สั่งฟ้องคดี 3 แกนนำนร. เยาวชนชี้อัยการไม่ได้พิจารณาประเด็นขอความเป็นธรรมที่ร้องไป

28 ม.ค. 64 เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด สามเยาวชนนักกิจกรรม ได้แก่ “มิน” ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ, “พลอย” เบญจมาภรณ์ นิวาส จากกลุ่มนักเรียนเลว และ “ภูมิ” (สงวนชื่อและนามสกุล) จากกลุ่มนักเรียนไท เดินทางเข้าฟังคำสั่งของพนักงานอัยการ ในคดีที่ทั้งสามคนถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีการเข้าร่วมการชุมนุม #15ตุลาไปราชประสงค์ 

แกนนำเยาวชนทั้งสามคนถูกกล่าวหาจากพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ว่าฝ่าฝืนข้อกำหนดตามมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีการเข้าร่วมการชุมนุมที่บริเวณแยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในช่วงเช้าตรู่ของวันดังกล่าว พร้อมกับที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ก่อนหน้านี้ ทั้งสามคนได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการ ขอให้สั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากเป็นคดีเกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการฟ้องคดียังไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งยังได้นำพยานสองคนเข้าให้การเพิ่มเติม ได้แก่ ดร.พัชร์ นิยมศิลป คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าให้การในประเด็นความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก เข้าให้การประเด็นสิทธิเด็กและเยาวชนในการมีส่วนร่วม 

>> แจ้งข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 3 แกนนำนักเรียน ปราศรัยชุมนุม #15ตุลาไปราชประสงค์

>> 3 แกนนำนักเรียนยื่นหนังสือขออัยการสั่งไม่ฟ้อง ชี้ละเมิดกติกาสากล-อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

>> ‘ไร้เดียงสาทางการเมืองแค่ไหน ก็ยังรู้ว่านี่คือเกมการเมือง’ เปิดคำให้การ ‘ป้ามล’ ขอยุติดำเนินคดีเยาวชน

.

ในวันนี้ นายคงศักดิ์ มาตังครัตน์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเด็กและเยาวชน 3 แจ้งว่าได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องคดี และได้นัดเยาวชนทั้งสามคนไปฟ้องคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในเวลา 13.00 น. 

ต่อมาที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง สามเยาวชนพร้อมที่ปรึกษากฎหมาย ได้เดินทางเข้าฟังคำสั่งฟ้องตามนัด โดยพบว่ามีประชาชนที่ติดตามมาให้กำลังใจจำนวนราว 10 คน และยังมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่ทราบหน่วยเกือบ 10 นาย แต่งกายสวมหมวกแก๊บสีดำ สวมเสื้อคลุมแจ๊คเก็ตคล้ายคลึงกัน เข้ามาติดตามสังเกตการณ์ โดยมีราว 4 นาย เข้ามาในพื้นที่ของศาลเยาวชนด้วย 

คำฟ้องในคดีกล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 63 เยาวชนทั้งสามคน กับพวกอีกหลายคน ซึ่งอายุพ้นเกณฑ์เยาวชนแยกดำเนินคดีต่างหาก และมีจำนวนเกินกว่า 5 คนได้บังอาจร่วมกันชุมนุมหรือมั่วสุมกับประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยทั้งสามคนมีส่วนร่วมขึ้นปราศรัยต่อต้านรัฐบาล กระทำการกีดขวางการจราจรบริเวณแยกราชประสงค์ จนทำให้ยวดยานพาหนะไม่สามารถสัญจรได้ตามปกติ และกระทบต่อการใช้ชีวิตโดยปกติสุขของประชาชนโดยทั่วไป ทั้งขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงานที่สั่งให้ยุติการชุมนุม อันเป็นการยุยงกระทำให้เกิดความไม่เรียบร้อยและความวุ่นวายในบ้านเมือง และการชุมนุมยังอยู่ในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง 

พนักงานอัยการกล่าวว่าทั้งสามได้กระทำความผิดในการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หลังการสั่งฟ้อง เยาวชนทั้งสามคนยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ขอต่อสู้คดี ศาลเห็นว่าเนื่องจากเยาวชนทั้ง 3 อายุยังน้อย และไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และทั้ง 3 คน ยังศึกษาเล่าเรียนอยู่ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง จึงให้ประกันตัว โดยไม่ต้องวางหลักประกัน แต่หากไม่มาตามนัด ให้ผู้ปกครองรับชำระค่าปรับเป็นเงิน 5,000 บาท

.

.

ยืนยันสู้คดี และไม่หยุดการเคลื่อนไหว หวังประเทศเป็นประชาธิปไตย

“มิน” ลภนพัฒน์ ให้ความเห็นว่าการสั่งฟ้องคดีในวันนี้ เหมือนกับว่าอัยการไม่ได้พิจารณาหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของพวกเราที่ส่งให้พิจารณาเลย แต่ถึงแม้จะถูกดำเนินคดีแบบนี้ แต่เราก็ยืนยันว่าเราไม่ได้กระทำความผิด เราออกไปร่วมการชุมนุมจริง แต่เราไม่ได้มีพฤติการณ์ตั้งใจจะฝ่าฝืนสถานการณ์ฉุกเฉินแบบที่ถูกกล่าวหา

อีกทั้งการถูกดำเนินคดี ก็ไม่ได้ทำให้เราหยุดทำกิจกรรม โดยหวังว่าคนอื่นๆ และเพื่อนๆ จะยังทำแบบนั้นเช่นกัน เรายังหวังให้วันหนึ่งประเทศเราได้มีประชาธิปไตย

.

ผิดหวังกับระบบยุติธรรม สั่งฟ้องคดีที่ไม่เกิดประโยชน์

“พลอย” เบญจมาภรณ์ เล่าว่าตนเริ่มเคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิของนักเรียน ราวช่วงเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว (2563) เริ่มจากการทำรณรงค์แรก คือ “เลิกบังคับจับตัด” ในเรื่องทรงผมนักเรียน ตั้งแต่อยู่ชั้นม.3 จากนั้นก็ทำกิจกรรมเรื่อยมาก 

“รู้สึกว่าเรามาไกลมาก จากเด็กที่ไปนั่งให้เขาตัดผมวันนั้น มาถึงวันที่เราโดนหมาย โดนฟ้องคดี รู้สึกว่าเรามาไกลมาก แล้วก็รู้สึกว่าตัวเองมาถูกทางแล้วด้วย และไม่ได้ทำให้เราหยุดที่จะทำกิจกรรมต่อ การทำกิจกรรมไม่ถึงปี ก็ทำให้เราถูกดำเนินคดีแล้ว มันทำให้เติบโตขึ้นมากด้วย จากเด็กอายุ 15 ขึ้นมาเป็นเด็กอายุ 16 แล้วเจอเรื่องหลายเรื่องที่ผ่านมาเข้ามา หลายอย่างมาก เหมือนกับเราใช้ชีวิตมานานมาก ทั้งที่มันยังผ่านไม่ถึงปีด้วยซ้ำ

“ความรู้สึกต่อการสั่งฟ้องคดีในวันนี้ คือรู้สึกผิดหวังมากๆ เลยกับระบบยุติธรรมของไทย อย่างที่มินเคยให้สัมภาษณ์ไป ว่าต่อให้สั่งฟ้องเอาผิดในคดีนี้ มันก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรกับประชาชนอยู่ดี และมันสร้างความเสียเวลาให้กับเจ้าหน้าที่ด้วย ก็ไม่รู้ว่าทำไปทำไม แต่ก็ยังสั่งฟ้อง แล้วความผิดที่เราทำ มันไม่ใช่ความผิดร้ายแรงอะไรเลย ถึงขั้นที่จะต้องฟ้องขนาดนี้ ก็เลยผิดหวังกับระบบยุติธรรมของไทย ทั้งตำรวจ อัยการ ศาลเยาวชน แสดงให้เห็นเลยว่าประเทศมันตกต่ำได้ขนาดนี้แล้ว” 

พลอยยังระบุว่าการถูกดำเนินคดียังไม่กระทบกับการเรียน เพราะปกติหากไม่ได้เรียนหนังสือ ก็จะทำกิจกรรมอย่างอื่น ที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนอยู่แล้ว อย่างไปเล่นกับเพื่อน ไปแต่งนิยาย ไปวาดรูป พอมาทำกิจกรรมเคลื่อนไหว เลยไม่ถึงกับกระทบเท่าไร 

แต่การถูกดำเนินคดีได้สร้างภาระ ที่ต้องสละเวลาเรียน เวลาทำงานอดิเรก เวลาทำกิจกรรม มารอกับเรื่องคดีนี้ ซึ่งระบบก็เป็นไปอย่างล่าช้า ทำให้รู้สึกว่าเสียเวลา และก็มีภาระทางค่าใช้จ่าย ค่าเดินทางไปกลับต่างๆ เนื่องจากบ้านอยู่ไกล

.

ภาระทางคดี ทำให้ต้องหยุดเรียน และไม่สามารถหารายได้เสริม

“ภูมิ” เล่าว่าตนเริ่มทำกิจกรรมช่วงปลายปี 2562 โดยเป็นกิจกรรมเรื่องการศึกษา ชุดนักเรียน และทรงผม จนมาถึงตอนนี้ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวในประเด็นทางการเมืองและสถาบันกษัตริย์ ก็รู้สึกว่าตัวเองมาไกลพอสมควร แต่ก็มองว่าเป็นประเด็นที่ต่อเนื่องกัน เราเคลื่อนไหวเรื่องการศึกษา แล้วเราไม่ได้รับการตอบรับจากฝ่ายรัฐว่าจะแก้ไขปัญหาที่เราเสนออย่างไร เราก็เลยมาเคลื่อนไหวในมูฟเมนท์ที่ใหญ่ขึ้น เป็นเชิงระบบ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา 

“หลังจากที่ถูกดำเนินคดี มีภาระเยอะขึ้น แทนที่จะเอาเวลาไปเรียน ทำกิจกรรม หรือสิ่งที่อยากทำ ต้องยกเลิกเพื่อมาตามที่ตำรวจหรืออัยการนัด เราต้องหยุดเรียนมาด้วย เพราะว่าเขานัดในเวลาราชการ เคยทำงานหารายได้เสริม เช่น รับถ่ายรูป ทำกราฟฟิก บางครั้งก็ต้องยกเลิกไป”

ภูมิมองว่าที่อัยการสั่งฟ้อง ทำให้มาตรฐานของกระบวนการยุติธรรมไทยตกต่ำลง เพราะเป็นคดีแรกที่มีการฟ้องเยาวชนที่ออกมามีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นสิ่งที่ค่อนข้างน่าเกลียด ก่อนหน้านี้ยังมีความหวังว่า อัยการจะเป็นองค์กรที่ไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง ตอนนี้ก็หมดหวังกับอัยการแล้ว ส่วนตัวรู้สึกค่อนข้างเบื่อกับการที่ต้องมาถูกดำเนินคดี

.

เยาวชนทั้งสามคนเป็นนักปกป้องสิทธิ การมุ่งดำเนินคดี อาจกระทบต่อเด็กๆ ที่ลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิในสังคม

คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ความเห็นต่อการสั่งฟ้องคดี ว่าแม้ตามกระบวนการ ทางอัยการมีอำนาจที่จะสั่งฟ้องได้ เหมือนกับคดีผู้ใหญ่ แต่สิ่งที่เราคาดหวังกับคดีของเยาวชนที่ออกมาแสดงออกทางการเมือง มันควรจะถูกพิจารณาโดยรอบด้าน โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของเด็กและเยาวชนเป็นหลัก แม้ตัวกฎหมายที่อ้างอำนาจว่าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน

แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชนที่ไม่ได้กระทำความผิดในคดีอาญาที่เป็นอาญาโดยตัวของมันเอง ก็ต้องพิจารณาให้รอบด้าน ว่าอะไรเป็นปัจจัยให้เขาต้องออกมาแสดงความคิดเห็นหรือออกมาชุมนุม เรายังเห็นว่าคนถือกฎหมาย มีการใช้กฎหมายในการเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่ออกมาใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม

“เยาวชนเหล่านี้มีสถานะเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สิ่งที่ทั้งสามเคลื่อนไหวไม่ได้เรียกร้องเพื่อประโยชน์ของตนเอง อย่างกรณี “น้องมิน” ที่เรียนระบบโฮมสคูล ไม่ได้โดนตีหรือโดนตัดผม แต่เขาก็ออกมาเรียกร้องให้เด็กๆ คนอื่นที่ถูกละเมิด การที่รัฐดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิที่เป็นเยาวชน จะเป็นเหมือนกับการพยายามหยุดยั้งการเรียกร้องสิทธิของเด็กๆ ทั้งหมดหรือไม่ เป็นสิ่งที่น่าตั้งคำถาม” คุ้มเกล้าระบุ

.

X