อมูลในบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวพบข้อความหมิ่นกษัตริย์รัชกาลปัจจุบันตามเอกสารของผู้กล่าวหาเพียง 1 โพสต์เท่านั้น ส่วนภาพอื่นๆ พยานไม่เห็น จึงได้บันทึกไว้ในโทรศัพท์มือถือของพยานด้วย
ต่อมา ผู้กำกับการ สภ.แม่โจ้ ได้ทำหนังสือไปยังกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับเอกสารและคลิปวิดีโอ เพื่อตรวจหาเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว หลังจากนั้นกองกำกับการฯ ได้ส่งชื่อเจ้าของบัญชีและทะเบียนราษฎร์กลับมาว่าเป็นจำเลยในคดีนี้ เมื่อพยานนำข้อมูลในทะเบียนราษฎร์มาตรวจสอบดูจึงเชื่อว่าเป็นจำเลย จึงได้แจ้งให้ ส.ต.ท.เมธาสิทธิ ยะผูก มาร้องทุกข์กล่าวโทษ
หลังจากนั้นพยานได้ย้ายไปรับราชการที่ สภ.แม่ริม โดยได้ส่งมอบสำนวนการสอบสวนให้แก่ พ.ต.ท.พงษ์ศักดิ์ เรือนแก้ว รองผู้กำกับการ สภ.แม่โจ้ และได้ส่งประเด็นไปสอบปากคำผู้ใหญ่บ้านที่จำเลยมีภูมิลำเนา
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2564 พยานได้รับแจ้งว่าสามารถจับกุมจำเลยได้ที่ สภ.รัตนาธิเบศร์ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งพยานได้ติดตามไปด้วย หลังจากรับมอบตัวจำเลยแล้ว จึงได้นำตัวมาที่ สภ.แม่โจ้ โดยรถตู้ ช่วงการเดินทางพยานได้พูดคุยกับจำเลยเป็นการทั่วไป โดยจำเลยรับว่าเป็นเฟซบุ๊กของจำเลย แต่ถูกบล็อกการเข้าถึงไป เป็นเหตุให้จำเลยไม่สามารถใช้เฟซบุ๊กของตนเองได้อีก
อย่างไรก็ตามพยานตอบทนายความถามค้าน รับว่า พยานไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี โดยนายเจษฎา ทันแก้ว เป็นผู้นำเอกสารหลักฐานมามอบให้จำนวน 20 แผ่น แต่พยานนำมาใช้ในคดีนี้ 7 แผ่น ส่วนอีก 13 แผ่นนั้นพยานเห็นว่าเป็นเอกสารซ้ำจึงไม่ได้นำเข้าในสำนวนด้วย ซึ่งเมื่อตรวจสอบดูในเฟซบุ๊กบัญชีดังกล่าว เห็นเฉพาะบางโพสต์ตามเอกสารเท่านั้น ส่วนภาพอื่นๆ ไม่พบ โดยหลังจากเจษฎานำเอกสารมากล่าวโทษแล้ว ได้เข้ามาติดตามเรื่องอีกหลายครั้ง
พยานไม่ทราบว่าบัญชีในเฟซบุ๊กสามารถตั้งชื่อซ้ำกันได้หรือไม่ แต่ทราบว่าบุคคลหนึ่งสามารถตั้งชื่อบัญชีได้หลายบัญชี และเมื่อเปิดเข้าไปในเฟซบุ๊กของผู้อื่น ก็สามารถทำการบันทึกรูปภาพในบัญชีดังกล่าวได้และนำภาพที่บันทึกไว้ไปตั้งเป็นภาพโปรไฟล์ของตนเองในเฟซบุ๊กได้
นอกจากนี้พยานทราบเพียงแต่ชื่อบัญชีเฟซบุ๊กเท่านั้น โดยไม่ได้ทำการตรวจสอบ IP Address หรือที่อยู่ทางอินเทอร์เน็ตของเจ้าของบัญชีได้ ทั้งรับว่าพยานได้ค้นหาชื่อเฟซบุ๊กดังกล่าว ปรากฏว่ามีชื่อบัญชีคล้ายกันอยู่อีก แต่พยานทำการตรวจสอบบัญชีในคดีนี้เพียงบัญชีเดียว และไม่เคยเข้าไปตรวจสอบเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า “พรชัย วิมลศุภวงศ์” ที่เป็นเฟซบุ๊กของจำเลยแต่อย่างใด
พ.ต.ท.พงษ์ศักดิ์ เรือนแก้ว รองผู้กำกับการสอบสวน สภ.แม่โจ้ ได้รับผิดชอบสำนวนคดีนี้ต่อจาก ร.ต.อ.สาริน อินต้อ เบิกความลำดับเหตุการณ์คล้ายกับ ร.ต.อ.สาริน และพยานยังทราบอีกว่ามีผู้กล่าวโทษจำเลยในข้อหามาตรา 112 ที่ สภ.บันนังสตา จังหวัดยะลา ด้วย โดย ร.ต.อ.ซุลกิฟลี ระเซาะ พนักงานสอบสวน สภ.บันนังสตา ได้มีหนังสือมาสอบถามพยานถึงผู้ใช้เฟซบุ๊กในคดีนี้ ว่าได้กระทำความผิดที่ สภ.แม่โจ้ ด้วยหรือไม่ และได้ส่งเอกสารหลักฐานเข้ามาในสำนวนคดีนี้ด้วย
วันที่ 10 มี.ค. 2564 หลังจากทราบว่าจำเลยถูกจับกุมที่ สภ.รัตนาธิเบศร์ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลเป็นผู้จับกุมก่อน ในวันเดียวกัน ผู้กำกับการ สภ.รัตนาธิเบตร์ กับพวก จึงเข้าไปค้นห้องพักจำเลยพบโทรศัพท์และซิมการ์ดหลายเครื่อง โดยได้ยึดโทรศัพท์ของกลางจำนวน 4 เครื่อง พยานจึงนำไปตรวจสอบที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จากการตรวจสอบไม่พบการเข้าถึงผู้ใช้เฟซบุ๊ก จากนั้นพยานจึงรับตัวจำเลยมาสอบปากคำ จำเลยให้การปฏิเสธ โดยรับว่าเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กจริง แต่ไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว
เหตุที่พยานแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ด้วย เนื่องจากมีโพสต์ข้อความนัดหมายและชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองในวันที่ 18 พ.ย. 2563 ที่แยกราชประสงค์ และวันดังกล่าว ก็มีการชุมนุมเกิดขึ้นจริงๆ
อย่างไรก็ตาม พยานตอบทนายถามค้านรับว่า ผู้กำกับการ สภ.รัตนาธิเบศร์ ตรวจยึดโทรศัพท์ 4 เครื่อง และซิมการ์ด 6 อันจากจำเลย ซึ่งได้ส่งตรวจที่ บก.ปอท. แล้ว ส่วนซิมการ์ดไม่ได้ส่งไปตรวจด้วย ซึ่งก็พบว่าไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงกับเฟซบุ๊กดังกล่าว
เมื่อนายเจษฎา ทันแก้ว เปิดโทรศัพท์ของตนเองที่บันทึกภาพถ่ายตามเอกสารพยานโจทก์ ให้ ร.ต.อ.สาริน ดู แต่ไม่ได้เปิดเฟซบุ๊กชื่อบัญชีดังกล่าวให้ดูด้วย โดยเจษฎาแจ้งว่าได้ตรวจพบข้อความในบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว จึงทำการบันทึกไว้ในโทรศัพท์มือถือ จากนั้นจึงสั่งพิมพ์ภาพของตนเองที่บันทึกไว้แล้วนำมามอบให้พนักงานสอบสวน
.
.
จำเลยรับว่าเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กจริง แต่ถูกแฮ็ก ไม่ใช่ผู้โพสต์ข้อความ
พรชัย วิมลศุภวงศ์ จำเลย เบิกความต่อศาลว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุปี 2563 ตนใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว แต่ไม่ใช่ผู้โพสต์ข้อความตามที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้และไม่เคยเห็นภาพดังกล่าวมาก่อน ต่อมาชื่อบัญชีดังกล่าวของพยานถูกผู้อื่นแฮ็กไปเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2563 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ
ตามเอกสารของโจทก์รายงานการสืบสวนที่แสดงหน้าเฟซบุ๊ก พยานเห็นว่ามีชื่อบัญชีเหมือนกับของตน แต่ไม่ได้เป็นผู้จัดทำ นอกจากนี้เอกสารแผ่นอื่นๆ เป็นรูปของพยาน แต่พยานไม่ใช่ผู้โพสต์ข้อความและรูปภาพดังกล่าว
ในการสอบปากคำ พ.ต.ท.พงษ์ศักดิ์ เรือนแก้ว รองผู้กำกับการ สภ.แม่โจ้ เป็นผู้ถาม ส่วน ร.ต.อ.สาริน อินต้อ เป็นผู้บันทึกคำให้การ หลังจากพิมพ์บันทึกคำให้การแล้ว พยานเห็นว่าบางข้อความไม่ตรงกับที่ให้การไว้ จึงไม่ยอมลงลายมือชื่อ โดยในการสอบปากคำไม่มีทนายความเข้าร่วมด้วย เนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่ยอมให้พยานใช้โทรศัพท์มือถือ ประกอบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.รัตนาธิเบศร์ พูดว่าให้รีบๆ สอบปากคำให้เสร็จ เพราะเกรงว่าจะมีผู้ชุมนุมคนอื่นมาก่อความวุ่นวาย แม้พยานขอให้รอทนายความร่วมฟังการสอบสวนแล้ว
อย่างไรก็ดี พยานตอบอัยการโจทก์ถามค้าน รับว่า ตนเป็นชนเผ่าปกาเกาะญอ ซึ่งคนไทยเรียกว่า “กะเหรี่ยง” โดยพยานได้ออกจากหมู่บ้านมาอยู่อาศัยที่กรุงเทพมหานคร พยานเคยถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มคณะราษฎร 63 โดยพยานเข้าร่วมการชุมนุมในฐานะผู้ร่วมชุมนุมเท่านั้น ไม่ใช่แกนนำแต่อย่างใด ซึ่งวัตถุประสงค์ของการชุมนุมคือ ให้นายกฯ ลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
.
พยานผู้เชี่ยวชาญด้านอิเล็กทรอนิกส์ – การตรวจข้อมูลคอมพิวเตอร์ไม่สามารถตรวจด้วยเอกสาร ซึ่งแก้ไขได้หลายวิธี แต่จะต้องตรวจจากข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
พยานผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทำงานในฐานะโปรแกรมเมอร์โครงการติดตามสปายแวร์ที่ชื่อ “เพกาซัส” ของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อประชาชน (iLaw) เบิกความต่อศาล ว่าเคยเข้าเบิกความในคดีทำนองเดียวกันของจำเลยที่ศาลจังหวัดยะลามาก่อนแล้ว
พยานทราบขั้นตอนในการเก็บข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากติดตามคดีที่เกี่ยวกับพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์อยู่เสมอ โดยพยานเห็นว่าในการตรวจข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ ไม่สามารถตรวจได้ด้วยเอกสาร แต่จะต้องตรวจด้วยอุปกรณ์ที่มีข้อมูลนั้น โดยพยานเอกสารต่างๆ ไม่ใช่ข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์
การเก็บพยานทางอิเล็กทรอนิกส์มีวิธีปฏิบัติอยู่ 5 ขั้นตอน ได้แก่
- เมื่อเจอหน้าโพสต์ข้อความในเว็บไซต์ที่คาดว่าเป็นการกระทำความผิด ต้องสั่งพิมพ์โพสต์นั้นจากหน้า Web Browser เช่น Google Chrome, Internet explorer หรือ firefox ซึ่งจะปรากฏวันที่และเวลาพิมพ์ด้วย ด้านขวาบนจะเป็นหัวข้อของเว็บไซต์นั้น ด้านซ้ายล่างจะเป็น URL ที่อยู่ของหน้าเว็บไซต์ เพื่อบ่งบอกว่าเว็บไซต์อยู่ตำแหน่งไหนในอินเตอร์เน็ต ด้านขวาล่างจะมีเลขแผ่นและจำนวนแผ่นที่สั่งพิมพ์
- เมื่อสั่งพิมพ์แล้วจะต้องตรวจหา IP Address โดยการขอไปยังผู้ให้บริการเว็บไซต์นั้น หรือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต
- เมื่อได้ IP Address แล้ว จะทราบตำแหน่งและที่อยู่ของผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ต จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจะไปยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายค้นผู้ขอใช้บริการอินเตอร์เน็ต เพื่อนำคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่สงสัยมาตรวจสอบข้อมูล หรือร่องรอยการกระทำ เช่น รูปภาพหรือข้อความที่โพสต์ หรือข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- เมื่อได้เครื่องคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ที่ใช้ในการกระทำความผิดแล้ว จะต้องจัดทำไฟล์สำเนาไว้ เพื่อไม่ให้หลักฐานต้นฉบับได้รับความเสียหาย ในการตรวจสอบหาร่องรอยการกระทำจะต้องมีการสำเนาไฟล์ เมื่อพบข้อมูลหรือรูปภาพที่เกี่ยวข้อง
- เมื่อพบข้อความหรือรูปภาพที่เกี่ยวข้องกับการกระทำ จะต้องนำเครื่องคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปตรวจหา DNA เพื่อยืนยันว่าจำเลยหรือผู้ถูกกล่าวหา เป็นผู้กระทำ
เมื่อทนายความให้พยานดูเอกสารซึ่งมีโพสต์ข้อความที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ พยานดูแล้วตอบว่าเอกสารดังกล่าวเป็นการบันทึกมาจากหน้าจอโทรศัพท์ เนื่องจากหน้าจอโทรศัพท์กับหน้าจอคอมพิวเตอร์มีรูปแบบแตกต่างกัน หากเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์จะแสดงข้อมูลได้มากกว่า ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องสั่งพิมพ์มาจากหน้าเว็บบราวเซอร์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่เอกสาร ดังกล่าวน่าจะเป็นการบันทึกจากโทรศัพท์แล้วนำมาวางในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ก่อนสั่งพิมพ์
การทำเช่นนี้สามารถแก้ไขภาพจากต้นฉบับได้ โดยการตัดต่อภาพนั้นสามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งตามภาพในเอกสารไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นภาพที่ตัดต่อมาหรือไม่ ดังนั้นการบันทึกจากหน้าจอโทรศัพท์แล้วสั่งพิมพ์จากภาพที่บันทึกไว้ จึงมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่าการสั่งพิมพ์จากเว็บบราวเซอร์มาก
ตามเอกสารพยานโจทก์ ยังมีข้อสังเกตว่ามีบางภาพมีขนาดตัวอักษรและสัดส่วนของภาพผิดปกติจากโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ เนื่องจากน่าจะนำภาพดังกล่าวมาวางในโปรแกรม Microsoft Word แล้วย่อ หรือขยาย หรือตัดต่อเพิ่มเติม ทางด้านล่างภาพถ่ายยังมีข้อความซึ่งน่าจะเป็นการพิมพ์เข้ามาภายหลัง
สำหรับชื่อบัญชีในเฟซบุ๊กตามเอกสารโจทก์ ไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าใครเป็นเจ้าของบัญชีนั้น เพราะอาจมีการตั้งชื่อบัญชีที่เหมือนกัน หรือการนำภาพของบุคคลอื่นมาลงเป็นภาพโปรไฟล์ของตนเองก็ได้ ซึ่งตามปกติแล้ว บุคคลอาจเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กได้หลายบัญชี และอาจนำชื่อของบุคคลอื่นมาตั้งเป็นชื่อของตนเองก็ได้ ซึ่งในการตั้งชื่อเฟซบุ๊กซ้ำกันนั้นจะพบได้เป็นปกติ
นอกจากนั้นเฟซบุ๊กที่เจ้าของบัญชีตั้งขึ้นอาจถูกผู้อื่นเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของบัญชี เช่น การใช้รหัสผ่านที่สามารถคาดเดาได้ง่าย หรือ หลังจากที่เจ้าของใช้เสร็จแล้วไม่ได้ออกจากโปรแกรมดังกล่าว ทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้สามารถเข้าใช้บัญชีได้ โดยการบันทึกรหัสผ่านไว้ หากมีผู้ใดเข้าไปในบัญชีก็สามารถเข้าไปใช้ได้ทันที
นอกจากนั้น ยังอาจเข้าถึงข้อมูลในระดับที่ยากขึ้น หรือเรียกว่า Phishing โดยการหลอกเอาชื่ออีเมลและรหัสผ่านจากเจ้าของบัญชี เมื่อได้มาแล้วก็สามารถเข้าไปใช้เฟซบุ๊กของเจ้าของบัญชีนั้นได้เช่นกัน
.
การบังคับใช้ ม.112 เปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางการเมือง ในปี 2563-64 มีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อประชาชน ซึ่งติดตามคดีที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยมีโครงการตั้งแต่ปี 2554 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน โดยโครงการมีหน้าที่ติดตามสถานการณ์และบันทึกข้อมูล โดยไม่ได้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายหรือทางการเงินแก่บุคคลใด
จากการติดตามและบันทึกข้อมูล ทราบว่ามีการบังคับใช้มาตรา 112 เปลี่ยนแปลงไปตามบรรยากาศทางการเมือง เช่น ช่วงการรัฐประหาร 2557 มีการนำมาตรานี้มาใช้จำนวนมาก และเมื่อปี 2561 และ 2562 ไม่พบการนำมาตรานี้มาบังคับใช้ จนกระทั่งการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกแถลงการณ์ว่าจะนำกฎหมายมาบังคับใช้กับผู้ชุมนุมทุกมาตรา หลังจากนั้นก็ได้นำมาตรา 112 มาบังคับใช้เป็นจำนวนมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มากกว่า 200 คน
เหตุที่ช่วงปี 2561 ถึง 2562 ไม่พบการบังคับใช้มาตรา 112 เนื่องจากเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า พระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันทรงมีพระเมตตารับสั่งไม่ให้ใช้มาตรา 112 กับประชาชน
ในความคิดของพยานเอง หากมีการบังคับใช้มาตรา 112 มากเกินไป อาจทำให้เกิดช่องว่างในความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับพระมหากษัตริย์ และทำให้ประชาชนอยู่ในภาวะหวาดกลัว เนื่องจากความผิดมาตรานี้เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง
ปัจจุบันมีกลุ่มบุคคลตั้งขึ้นเป็นองค์กรเพื่อดำเนินคดีมาตรา 112 โดยไปกล่าวโทษต่อผู้กระทำความผิดให้ได้มากที่สุด เพื่อเผยแพร่ผลงานของตนเองลงในเว็บไซต์ โดยเปิดเผยข้อมูลว่าได้กล่าวโทษผู้กระทำความผิดเป็นจำนวนเท่าใด
ในหลายคดีกลุ่มคนเหล่านั้นก็จะกล่าวโทษผู้กระทำความผิดที่อยู่อาศัยห่างไกล เพื่อให้ผู้ต้องหาต้องเดินทางไปต่อสู้คดี ทำให้เกิดความลำบาก และต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก อาทิเช่น คดีที่ไปกล่าวโทษที่ สภ.สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส
จากข้อมูลบุคคลซึ่งเคยถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐจะมีการเก็บข้อมูลและประวัติของบุคคลที่ร่วมการชุมนุม ซึ่งจำเลยที่ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐติดตามในฐานข้อมูล อาจเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่รัฐคอยติดตามตัวเป็นกรณีพิเศษ
อย่างไรก็ตามพยานตอบอัยการโจทก์ถามค้านว่า พยานได้ติดตามความเคลื่อนไหวของประชาชนผู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพจากทางโทรทัศน์และโทรศัพท์บ่อยครั้ง ส่วนในการติดตามผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 นั้นพบว่าในช่วงปัจจุบันมีเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ในการติดตามพยานยังเคยทำหนังสือขอข้อมูลจากหน่วยงานรัฐด้วย
.
อ่านเรื่องราวชีวิตของพรชัยเพิ่มเติม การต่อสู้ของ “พรชัย”: จากคนบนดอย คนจร พ่อค้า ผู้ชุมนุม และผู้ถูกดำเนินคดี ม.112
.