“นี่คือยุคสมัยที่เราสร้างการเปลี่ยนแปลง”: คุยกับ ‘เบลล์’ เยาวชนพัทลุงผู้ต่อสู้คดี ม.112

ซีรีส์: Youngมีหวัง

.

เมื่อให้ช่วยนิยามช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ที่เขาและคนรุ่นๆ เดียวกัน ตื่นตัวออกมามีส่วนร่วมทางการเมืองกันอย่างเข้มข้นนี้ เขานิ่งคิด ก่อนจะเรียกมันว่า “ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยที่เราเป็นคนร่วมกันเปลี่ยนแปลง”

เบลล์ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาวิชากฎหมายวัย 19 ปี แต่กำลังต้องต่อสู้คดีในฐานะจำเลยข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐถึง 3 ข้อกล่าวหาอยู่ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพัทลุง

เขาเป็นเยาวชนอีกหนึ่งคนที่เผชิญข้อหาแห่งยุคสมัย คดีเดียวแต่พ่วงสามมาตราหนัก ทั้งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เหตุจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ไปร่วมถ่ายภาพสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดพัทลุง และนำภาพมาใส่ข้อความทางการเมืองประกอบ ก่อนโพสต์ลงในเพจเฟซบุ๊ก “พัทลุงปลดแอก” และ “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนปี 2563 ขณะการเคลื่อนไหวของ “ราษฎร 2563” กำลังผลิบาน

เหตุการณ์นี้ในจังหวัดพัทลุง ทำให้มีผู้ถูกดำเนินคดี 4 คน แต่ขณะเกิดเหตุ เบลล์อายุ 17 ปี ทำให้เขาถูกแยกมาดำเนินคดีในศาลเยาวชนฯ และไม่ได้ถูกออกหมายจับเหมือนคนอื่นๆ

เบลล์ยืนยันต่อสู้คดีที่ถูกกล่าวหา เพราะเขาคิดว่าตัวเองไม่ได้กระทำผิด หลังการสืบพยานในเดือนอันร้อนระอุ – เมษายนและพฤษภาคม — ผ่านพ้นไป ศาลเยาวชนฯ วงปฏิทินวันอ่านคำพิพากษาเอาไว้ 12 กรกฎาคม ที่กำลังจะมาถึงนี้

“อะไรจะเกิด ก็ให้มันเกิด” นั่นคือความรู้สึกที่เขาบอก ในห้วงขณะการรอคอยวันพิพากษา เขาเตรียมตัวเตรียมใจ และยืนยันจะต่อสู้คดีถึงที่สุด ถ้าต้องติดคุกก็ให้มันเป็นไป

เราชวนพูดคุยกับเบลล์ อีกหนึ่งเยาวชนผู้ลงมือมีส่วนร่วมในการสร้างยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้

.

ความฝันอยากเป็นทหาร จนเป็นนักเรียนกฎหมาย

จริงๆ ผมอยากเป็นทหาร” เบลล์บอกตรงไปตรงมา ถึงความฝันถึงอาชีพในฝันช่วงวัยเยาว์

เขาบอกว่าตัวเองชอบเรื่องการรบ และการไปลงพื้นที่แปลกๆ ต่างๆ ทำให้สนใจวิชาชีพทหาร แต่เขาก็ห้อยท้ายว่า ณ ตอนนี้ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมาย-ปฏิรูปกองทัพจากที่เป็นอยู่ เขาก็คงไม่ได้ไปเป็นหรอก

เบลล์เกิดในครอบครัวฐานะปานกลางในอำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ไม่ได้ขาดแคลน แต่ก็ไม่ได้เหลือกินเหลือใช้ พ่อเขาเสียไปตั้งแต่อายุประมาณสองขวบ แม่เคยทำงานรับจ้างทั่วไป และตอนหลังเริ่มทำงานรับเหมาต่างๆ ทำให้พอมีรายได้จุนเจือครอบครัว ทั้งเขายังมีพี่สาวอีกหนึ่งคน

เบลล์เรียนจนจบชั้นมัธยมในพัทลุง ปัจจุบันเขากำลังศึกษาอยู่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ขึ้นชั้นปีที่ 2 แล้ว โดยเขาลงเรียนที่ศูนย์ของมหาวิทยาลัยในหาดใหญ่

“ผมสนใจกฎหมาย เพราะเป็นคนที่ค่อนข้างจะเป๊ะๆ อยู่แล้ว แล้วผมสนใจการแก้ไขสภาวะกฎหมายแบบที่เป็นอยู่ จึงอยากเข้าไปศึกษา เพื่อจะได้รู้ว่าต้องแก้ไขอะไร ง่ายๆ ว่าอยากแก้ไขกฎหมาย เลยเลือกเรียกกฎหมาย”

เบลล์บอกว่าข้อดีอย่างหนึ่งของการถูกดำเนินคดี พร้อมไปกับการที่ลงเรียนกฎหมายด้วย คือทำให้เวลาเรียนในตำรา เขาคิดถึงการบังคับใช้ข้อกฎหมายนั้นจริงๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ในสภาพความเป็นจริงของสังคม ว่ามันเป็นอย่างไร ถูกตีความไปอย่างไร และมีปัญหาอย่างไร

“เราเปิดกฎหมายควบคู่ไปกับการบังคับใช้ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น พวก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรือกฎหมายแรงงาน อย่าง พ.ร.บ.คอมฯ เราก็ไปศึกษาว่ามันกลายเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออก แล้วโทษมันก็หนักพอสมควร ผมก็คิดว่ามันต้องแก้ไขให้มันชัดเจนกว่านี้ อย่าให้มันถูกตีความไปซ้ายก็ได้ ขวาก็ได้ เรารู้สึกกฎหมายแบบนี้ยิ่งมันต้องเอาให้ชัดเจน ไม่ใช้ถูกตีความไปซ้ายขวาได้หมด” นักเรียนกฎหมายคนหนึ่งให้ความเห็น

.

ประกายไฟการเคลื่อนไหว จากทรงผมนักเรียน สู่การเข้าร่วมปราศรัยทางการเมือง

ย้อนกลับไปในช่วงปี 2563 ขณะเบลล์ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในพัทลุง เขาเป็นคนหนึ่งที่เริ่มติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมือง เมื่อเห็นนักเรียน-นักศึกษาออกมาชุมนุมในหลายจังหวัดช่วงต้นปีนั้น เขาเริ่มติดตามดูข่าว เริ่มศึกษาหาข้อมูลว่ามันอะไรขึ้น

“คือเราก็สนใจเรื่องการเมืองอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ลงลึกอะไรในตอนแรก แค่รู้ว่าใครเป็นรัฐบาล นายกฯ คนนี้ มายังไง แต่พอเริ่มเห็นการชุมนุมของเพื่อนๆ ทั่วประเทศ ก็ยิ่งเพิ่มความสนใจ”

และแล้วประเด็นการชุมนุมหนึ่งที่จุดประกายให้เบลล์ขยับจากคนติดตามข่าวสาร กลายเป็นมาผู้ร่วมเคลื่อนไหว คือประเด็นด้านเสรีภาพของนักเรียน และปัญหาการศึกษาในโรงเรียน

“เราเห็นประเด็นเรื่องการศึกษา ก็ดูจากข่าว เราก็เห็นว่ามันตรงกับชีวิตเรา เพราะเราก็เป็นเด็กมัธยมปลาย อยู่ในรั้วโรงเรียนด้วย ก็ได้ยินคนชูปัญหาเรื่องทรงผมขึ้นมาในเวลานั้น เราก็เลยรู้สึกสนใจ แล้วเพื่อนๆ ในโรงเรียนก็มีคนทำเรื่องนี้ด้วย

“เมื่อก่อน เราเป็นคนเงียบๆ ไม่ชอบยุ่งกับใคร แล้วก็เห็นเพื่อนล่ารายชื่อนักเรียน แล้วไปยื่นหนังสือเรื่องทรงผมให้กับผู้อำนวยการโรงเรียน แต่ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนอะไรนะ แถมคนที่ยื่น โดนหักคะแนนด้วย เพราะไปเถียงกับ ผอ. เราก็คิดว่ามันหักคะแนนกันเลยเหรอ”

เบลล์เล่าว่าช่วงนั้น มีเหตุการณ์ที่เด็กในโรงเรียนไว้ผมยาว ถูกครูกล้อนผม และมีคนโดนตีด้วย รวมทั้งมีเหตุการณ์ที่เด็กผู้หญิงโดนดึงกิ๊ฟที่ติดผมจนหัก ทำให้เขามีคำถามว่าทำไมต้องทำกันขนาดนั้น และนำไปสู่ความคิดว่าเขาจะทำอะไรต่อปัญหานี้ได้บ้าง

“ก็เริ่มคิดว่าเราจะทำยังไงได้บ้าง เมื่อเห็นว่าหลายที่มีการจัดปราศรัย แล้วก็คุยตามเรื่องที่ตัวเองสนใจ ก็เลยคิดว่าเอาบ้างดีกว่า ตอนนั้นหลังจากมีเหตุการณ์โดนกล้อนผม โดนหักคะแนน สักสองสามอาทิตย์ เราก็ตัดสินใจเลยว่าจะจัดม็อบ แล้วก็จะพูดในประเด็นเหล่านี้ เราก็ลงโพสต์นัดหมายในเฟซบุ๊กส่วนตัว แต่ปรากฏว่าไม่มีใครสนใจเลย (หัวเราะ) ก็เลยลบโพสต์ไป”

การลองประกาศทำม็อบของตัวเองครั้งแรกของเบลล์ล้มเหลว แต่เขาก็ยังหาช่องทางต่อไป ในช่วงกลางปี 2563 มีความเคลื่อนไหวนัดหมายจัดชุมนุมในพื้นที่จังหวัดพัทลุง เบลล์เลยลองทักไปที่เพจของผู้จัดกิจกรรม ว่าอยากร่วมขึ้นปราศรัยในประเด็นด้านการศึกษา ซึ่งทางผู้จัดก็ตกลงให้เขาร่วมปราศรัย

“พอถึงวันจัดจริงๆ ผมไม่ได้ปราศรัยนะ เพราะผมกลัว อย่างที่บอกว่าก่อนหน้านี้ผมเป็นคนเงียบๆ ชอบอยู่คนเดียว ตอนนั้นมีตำรวจ 20-30 คน มาล้อมคนที่จะขึ้นปราศรัย แล้วทุกสายตาตำรวจจับจ้องมา แล้วก็เอาเตนท์มาตั้งศูนย์บัญชาการตรงหน้ากิจกรรมเราเลย เราก็ เฮ้ย จะพูดได้ไหมว่ะ จะพูดดีไหมนะ

“ช่วงท้ายๆ เราก็ได้ขึ้นพูดอะไรนิดหน่อย แต่ไม่ได้พูดในประเด็นที่เตรียมมา แล้วมีรัฐมนตรีขับรถผ่านมาพอดี เราก็พูดให้คนเขาโห่ ได้แค่นั้นแหละ”

การพยายามขึ้นปราศรัยครั้งแรกของเบลล์ยังดูจะล้มเหลวอีกครั้ง แต่ก็อีกเช่นกัน เขายังพยายามต่อไป โดยได้ขอขึ้นปราศรัยในกิจกรรมในพัทลุงครั้งถัดๆ มา

“หลังจากม็อบนั้น เราก็ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมเอง เพราะเริ่มสนใจปัญหาการเมืองล่ะ ดูข่าวแล้ว มีเพื่อนๆ หลายคนพูดถึงเรื่อง ส.ว. 250 ที่มาของ ส.ว. หรือเรื่องรัฐธรรมนูญ อะไรพวกนี้ เราก็เลยเริ่มศึกษาเอง แล้วก็ได้เริ่มขึ้นเวทีในพัทลุงอีก ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับ ‘กลุ่มพัทลุงปลดแอก’ ได้ไปร่วมเวทีในจังหวัดอื่นๆ ทางภาคใต้”

เบลล์ทบทวนว่าในช่วงปี 2563-64 ในจังหวัดพัทลุงมีการจัดชุมนุมประมาณ 4-5 ครั้ง และยังมีกิจกรรมแสดงออกในลักษณะอื่นๆ ที่ไม่ใช่การชุมนุมอีกด้วย รวมทั้งในช่วงที่การชุมนุมเข้มข้น เขายังเดินทางไปร่วมการชุมนุมที่จังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งเคยมาร่วมชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพฯ ด้วย

.

ภาพกิจกรรม #พัทลุงไม่ทนแล้วโว้ย เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2563

.

ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามคุกคามไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง เคยถูกกักตัวในร้านกาแฟช่วง “ประยุทธ์” มาพื้นที่

พอเริ่มมีบทบาทการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น การติดตามคุกคามของเจ้าหน้าที่ก็เริ่มต้นขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน ยิ่งในต่างจังหวัด ผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองจริงจังมีไม่มากนัก ยิ่งตกเป็นเป้าหมายจับตาได้ง่าย

หลังได้ขึ้นเวทีปราศรัยที่พัทลุงในครั้งที่สอง เบลล์เล่าว่าจากนั้นเขาก็เริ่มโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจมาหาที่บ้าน ทั้งมาสอบถามข้อมูล มาขอไม่ให้เคลื่อนไหว จนนับจำนวนการถูกคุกคามติดตามไปรวมกันเกินกว่า 10 ครั้งแล้ว โดยในช่วงหลัง เมื่อมีบุคคลสำคัญจะมาลงพื้นที่ เขาก็มักโดนตำรวจติดตามสอดส่องความเคลื่อนไหว

“ครั้งแรก เราอาจจะตื่นเต้น เราอาจจะหาไม่รู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ เขากำลังจะทำอะไร แต่พอมันโดนสองสามครั้งแล้ว เราเริ่มจับทางได้แล้ว ว่าเขาแค่มาคุยเฉยๆ ยังไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้น

“มีครั้งหนึ่ง มีม็อบที่จังหวัดตรัง แล้วเราจะไป ก็โพสต์ในเฟซบุ๊ก ก็มีตำรวจชุดสืบสวนมาหาที่บ้านเลย มาถามข้อมูล แล้วพยายามห้ามเราไม่ให้ไปชุมนุม ผมก็ เฮ้ย คุณมาห้ามได้ไง ผมไม่ได้ทำอะไรผิด

“เขาก็พากำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาด้วยเลยนะ พยายามคุยว่าทำไมต้องออกไปแบบนั้น มีใครจ้างหรือเปล่า ผมก็บอกไม่มี เขาก็พยายามห้าม ผมก็ยืนยันว่าผมจะไปร่วม พอผมไป แล้วก็มีตำรวจที่ตรังนะ จะขอตามมาส่งผมที่บ้านด้วยเลย” เบลล์ย้อนเล่าถึงเหตุการณ์ที่โดนติดตาม

เหตุการณ์อีกครั้งหนึ่งที่ค่อนข้างรุนแรง คือช่วงเดือนเมษายน 2565 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาลงพื้นที่ในจังหวัดพัทลุง เบลล์ถูกตำรวจมาสอบถามถึงที่บ้าน และต่อมาเขาพยายามเดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านเรื่องการสร้างเขื่อนในพื้นที่พัทลุง แต่ได้ถูกตำรวจเข้ามาขัดขวางไว้ ไม่ให้ไปยื่นหนังสือ หลังจากนั้นเขายังถูกตำรวจรวบตัวออกไปจากพื้นที่ โดยนำตัวไปกักไว้ในร้านกาแฟ ไม่ให้ออกไปไหน โดยมีตำรวจเฝ้าไว้เกือบ 2 ชั่วโมง จนผู้นำประเทศเดินทางกลับ ตำรวจจึงได้ให้เบลล์เดินทางกลับได้

นี่กลายเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการกับเยาวชนจนกลายเป็นเรื่องปกติ และไม่ต้องรับผิดชอบใด

หากแต่สำหรับเบลล์ การถูกคุกคาม-ปิดกั้น-สอดส่องเหล่านี้ ให้ผลในทางตรงกันข้าม กลับยิ่งทำให้เขาอยากมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ เพราะไม่พอใจสิ่งที่เกิดขึ้นและโดนกระทำ นอกจากนั้นเขาบอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่ครอบครัวโดนนักการเมืองท้องถิ่นโกง และทำอะไรแทบไม่ได้ ทำให้รู้สึกฝังใจต่อความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นอีกไปพร้อมๆ กัน

“เราเป็นคนแบบที่ใครมาทำก่อน เราก็ไม่ยอม ทำให้เรายิ่งเคลื่อนไหว…คือจากม็อบครั้งแรก มาโดนคุกคาม แม่โดนโกง ยิ่งทวีความโกรธไปเรื่อยๆ” เบลล์บอก

.

Q: “เรายิ่งออกมาเคลื่อนไหว ด้วยความโกรธ”

A: “ใช่ครับ เราออกมาด้วยความโกรธ แต่พอหลังๆ มา มันเริ่มอยากเปลี่ยน หมายถึงว่ามันเริ่มเห็นสิ่งที่มันเปลี่ยนแปลง สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่มันเปลี่ยนไป อย่างโพสต์ลงโซเชียลเรื่องทรงผมโรงเรียนต่างๆ ก็มีสองสามโรงเรียนที่มันเกิดความเปลี่ยนแปลง เราก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงจริงๆ”

Q: “ความโกรธเปลี่ยนเป็นความหวัง”

A: “ใช่ครับ”

.

คดีความในวัย 18 ปี ผลกระทบ และการยืนยันต่อสู้ถึงที่สุด

เบลล์เล่าต่อว่าในช่วงการเคลื่อนไหวแรกๆ เขาไม่เคยคิดถึงเรื่องการถูกดำเนินคดีมาก่อน จนกระทั่งในช่วงปี 2564 เขาได้รับหมายเรียกจาก สภ.เมืองพัทลุง ในข้อหา พ.ร.บ.ความสะอาดฯ โดยถูกกล่าวหาจากการไปติดกระดาษข้อความ “ยกเลิก 112” ตามสะพานลอยในบริเวณตัวอำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง

เนื่องจากเป็นข้อหาไม่รุนแรงมาก และไม่ต้องการให้เป็นภาระ เบลล์ได้ยินยอมให้ตำรวจเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 1 พันบาท ทำให้คดีสิ้นสุดไป หากคดีแรกที่เกิดขึ้นนี้ ก็ทำให้เขาคิดว่าเป็นไปได้ที่จะถูกดำเนินคดีอื่นๆ ตามมา จากการเคลื่อนไหวอีก

กระทั่งเริ่มมีรุ่นพี่ในเครือข่าย “ราษฎรใต้” ถูกจับกุมดำเนินคดีในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2563

“พอเริ่มมีพี่ๆ ถูกดำเนินคดี เป็นผู้ต้องหาสามคนแรกถูกออกหมายจับคดีมาตรา 112, 116 ตอนนั้น ผมก็มั่นใจแล้วว่ายังไงผมก็ไม่รอดแน่ๆ คิดว่าตัวเองต้องโดนแบบนี้แน่ แต่ก็รออยู่หลายเดือน สุดท้ายหมายก็มาที่บ้านในที่สุด ก็ไม่เป็นไร เราเตรียมใจไว้แล้ว”

เบลล์ไม่ได้โดนออกหมายจับเหมือนกับคนอื่นๆ แต่กว่าจะมีหมายเรียกมาที่บ้าน ก็เป็นช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 แล้ว หลังเหตุการณ์ของรุ่นพี่สามคนแรกมากว่าครึ่งปี โดยเขาถูกดำเนินคดีในฐานะเยาวชนแยกออกจากคนอื่นๆ และต้องมีผู้ปกครองคอยร่วมรับรู้สถานการณ์คดีที่เกิดขึ้นโดยตลอดด้วย

“พอถูกดำเนินคดี ที่บ้านไม่ได้ว่าอะไร ครอบครัวค่อนข้างปล่อย ให้ใช้ชีวิตตามอัธยาศัยได้เลย ไม่มาแบบควบคุมว่าต้องอยู่แค่นี้ แต่พอมีปัญหา ก็มาช่วยแก้ไข

“แต่ว่ามันก็มีสิ่งที่ต้องแลกในการไปทำกิจกรรม คือพอเริ่มทำกิจกรรม เราก็คุยกัน เขาก็เคยคุยให้เราถอยออกมานั่นแหละ เพราะเขากลัวผลกระทบว่าจะไม่มีคนจ้างงาน พอผู้ที่จะจ้างเขาเห็นนามสกุล แล้วเขาเห็นเรื่องเรา เขาอาจจะไม่ให้งาน เขาก็กลัวในส่วนนี้ เรื่องคดี เขาก็กังวล ว่าจะโดนอะไรไปด้วยไหม เราก็ต้องอธิบายว่าเรื่องนี้ เราโดนคนเดียว กฎหมายมันบังคับใช้เฉพาะบุคคล ไม่ได้ไปเหมารวมกับครอบครัว คือเขาก็ไม่รู้ไง

“สุดท้าย เขาก็ยื่นคำขาด ว่าเราจะไปเป็นนักกิจกรรม เขาก็ไม่ว่า แต่เขาจะไม่ให้ค่าขนม เราก็โอเค ไม่เป็นไร จะไปลองหาตังค์เอง ก็เป็นสิ่งที่ต้องแลกไป คือตั้งแต่หลังปี 2563 มาถึงตอนนี้ เราก็ไม่ได้ขอเงินที่บ้านอีกเลย แต่เขาก็ยังทำหน้าที่ผู้ปกครองอยู่นะ”

สองสามปีที่ผ่านมา พร้อมๆ กับการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เบลล์ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพตัวเองไปด้วย โดยเขาพอมีทักษะด้านการออกแบบกราฟฟิก ทำให้รับงานออกแบบโปสเตอร์-ทำกราฟฟิกต่างๆ ทำให้มีรายได้ต่อเนื่อง ช่วงหลังๆ ยังไปเป็นผู้ช่วยหาเสียง ทำให้ได้ค่าจ้างเพิ่มเติมด้วย

นอกจากสิ่งที่ต้องแลกไปเมื่อออกมาเคลื่อนไหวแล้ว การถูกดำเนินคดี ยังทำให้เบลล์และครอบครัวมีภาระในกระบวนการที่เกิดขึ้น เมื่อต้องไปพบตำรวจ อัยการ สถานพินิจฯ นักจิตวิทยา และขึ้นศาล อย่างต่อเนื่อง

“ก่อนหน้าที่จะโดนคดี เราตั้งใจไว้ว่าเราจะเรียนให้จบภายในกี่ปีๆ กำหนดปีที่จะจบ แต่พอมาโดนคดี ทำให้มีภาระทั้งต้องขึ้นศาล ไปที่สถานพินิจฯ ก็ต้องตัดสินใจดร็อปเรียนไปหนึ่งเทอม

“แล้วก็เราตั้งเป้าจะไปสมัครงาน ไปหางานที่มีเงินเดือนทำ ไม่ใช่อยู่แบบฟรีแลนซ์ แต่มันมีหมายเรียกมาซะก่อน เลยยังไม่ได้หางานจริงจัง ก็เลยขาดโอกาสไป คือคดีมันไม่ใช่แค่วันสองวัน ถ้าเราเข้าไปทำงานใหม่ๆ ไม่นาน แล้วเราจะไปขอลา 3-4 วัน มันก็ไม่ใช่ เดือนหนึ่งต้องลาไปเยอะ ก็เลยตัดสินใจว่ารอเคลียร์คดีให้จบก่อน ยังไม่หางานประจำ

“หรือทางครอบครัว ที่แม่เรามีงานต้องไปคุมงาน ก็ไม่สามารถไปได้ เพราะต้องไปศาลกับเรา ก็เสียโอกาสในการหารายได้ เขาก็ต้องหยุดงานต่างๆ ไป”

แม้กระนั้น เบลล์ก็ยังยืนยันว่าจะต่อสู้คดีที่ถูกกล่าวหาให้ถึงที่สุด แม้ในคดีของเยาวชนฯ จะสามารถมีช่องทางยินยอมเข้าสู่มาตรการพิเศษแทนให้ศาลมีคำพิพากษาก็ตาม ทำให้เรื่องอาจจบได้เร็วกว่า

“คือตอนแรก ก็มีคนบอกให้รับสารภาพไป เพราะคดีเยาวชนมันมีกระบวนการฟื้นฟูฯ อะไรอยู่แล้ว ผมบอกเขาว่าผมคิดว่า ผมไม่ผิดน่ะ แล้วผมจะไปยอมรับทำไม ถ้าเราคิดว่าเราผิด โอเค เราก็ยอมรับ แต่อันนี้ มันไม่ใช่ เราก็ต้องการพิสูจน์ว่าเราไม่ได้กระทำผิด ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร ผมก็จะสู้ไปให้ถึงที่สุด

“ในเรื่องสภาพจิตใจ ตัวผมก็ไม่ได้เครียดเท่าไร เพราะพอรู้ว่าน่าจะโดน มันคิดแบบจะเกิดอะไรขึ้น ก็ให้มันเกิด ช่างแม่งเหอะ ในเมื่อมันเกิดมาแล้ว เราก็สู้ไป แต่ถ้าผลเป็นยังไง ก็เป็นไป ถ้าจะต้องติดคุก ก็ไม่เป็นไร ก็ติดไป จะกี่ปีก็ว่าไป หรือจะให้เราไปบำเพ็ญประโยชน์ ก็ไม่เป็นไร”

.

.

คำถามถึง “ความยุติธรรม”

เมื่อถามว่าเขาเห็นอะไรจากกระบวนการยุติธรรมที่ตัวเองเผชิญบ้าง เบลล์เล่าถึงปัญหาการสืบพยาน ซึ่งศาลที่ตัดสินใจคดี ดูจะไม่ค่อยเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีเท่าไร เนื่องจากคดีของเขามีเรื่องเกี่ยวกับเทคนิค เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ที่ต่อสู้คดี ต้องให้พยานใช้การอธิบายแบบพูดวนหลายรอบ เพื่อให้ศาลบันทึก ทำให้เกิดคำถามว่า ถ้าหากศาลไม่เข้าใจเรื่องที่เกี่ยวข้องอย่างถ่องแท้ ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

“คดีทั้งหมด เราเห็นว่าถ้ากฎหมายมันเป็นกฎหมาย ถ้ายึดพยานหลักฐานในคดีเลย มันไม่น่าผิดอยู่แล้ว แต่เราก็ไม่ทราบว่าเขาจะใช้หลักไหน หลายๆ คดี เราก็เห็นว่ามีความไม่เป็นธรรม อย่างคดีที่กระบี่ ที่ไปโพสต์ด่าประยุทธ์ แต่ไปโดน 112 มันแทบไม่เข้าเลย แต่โดนคดี ผมก็เลยไม่มั่นใจในกระบวนการ ไม่แน่ใจว่ามันยุติธรรมหรือเปล่า เราก็ไม่รู้ว่ามันใช้หลักไหน”

คดีที่เบลล์พูดถึง คือคดีของสุรีมาศที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งแชร์ลิงก์คลิปผู้ทำพิธีขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาจากกลุ่มเฟซบุ๊ก ‘รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส’ แต่กลับถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพราะมีกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ในพื้นที่ไปกล่าวหา ซึ่งต้องมีการสืบพยานเรื่องรูปแบบของกรุ๊ปในเฟซบุ๊กและลักษณะการแปะลิงก์จากกลุ่ม ให้ศาลเข้าใจ จนศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง หากแต่อัยการก็ยังอุทธรณ์คดีต่อมาอีกด้วย

“ผมไปแถลงในศาลเลยนะ ว่ากฎหมายนี้มันมีปัญหา ผมเก่ง Photoshop แล้วผมเกลียดใครสักคน ผมไปตัดต่อรูปเอาก็ได้ ว่าคนนี้มันเป็นคนโพสต์เรื่องเกี่ยวกับสถาบันฯ แล้วไปแจ้งความ คิดว่าตำรวจเขาจะไม่รับแจ้งความเหรอ เดี๋ยวนี้โปรแกรมตัดต่อมันไปไกลแล้ว” เบลล์สะท้อนถึงปัญหาช่องว่างของกฎหมาย

.

เป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงความคิดผู้คน และการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

ในช่วงปีนี้ นอกจากการเผชิญกับการต่อสู้คดีในศาลเป็นคดีแรกในชีวิต เบลล์ยังมีโอกาสสำคัญไปเป็นทีมช่วยหาเสียงให้กับรุ่นพี่นักกิจกรรมที่ลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคก้าวไกล ในพื้นที่จังหวัดพัทลุงอีกด้วย แม้จะไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่ก็เป็นประสบการณ์สำหรับเบลล์ในการช่วยลงพื้นที่หาเสียง

“ได้เรียนรู้เรื่องการคุมอารมณ์ของตัวเอง ให้ใจเย็นมากขึ้น คือตอนเป็นนักกิจกรรม เราก็ไม่ได้อะไรเท่าไร แต่พอไปช่วยหาเสียง เราต้องไปเจอคนทั้งที่เห็นด้วยและเห็นต่าง มันมีคนที่หลากหลาย มีทั้งแบบเข้ามาคุยด้วยอารมณ์โกรธ ว่าทำไม 4 ปีนี้ไม่ดีขึ้นเลย หรือบอกว่าก่อนหน้านี้คุณไม่เคยมาเดินเลย พอจะเลือกตั้ง ค่อยมา เราก็ต้องหาทางรับมือ จะไปใส่อารมณ์ต่อกันไม่ได้”

จากประสบการณ์การผลักดันประเด็นด้านเสรีภาพและประชาธิปไตยของเบลล์ เขาเห็นว่า สิ่งที่การทำงานในพื้นที่ภาคใต้ ยากกว่าพื้นที่อื่นๆ ในปัจจุบัน ก็คือเรื่องความคิดของผู้คน

“การที่จะเปลี่ยนความคิดของคน มันต้องใช้เวลาแบบโคตรยาวนาน อย่างการเคลื่อนไหวในภาคอื่นๆ มันเคยมีเสื้อแดง มันเคยมีฐานความคิดของเขาอยู่แล้ว แต่เรามี กปปส. มันก็กลายเป็นความคิดในลักษณะนั้น อย่างญาติๆ กันหลายคนก็เป็น กปปส. แนวคิด ก็มาจาก ‘กำนันฯ’ เลย

“เลยคิดว่าไม่มีอะไรยากมากไปกว่าการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนความคิดคนนี่แหละ การโดนตำรวจคุกคาม โดนตำรวจตาม หรือถูกกลุ่มฝั่งตรงข้ามมาคุกคาม หรือมายั่วยุอารมณ์ ผมมองว่ายังไม่เท่าไร เพราะว่าสิ่งพวกนี้มันสามารถคุมอารมณ์อะไรเราได้ แต่ความคิดของคน เราไม่สามารถไปควบคุมเขาได้ ผมเลยมองว่าการทำงานทางความคิดนี่แหละที่ยากสุด

“แต่ในช่วง 3-4 ปีนี้ ก็คิดว่าคนในภาคใต้ก็มีการเปลี่ยนแปลงทางความคิดไปพอสมควร เราเห็นได้จากในชีวิตประจำวันนี่แหละ เห็นการพูดถึงสิ่งที่ไม่เคยพูดถึง เห็นการพูดถึงงบประมาณของประเทศและท้องถิ่น พูดถึงพรรคการเมืองต่างๆ แล้วคนรุ่นใหม่ก็สนใจการเมืองเพิ่มขึ้นมามาก ตอนนี้ขนาดคนกรีดยางข้างๆ บ้าน ยังพูดถึงปัญหาโครงสร้างอะไรแล้ว แต่ก็คงต้องค่อยๆ เปลี่ยน ยังไม่ได้เยอะขนาดนั้น”

สำหรับเบลล์แล้ว ในฐานะเด็กต่างจังหวัด ประเด็นที่เขาอยากเห็นและอยากให้เกิดขึ้นเร็วที่สุดในสังคมไทยตอนนี้ คือเรื่องการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นมีบทบาทการตัดสินใจดูแลประชาชนในพื้นที่ของตัวเองได้มากขึ้น มีงบประมาณที่พอเพียงมากขึ้น เป็นที่พึงของคนในท้องถิ่นได้จริงๆ

“ท้องถิ่นเป็นสิ่งที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ถ้าท้องถิ่นมีอำนาจมากขึ้น ชีวิตเราน่าจะดีกว่านี้ อย่างต่างจังหวัด เรื่องน้ำ เรื่องน้ำกิน น้ำทางการเกษตร พวกถนน หนทาง ไฟฟ้า หรือการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ควรที่จะยกระดับอนามัยต่างๆ

“ที่บ้านผมจะไปโรงพยาบาลครั้ง มันก็ไม่ต่ำกว่า 15 กิโล แล้วต้องใช้เวลาเยอะ แล้วยิ่งใช้เวลาเยอะ มันก็ยิ่งเจ็บปวดเยอะ หรือเรื่องโรงเรียน ท้องถิ่นก็สามารถกำกับดูแล และทำให้ใกล้ชิดคนกว่า เพราะส่วนกลางไม่เคยมาเห็นเลย มีมานานๆ ที มาตรวจราชการที”

.

Q: “หลายคนโดนคดีแบบนี้ โดนคุกคามแบบเบลล์ อาจจะท้อ เหนื่อย หยุดเคลื่อนไหวหรือลดบทบาทไปแล้ว แต่ทำไมเบลล์ยังเคลื่อนไหว”

A: “ผมเห็นความเปลี่ยนแปลง คือเราเป็นคนที่ทำงานด้านการศึกษามา อย่างเรื่องทรงผมที่พูดถึง แล้วเราเห็นความเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน ไม่ใช่แค่เรื่องทรงผม แต่ยังรวมไปถึงกฎระเบียบอะไรที่มันแปลกๆ อย่างเช่น ห้ามนำโทรศัพท์เข้ามาในโรงเรียน หรือห้ามติดโบว์ติดกิ๊ฟ พอเรื่องนี้ คนมันสนใจทางออนไลน์เยอะ หลายคนเห็นไปทางเดียวกัน โรงเรียนมันก็เริ่มจะเปลี่ยน พอมันเริ่มเห็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลง หลายคนก็หวังแบบนี้มานานแล้ว เราก็รู้สึกมีความสุขไปด้วย

“ยิ่งเห็นการค่อยๆ พัฒนาไปทีละก้าวๆ อาจจะทีละโรงเรียน สองโรงเรียน จนขยายไป เราก็รู้สึกว่าเสียงของเรามันใหญ่ขึ้น ทำให้เรามีพลังที่จะทำงานไปเรื่อยๆ ไม่หยุดไป”

Q: “ถ้าให้ช่วยนิยาม ยุคสมัยในช่วงเวลา 3-4 ปีนี้ ที่เบลล์ออกมาร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง อยากนิยามเป็นยุคแบบไหน”

A: “นี่เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยที่ ‘เรา’ เป็นคนเปลี่ยนแปลง หมายถึง เราเป็นกลไกหนึ่ง เป็นฟันเฟือนหนึ่ง ในการขับเคลื่อน ให้ประเด็นต่างๆ ที่แต่ละคน แต่ละกลุ่ม หรือเรื่องที่มันเป็นปัญหาจริงๆ ในสังคม ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปได้ด้วยตัวเราเอง ที่ออกมาพูดคนละคำสองคำ คือถ้าพูดคนเดียว มันไม่มีใครฟัง แต่ถ้าช่วยกันพูด มันสร้างการเปลี่ยนแปลงได้”

.

X