ให้ประกัน “สมคิด-ฉลวย-ศักดิ์ชัย” หลังถูกจองจำเกือบ 3 เดือนและติดโควิดในเรือนจำ ด้าน ศักดิ์ชัย ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

13 พ.ค. 2564 ศาลอาญา รัชดาฯ นัดไต่สวนคำร้องขอประกันตัวของ 3 จำเลย คดีล้อมรถควบคุมตัว “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ขณะตำรวจอายัดตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไป สน.ประชาชื่น เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563 หลังทนายความยื่นคำร้องขอประกันเป็นครั้งที่ 4 ของสมคิด โตสอย จำเลยที่ 4 และฉลวย เอกศักดิ์ จำเลยที่ 5 เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2564 และยื่นขอประกันศักดิ์ชัย ตั้งจิตสดุดี จำเลยที่ 3 เมื่อวานนี้ (12 พ.ค. 2564) 

     >> ศาลนัดไต่สวนประกันตัว “สิรภพ-พอร์ท ไฟเย็น” คดีม.112 และ “สมคิด-ฉลวย” คดีทุบรถคุมตัวไมค์-เพนกวิน 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา พบว่า ทั้งสามคนรวมทั้งธวัช สุขประเสริฐ จำเลยในคดีนี้อีกคนติดเชื้อโควิดระหว่างการถูกขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยก่อนหน้านี้ พวกเขาถูกปฏิเสธการให้ประกันตัว และนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีถูกเลื่อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด

บรรยากาศการไต่สวนที่ห้องพิจารณา 912 มีญาติของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 มารอเบิกความเป็นพยานเต็มห้อง มีเด็กใส่ชุดนักเรียน 2 คน โดยการไต่สวนในวันนี้เป็นการไต่สวนผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์จากแดนพยาบาลราชทัณฑ์ เมื่อเจ้าหน้าที่ศาลเชื่อมต่อสัญญาณได้แล้ว ปรากฏภาพจำเลยทั้งสามถูกเบิกตัวมายืนเรียงกันที่หน้ากล้อง ญาติๆ ต่างรีบกรูกันมามองที่ภาพบนจอทีวี ขณะที่ด้านหลังของทั้งสาม มองเห็นผู้ต้องขังนอนเรียงติดๆ กันบนผ้าขนหนู มีผู้ต้องขังกว่า 30 คนอยู่ในห้องเดียวกัน 

ภาพจำลองภายในแดนพยาบาลที่จำเลยทั้ง 4 ถูกกักตัวไว้

ทั้งสามคนนั่งเรียงแถวกันผ่านจอทีวีในห้องพิจารณาคดี ด้านศักดิ์ชัยดูซูบผอม และอิดโรยกว่าปกติ เมื่อทนายความถามถึงอาการป่วย ศักดิ์ชัยไม่มีแรงแม้แต่จะตอบรับ สมคิดจึงตอบแทนศักดิ์ชัยว่า ศักดิ์ชัยไม่มีแรงกินอะไรไม่ได้ เป็นไข้ตัวร้อน กินไปก็อาเจียนออกมา ส่วนตัวสมคิดมีอาการไอ ตัวร้อน ปวดเมื่อย ด้านฉลวยซึ่งตาเป็นต้อกระจกเล่าว่า มีหมอมาตรวจอาการทุกวัน ตอนนี้มีเสมหะ 

ลูกชายของศักดิ์ชัยค่อนข้างเครียดหลังรับทราบอาการป่วยของพ่อ เดินไปบอกพ่อว่า “ขอให้เข้มแข็งนะตอนนี้หาโรงพยาบาลไว้ให้แล้ว ถ้าวันนี้ได้ออกมา” จากนั้นกลับมานั่งก้มหน้าเอามือกุมศีรษะ

ขณะที่แม่ของสมคิดพูดใส่ไมค์พร้อมน้ำตาว่าเข้มแข็งนะลูก เดี๋ยวก็ได้กลับบ้านแล้ว เช่นเดียวกับภรรยาของสมคิดที่กล่าวว่าขอให้เข้มแข็ง ตลอดเวลานั้นสมคิดขมวดคิ้วทำหน้าเหมือนจะร้องไห้ ลูกสาวฉลวยพูดทั้งน้ำตาว่า “หนูคิดถึงพ่อ” แล้วเดินกลับมาสะอื้นอยู่ที่ม้านั่งกับลูกสาวของเธอ  

ระหว่างที่รอศาลเข้ามาในห้องพิจารณาคดี ศักดิ์ชัยก็นอนลงบนตักของสมคิด โดยที่สมคิดเอามือโอบที่ไหล่ของศักดิ์ชัยไว้ ลูกชายของศักดิ์ชัยจ้องมองที่พ่อไม่วางตา ส่วนธวัชเดินเข้ามานั่งด้านหน้ากล้องด้วยแม้วันนี้ยังไม่มีการไต่สวนเขา 

เวลา 11.00 น. เจ้าหน้าที่ คาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่พยาบาล เข้ามาวัดความดันของศักดิ์ชัยได้ 101/64  ค่าออกซิเจน 94 เปอร์เซ็นต์ ไม่นานมีหมอใส่ชุด PPE เข้าไปดู ทนายขอผ่านคอนเฟอเรนซ์ให้หมอให้น้ำเกลือศักดิ์ชัย จากนั้นหมอได้นำตัวศักดิ์ชัยออกไป โดยบอกว่าจะนำไปให้ออกซิเจนที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์

เวลา 11.30 น. มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีค้ามนุษย์ ออกพิจารณาคดี โดยเริ่มไต่สวนคำร้องขอประกันศักดิ์ชัยก่อน เนื่องจากลูกชายต้องรีบประสานโรงพยาบาลในช่วงบ่าย ส่วนศักดิ์ชัยนั้นอาการทรุดลง จนไม่สามารถขึ้นเบิกความได้ จากนั้นศาลจึงไต่สวนคำร้องขอประกันของฉลวยและสมคิดต่อในช่วงบ่ายตามลำดับ

เนื้อหาการไต่สวน นอกจากจำเลยแต่ละคนเบิกความเป็นพยานให้ตนเอง ยกเว้นศักดิ์ชัยที่ไม่สามารถเบิกความได้ โดยยืนยันว่า ไม่ได้มีพฤติการณ์ตามที่ถูกฟ้อง โดยเฉพาะฉลวย เบิกความว่าไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ ยังมีคนในครอบครัว รวมถึงบุคคลสำคัญในชุมชนหรือเขตที่อยู่มาเบิกความรับรองว่า จะกำกับดูแลให้จำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้ประกันตัวของศาล

หลังเสร็จการไต่สวนในเวลาประมาณ 16.00 น.  ศาลแจ้งว่า มีการประชุมของศาลเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ที่ประชุมกำหนดให้การออกหมายปล่อยตัวผู้ต้องขังที่ติดเชื้อโควิด จะต้องได้รับใบรับรองจากสถานพยาบาลที่จะรับตัวผู้ต้องขังดังกล่าวไปรักษาก่อน 

เวลา 17.56 น. ศาลอนุญาตให้ประกันตัว จำเลยที่ 3-5 โดยให้วางหลักทรัพย์คนละ 25,000 บาท และมีเงี่อนไข ห้ามชุมนุมก่อความวุ่นวาย ห้ามออกนอกประเทศ และมาศาลตามนัด 

 

ไต่สวนคำร้องขอประกันศักดิ์ชัย

ลูกชายของศักดิ์ชัย อายุ 26 ปี อาชีพวิศวกร เข้าเบิกความเป็นพยาน ระบุว่า จำเลยที่ 3 มีอายุ 63 ปี ปัจจุบันติดเชื้อโควิดอยู่ในเรือนจำ มีอาการรุนแรง อ่อนเพลียมาก ทานอาหารแล้วอาเจียน ทานน้ำก็ถ่ายเป็นของเหลว พยานได้ประสานไปที่เรือนจำให้หมอเข้าไปดู และแนะนำตัวพ่อเข้าห้อง ICU 

เกี่ยวกับคดีนี้พยานเบิกความว่า พ่อไปหาพบตำรวจเองโดยตลอด ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี พยานรับรองว่า พ่อจะไม่ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานแน่นอนเพราะไม่มีอำนาจ และเมื่อส่งฟ้องต่อศาลแล้ว พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จแล้วก็ไม่สามารถไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้อีก 

ลูกชายของศักดิ์ชัยยังเบิกความอีกว่า หากศาลให้ประกันตัวโดยกำหนดเงื่อนไข พ่อบอกว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดทุกอย่าง รวมทั้งยอมติด EM และจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรม เช่น การชุมนุม โดยพยานจะเป็นผู้ดูแลพ่อเนื่องจากปัจจุบันพ่ออาศัยอยู่กับพยานเพียง 2 คน พยานรับรองว่าจะดูแลไม่ให้พ่อไปเข้าร่วมการชุมนุม 

พยานทราบว่าพ่อถูกดำเนินคดีอีกคดีหนึ่งซึ่งยังอยู่ในระหว่างการสืบพยานของศาลแขวงดุสิต โดยเพียงแต่ว่าเป็นคดีเกี่ยวกับการชุมนุมของคนอยากเลือกตั้ง

เกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยของพ่อจากการติดโควิด พยานต้องการให้พ่อออกไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล และได้ประสานกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ไว้แล้ว แต่ทางโรงพยาบาลมีเงื่อนไขให้ทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นคนส่งตัวไป

 

พยานของศักดิ์ชัยอีกปาก เป็นประธานชุมชนบ้านสามต้น เขตวัฒนา เข้าเบิกความในช่วงบ่าย ระบุว่า เป็นประธานชุมชนมาตั้งแต่ปี 2557 รู้จักกับศักดิ์ชัยมาประมาณ 20 ปี บ้านอยู่ห่างกันประมาณ 20 เมตร  หากศาลให้ประกันศักดิ์ชัย ตนรับรองว่าจะช่วยกำกับดูแลศักดิ์ชัยไม่ให้มีพฤติการณ์ตามที่ถูกฟ้องอีก 

 

ไต่สวนคำร้องขอประกันฉลวย

ฉลวย เอกศักดิ์ จำเลยที่ 5 เข้าเบิกความเป็นพยานให้ตัวเองเป็นปากแรกระบุว่า ปัจจุบันอายุ 52 ปีอาชีพรับจ้าง 

เกี่ยวกับคดีนี้ ฉลวยยืนยันว่า รถมอเตอร์ไซค์สีเทาคันที่ทนายความเอาสำเนาคู่มือการจดทะเบียนให้ดูนั้นเป็นรถของตนเองซึ่งยกให้ลูกสาวไปใช้งานแล้ว ก่อนวันเกิดเหตุ พยานไม่เคยใช้รถมอเตอร์ไซค์คันดังกล่าว แต่ใช้อีกคันยี่ห้อฮอนด้า สีชมพู ซึ่งในวันเกิดเหตุก็ใช้รถคันนั้น 

เหตุที่พนักงานสอบสวนเรียกพยานไปให้การเนื่องจากรถคันที่อยู่ในที่เกิดเหตุเป็นชื่อของของพยาน แต่ตัวพยานไม่เคยไปในที่เกิดเหตุในวันที่เกิดเหตุตามที่ถูกกล่าวหา โดยมีพยานที่ยืนยันได้คือลูกสาวของตนเองและประธานพร ประธานชุมชนตลาดบางเขน ซึ่งพยานจำชื่อจริงไม่ได้ ทั้งสองคนจะยืนยันได้ว่าตนใช้รถฮอนด้าขี่ไปทำงาน งานที่ทำคือสร้างบ้านให้ประธานพร ย่านบางเขน ฉลวยยืนยันอีกว่าไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับการชุมนุม ไม่เคยทราบและไม่รู้ว่ามีเหตุการณ์ล้อมรถผู้ต้องขังเกิดขึ้น เนื่องจากแต่ละวันตนจะไปทำงานและไปรับหลานเท่านั้น

ฉลวยยังเบิกความอีกว่า ที่ผ่านมาเมื่อได้รับหมายเรียกของพนักงานสอบสวน ตนเองได้ไปพบพนักงานสอบสวน รวมทั้งไปตามนัดของอัยการทุกครั้ง หากได้รับการประกันตัว ตนยินดีที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดทุกอย่าง รวมทั้งไม่ยุ่งเกี่ยวกับการชุมนุม เนื่องจากตนเองก็ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับการชุมนุมอยู่แล้ว 

 

พยานที่เข้าเบิกความเป็นพยานให้ฉลวยปากที่ 2 คือ จารุกิตติ์ มัชฌิมาดิลก หรือ “ประธานพร” อายุ 42 ปี อาชีพนักการเมืองท้องถิ่นเบิกความว่า พยานเป็นประธานชุมชนตลาดบางเขนตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน และเป็นผู้ช่วย ส.ส.ภาดาห์ วรกานนท์ เขต 6 พรรคพลังประชารัฐ พยานไม่ได้เป็นญาติกับฉลวย แต่รู้จักกันตั้งแต่เด็ก เป็นคนพื้นที่เดียวกัน 

พยานทราบว่า ฉลวยมีอาชีพรับซ่อมแซมบ้าน จึงให้มาทำงานที่บ้านพยานตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 จนถึงประมาณเดือนมกราคม 2564 ระหว่างที่ฉลวยทำงานกับพยานได้ใช้รถมอเตอร์ไซค์ขี่มาทำงาน เป็นรถสีชมพู จำเลขทะเบียนไม่ได้ แต่ยืนยันว่าเป็นคันที่ทนายจำเลยให้ดูภาพ โดยกล่าวว่าปัจจุบันรถคันดังกล่าวก็จอดอยู่หน้าบ้านของตน

จารุกิตติ์เบิกความอีกว่า ทราบว่าก่อนที่ฉลวยจะไปทำงานกับพยานจะต้องนำหลานสาวไปส่งที่โรงเรียนก่อน และมาทำงานอยู่จนถึง 17.00 น. จึงกลับบ้านที่ปทุมธานี พยานยืนยันได้ว่าฉลวยไม่เคยมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง มีแต่มาทำงานที่บ้านของพยานเท่านั้น

หากฉลวยได้รับการประกันตัว จารุกิตติ์รับรองว่าจะเป็นผู้กำกับดูแลให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดได้ 

 

พยานปากสุดท้าย คือ ลูกสาวของฉลวยอายุ 30 ปี อาชีพแม่บ้าน เบิกความว่า ตนเองมีลูก 2 คน โดยคนที่พ่อต้องรับส่งไปโรงเรียนเป็นประจำคือลูกสาวคนโต

พ่อมีชื่อครอบครองรถมอเตอร์ไซค์ 2 คัน ซึ่งพยานจำเลขทะเบียนไม่ได้ รถคันสีเทาเป็นรถคันที่พยานใช้ส่วนคันสีชมพูเป็นคันที่พ่อใช้ ในวันเกิดเหตุพยาน สามี ขี่รถคันสีเทาไปในที่เกิดเหตุพร้อมกับลูกเลี้ยง 

ลูกสาวของฉลวยเล่ารายละเอียดในวันเกิดเหตุว่า ตอนเช้าพ่อไปส่งหลาน และในตอนสายได้โทรบอกให้พยานเอาลูกไปเลี้ยงในช่วงเสาร์อาทิตย์ พยานจึงบอกพ่อว่าจะไปรับลูก ในตอนค่ำพยานและสามีจึงได้ขี่รถไปที่บ้านที่ปทุมธานีเพื่อไปรับลูกสาว โดยเข้าใจว่าพ่อพาลูกไปบ้านที่ปทุมธานีแล้ว แต่ไปถึงบ้านแล้วไม่พบจึงล็อคบ้านแล้วโทรหาลูกสาว 1 ครั้ง แต่โทรไม่ติด ระหว่างทางจึงโทรอีกครั้ง ทราบภายหลังว่าที่โทรไม่ติดเพราะแบตหมด 

จากนั้นพยานกับสามีได้ขี่รถมอเตอร์ไซค์มาเรื่อยๆ ตามทางเส้นคลองประปาเพื่อมารับลูกที่บางเขน มาถึงแยกพงษ์เพชรเห็นเหตุการณ์ รถตำรวจ ซึ่งตอนแรกไม่ทราบว่าเป็นรถอะไร ลากมอเตอร์ไซค์ออกไป จึงตามไปดู โดยสามีได้ถ่ายคลิปไว้ และเผยแพร่ในเฟซบุ๊ก ปัจจุบันคลิปดังกล่าวก็ยังอยู่และสามารถเข้าถึงได้ ยืนยันว่าเป็นคลิปตามที่ทนายความเปิดให้ดู ลูกสาวของฉลวยเบิกความอีกว่า ปกติถ้าพยานกับแฟนเจอเหตุการณ์อะไรก็มักจะถ่ายคลิปไปโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก 

ช่วงแรกพยานนึกว่ารถตำรวจในที่เกิดเหตุเป็นรถส่งของ เนื่องจากพยานอยู่ฝั่งตรงข้ามของที่เกิดเหตุ ลูกสาวของฉลวยยืนยันว่า ตนและสามีไม่เคยไปชุมนุมทางการเมือง รวมทั้งยืนยันว่าเป็นคนนำรถคันสีเทาดังกล่าวไปในที่เกิดเหตุ โดยผู้หญิงในภาพเหตุการณ์วันเกิดเหตุที่ใส่เสื้อสีดำก็คือตัวพยานเอง 

หลังสามีถ่ายคลิป พยานและสามีก็ออกจากที่เกิดเหตุไปรับลูกที่ตลาดบางเขน ไม่ได้อยู่ดูเหตุการณ์จนจบ โดยเมื่อไปถึงตลาดบางเขนพยานก็ได้พบกับลูก พ่อ และผู้ชายอีก 2 คนที่ไม่ทราบชื่อขณะนั้นพ่อนั่งอยู่ในวงเหล้าบริเวณศาลาริมคลองตลาดบางเขนโดยไม่ได้เดินทางไปที่เกิดเหตุ

 

ไต่สวนคำร้องขอประกันสมคิด

สมคิด โตสอย เบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง ระบุว่า มีอาชีพขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มีลูก 2 คน กำลังเรียนชั้น ป. 6 และ ม. 3 ตนและภรรยาซึ่งรับจ้างและขายของ นอกจากต้องดูแลรับผิดชอบลูกทั้งสองคนแล้ว ยังต้องดูแลแม่ซึ่งอายุ 70 ปี และจ่ายค่าเช่าบ้าน หากตนเองไม่ได้ประกัน ครอบครัวก็เดือดร้อน

สมคิดเบิกความถึงเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุว่า ตนใส่เสื้อสีแดง ทับเสื้อกั๊กสีส้มเบอร์ 14 ใส่หมวกกันน็อคสีขาวเขียวสะท้อนแสง ขับรถผ่านตรงที่เกิดเหตุ บริเวณแยกพงศ์เพชร เห็นคนยืนดูกันเยอะจึงจอดรถเข้าไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อเห็นเหตุการณ์ก็เลยตกใจ จึงกลับออกมาขับรถกลับบ้าน โดยไม่ได้เข้าไปทำอะไรกับรถควบคุมผู้ต้องขัง และไม่ได้ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย พอดีมีลูกค้าเรียกให้ไปส่งที่ สน.ประชาชื่น ตนจึงไปส่งลูกค้า จากนั้นก็ยืนอยู่ใกล้รถเพื่อดูเหตุการณ์ที่ สน.ประชาชื่น  

นอกจากขับวินมอเตอร์ไซค์ สมคิดยังเบิกความว่า ทำงานอาสาสมัครกับมูลนิธิร่วมกตัญญู ช่วยคนเจ็บเวลามีอุบัติเหตุด้วย ทำมาได้ประมาณ 2 ปีแล้ว 

สมคิดยืนยันว่า หากศาลให้ประกัน จะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับการชุมนุม  และยินดีปฏิบัติตามเงื่อนไขศาลทุกอย่าง

ที่ผ่านมา ตนไปรายงานตัวตามหมายเรียกด้วยความบริสุทธิ์ใจ ในวันที่อัยการส่งฟ้อง ก็เดินทางมาตามกำหนดนัด ไม่ได้หลบหนี 

ศาลได้ถามสมคิดถึงอาการในปัจจุบัน สมคิดตอบว่า หายใจไม่ออก ไม่ค่อยมีแรง แต่ไม่ทราบระดับความรุนแรง หมอในเรือนจำบอกแค่ว่าติดโควิด โดยไม่ได้บอกรายละเอียด 

 

ต่อมา ภรรยาสมคิดเข้าเบิกความว่า ก่อนเข้าเรือนจำสมคิดเป็นเสาหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว โดยเป็นพนักงานขับรถส่วนตัวให้นาย และขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างหลังเลิกงานเป็นรายได้เสริม  

ที่ผ่านมาสมคิดไม่เคยถูกดำเนินคดี ทั้งยังชอบทำจิตอาสาและประสานงานให้หน่วยงานมาช่วยเหลือเมื่อเกิดอุบัติเหตุ คนแถวบ้าน รวมทั้งในเขตบางซื่อ จตุจักร และปอเต็กตึ๊ง จะมีเบอร์โทรของสมคิด และมักจะโทรตามให้สมคิดไปช่วย

หลังจากไม่ได้ประกัน พยานได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากทนายคริส พรรคก้าวไกลและนักการเมืองท้องถิ่น และได้ติดต่อให้มาเป็นผู้กำกับดูแลสมคิด หากศาลให้ประกันตัว รวมทั้งเมื่อทราบว่าสมคิดติดโควิดก็ได้ติดต่อให้ทนายคริสช่วยประสานงานให้โรงพยาบาลปิยะเวชรับตัวไปรักษาต่อจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แต่ต้องรอใบรับรองจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ก่อน 

 

คริส โปตระนันทน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล เข้าเบิกความเป็นพยานปากสุดท้ายให้สมคิด โดยเบิกความว่า พยานเป็นกรรมาธิการยุทธศาสตร์ของพรรคก้าวไกล และอนุกรรมการปราบปรามความประพฤติผิดไม่ชอบ สภาผู้แทนราษฎร พยานมีสำนักงานอยู่ใกล้บ้านของสมคิด ก่อนหน้านี้พยานรู้จักแต่เพื่อนของเขา ไม่เคยรู้จักครอบครัวสมคิด เพิ่งมารู้จักผ่านคดีของสมคิดได้ประมาณ 4 เดือน 

คริสรับรองว่า  หากศาลให้ประกันสมคิด ตนจะกำกับดูแลให้สมคิดปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลอย่างเต็มที่ 

ปัจจุบัน พยานจัดตั้งกลุ่มเส้นด้าย อาสารับส่งตัวผู้ป่วยโควิดทั่วกรุงเทพฯ โดยประสานกับ รพ. ปิยะเวช ในกรณีที่อาการรุนแรง และมี hospitel ที่ดูแลผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงได้ 

หากว่าจำเลยทั้งสามได้ประกันตัว พยานสามารถประสานรถพยาบาลส่งตัวไปรักษาได้ รวมทั้งสามารถหาโรงพยาบาลให้สมคิดและฉลวยเข้ารับการรักษาด้วย 

 

ศาลให้ประกัน พิเคราะห์ตาม ป.วิอาญา ไม่มีเหตุหลบหนี มีผู้กำกับดูแลให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขศาล

เวลา 17.45 น. มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ได้อ่านคำสั่งให้ประกันตัวทั้ง 3 โดยท้าวความถึงคำเบิกความของพยานทั้งหมด รวมไปถึงคำเบิกความของพยานผู้รับรองว่าจะเป็นผู้กำกับดูแลจำเลยให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล ทั้งระบุว่า เหตุในการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจะต้องเป็นเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 

ศาลพิเคราะห์ เห็นว่า จำเลยที่ 3-5 ไปพบพนักงานสอบสวนตามนัด น่าเชื่อว่าจะไม่หลบหนี คดีนี้พนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยไม่อยู่ในฐานะที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ จำเลยที่ 3-5 ได้แถลงต่อศาลโดยสมัครใจว่าจะไม่ไปเข้าร่วมการชุมนุมก่อความวุ่นวาย พร้อมกับมี ประธานชุมชนบ้านสามต้น เป็นผู้กำกับดูแลของจำเลยที่ 3 คริส โปตระนันทน์ เป็นผู้กำกับดูแลของจำเลยที่ 4 และ  จารุกิตติ์ มัชฌิมาดิลก เป็นผู้กำกับดูแลของจำเลยที่ 5 ส่วนผู้ยื่นประกันเป็นญาติและบุคคลใกล้ชิด ถือว่าหลักประกันมีความน่าเชื่อถือ

กรณีนี้ พฤติการณ์คดีเปลี่ยนแปลงไป มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 3-5 ในวงเงินประกัน 25,000 บาท พร้อมเงื่อนไข ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามออกนอกราชอาณาจักร และให้มาศาลตามนัด

 

ศักดิ์ชัย สมคิด และฉลวย ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ หลังถูกขังระหว่างพิจารณาคดีรวม 79 วัน ขณะยังมีจำเลยในคดีนี้อีก 2 คน คือ ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร และธวัช สุขประเสริฐ ยังไม่ได้รับการประกันตัว โดยทนายจะยื่นประกันในวันพรุ่งนี้ (14 พ.ค. 2564) นอกจากนี้ ยังมีผู้ต้องขังคดีทางการเมืองยังไม่ได้รับสิทธิประกันตัวอีกรวม 11 คน  ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในเรือนจำเป็นที่น่าวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง 

      >> สถิติผู้ถูกคุมขังในคดีการเมืองระหว่างการต่อสู้คดี ปี 2564

 

อ่านคำฟ้องคดีนี้>> เปิดคำฟ้องคดีทุบรถควบคุม “ไมค์-เพนกวิน” โทษหนักสุดจำคุก 7 ปีครึ่ง แต่ศาลไม่ให้ประกัน ขณะ 1 ในจำเลยยืนยันไม่ได้ร่วมชุมนุม

อ่านข้อมูลคดีทั้งหมด>> 5 ประชาชนถูกกล่าวหา ขัดขวางรถควบคุมตัว “ไมค์-เพนกวิน”

“พ่อไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วยซ้ำ​”: คำบอกเล่าลูกชายผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีทุบรถควบคุม ไมค์-เพนกวิน

“ถ้าความยุติธรรมมีจริง ลูกแม่คงได้ออกมาแล้ว”: เสียงของยายและแม่ในวันที่ “ณัฐนนท์” ผู้ต้องขังคดีทุบรถควบคุมไมค์-เพนกวิน ยังถูกพรากอิสรภาพ 

 

X