24 ก.พ. 2564 พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการสูงสุด (สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร กับพวกรวม 5 คน เป็นคดีอาญาหมายเลขดําที่ อ.420/2564 ในฐานความผิด “มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กําลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายฯ, ร่วมกันขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กําลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย, ร่วมกันพยายามกระทําด้วยประการใดให้ผู้ถูกคุมขังตามอํานาจของเจ้าพนักงานผู้มีอํานาจสืบสวนคดีอาญา หลุดพ้นจากการคุมขังไปโดยใช้กําลังประทุษร้าย, ร่วมกันทําร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่, ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์ และร่วมกันชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย”
โดยในช่วงเช้า ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร, ธวัช สุขประเสริฐ, ศักดิ์ชัย ตั้งจิตสดุดี, สมคิด โตสอย และฉลวย เอกศักดิ์ ผู้ต้องหาในคดี ซึ่ง พ.ต.ต.ทําเนียบ ขลังธรรมเนียม สว.สส.สน.ประชาชื่น เข้าแจ้งความกล่าวหาว่า ร่วมกันทุบรถผู้ต้องขัง และพยายามชิงตัว “เพนกวิน” และ “ไมค์” ที่อยู่ในรถผู้ต้องขังระหว่างถูกนำตัวไป สน.ประชาชื่น หลังถูกอายัดตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ในวันที่ 30 ต.ค. 2563 เข้ารายงานตัวกับอัยการเพื่อฟังคำสั่ง ก่อนที่อัยการจะสั่งฟ้องและนำตัวไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญา รัชดาฯ
หลังศาลรับฟ้อง ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งห้าในระหว่างพิจารณาคดี โดยวางหลักประกันเป็นเงินสดคนละ 100,000 บาท พร้อมทั้งให้เหตุผลว่า คดีนี้จําเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยข้อหากล่าวหาทั้งหมดนั้นมีอัตราโทษไม่เกิน 7 ปี จําเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนีและไม่เคยถูกควบคุมตัวมาก่อน โดยมารายงานตัวตามนัดของพนักงานสอบสวนและอัยการทุกนัด หากจําเลยไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว จะทําให้จําเลยได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากณัฐนนท์กําลังศึกษา จำเลยคนอื่นมีภาระต้องประกอบอาชีพ และต้องเลี้ยงดูครอบครัว ศักดิ์ชัยมีอายุมากแล้ว (62 ปี) และฉลวยมีโรคประจําตัวเรื้อรังที่จําเป็นจะต้องพบแพทย์เป็นประจํา อีกทั้งตามหลักการสากล บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทําผิดอาญา ต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด
ทั้งนี้ ไม่ปรากฏว่า อัยการได้คัดค้านการให้ประกันตัวจำเลยทั้งห้ามาในท้ายคำฟ้อง
ต่อมา เวลาประมาณ 16.20 น. สันติ บุตรดี ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติด มีคำสั่งไม่ให้ประกันจำเลยทั้งห้า ระบุในคำสั่งว่า “พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งห้าเกิดจากการไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย สร้างความวุ่นวายให้เกิดในบ้านเมือง หากได้รับการปล่อยตัวเห็นว่า จำเลยทั้งห้าจะไปกระทำอันตรายประการอื่นอีก ให้ยกคำร้องของจำเลยทั้งห้า”
ทำให้ณัฐนนท์, ธวัช, ศักดิ์ชัย, สมคิด และฉลวย ถูกควบคุมตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพในช่วงเย็น โดยเป็นการขังในระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งหากมียื่นประกันอีก แต่ศาลยังคงไม่ให้ประกัน ทั้งห้าจะถูกขังไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
.
.
เปิดคำฟ้องของอัยการ 3 กรรม 7 ข้อหา
พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการสูงสุด บรรยายฟ้องว่า จําเลยทั้งห้ากับพวกที่หลบหนียังไม่ได้ตัวมาดําเนินคดีได้ร่วมกระทําความผิดต่อกฎหมายหลายบท หลายกรรมต่างกันดังต่อไปนี้
1. เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563 จําเลยทั้งห้ากับพวกที่หลบหนียังไม่ได้ตัวมาดําเนินคดี ซึ่งมีจํานวนรวมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ได้ร่วมกันมั่วสุมโดยชุมนุมสาธารณะบริเวณด้านหน้าเรือนจําพิเศษกรุงเทพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวพริษฐ์ ชิวารักษ์ และภาณุพงศ์ จาดนอก ผู้ต้องหาในคดีอื่น ซึ่งศาลอาญามีคําสั่งปล่อยตัวชั่วคราวออกจากเรือนจําพิเศษกรุงเทพ แต่ถูกอายัดตัวเพื่อดําเนินคดีที่ สภ.เมืองนนทบุรี, สภ.เมืองพระนครศรีอยุธยา และ สภ.เมืองอุบลราชธานี โดยจําเลยทั้งห้ากับพวกได้ร่วมกันนําไม้มากั้นปิดขวางทางเข้าออกไว้บริเวณหน้าเรือนจําพิเศษกรุงเทพ ซึ่งมิใช่การชุมนุมโดยสงบและรบกวนการครอบครองการใช้ทางผ่านเข้าออกเรือนจําพิเศษกรุงเทพของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และประชาชนทั่วไป และทําให้ พ.ต.ต.ทําเนียบ ขลังธรรมเนียม ผู้เสียหายที่ 1, ด.ต.ประสิทธิ์ ดวงสุพรรณ์ ผู้เสียหายที่ 2, ส.ต.อ.อรรถพงษ์ คําแปงคํา ผู้เสียหายที่ 3 และ ส.ต.อ.วีระชาติ สาริภา ผู้เสียหายที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตํารวจประจํา สน.ประชาชื่น มีหน้าที่ควบคุมตัวนายพริษฐ์ และนายภาณุพงศ์ ขึ้นรถยนต์ควบคุมผู้ต้องขังอันเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท วี.อาร์.พี แอดวานซ์ จํากัด นิติบุคคลตามกฎหมาย ผู้เสียหายที่ 5 โดยสํานักงานตํารวจแห่งชาติเป็นผู้เช่ารถยนต์คันดังกล่าวแล้ว ต้องหลบหลีกกลุ่มจําเลยทั้งห้ากับพวกเพื่อนําตัวนายพริษฐ์ และนายภาณุพงศ์ ออกจากเรือนจําพิเศษกรุงเทพ
2. เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563 ภายหลังเกิดเหตุตามฟ้องข้อ 1 ผู้เสียหายทั้งสี่ได้นํารถควบคุมผู้ต้องขังขับบนถนนงามวงศ์วานมาถึงบริเวณด้านหน้าตลาดพงษ์เพชรและได้จอดติดสัญญาณไฟจราจรสีแดงอยู่ จําเลยทั้งห้ากับพวกที่หลบหนียังไม่ได้ตัวมาดําเนินคดีได้ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปโดยใช้กําลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย กระทําการให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยร่วมกันนํารถจักรยานยนต์จํานวนหลายคันไปขวางล้อมการเดินทางของรถควบคุมผู้ต้องขังไว้ และได้ใช้หมวกนิรภัยและวัสดุแข็งเป็นอาวุธ ทุบรถควบคุมผู้ต้องขังบริเวณกระจกข้างรถ และได้กระชากและดึงประตูรถควบคุมผู้ต้องขัง, ทุบรถควบคุมผู้ต้องขัง, ใช้เท้าเตะรถควบคุมผู้ต้องขัง และได้ใช้ของแข็งตีที่กระจกหน้าต่างห้องควบคุมผู้ต้องหาด้านซ้ายและด้านหลังจนแตก พร้อมกับตะโกนว่า “ปล่อยเพื่อนกู” ทั้งเป็นการกระทําโดยเจตนาด้วยประการใดให้พริษฐ์ และภาณุพงศ์ ผู้ที่ถูกคุมขังตามอํานาจของพนักงานสอบสวนและเจ้าพนักงานผู้มีอํานาจสืบสวนคดีอาญาหลุดพ้นจากการคุมขังไป โดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย ทั้งนี้ โดยจําเลยทั้งห้ากับพวกได้ลงมือกระทําความผิดไปโดยตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล
.
.
ต่อมา เมื่อรถควบคุมผู้ต้องขังแล่นมาบนถนนเทศบาลนิมิตรเหนือถึงบริเวณปากซอยเทศบาลนิมิตเหนือ ซอย 40 จําเลยทั้งห้ากับพวกได้ร่วมกันขัดขวางผู้เสียหายทั้งสี่ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตํารวจ สน.ประชาชื่น โดยมีเจตนาทําร้ายผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งนั่งอยู่ตอนหน้าของรถควบคุมตัวผู้ต้องขัง โดยได้ใช้ก้อนหินขนาดใหญ่เป็นอาวุธทุ่มใส่รถควบคุมตัวผู้ต้องขังจํานวนหลายครั้ง จนกระจกด้านหน้าซ้ายแตก อันเป็นการทําให้เสียหาย ทําลาย ทําให้เสื่อมค่าหรือทําให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งรถยนต์ควบคุมผู้ต้องขังอันเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ 5 คิดเป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้นประมาณ 70,000 บาท และเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับบาดเจ็บถูกกระจกที่แตกบาดที่บริเวณหลังมือด้านขวา มีบาดแผลฉีกขาด ขนาด 0.3 x 0.1 เซนติเมตร และขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายโดยมีหรือใช้อาวุธ โดยร่วมกันกระทําความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ซึ่งเป็นการทําร้ายเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ รายละเอียดปรากฏตามรายงานการชันสูตรผู้ป่วยคดี โรงพยาบาลตํารวจ ทั้งนี้เพื่อขัดขวางเพื่อมิให้ผู้เสียหายที่ 1 ถึงผู้เสียหายที่ 4 พาพริษฐ์และภาณุพงศ์ ไป สน.ประชาชื่น ได้สําเร็จ
3. เมื่อระหว่าง วันที่ 30-31 ต.ค. 2563 จําเลยทั้งห้ากับพวกที่หลบหนียังไม่ได้ตัวมาดําเนินคดีซึ่งมีจํานวนตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ได้ร่วมกันมั่วสุมโดยชุมนุมสาธารณะบริเวณ สน.ประชาชื่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวพริษฐ์และภานุพงศ์ โดยในการชุมนุมดังกล่าวจําเลยทั้งห้ากับพวกมิได้แจ้งความประสงค์ที่จะจัดการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง อีกทั้งไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ชุมนุมที่ต้องไม่ใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายผู้อื่น โดยจําเลยทั้งห้ากับพวกได้ร่วมกันใช้กําลังประทุษร้าย ชกต่อยร่างกาย ผู้เสียหายที่ 2 – ที่ 4 จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับบาดเจ็บบริเวณหลังฟกช้ำ ผู้เสียหายที่ 3 ใบหูฟกช้ำ ถลอกนิ้วก้อย จุดกดเจ็บบ่าซ้าย ผู้เสียหายที่ 4 ฟกช้ำเอว กดเจ็บไหล่ขวา ปรากฏตามรายงานการชันสูตรผู้ป่วยคดี และเป็นการมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปโดยใช้กําลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายและทําให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
.
.
ในท้ายคำฟ้องของอัยการยังระบุว่า ศักดิ์ชัยเป็นบุคคลคนเดียวกับจําเลยในคดีอาญา หมายเลขดําที่ อ.3089/2562 ของศาลอาญา (คดีคนอยากเลือกตั้งหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และหน้าองค์การสหประชาชาติ) และขอให้ศาลนับโทษคดีนี้ต่อจากคดีดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ การกระทําของจําเลยตามคําฟ้อง อัยการถือว่า เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140, 191, 215, 295, 296, 358 พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 6, 10, 14, 16
หากไล่เรียงข้อกล่าวหาที่จำเลยถูกฟ้อง จะพบว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวมีอัตราโทษสูงสุดไม่เกิน 7 ปี 6 เดือน มีรายละเอียดดังนี้
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 140 ต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย และร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 191 กระทำด้วยประการใดให้ผู้ที่ถูกคุมขังตามอำนาจของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาหลุดพ้นจากการคุมขังไป โดยใช้กำลังประทุษร้าย มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 150,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 ทําร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10 ไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
- พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 16 (6) ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ชุมนุมซึ่งมีหน้าที่ไม่ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เข้าร่วมชุมนุมหรือผู้อื่น มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
.
ย้อนดูเหตุการณ์คืนอายัดตัว “ไมค์-เพนกวิน” เหตุแห่งคดี – ฉลวยยืนยันไม่ได้ร่วมชุมนุม
ค่ำวันที่ 30 ต.ค. 2563 หลังศาลอาญาไม่อนุญาตให้ฝากขังต่อเป็นครั้งที่ 3 ในกรณีของ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์, ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก และแบงค์ -ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม คดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ทำให้ทั้ง 4 คนจะได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ
แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ประชาชื่น ได้เข้าอายัดตัวปนัสยา, พริษฐ์ และภาณุพงศ์ เพื่อไปดำเนินคดีต่อ โดยอ้างหมายจับในคดีการชุมนุมที่จังหวัดนนทบุรี อยุธยา และอุบลราชธานี โดยที่คดีเหล่านี้ ตำรวจจากสถานีตำรวจทั้งหมดได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อทั้งสามคนไปก่อนหน้านี้แล้วระหว่างถูกควบคุมตัวอยู่ ทำให้ตามหลักกฎหมายแล้ว หมายจับดังกล่าวควรจะสิ้นผลไป
ทำให้พริษฐ์และภาณุพงศ์ปฏิเสธการให้เจ้าหน้าที่นำตัวขึ้นรถตำรวจไป เนื่องจากเห็นว่าเป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบ แต่เจ้าหน้าที่ได้ใช้กำลังเข้าควบคุมตัวทั้งสองคนขึ้นรถคุมขังออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพไป โดยระหว่างนำตัวไปยัง สน.ประชาชื่น ได้เกิดเหตุที่เจ้าหน้าที่ตำรวจขับรถเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของประชาชนบริเวณถนนงามวงศ์วาน ทำให้รถเสียหายและประชาชนรายดังกล่าวได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งมีประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาต่อนี้ ได้พยายามติดตามรถควบคุมผู้ต้องขังไปถึง สน.ประชาชื่นด้วย
>> ลำดับเหตุการณ์ ตร.อายัดตัว รุ้ง-เพนกวิน-ไมค์ ต่อในหมายจับที่สิ้นผลแล้ว
ไมค์ได้ให้สัมภาษณ์ไอลอว์ ขณะพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหลังเหตุการณ์ดังกล่าวว่า ในวันนั้นตนและเพนกวินไม่ยินยอมให้อายัดตัวต่อ โดยยืนยันว่า ตำรวจไม่สามารถเอาหมายจับมาจับอีก เนื่องจากได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว แต่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 6 คน ได้ใช้กำลังเอาตัวพวกเขาทั้งสองขึ้นรถผู้ต้องขัง โดยเจ้าหน้าที่ทั้งล็อคคอและตีเข่า “มีคนละหมัดสองหมัด บนรถเราจึงเปิดกระจกแล้วตะโกนว่า ช่วยด้วย พอมวลชนเห็นก็เลยขับรถกรูกันเข้ามาแล้วขวางรถ”
หลังเหตุการณ์ ณัฐนนท์ อายุ 20 ปี สมาชิกกลุ่ม We Volunteer หรือ WeVo ที่ถูกรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจเฉี่ยวชนได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีที่ สน.ทุ่งสองห้อง แต่เรื่องกลับไม่มีความคืบหน้า ทั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน พนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่นได้ออกหมายเรียกณัฐนนท์ไปสอบสวนในฐานะพยาน และต่อมา พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหารวม 5 ราย จากเหตุการณ์ในคืนดังกล่าว
>> ตร.สน.ประชาชื่นแจ้ง 6 ข้อหาต่อปชช. ผู้ถูกรถคุมขังเฉี่ยวชน คืนตร.อายัดตัวไมค์-เพนกวินต่อ
ทั้งนี้ ในการเข้ารับทราบข้อกล่าวหา แม้พนักงานสอบสวนจะบรรยายพฤติการณ์ที่เป็นเหตุแห่งคดีโดยรวมเหมือนๆ กัน โดยระบุว่า ทั้งห้าคนชุมนุมมั่วสุม ก่อความวุ่นวาย แต่ในเหตุการณ์ขัดขวางรถผู้ต้องขัง พบว่า พนักงานสอบสวนได้ระบุพฤติการณ์ของธวัชเพียงว่า กระชากประตูรถควบคุม ส่วนสมคิดขยับรถจักรยานยนต์จอดขวางไม่ให้รถควบคุมผ่านไปได้ ขณะที่ฉลวยเพียงใช้เท้าเตะรถควบคุม โดยผู้ต้องหา 4 ราย ยกเว้นศักดิ์ชัย ปฏิเสธจะลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา เนื่องจากเห็นว่ามีการบรรยายพฤติการณ์ที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง
ขณะที่ฉลวยให้ข้อมูลว่า เขาไม่ได้ไปชุมนุมในวันเกิดเหตุ มีเพียงลูกสาวกับแฟนใช้รถมอเตอร์ไซค์ของเขาขี่ไปเจอเหตุการณ์แล้วเข้าไปถ่ายคลิปเหตุการณ์เท่านั้น
.