ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2564 เวลาประมาณ 9.00 น. “เบลล์” เยาวชนอายุ 17 ปี นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดพัทลุง ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาจาก สภ.เมืองพัทลุง จากเหตุแขวนป้ายในตัวอำเภอเมืองพัทลุงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยตำรวจ สภ.เมืองพัทลุง เป็นผู้นำมาให้ที่บ้าน
หมายเรียกดังกล่าวออกเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2564 มี พ.ต.ท.หาญพล รามด้วง เป็นผู้กล่าวหา และมี ร.ต.ท.โยธี โยธิน เป็นผู้ออกหมาย ระบุว่าเขาถูกกล่าวหาตามฐานความผิดใน พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และให้ไปที่ สภ.เมืองพัทลุง ในวันที่ 6 เม.ย. 2564 เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งเป็นวันที่ตำรวจนำหมายมาให้
เบลล์ให้ข้อมูลว่าเมื่อได้รับหมายเรียกจึงปรึกษาทนายความเพื่อประเมินความเสี่ยง ในตอนแรกเขาตั้งใจว่าจะไม่เข้ารับทราบข้อกล่าวหา เนื่องจากการทำกิจกรรมของเขาเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และข้อกล่าวหาที่ถูกกล่าวหามีเพียงโทษปรับ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อรองว่าหากเข้ารับทราบข้อกล่าวหาและรับสารภาพ ตำรวจจะเปรียบเทียบปรับและเป็นผู้ออกเงินค่าปรับให้ เพื่อให้คดีสิ้นสุด เบลล์จึงตัดสินใจเข้ารับทราบข้อกล่าวหา โดยขอเลื่อนเป็นวันที่ 8 เม.ย. 2564
กิจกรรมติดป้าย “ยกเลิก 112” วันที่ 15 ก.พ. 64 ภาพจากเพจพัทลุงปลดแอก
ต่อมาวันที่ 8 เม.ย. 2564 เวลาประมาณ 13.00 น. เบลล์พร้อมกับทนายความ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองพัทลุง ในการสอบสวนมีตำรวจในเครื่องแบบในห้องสอบสวนจำนวน 6 นาย โดย 2 นาย เป็นพนักงานสอบสวนสังกัด สภ.เมืองพัทลุง ส่วนตำรวจอีก 4 นาย สังกัดกองบังคับการตำรวจภูธรภาค 9
พฤติการณ์ที่พนักงานสอบสวนกล่าวหาคือการติดป้าย มีข้อความว่า “ยกเลิก 112” ตามสะพานลอยในบริเวณตัวอำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ในช่วงวันที่ 28 ก.พ. 2564 และระบุว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐาน “โฆษณาด้วยการปิด ทิ้ง หรือโปรยแผนประกาศหรือใบปลิวในที่สาธารณะ” ตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.ความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535
อีกทั้ง หลังแจ้งข้อกล่าวหา ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยังแจ้งว่าจะพาตัวเบลล์ไปขออำนาจควบคุมตัวที่ศาลเยาวชน ทำให้ทนายความโต้แย้งว่าเยาวชนได้มาพบตามหมายเรียก ไม่ได้เป็นการจับกุมแต่อย่างใด จึงไม่ต้องนำตัวไปตรวจสอบการจับกุมหรือควบคุมตัว ทำให้ต่อมาทางตำรวจไม่ได้นำตัวไป
เบลล์ให้ข้อมูลว่าพยานหลักฐานที่ตำรวจนำมาแสดงเป็นเพียงภาพจากกล้องวงจรปิด ซึ่งไม่ชัดเจน และไม่สามารถระบุได้ว่าเขาเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่ เท่านั้น
อย่างไรก็ตามเขาก็ให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนจึงเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 1,000 บาท โดยพนักงานสอบสวนเป็นผู้ออกเงินค่าปรับให้ ทำให้คดีนี้สิ้นสุดลง
ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หากไม่นับคดีมาตรา 112 พบว่าคดีนี้เป็นคดีแรกที่มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองในพื้นที่ภาคใต้ หลังจากการชุมนุมกระจายตัวไปในหลายพื้นที่ทั่วประเทศตั้งแต่กลางปี 2563 และเป็นคดีแรกที่เยาวชนถูกดำเนินคดีในภาคใต้อีกด้วย
>> สถิติเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุม ปี 2563-64