อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี “หนุ่มพกป้ายไล่ประยุทธ์” ที่ท่าน้ำปากเกร็ด ชี้ ตร.จับกุมไม่ชอบ-ผู้ต้องหาไม่ได้ผิดตามตร.กล่าวหา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการคดีศาลแขวงนนทบุรี ในคดีที่สุชาติ จั่นแก้ว หนุ่มวัย 22 ปี ถูกตำรวจจับกุมและดำเนินคดีระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดนนทบุรี โดยตำรวจอ้างว่าเขาก่อความเดือดร้อนรำคาญ โดยเตรียมจะชูป้าย “ด่าทอ ดูหมิ่น กล่าวร้าย” การทำงานของรัฐบาล ทั้งยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ที่จะ “เชิญตัว” ไปที่ สภ.ปากเกร็ด และยังขัดขวางการทำงานของเจ้าพนักงาน แต่อัยการเห็นว่าผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์จะก่อความเดือดร้อนรำคาญ ป้ายที่ถูกยึดยังอยู่ในกระเป๋า ยังไม่ได้มีการแสดงออก และตำรวจยังจับกุมผู้ต้องหาโดยไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมาย ทำให้เห็นควรสั่งไม่ฟ้องคดีนี้

เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2564 สุชาติได้เดินทางไปบริเวณท่าน้ำปากเกร็ด ขณะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี เขาได้ร่วมชูสามนิ้วถ่ายรูปกับสิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งร่วมเดินทางมากับคณะ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามายืนล้อม และได้ขอเข้าตรวจค้นกระเป๋า ก่อนจะพบป้ายข้อความขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ อาทิ “สวดมนต์ไล่…มึงก่อนเลยคนแรก” เจ้าหน้าที่จึงได้ควบคุมตัวเขา โดยใช้วิธีการเข้าอุ้มไปยัง สภ.ปากเกร็ด

ต่อมาตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาต่อสุชาติ ใน 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ทราบคำสั่งเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร, กระทำด้วยประการใดๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการทำได้รับความเดือดร้อนรำคาญ, ต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่ โดยคดีมี พ.ต.ท.ศุภกฤช เดือนแจ้งรัมย์ กับพวก เป็นผู้กล่าวหา

สุชาติให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยไม่ลงลายมือชื่อในเอกสารใดๆ ก่อนพนักงานสอบสวนจะให้ปล่อยตัวสุชาติไป โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกัน

ในเหตุการณ์จับกุมในวันดังกล่าวนั้น สุชาติยังได้รับบาดเจ็บที่ขา ระหว่างถูกเจ้าหน้าที่พยายามอุ้มตัวและยกแขนขาเขาด้วย ทั้งเมื่อถูกนำตัวไปที่ สภ.ปากเกร็ด ผู้กำกับยังไม่อนุญาตให้ทนายความที่ติดตามไปเข้าพบผู้ต้องหา โดยอ้างว่าต้องทำบันทึกจับกุมให้เสร็จก่อน จนหลังทำบันทึกจับกุม ตำรวจจึงอนุญาตให้ทนายเข้าพบสุชาติได้

>> จับกุม 2 ผู้ชุมนุมไล่ประยุทธ์ที่นนทบุรี ไม่ให้ทนายเข้าร่วมชั้นจับกุม ก่อนตร.ให้ประกันชั้นสอบสวน

หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2564 พนักงานสอบสวน สภ.ปากเกร็ด ได้ส่งสำนวนคดีให้กับพนักงานอัยการคดีศาลแขวงนนทบุรีพิจารณา  และเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2564 อัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนี้อย่างเด็ดขาด แจ้งกลับมายัง สภ.ปากเกร็ด โดยเห็นว่าพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง ทำให้คดีถือเป็นอันสิ้นสุด

.

ภาพการจับกุมของเจ้าหน้าที่บริเวณท่าน้ำปากเกร็ด เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 64 (ภาพจากไทยรัฐออนไลน์)

.

เปิดคำสั่งไม่ฟ้อง อัยการชี้ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์ก่อความเดือดร้อนรำคาญ ตำรวจจับกุมโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย

สำหรับคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการศาลแขวงนนทบุรี มีเนื้อหาคำวินิจฉัยระบุว่า การที่ผู้กล่าวหาพร้อมพวก พบผู้ต้องหานั่งอยู่ในที่เกิดเหตุโดยถือกระเป๋าผ้า ซึ่งภายในบรรจุป้ายข้อความของกลาง โดยไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหามีพิรุธหรือแสดงออกด้วยวิธีใดๆ กลับปรากฏว่าเมื่อผู้กล่าวหาพร้อมพวกขอทำการตรวจค้น ผู้ต้องหายินยอมให้ตรวจค้น เมื่อพบป้ายข้อความของกลาง จึงสั่งให้ผู้ต้องหาเดินออกจากบริเวณที่เกิดเหตุไปยัง สภ.ปากเกร็ด เมื่อผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว ผู้กล่าวหาพร้อมพวกจึงแจ้งข้อหากระทำให้ได้รับความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้ต้องหา เพื่อทำการจับกุมตัวไปยัง สภ.ปากเกร็ด โดยไม่ปรากฏพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่าผู้ต้องหาได้กระทำให้ได้รับความเดือดร้อนด้วยวิธีใด แก่ผู้ใด

ส่วนที่มี ส.ต.นิวัตต์ โชติสิทธิ์กุลชัย และนายตรัยพัทธ์ ไตรมณีธรรม ให้การเป็นพยาน โดยยืนยันว่าผู้ต้องหามาก่อความเดือดร้อนรำคาญโดยนำแผ่นป้ายมาเพื่อโจมตีการทำงานของรัฐบาลนั้น ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้วว่าแผ่นป้ายดังกล่าวถูกยึดได้จากภายในกระเป๋าผ้าของผู้ต้องหา ยังไม่มีการนำแผ่นป้ายดังกล่าวออกจากกระเป๋า ซึ่งเป็นการไม่แน่ว่าผู้ต้องหาจะใช้แผ่นดังกล่าวกระทำหรือไม่กระทำการใดอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

ส่วนเหตุการณ์ภายหลังที่ผู้ต้องหาไม่ยินยอมให้ผู้กล่าวหากับพวกนำตัวไปยัง สภ.ปากเกร็ด โดยทำตัวนิ่ง แข็ง นั่งลง ร้องตะโกนส่งเสียงดังให้สื่อมวลชนเข้ามาถ่ายภาพเพื่อให้นำเสนอข่าว เป็นเหตุให้คนมุงดูจำนวนมาก ก็เนื่องมาจากผู้ต้องหาถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมโดยไม่มีหมายจับและไม่มีเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าว ย่อมเป็นการกระทำไปเพื่อเรียกร้องป้องกันการถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย จากการถูกค้น ควบคุมตัว จับกุม โดยไม่มีเหตุที่จะกระทำได้ตามกฎหมาย ซึ่งไม่ถึงกับเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญ และไม่มีผู้ใดได้รับความเดือดร้อนรำคาญตามที่ผู้กล่าวหาอ้าง การกระทำของผู้ต้องหาจึงไม่เป็นความผิดฐานกระทำด้วยประการใดๆ ต่อผู้อื่นให้ได้รับความเดือดร้อนรำคาญ

และการที่ผู้กล่าวหาพร้อมพวกเข้าจับกุมผู้ต้องหาโดยยกแขน ลำตัว และขาของผู้ต้องหา เพื่อให้ออกจากบริเวณที่เกิดเหตุ เป็นการจับโดยไม่มีหมายจับและกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 ดังนั้น การที่ผู้ต้องหาขัดขวางโดยใช้มือปัดและใช้เท้าถีบเจ้าพนักงานผู้จับ ก็ไม่มีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน

เมื่อสถานที่เกิดเหตุเป็นที่สาธารณะซึ่งประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ต้องหา มีความชอบธรรมที่จะอยู่ในบริเวณดังกล่าวได้ การที่ผู้กล่าวหาสั่งให้ผู้ต้องหาออกจากบริเวณที่เกิดเหตุ เพื่อไปยัง สภ.ปากเกร็ด เนื่องจากเห็นว่าพฤติกรรมของผู้ต้องหากำลังก่อความเดือดร้อนรำคาญ สร้างความไม่สงบในบ้านเมือง ทั้งที่ความจริงแล้ว ผู้ต้องหาเพียงแต่นั่งอยู่ในที่เกิดเหตุ โดยยังไม่มีการแสดงออกด้วยกิริยา ท่าทาง หรือคำพูด หรือพฤติกรรมใดตามข้อกล่าวหา

ที่ผู้กล่าวหาให้การว่า “เชื่อว่าสิ่งของดังกล่าว จะนำมาใช้ก่อความวุ่นวายบริเวณที่เกิดเหตุ” เพียงแต่อาศัยการคาดคะเนของผู้กล่าวหาเองทั้งสิ้น โดยปราศจากเหตุผลและพฤติการณ์อันควรเชื่อตามกฎหมาย ดังนั้น การที่ผู้กล่าวหาพร้อมพวกสั่งให้ผู้ต้องหาออกจากบริเวณที่เกิดเหตุเพื่อไปยัง สภ.ปากเกร็ด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ แม้ผู้ต้องหาจะทราบคำสั่งดังกล่าวแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น ผู้ต้องหาก็ไม่มีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร คดีจึงมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง

คำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าวลงนามโดย นายอัคคพล รักผกา อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการภาค 1 รักษาการในตำแหน่งอัยการจังหวัดคดีศาลแขวงนนทบุรี

ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 ระบุเรื่องเหตุที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่บุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า, เมื่อพบบุคคลโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด, เมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับบุคคลนั้น  แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับได้ และเป็นการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างถูกปล่อยชั่วคราว

หลังรับทราบคำสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าว ทางทนายความและสุชาติจะหารือเรื่องการฟ้องร้องกรณีการใช้อำนาจจับกุมและดำเนินคดีโดยไม่ชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป

.

X