เนื่องจากการลงพื้นที่ในจังหวัดสงขลาและพัทลุงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรายงานสถานการณ์ละเมิดสิทธิและคุกคามประชาชนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีนักกิจกรรมในพื้นที่อย่างน้อย 7 ราย ถูกตำรวจไปหาที่บ้าน หนึ่งในนั้นยังถูกตำรวจควบคุมตัวไว้ในร้านกาแฟ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง
ตร.ไปบ้านที่พัทลุง ของนักศึกษา 2 รอบ ไม่บอกว่ามาหาทำไม ทั้งที่ก็มีเบอร์ติดต่ออยู่แล้ว
ศุภกร ขุนชิต นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ที่จังหวัดพัทลุง และคดีคาร์ม็อบที่จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลว่า ช่วงอาทิตย์ที่แล้ว มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเกือบ 10 นาย ทราบว่าเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบทั้งหมด ไปที่บ้านย่าของเขาในจังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นบ้านที่เขาเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านก่อนจะย้ายไปอยู่ที่สงขลา
ตำรวจได้ไปสอบถามหาศุภกรจากย่าที่อายุ 80 กว่าปีแล้ว และอาศัยอยู่บ้านหลังนั้นเพียงคนเดียว ขณะที่ย่าของศุภกรก็ไม่ทราบว่าเป็นตำรวจจากที่ไหน และฝ่ายตำรวจก็ไม่แจ้งรายละเอียดอย่างชัดเจนว่ามาถามหาเขาเพื่ออะไร บอกเพียงแค่อยากมาหาศุภกร
ต่อมาวันที่ 24 เม.ย. ได้มีตำรวจนอกเครื่องแบบอีก 2 นาย ไปที่บ้านย่าอีกครั้ง และได้ถามหาศุภกรในลักษณะเดิม โดยถามว่าไปอยู่ที่ไหน กลับมาบ้านที่นี่บ้างไหม ช่วงนี้ไปไหน ทำอะไร
ศุภกรตั้งข้อสังเกตว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีเบอร์ติดต่อตนอยู่แล้ว และก่อนหน้านี้ก็เคยเข้าจับกุมเขาในคดีมาตรา 112 และเขาก็ไปรายงานตัวตามหมายนัดคดีต่างๆ อยู่ตลอด ทำให้ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดตำรวจจึงต้องเดินทางไปตามหาถึงที่บ้านของญาติ ถ้าอยากพูดคุยด้วย ก็สามารถติดต่อตนได้โดยตรง
ในเวลาต่อมา ศุภกรจึงได้ทราบว่าการเข้าติดตามและสอบถามตัวเขาที่บ้านดังกล่าว เกี่ยวข้องกับการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเดินทางลงพื้นที่สงขลาและพัทลุง ซึ่งศุภกรเองก็ไม่เคยทราบมาก่อน และยืนยันว่าไม่ได้จะทำกิจกรรมหรือแสดงออกใด
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ย่าซึ่งมีอายุมากแล้วประกอบมีโรคประจำตัวเกิดความกังวลและไม่สบายใจ และส่งผลทำให้ศุภกรรู้สึกได้รับผลกระทบจากการถูกคุกคาม โดยเฉพาะการคุกคามถึงบุคคลในครอบครัวซึ่งมีอายุมากแล้ว รวมถึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าหากเกิดอะไรขึ้นกับย่า เจ้าหน้าที่จะรับผิดชอบอย่างไร
ทั้งนี้ ศุภกรยังระบุด้วยว่ามีเพื่อนๆ ทั้งที่สงขลา พัทลุง และตรัง อีกไม่ต่ำกว่า 10 คน ก็ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามคุกคามด้วยเช่นกัน
ห้ามนักกิจกรรมวัย 18 เข้ายื่นหนังสือประยุทธ์ แถมคุมตัวไปนั่งร้านกาแฟ กว่า 2 ชม.
‘เบล’ นักกิจกรรมวัย 18 ปี ที่เพิ่งจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในจังหวัดพัทลุงหมาดๆ และเคยทำกิจกรรมทางการเมืองในพื้นที่ ระบุข้อมูลการถูกคุกคามของเขาว่า ในช่วงเช้าของวันที่ 25 เม.ย. เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจำนวนหนึ่งได้ไปหาเขาถึงที่พักใน อ.ศรีนครินทร์ เพื่อบอกว่า “นาย” ซึ่งทราบว่าคือ รองผู้กำกับการ สภ.เมืองพัทลุง ต้องการจะคุยด้วย และเมื่อได้คุยกัน ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็สอบถามว่า วันนี้จะไปไหน ทำอะไร ใช้รถอะไร และรถที่ใช้เป็นของใคร จากนั้นตำรวจที่มาหาก็ถ่ายรูปไว้ ก่อนจะพากันกลับไป
ต่อมาช่วงเวลา 13.00 น. โดยประมาณ เบลได้เดินทางไปถึงสถานที่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะมา เพราะเขาต้องการเข้ายื่นหนังสือคัดค้านการทำเขื่อนในจังหวัดพัทลุงต่อนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อไปถึงก็ถูกตำรวจเข้ามาขวางไว้ โดยบอกว่า “นายสั่งไม่ให้เข้า” ถ้าจะเข้า ต้องมีบัตรเชิญเท่านั้น เมื่อเบลบอกกับตำรวจว่าเขาต้องการยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกฯ แค่นั้น ไม่ได้จะแสดงออกใด ทางตำรวจก็ยืนยันว่าไม่ได้ พร้อมกับไล่ให้ไปยื่นหนังสือดังกล่าวที่ศูนย์ดำรงธรรมแทน
จากนั้นเวลาประมาณ 15.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ได้มาถึงที่จัดงาน เบลจึงได้เดินอ้อมเข้าไปทางด้านหลังด้วยคาดว่าจะทำให้สามารถเข้ายื่นหนังสือให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ แต่กระนั้น เขาก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 5 – 6 นาย ขวางไว้ และมีเจ้าหน้าที่อีกกว่า 10 นาย ยืนสังเกตการณ์อยู่โดยรอบ เบลจึงกลับออกมาเพราะก็เกรงว่าอาจจะถูก “หิ้ว” ไป
อย่างไรก็ตาม เบลเล่าว่าหลังจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจพาไปยื่นหนังสือที่ศูนย์ดำรงธรรม โดยมีบุคคลซึ่งคาดว่ามาจากสำนักนายกรัฐมนตรีรับหนังสือดังกล่าวไป เบลระบุว่าเมื่อได้ส่งหนังสือแล้วเขาก็ไม่ได้มีแผนการจะทำอะไร เพราะจุดประสงค์มีเพียงแค่การยื่นหนังสือคัดค้านเรื่องการสร้างเขื่อนในจังหวัดพัทลุงเท่านั้น มิใช่เพื่อการสร้างความวุ่นวายหรือปั่นป่วนแต่อย่างใด
กระนั้น เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. หลังเสร็จสิ้นการยื่นหนังสือ เบลยังอยู่ในพื้นที่นั้นต่อเพื่อจะดูเพื่อนทำการแสดงรำมโนราห์ โดยเลือกที่จะไปยืนดูร่วมกับคนอื่นๆ ที่บริเวณด้านข้างของสถานที่จัดงาน แต่เมื่อยืนไปสักพัก ก็สังเกตได้ว่ามีสายตาตำรวจมองมาที่ตนอยู่เสมอ จากนั้นไม่ถึง 1 นาทีได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 10 นาย เข้ามาล้อมไว้ โดยตำรวจคนหนึ่งเข้ามาดึงที่หูกางเกงพร้อมกับผลักเขา
ทั้งนี้ เบลได้บอกกับตำรวจว่าไม่ได้ทำอะไรแล้ว แค่มายืนดูเพื่อน ซึ่งทางตำรวจก็บอกว่าดูไม่ได้ เมื่อถามไปอีกว่าทำไมดูไม่ได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน
จากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 2 คน ซึ่งเบลระบุว่าเป็น รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค และ รองผู้กำกับ สภ.เมืองพัทลุง ส่งสัญญาณให้ตำรวจพาตัวเบลออกไปจากพื้นที่
เบลจึงได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ารวบตัวเขา ก่อนพาไปควบคุมไว้ที่ร้านกาแฟอเมซอนในละแวกนั้น โดยไม่ให้เขาออกมานอกร้านอีก พร้อมมีตำรวจจำนวนหนึ่งนั่งเฝ้าอยู่โดยตลอดเป็นเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง จนกระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางกลับแล้ว จึงได้รับการปล่อยตัว สามารถเดินทางกลับได้ ในเวลาหลัง 19.30 น. ไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสถานการณ์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า นอกจากทั้ง 2 กรณีในข้างต้นแล้ว ยังมีการละเมิดสิทธิและคุกคามนักกิจกรรมภาคใต้อีกจำนวนหนึ่ง โดยมีทั้งการไปยังละแวกบ้านเพื่อสอบถามเพื่อนบ้านเกี่ยวกับตัวนักกิจกรรมว่าอยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่ รวมถึงมีการข่มขู่คนในครอบครัวของนักกิจกรรมรายหนึ่งด้วยว่า “ดูแลลูกให้ดี ถ้าไม่อยากเดือดร้อน”