12 ก.ค. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพัทลุงนัดฟังคำพิพากษาคดีของ “เบลล์” นักศึกษาอายุ 19 ปี ที่ถูกฟ้องในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116 (2) (3) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์รูปภาพถ่ายจุดต่างๆ ในพัทลุง และใส่ข้อความทางการเมืองประกอบในเพจเฟซบุ๊ก “พัทลุงปลดแอก” และ “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนปี 2563
กรณีนี้มี ร.ต.อ.รณกร หุ้มขาว เป็นผู้กล่าวหา มีการดำเนินการแยกเป็นสองส่วน ได้แก่ คดีของนักศึกษาและนักกฎหมายอาสา รวมจำนวน 3 ราย ที่ถูกสั่งฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดพัทลุง อยู่ระหว่างการสืบพยาน และคดีของ “เบลล์” ที่ขณะเกิดเหตุนั้น มีอายุ 17 ปี ทำให้ถูกแยกดำเนินคดีในฐานะเยาวชน
ข้อกล่าวหาโดยสรุประบุว่าเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2563 เวลากลางคืน จนถึงวันที่ 25 พ.ย. 2563 เวลากลางวัน กลุ่มจำเลยได้ร่วมกันถ่ายรูปสถานที่ต่างๆ ที่เป็นเชิงสัญลักษณ์ อนุสรณ์สถาน พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ในท้องที่อำเภอเมืองพัทลุง แล้วนำไปตัดต่อพิมพ์ประกอบข้อความที่จัดทำขึ้น แล้วนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ผ่านเพจเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “พัทลุงปลดแอก” จำนวน 5 ภาพ และเพจเฟซบุ๊กชื่อว่า “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” จำนวน 15 ภาพ
ข้อความในภาพ อาทิเช่น “Land of Compromise ทำไมใช้ ม.112 #กษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ”, “ไปด้วยกัน ไปได้ไกล ไปด้วยความรักความสามัคคี”, “EAT THE RICH”, “คิดถึงยอด SCB ใจจะขาด”, “เผด็จการจงพินาศ เป็ดก้าบ ก้าบ จงเจริญ”
อัยการโจทก์บรรยายแยกฟ้องเป็น 2 กระทง จากข้อความของสองเพจ โดยกล่าวหาว่าภาพและข้อความดังกล่าวทั้งหมดมีเจตนาพาดพิงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี เป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น ใส่ความ และแสดงความอาฆาตมาดร้ายและทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง และทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้
ในส่วนของเบลล์ ได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และมีการสืบพยานคดีไปทั้งหมด 7 นัด ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2566 ก่อนศาลกำหนดนัดฟังคำพิพากษา
.
ศาลเห็นว่ามีความผิด เชื่อจากพยานหลักฐานว่าจำเลยเป็นแอดมินเพจ “พัทลุงปลดแอก” เกี่ยวข้องกับภาพข้อความ
ในวันนี้ เบลล์ ผู้ปกครอง ทนายความ และผู้สังเกตการณ์จากกลุ่ม Law Long Beach เดินทางไปศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจังหวัดพัทลุง
ศาลอ่านคำพิพากษาโดยเห็นว่าจำเลยมีความผิดในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116 (2) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ในทั้ง 2 กระทง โดยให้ยกฟ้องเฉพาะข้อหามาตรา 116 (3) ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวมโทษจำคุก 2 ปี 12 เดือน
เนื่องจากขณะเกิดเหตุจำเลยยังเป็นเยาวชน เพื่อสวัสดิภาพและอนาคตของจำเลย ศาลจึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) เปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นนำตัวไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เป็นระยะเวลา 2 ปี กำหนดที่ศูนย์ฝึกอบรมเขต 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี
สำหรับเนื้อหาคำวินิจฉัยโดยสรุปเห็นว่า จากการนำสืบพยาน ศาลเชื่อได้ว่าจำเลย และจำเลยอีกรายหนึ่งที่ถูกฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดพัทลุง ดำเนินการเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “พัทลุงปลดแอก” จริง ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ มีสถานที่เกิดเหตุอยู่จริงยากที่จะตัดต่อ แต่งเรื่อง ทำให้น้ำหนักของพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้
แม้จำเลยรับว่าเป็นผู้ติดตามและแสดงความเห็นในเพจพัทลุงปลดแอก โจทก์สืบได้ว่าจำเลยเป็นผู้ดูแลเพจและตั้งค่าโพสต์สาธารณะ มีความเกี่ยวข้องและมีส่วนรู้เห็นกันกับโพสต์ดังกล่าว และยังพบภาพจากกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุต่างๆ ว่า พบชายหญิงกลุ่มหนึ่ง 3-4 คน ในวันที่ 25 พ.ย. 2563 ข้อต่อสู้ของจำเลยว่าอยู่ในงานวันเกิดเพื่อน ไม่เกี่ยวกับโพสต์ข้อความ จึงไม่สามารถหักล้างกับพยานโจทก์ได้
ศาลยังเห็นว่า ประเด็นเพจเฟซบุ๊ก “พัทลุงปลดแอก” โพสต์ข้อความโดยอ้างชื่อของจำเลย ให้ติดต่อร้องเรียนกรณีมีเรื่องถูกคุกคามได้ แม้ตัวจำเลยจะอ้างว่ามิได้เป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวก็ตาม แต่ก็ไม่ได้พิสูจน์หักล้างตามวิธีการที่พยานผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคเบิกความ คือไม่ได้ติดต่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือติดต่อทางเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวว่าแอดมินคือใคร ประหนึ่งยินยอมให้ใช้ชื่ออ้างอิงดังกล่าว พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีความน่าเชื่อได้ว่าจำเลยเป็นแอดมินเพจดังกล่าว
กรณีโพสต์รูปภาพและข้อความที่เป็นมูลเหตุในคดี พยานโจทก์ 5 ปาก ต่างอาชีพ ต่างอายุกัน เป็นความเห็นของวิญญูชนทั่วไปอ่านแล้ว รู้สึกว่าเป็นการหมิ่นประมาทและอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10 ว่าประพฤติตนไม่เหมาะสม เอาเปรียบประชาชน และข้อความว่า “เผด็จการจงพินาศ” ตีความได้ว่าหมายถึงให้องค์พระมหากษัตริย์พินาศย่อยยับ ซึ่งเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย ลดทอนคุณค่า ความน่าเชื่อถือขององค์พระมหากษัตริย์ และอาจทำให้ประชาชนก่อความไม่สงบในสังคมได้ เป็นการสร้างความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน การกระทำของจำเลยไม่ได้เป็นการแสดงความคิดเห็นภายใต้ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ ในส่วนของการทำให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินนั้น ปากคำพยานโจทก์ยังไม่ชัดนัก จึงให้ยกฟ้องข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (3)
หลังอ่านคำพิพากษา เบลล์ได้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปใต้ถุนศาล เพื่อรอการประกันตัว
ต่อมาเวลา 11.27 น. ศาลเยาวชนฯ มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยระหว่างอุทธรณ์ โดยให้วางหลักประกันจำนวน 7,500 บาท จากเดิมที่เคยวางไว้ในขณะสั่งฟ้องคดีจำนวน 5,000 บาท จึงต้องวางหลักประกันเพิ่มเติมอีก 2,500 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว ให้มารายงานตัวต่อศาลตามที่กำหนดในทุกเดือน และห้ามกระทำในลักษณะเดิมอีก โดยฝ่ายจำเลยเตรียมยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป
สำหรับเบลล์ พื้นเพเป็นคนจังหวัดพัทลุง ปัจจุบันเป็นนักศึกษาด้านกฎหมาย อยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในศูนย์ที่หาดใหญ่ เขาเริ่มสนใจปัญหาเสรีภาพของนักเรียนในโรงเรียนตั้งแต่ช่วงปี 2563 โดยเริ่มทำกิจกรรมรณรงค์เรื่องทรงผมและการใช้อำนาจในโรงเรียน ก่อนเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่ภาคใต้เรื่อยมา ทำให้เคยถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามในรูปแบบต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 10 ครั้งตลอดสามปีที่ผ่านมา ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เขาไปร่วมเป็นผู้ช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคก้าวไกลในพื้นที่พัทลุง
.
ย้อนอ่านเรื่องราวและความเห็นของเบลล์
“นี่คือยุคสมัยที่เราสร้างการเปลี่ยนแปลง”: คุยกับ ‘เบลล์’ เยาวชนพัทลุงผู้ต่อสู้คดี ม.112
.