ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันคดีทุบรถคุมตัว “เพนกวิน-ไมค์” หลังศาลไม่ให้ประกัน 2 ครั้งแม้ขอติด EM

วานนี้ (3 มี.ค. 64) ที่ศาลอาญา รัชดา ทนายจำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นไม่ให้ประกันตัวประชาชน 5 ราย ในคดีขัดขวางและทุบรถควบคุมผู้ต้องขังระหว่างการควบคุมตัวเพนกวินและไมค์ไปยัง สน.ประชาชื่น ในช่วงคืนวันที่ 30 ต.ค. 63  

หลังก่อนหน้านี้ยื่นประกันทั้งหมด 2 ครั้งในวันที่ 24 ก.พ. 64 และวันที่ 1 มี.ค. 64 แม้ครั้งล่าสุดจะเสนอหลักประกันเป็นเงินสด 20,000 บาทและติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (EM) เป็นเงื่อนไขการขอประกันตัว แต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง ระบุไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม 

โดยสรุป จำเลยยื่นอุทธรณ์ในประเด็นว่าพฤติการณ์คดีตามที่โจทก์ฟ้องนั้นเกินกว่าการกระทำ ทั้งยังมีจำเลย 1 รายไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ และการถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีทำให้จำเลยต้องได้รับโทษอาญา ก่อนได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ นอกจากนี้ ยังทำให้จำเลยและครอบครัวได้รับความเดือดร้อน เสียโอกาสการประกอบอาชีพ และเสียโอกาสในการแสวงหาพยานหลักฐานและต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

ภาพเหตุการณ์ด้านหน้าสน.ประชาชื่น เมื่อ 30 ต.ค. 63

เปิดคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว “พฤติการณ์ตามฟ้องเกินกว่าการกระทำ-จำเลยยังไม่ได้รับโอกาสพิสูจน์ความบริสุทธิ์”

ทนายจำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวของศาลชั้นต้น เนื่องจากจำเลยไม่เห็นด้วยกับคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีเหตุผล ดังต่อไปนี้

1. โจทก์บรรยายฟ้องเกินกว่าการกระทำของจำเลยทั้ง 5 ดังต่อไปนี้

1. จำเลยที่ 1 ณัฐชนนท์ ไชยมหาบุตร อายุ 20 ปี กำลังศึกษาหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนและประกอบอาชีพขับรถรับจ้างเป็นพนักงานบรรจุสินค้า ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถผ่านจุดเกิดเหตุ ผ่านเส้นทางหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และล้มลงขณะขับไปบริเวณด้านหน้าขวาของรถตำรวจที่จอดอยู่ก่อนถึงแยกพงษ์เพชร จากนั้นรถตำรวจได้ขับลากรถจักรยานยนต์ของจำเลยไปตามพื้นถนน จนรถได้รับความเสียหาย ทั้งตนยังได้รับบาดเจ็บ

ทั้งนี้ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทุบกระจกรถหรือทำให้ทรัพย์สินเสียหายแต่อย่างใด ไม่ได้เป็นแกนนำและไม่ได้มีอาวุธ และได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาตั้งแต่ชั้นสอบสวน และไม่เคยทำความผิดประการอื่นใดมาก่อน

 

2. จำเลยที่ 2 ธวัช สุขประเสริฐ อายุ 38 ปี ประกอบอาชีพลูกจ้าง ตำแหน่งช่างไฟฟ้า มีภาระต้องเลี้ยงดูลูก 2 คน ซึ่งกำลังศึกษาชั้น ป.4 และอนุบาล 2

ในวันเกิดเหตุ จำเลยเลิกงานกำลังเดินทางกลับบ้านพักในจังหวัดนนทบุรี ขณะผ่านหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เห็นประชาชนล้อมรถรถยนต์กระบะของตำรวจและเห็นรถของตำรวจกำลังจะชนประชาชน จึงได้ลงไปดูและห้ามปราม โดยไม่ได้ทุบกระจกรถหรือทำให้ทรัพย์สินเสียหายหรือทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจตามฟ้องของโจทก์แต่อย่างใด

ทั้งนี้ จำเลยที่ 2 ไม่ได้ทุบกระจกรถหรือทำให้ทรัพย์สินเสียหายแต่อย่างใด ไม่ได้เป็นแกนนำและไม่ได้มีอาวุธ และได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาตั้งแต่ชั้นสอบสวน และไม่เคยทำความผิดประการอื่นใดมาก่อน

 

3. จำเลยที่ 3 ศักดิ์ชัย ตั้งจิตสดุดี ปัจจุบันอายุ 62 ปี มีอายุมากแล้ว ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ อาศัยอยู่กับลูก 2 คน ในวันเกิดเหตุ ตนป็นเพียงมวลชน ไม่ใช่แกนนำ ไม่มีอาวุธ ไม่ได้ทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ ไม่ได้กระทำหรือพยายามกระทำให้ผู้ที่อยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่หลุดพ้นออกจากการคุมขัง

ทั้งนี้ จำเลยไม่ได้เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.3089/2562 ของศาลอาญา ตามฟ้องของโจทก์แต่อย่างใด และไม่เคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิดมาก่อน

 

4. จำเลยที่ 4 สมคิด โตสอย อายุ 41 ปี ประกอบอาชีพขับรถรับจ้าง และเป็นอาสาสมัครกู้ภัย มีรายได้เพียงหาเช้ากินค่ำและมีภาระต้องเลี้ยงดูลูก 2 คน ซึ่งกำลังศึกษาชั้น ม.3 และ ป.6 รวมทั้งต้องเลี้ยงดูมารดาซึ่งชราภาพด้วย

วันเกิดเหตุ จำเลยเห็นรถยนต์กระบะของตำรวจขับลากรถจักรยานยนต์ไปบนพื้นถนน และเห็นชายซึ่งเข้าใจว่าเป็นเจ้าของจักรยานยนต์คันดังกล่าวกำลังไปดึงรถออก จึงได้เข้าไปช่วยชายคนดังกล่าว เนื่องจากอาจถูกรถตำรวจชนและได้รับบาดเจ็บ นอกเหนือจากนี้จำเลยไม่ได้กระทำสิ่งใดอีกเลย

ทั้งนี้ จำเลยที่ 4 ไม่ได้ทุบกระจกรถหรือทำให้ทรัพย์สินเสียหายแต่อย่างใด ไม่ได้เป็นแกนนำและไม่ได้มีอาวุธ และได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาตั้งแต่ชั้นสอบสวน และไม่เคยทำความผิดประการอื่นใดมาก่อน

 

5. จำเลยที่ 5 ฉลวย เอกศักดิ์ อายุ 52 ปี ประกอบอาชีพรับจ้างรายวัน มีรายได้เพียงหาเช้ากินค่ำ และมีภาระต้องดูแลหลานสาวอายุ 12 ปี โดยต้องไปรับไปส่งที่โรงเรียนทุกวัน วันเกิดเหตุจำเลยเลี้ยงดูหลานสาวไม่ได้ไปร่วมชุมนุมหรือกระทำการใดๆ ตามที่โจทก์ฟ้อง มีเพียงบุตรสาวและบุตรเขยของจำเลยได้ใช้รถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นชื่อของจำเลยเดินทางผ่านไปบริเวณที่เกิดเหตุ เห็นเหตุการณ์ที่รถยนต์ของตำรวจลากรถจักรยานยนต์ไปตามพื้นถนนโดยไม่ทราบว่าเหตุใดจึงขับตามดูเหตุการณ์

ทั้งนี้ จำเลยที่ 5 ยังมีโรคประจำตัวเป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง หากไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะได้รับความเดือดร้อนอย่างยิ่ง

 

2. คดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 7 ปี 6 เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 140 วรรคท้าย และเจ้าหน้าที่ศาลได้ระบุมาตรฐานกลางหลักประกันจำนวน 50,000 บาท จึงไม่ใช่คดีร้ายแรงและไม่ใช่คดีที่มีอัตราโทษสูง

จำเลยทั้ง 5 ยังได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีเงื่อนไขติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (EM) และเงินสดจํานวน 20,000 บาท จึงน่าเชื่อถือว่าจำเลยจะไม่หลบหนี และไปก่ออันตรายประการอื่น

ถ้าหากศาลอุทธรณ์เห็นว่าหลักประกันยังไม่เพียงพอ ขอให้ศาลกำหนดวงเงินที่เพียงพอ แล้วจำเลยจะปฏิบัติตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ทุกประการ

 

3. จำเลยทั้งหมดไปรับทราบข้อหาตามหมายเรียก และไปตามนัดของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการทุกนัด และไม่มีพฤติการณ์หลบหนี

อีกเหตุผลสำคัญหนึ่งคือ คดีนี้ยังไม่มีการสืบพยาน และจำเลยทั้ง 5 ได้ให้การปฏิเสธมาตั้งแต่ในชั้นสอบสวนจนถึงชั้นศาล โดยจะนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นสืบพยาน 

การถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี แม้จำเลยทั้งหมดยังเป็นผู้บริสุทธิ์ และยังไม่ได้มีการสืบพยานเพื่อพิสูจน์ความผิด ทำให้จำเลยเป็นเสมือนพวกเขาได้รับโทษอาญาก่อนศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ทั้งยังทำให้จำเลยสูญเสียอิสรภาพและได้รับความ เดือดร้อนต่อการประกอบอาชีพ

ด้านการต่อสู้คดี การถูกคุมขังระหว่างพิจารณาทำให้จำเลยเสียโอกาสในการแสวงหาพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง และเสียโอกาสที่จะต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ 

ทั้งนี้ ในคดีอื่นซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาลักษณะเดียวกันหรือข้อหาร้ายแรงอื่นๆ หรือแม้แต่คดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก ศาลก็ใช้ดุลยพินิจอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดีได้ 

 

ย้อนดูข้อหาและคำสั่งไม่ให้ประกันทั้ง 2 ครั้ง ศาลชี้จำเลยไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 64 พนักงานอัยการโจทก์ยื่นฟ้องทั้ง 5 คน ใน 7 ข้อหา ได้แก่ มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กําลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายฯ, ร่วมกันขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กําลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย, ร่วมกันพยายามกระทําด้วยประการใดให้ผู้ถูกคุมขังตามอํานาจของเจ้าพนักงานผู้มีอํานาจสืบสวนคดีอาญา หลุดพ้นจากการคุมขังไปโดยใช้กําลังประทุษร้าย, ร่วมกันทําร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่, ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์ และร่วมกันชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย

>> เปิดคำฟ้องคดีทุบรถควบคุม “ไมค์-เพนกวิน” โทษหนักสุดจำคุก 7 ปีครึ่ง แต่ศาลไม่ให้ประกัน ขณะ 1 ในจำเลยยืนยันไม่ได้ร่วมชุมนุม

ในวันเดียวกัน ทนายจำเลยยื่นขอประกันตัวทั้ง 5 โดยวางหลักประกันเป็นเงินสดคนละ 100,000 บาท แต่ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันโดยระบุเหตุผลว่า “พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งห้าเกิดจากการไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย สร้างความวุ่นวายให้เกิดในบ้านเมือง หากได้รับการปล่อยตัวเห็นว่า จำเลยทั้งห้าจะไปกระทำอันตรายประการอื่นอีก ให้ยกคำร้องของจำเลยทั้งห้า”

อีก 5 วันถัดมา เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 64 ทนายจำเลยขอยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นครั้งที่ 2 โดยขอติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (EM) และวางเงินสดเป็นหลักประกันคนละ 20,000 บาท อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในเวลา 18.20 น. ของวันเดียวกัน ระบุ “พิเคราะห์แล้ว ศาลนี้เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้เหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว” ทำให้ทั้งหมดถูกควบคุมตัวเข้าสู่วันที่ 9 แล้ว (ณ วันที่ 4 มี.ค. 64)

ทั้งนี้ แม้อัยการจะสั่งฟ้องและศาลรับฟ้องคดีแล้ว แต่จำเลยทั้ง 5 รายยังถือเป็นผู้ถูกกล่าวหา และสมควรมีสิทธิประกันตัวเพื่อให้สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ต่อไป ตามหลักการวิธีพิจารณาความทางอาญา

ก่อนหน้านี้ ศาลอาญาเองก็เคยมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาในคดีทางการเมืองหลายๆ คดี แม้แต่คดีที่ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแล้ว ศาลอุทธรณ์ก็ได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เช่น ในคดีของแกนนำ กปปส. กรณีชุมนุมล้มการเลือกตั้ง ชัตดาวน์กรุงเทพฯ ยึดสถานที่ราชการ เพื่อขับไล่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ซึ่งศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2564 จำคุก 4 ปี 8 เดือน – 9 ปี 24 เดือน 

ศาลอุทธรณ์ระบุเหตุผลว่า “…แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย แต่โทษจำคุกสำหรับความผิดในแต่ละกระทงก็ไม่สูงนัก อีกทั้งจำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์” ซึ่งควรถือเป็นแนวบรรทัดฐานในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลยในคดีอาญา และควรนำมาปรับใช้ในคดีนี้เช่นกัน

 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง: 

เปิดคำฟ้องคดีทุบรถควบคุม “ไมค์-เพนกวิน” โทษหนักสุดจำคุก 7 ปีครึ่ง แต่ศาลไม่ให้ประกัน ขณะ 1 ในจำเลยยืนยันไม่ได้ร่วมชุมนุม

ไม่ให้ประกันครั้งที่ 2 ห้าจำเลย คดีทุบรถควบคุม “ไมค์-เพนกวิน” แม้ขอศาลติด ‘EM’

“พ่อไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วยซ้ำ​”: คำบอกเล่าลูกชายผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีทุบรถควบคุม ไมค์-เพนกวิน

 

X