ในการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยตั้งแต่ช่วงปี 2563 เยาวชน (บุคคลซึ่งอายุต่ำกว่า 18 ปี) เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง ทั้งภายในและนอกสถานศึกษา และยังมีบทบาทในการผลักดันข้อถกเถียงในประเด็นทางสังคมและการเมืองในโลกออนไลน์ผ่านทางแฟลตฟอร์มต่างๆ
ขณะที่เยาวชนต่างส่งเสียงเรียกร้องเพื่ออนาคตของพวกเขา สิ่งที่รัฐตอบสนองกลับไม่ใช่การรับฟัง แต่พยายามกดปราบโดยการใช้กฎหมายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยการดำเนินคดีกับเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเริ่มขึ้นมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน มียอดผู้ถูกดำเนินคดีทยอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าหากนับตั้งแต่หลังการชุมนุม “เยาวชนปลดแอก” 18 ก.ค. 2563 จนถึงวันที่ 31 พ.ค. 2564 มีเยาวชนถูกดำเนินคดีแล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 43 ราย ใน 44 คดี โดย 8 ราย ถูกดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
>> สถิติเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุม ปี 2563-64
ภาพรวมความคืบหน้าคดีเยาวชน
จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 คดีทางการเมืองของเยาวชน ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในชั้นสอบสวน โดย 33 คดี อยู่ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนของตำรวจหรืออัยการ
ด้านคดีที่ถูกสั่งฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง อัยการมีคำสั่งฟ้องเยาวชนไปแล้ว 4 ราย ใน 3 คดี โดย 3 ราย ถูกฟ้องคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีความร้ายแรง ในเขตกรุงเทพมหานคร จากการชุมนุม #15ตุลาไปราชประสงค์ อีก 1 ราย ถูกฟ้องใน 2 คดี ได้แก่ คดีจากการชุมนุม #ม็อบ1พฤศจิกา ในข้อหาหลัก ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และคดีจากการชุมนุม #ม็อบ6ธันวา ในข้อหาตามมาตรา 112
นอกจากนี้ มีคดีที่สิ้นสุดแล้วจำนวน 8 คดี ทั้งหมดเป็นคดีที่ข้อหามีอัตราโทษไม่สูง คดีสิ้นสุดลงโดยการรับสารภาพและเจ้าหน้าที่เปรียบเทียบปรับ โดยเป็นคดีที่ถูกแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด จำนวน 6 คดี คดีที่ถูกแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ จำนวน 1 คดี และคดีที่ถูกแจ้งข้อหา “ก่อความเดือดร้อนรำคาญ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 397 จำนวน 1 คดี โดยวงเงินค่าปรับอยู่ที่รายละ 100 – 2,000 บาท
ทั้งนี้ยังไม่มีคดีใดที่สิ้นสุดลง โดยพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีเลย แม้ที่ผ่านมาเยาวชนหลายคนได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ขอให้อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี โดยเยาวชนหลายคนยืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา พฤติการณ์ข้อกล่าวหาเป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และการสั่งฟ้องในคดีดังกล่าวนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
ถูกดำเนินคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” 8 ราย ใน 7 คดี อัยการฟ้องแล้ว 1 คดี
เยาวชน 8 ราย ใน 7 คดี ถูกกล่าวหาในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยผู้ถูกดำเนินคดีอายุน้อยที่สุดคือ 14 ปี จำนวนนี้ 5 ราย ถูกดำเนินคดีเนื่องจากประชาชนทั่วไปไปร้องทุกข์กล่าวโทษ
ในจำนวนนี้อัยการมีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลแล้ว 1 คดี ได้แก่ ธนกร (สงวนนามสกุล) จากการปราศรัยระหว่างการชุมนุม #ม็อบ6ธันวา ที่วงเวียนใหญ่ ทั้งนี้ธนกรยังถูกแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 ในคดีจากกิจกรรม #ใครๆก็ใส่ครอปท็อป อีก 1 คดี โดยคดีนี้ยังอยู่ในชั้นสอบสวน
จับกุมเยาวชนโดยไม่มีหมายจับ 29 ครั้ง จำนวนนี้ 2 รายถูกทำร้ายร่างกายระหว่างจับกุม
ในจำนวนนี้ทั้งหมด มีเยาวชนที่ถูกจับกุมตัวระหว่างร่วมชุมนุมหรือทำกิจกรรมทางการเมืองแล้ว 29 ครั้ง หลายคนถูกจับกุมหลายครั้ง รวมแล้วมีเยาวชนถูกจับกุม 18 ราย ใน 14 คดี จากการติดตามพบว่าเยาวชน 17 ราย ถูกนำตัวไปที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (บก.ตชด. ภาค 1) จังหวัดปทุมธานี ซึ่งไม่ใช่สถานที่ควบคุมตัวตามกฎหมายปกติ
การจับกุมทุกครั้ง พบว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการตรวจสอบว่าผู้จับกุมเป็นเยาวชนหรือไม่ ทำให้เยาวชนถูกควบคุมตัวรวมกับผู้ถูกจับกุมที่เป็นผู้ใหญ่ และมักถูกใส่เครื่องพันธนาการเช่นเดียวกัน ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นการจับกุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อไปตรวจสอบการจับกุมที่ศาลเยาวชนฯ ศาลกลับมีคำสั่งว่าเป็นการจับกุมโดยชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด ทำให้มีข้อกังขาว่าศาลเยาวชนฯ ได้ทำหน้าที่เป็นกลไกในการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนหรือไม่
ทั้งนี้กรณีเยาวชน 2 ราย ซึ่งถูกควบคุมตัวระหว่างสลายการชุมนุม #ม็อบ20มีนา บริเวณสะพานวันชาติ ถูกตำรวจทำร้ายร่างกายระหว่างจับกุมจนได้รับบาดเจ็บ โดย 1 ราย ได้รับบาดเจ็บจนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ในการตรวจสอบการจับกุม ศาลเยาวชนฯ กลับมีคำสั่งว่าเป็นการจับกุมโดยชอบ
เยาวชนมีแนวโน้มต้องประกันตัวมากกว่าผู้ใหญ่ แม้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก
เยาวชนที่ถูกจับกุมระหว่างชุมนุมหรือทำกิจกรรมทางการเมืองจะถูกพนักงานสอบสวนนำตัวไปตรวจสอบการจับกุมและขอออกหมายควบคุม และศาลเยาวชนฯ มีแนวโน้มมีคำสั่งว่าเป็นการจับกุมโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งมีคำสั่งให้ควบคุมตามที่พนักงานสอบสวนร้องขอในทุกคดี ทำให้มีเยาวชน 26 ราย ใน 13 คดี ต้องทำการการประกันตัวหลังถูกจับกุมในที่ชุมนุม
ในกรณีที่เยาวชนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก พนักงานสอบสวนอาจใช้ดุลพินิจนำตัวไปตรวจสอบการจับกุมที่ศาลเยาวชนฯ ตาม และขอออกหมายควบคุม และศาลมักมีคำสั่งควบคุมตามคำร้องของพนักงานสอบสวน ทำให้เยาวชนอย่างน้อย 6 ราย ใน 8 คดี ต้องทำการประกันตัว แม้จะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ซึ่งแตกต่างจากกรณีของผู้ใหญ่ในกรณีเดียวกัน ซึ่งเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ควบคุมตัวไปขอฝากขัง
ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีแนวโน้มจะให้ประกันตัวโดยไม่กำหนดวงเงินประกันหรือกำหนดวงเงินประกันไม่สูง แต่ต้องใช้นายประกันที่มีความใกล้ชิดในระดับเครือญาติ ทำให้การประกันตัวเยาวชนที่ไม่ได้พักอยู่กับญาติเผชิญกับความยุ่งยากในการเข้าถึงสิทธิประกันตัว
“มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา” ทางออกตามกฎหมายหรือผลิตซ้ำการละเมิดสิทธิ
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาความคดีเยาวชนและครอบครัว กำหนดให้เยาวชนซึ่งถูกดำเนินคดีสามารถเข้าสู่ “มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา” แต่การจะเข้าสู่มาตรการดังกล่าวได้กฎหมายกำหนดเงื่อนไขว่าต้องไม่เคยถูกดำเนินคดีอาญาในคดีอื่น และเยาวชนต้องผ่านกระบวนการสำนึกผิด
ทว่าลักษณะการดำเนินคดีเยาวชนจากการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมทางการเมือง เจ้าหน้าที่มีแนวโน้มที่จะเลือกดำเนินคดีเฉพาะบุคคลจำนวนหนึ่ง เนื่องจากตกเป็น “เป้าหมาย” จับตาของเจ้าหน้าที่รัฐ แม้ว่าจะมีผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมากก็ตาม ทำให้เยาวชนอย่างน้อย 12 ราย ถูกดำเนินคดีมากกว่าหนึ่งคดี เยาวชน 2 ราย เคยเข้าสู่มาตรการพิเศษฯ แต่ต่อมาผู้อำนวยการสถานพินิจฯมีความเห็นให้ออกจากมาตรการพิเศษฯ เนื่องจากถูกตำรวจดำเนินคดีจากการชุมนุมอื่น
ด้านเนื้อหากิจกรรมที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูตามมาตรการพิเศษแทนการฟ้องคดีนั้น เยาวชนผู้ถูกดำเนินคดีให้ความเห็นว่าแทบทั้งหมดเป็นกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ซึ่งไม่สามารถตอบโจทย์การฟื้นฟูพฤติกรรมได้ นอกจากนั้นกิจกรรมเหล่านี้ยังมุ่งเน้นบูชาตัวบุคคล ซึ่งขัดแย้งกับอุดมการณ์ของพวกเขาซึ่งวิพากษ์วิจารณ์อำนาจนิยม ทำให้เยาวชนหลายคนปฏิเสธที่จะเข้าสู่มาตรการพิเศษฯ
นอกจากนั้น คดีแทบทั้งหมดของเยาวชนกลุ่มนี้ ยังถูกกล่าวหาจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม เพื่อต้องการเรียกร้องอนาคตที่ดีกว่าให้กับตัวเองและสังคมรอบข้าง หากพวกเขายอม “สำนึกผิด” เพื่อเข้าสู่มาตรการพิเศษ ย่อมเป็นการยอมรับว่าการเรียกร้องหาอนาคตของพวกเขาเป็น “ความผิด” เยาวชนหลายรายจึงยืนยันต่อสู้คดี แม้พวกเขาต้องเผชิญภาระอันหนักอึ้งกว่าเยาวชนในวัยเดียวกันที่แสดงออกในสังคมอื่นๆ