ไม่ให้ประกันครั้งที่ 2 ห้าจำเลย คดีทุบรถควบคุม “ไมค์-เพนกวิน” แม้ขอศาลติด ‘EM’

1 มีนาคม 2564 ศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวประชาชน 5 ราย ที่ตกเป็นจำเลย กรณีที่มีการทุบรถผู้ต้องขังที่ควบคุมตัว “ไมค์-เพนกวิน” หลังถูกอายัดตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นำตัวไป สน.ประชาชื่น เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 หลังทนายจำเลยยื่นประกันครั้งที่ 2 เสนอหลักประกันเป็นเงินสด 20,000 บาทและติด EM ทำให้ทั้ง 5 คน ต้องถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างการพิจารณาคดีต่อไป หลังถูกขังมาแล้ว 6 วัน

รถควบคุมจำเลยทั้งห้าในคดีนี้เข้าเรือนจำ (ภาพจากเฟซบุ๊ก Dave D. Darwin)

หลังเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลอาญารับฟ้องคดีและไม่อนุญาตให้ประกันตัวณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร, ธวัช สุขประเสริฐ, ศักดิ์ชัย ตั้งจิตสดุดี, สมคิด โตสอย และฉลวย เอกศักดิ์ จำเลยทั้ง 5 ราย ระบุว่า “พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งห้าเกิดจากการไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย สร้างความวุ่นวายให้เกิดในบ้านเมือง หากได้รับการปล่อยตัวเห็นว่า จำเลยทั้งห้าจะไปกระทำอันตรายประการอื่นอีก”

>>เปิดคำฟ้องคดีทุบรถควบคุม “ไมค์-เพนกวิน” โทษหนักสุดจำคุก 7 ปีครึ่ง แต่ศาลไม่ให้ประกัน ขณะ 1 ในจำเลยยืนยันไม่ได้ร่วมชุมนุม

1 มีนาคม 2564 ทนายความจึงเข้ายื่นประกันตัวอีกเป็นครั้งที่ 2 แบบติดกำไลข้อเท้าหรืออุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) และวางเงินสดเป็นหลักประกันคนละ 20,000 บาท ระบุเหตุผลในการยื่นประกันว่า จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวน เนื่องจากไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด จำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีพฤติการณ์หลบหนีมาตั้งแต่ต้น ไม่มีอิทธิพลในการไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ และไม่มีพฤติการณ์การกระทำความผิดที่เป็นอาชญากร ก่อให้เกิดภยันตรายต่อผู้อื่นและสังคม อีกทั้งคดีนี้โจทก์ก็ไม่คัดค้านการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาด้วย

นอกจากนี้ คดีนี้ยังไม่ได้มีการสืบพยานเพื่อพิสูจน์ความผิดและความบริสุทธิ์ การขังจำเลยทั้งห้าไว้ระหว่างพิจารณาก่อนที่ศาลจะพิพากษาว่ามีความผิด จะกระทบกับเสรีภาพของจำเลยทั้งห้าและทำให้จำเลยทั้งห้าได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ซึ่งหลักการตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด  คำร้องขอประกันตัวยังชี้แจงเงื่อนไขของจำเลยแต่ละคนที่จะได้รับความเดือดร้อนหากไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี รวมทั้งยืนยันความบริสุทธิ์ของจำเลยทั้งห้า ดังนี้

จำเลยที่ 1 ณัฐนนท์ อายุ 20 ปี กำลังศึกษาหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนและประกอบอาชีพขับรถรับจ้างเป็นพนักงานบรรจุสินค้า ครอบครัวมีฐานะยากจน ต้องออกจากการศึกษาเพื่อทำงานเลี้ยงดูตนเองและยาย วันเกิดเหตุจำเลยขับรถจักรยานยนต์ผ่านเส้นทางหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และล้มลงขณะขับไปบริเวณด้านหน้าขวาของรถตำรวจที่จอดอยู่ก่อนถึงแยกพงษ์เพชร จากนั้นรถตำรวจได้ขับลากรถจักรยานยนต์ของจำเลยไปตามพื้นถนนจนถึงแยกพงษ์เพชร โดยจำเลยได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่ สน.ประชาชื่น

จำเลยที่ 2 ธวัช อายุ 38 ปี ประกอบอาชีพลูกจ้าง ตำแหน่งช่างไฟฟ้า มีภาระต้องเลี้ยงดูลูก 2 คน ซึ่งกำลังศึกษาชั้น ป.4 และอนุบาล 2 วันเกิดเหตุจำเลยเลิกงานกำลังเดินทางกลับบ้านพักใน จังหวัดนนทบุรี ขณะผ่านหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เห็นประชาชนล้อมรถรถยนต์กระบะของตำรวจและเห็นรถของตำรวจกำลังจะชนประชาชน จึงได้ลงไปดูและห้ามปราม โดยไม่ได้ทุบกระจกรถหรือทำให้ทรัพย์สินเสียหายหรือทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจตามฟ้องของโจทก์แต่อย่างใด

จำเลยที่ 3 ศักดิ์ชัย ปัจจุบันอายุ 62 ปี มีอายุมากแล้ว ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ อาศัยอยู่กับลูก 2 คน จำเลยไม่ได้เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.3089/2562 ของศาลอาญา ตามฟ้องของโจทก์แต่อย่างใด และไม่เคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิดมาก่อน

 

จำเลยที่ 4 สมคิด อายุ 41 ปี ประกอบอาชีพขับรถรับจ้าง และเป็นอาสาสมัครกู้ภัย มีรายได้เพียงหาเช้ากินค่ำและมีภาระต้องเลี้ยงดูลูก 2 คน ซึ่งกำลังศึกษาชั้น ม.3 และ ป.6 รวมทั้งต้องเลี้ยงดูมารดาซึ่งชราภาพด้วย วันเกิดเหตุจำเลยเห็นรถยนต์กระบะของตำรวจขับลากรถจักรยานยนต์ไปบนพื้นถนน และเห็นชายซึ่งเข้าใจว่าเป็นเจ้าของจักรยานยนต์คันดังกล่าวกำลังไปดึงรถออก จึงได้เข้าไปช่วยชายคนดังกล่าว เนื่องจากอาจถูกรถตำรวจชนและได้รับบาดเจ็บ นอกเหนือจากนี้จำเลยไม่ได้กระทำสิ่งใดอีกเลย

และจำเลยที่ 5 ฉลวย อายุ 52 ปี ประกอบอาชีพรับจ้างรายวัน มีรายได้เพียงหาเช้ากินค่ำ และมีภาระต้องดูแลหลานสาวอายุ 12 ปี โดยต้องไปรับไปส่งที่โรงเรียนทุกวัน วันเกิดเหตุจำเลยเลี้ยงดูหลานสาวไม่ได้ไปร่วมชุมนุมหรือกระทำการใดๆ ตามที่โจทก์ฟ้อง มีเพียงบุตรสาวและบุตรเขยของจำเลยได้ใช้รถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นชื่อของจำเลยเดินทางผ่านไปบริเวณที่เกิดเหตุ เห็นเหตุการณ์ที่รถยนต์ของตำรวจลากรถจักรยานยนต์ไปตามพื้นถนนโดยไม่ทราบว่าเหตุใดจึงขับตามดูเหตุการณ์

อย่างไรก็ดี ศาลมีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว ศาลนี้เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้เหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ให้ยกคำร้อง”
ทำให้จำเลยทั้งห้าถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพระหว่างการพิจารณาคดีต่อไป โดยนับถึงวันที่ยื่นประกันครั้งที่ 2 ทั้งห้าถูกขังมา 6 วันแล้ว ทั้งนี้ แม้อัยการจะสั่งฟ้องและศาลรับฟ้องคดีแล้วแต่จำเลยทั้ง 5 รายยังถือเป็นผู้ถูกกล่าวหา และสมควรมีสิทธิประกันตัวเพื่อให้สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ต่อไป

โดยก่อนหน้านี้ ศาลอาญาเองก็เคยมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาในคดีทางการเมืองหลายๆ คดี แม้แต่คดีที่ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแล้ว ศาลอุทธรณ์ก็ได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เช่นในคดีของแกนนำ กปปส. กรณีชุมนุมล้มการเลือกตั้ง ชัตดาวน์กรุงเทพฯ ยึดสถานที่ราชการ เพื่อขับไล่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ซึ่งศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2564 จำคุก 4 ปี 8 เดือน – 9 ปี 24 เดือน โดยศาลอุทธรณ์ระบุเหตุผลว่า “…แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย แต่โทษจำคุกสำหรับความผิดในแต่ละกระทงก็ไม่สูงนัก อีกทั้งจำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์” ซึ่งถือเป็นแนวบรรทัดฐานที่ดีในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลยในคดีอาญา

คดีนี้อัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 ยื่นฟ้อง ณัฐนนท์, ธวัช, ศักดิ์ชัย, สมคิด และฉลวย ต่อศาลอาญา กล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564 จำเลยทั้งห้าได้ชุมนุมสาธารณะบริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ มีวัตถุประสงค์ให้ปล่อยตัวพริษฐ์ ชิวารักษ์ และภานุพงศ์ จาดนอก ซึ่งศาลอาญามีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวแล้วแต่ถูกอายัดตัวเพื่อดำเนินคดีที่ สภ.เมืองนนทบุรี สภ.เมืองพระนครศรีอยุธยา และ สภ.เมืองอุบลราชธานี โดยการชุมนุมนั้นจำเลยทั้งห้าร่วมกันนำไม้มากั้นปิดขวางทางเข้าออกบริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ทำให้ขัดขวางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ประชาชื่น ที่จะคุมตัวพริษฐ์และภานุพงศ์ไปดำเนินคดีที่ สภ.เมืองนนทบุรี และเมื่อรถตำรวจขับจากถนนงามวงศ์วานมาที่แยกหน้าตลาดพงษ์เพชร จำเลยทั้งห้านำรถจักรยานยนต์หลายคันไปขวางล้อมการเดินทางของรถผู้ต้องขังไว้ ทำให้เคลื่อนต่อไปไม่ได้ พร้อมมีการตะโกนว่า ‘ปล่อยเพื่อนกู’ กระทั่งรถแล่นมาถึงถนนเทศบาลนิมิตรเหนือ ซอย 50 มีการใช้ก้อนหินขนาดใหญ่ทุ่มใส่รถควบคุมตัวผู้ต้องขังหลายครั้ง

โดยอัยการถือว่า เป็นความผิดตามกฎหมายดังนี้

1.ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 140 ต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย และร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3.ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 191 กระทำด้วยประการใดให้ผู้ที่ถูกคุมขังตามอำนาจของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาหลุดพ้นจากการคุมขังไป โดยใช้กำลังประทุษร้าย มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 150,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4.ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 ทําร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

5.ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

6.พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10 ไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

7.พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 16 (6) ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ชุมนุมซึ่งมีหน้าที่ไม่ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เข้าร่วมชุมนุมหรือผู้อื่น มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับเหตุคดีนี้เกิดขึ้นในช่วงเย็นวันที่ 30 ตุลาคม 2563 หลังจากที่ศาลอาญา ไม่อนุญาตฝากขังต่อหลังทนายคัดค้านฝากขัง ครั้งที่ 3 ในคดีจากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ของรุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์, ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก และแบงค์ -ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม เจ้าหน้าที่เตรียมที่จะปล่อยตัวเรือนจำพิเศษกรุงเทพและทัณฑสถานหญิง แต่ตำรวจได้เข้าอายัดตัวปนัสยา, พริษฐ์ และภาณุพงศ์ เพื่อไปดำเนินคดีต่อ โดยอ้างหมายจับที่ควรจะสิ้นผลไปแล้ว ก่อนพริษฐ์และภานุพงศ์ถูกบังคับเอาตัวขี้นรถควบคุมตัวของ สน.ประชาชื่น โดยภาณุพงศ์เปิดกระจกรถตะโกนว่า “ช่วยด้วย” ทำให้ประชาชนที่มารอรับกรูกันเข้าขวางรถ และพยายามติดตามรถควบคุมผู้ต้องขังไปถึง สน.ประชาชื่น พร้อมทั้งเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมทั้งสอง

อ่านเพิ่มเติมเรื่องราวของฉลวย จำเลยที่ 5 ที่ยืนยันว่า เขาไม่ได้ไปร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุ

>>“พ่อไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วยซ้ำ​”: คำบอกเล่าลูกชายผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีทุบรถควบคุม ไมค์-เพนกวิน

X