สะดวก รวดเร็ว เป็นธรรมหรือไม่ นัดตรวจพยานหลักฐานคดีเด็ก/เยาวชนในคดีชุมนุมแยกราชประสงค์ #ม็อบ15ตุลา63

วันที่ 26 เม.ย. 2565 ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ในนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีของนักกิจกรรมเยาวชน 3 ราย ได้แก่  “มิน” ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ, “พลอย” เบญจมาภรณ์ นิวาส, และ “ภูมิ” (สงวนชื่อและนามสกุล) ในคดีสืบเนื่องจากการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2563 เพียง 1 วัน หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม #ราษฎร63 ที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล ที่ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในช่วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง   

ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางไม่อนุญาตให้จำเลยคัดถ่ายเอกสารที่โจทก์ส่งศาล กับแนวปฏิบัติที่จำกัดวันนัดสืบพยานให้ต้องอยู่ภายในกรอบระยะเวลาที่ศาลกำหนด ก่อนอนุญาตให้คัดถ่ายเอกสารและกำหนดวันนัดสืบพยานต่อเนื่อง ในวันที่ 14, 15, 16 และ 21 ธ.ค. 2565 เวลา 09.00-16.00 น.    

ศาลฯ ไม่อนุญาตให้จำเลยขอคัดถ่ายเอกสารที่โจทก์ยื่นต่อศาลในวันนัดตรวจพยานหลักฐาน ให้อุทธรณ์คำสั่งและให้พบผู้บริหารศาล ก่อนจะอนุญาตในท้ายที่สุด 

ในวันดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับทราบข้อมูลว่า เมื่ออัยการโจทก์และที่ปรึกษากฎหมาย (ทนายความ) ของจำเลยต่างยื่นเอกสารและพยานหลักฐานต่อศาล ที่ปรึกษากฎหมายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอคัดถ่ายเอกสารของฝ่ายโจทก์ เพื่อนำไปใช้ในการเตรียมคดี 

ปรากฎว่า ศาลเยาวชนฯ ไม่อนุญาตให้คัดถ่าย โดยให้เหตุผลว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173/2 ระบุให้คู่ความตรวจดูเอกสาร ไม่ได้ระบุให้คู่ความคัดถ่ายเอกสาร จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง 

ที่ปรึกษากฎหมายได้ชี้แจงต่อศาลว่าต้องขอคัดถ่ายเพื่อนำไปเตรียมคดี และมาตรา 173/2 มีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันไม่ให้มีการสืบพยานหลักฐานโดยที่จำเลยไม่ทราบว่าหลักฐานนั้นอยู่ในสำนวนคดีและเป็นหลักฐานในการกระทำความผิด หรือที่เรียนว่าป้องกันการจู่โจมพยาน ศาลเยาวชนฯ ยังคงไม่อนุญาตและให้อุทธรณ์คำสั่ง หากไม่เห็นด้วยให้ไปขออนุญาต/ขอพบผู้บริหารศาลเยาวชนฯ ด้วย ที่ปรึกษากฎหมายจำเลยจึงขออนุญาตศาลขอเข้าพบผู้บริหาร 

ระหว่างรอเข้าพบผู้บริหารของศาลเยาวชนฯ เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ได้มาแจ้งที่ปรึกษาจำเลยว่าผู้พิพากษาเชิญเข้าห้องพิจารณา โดยผู้พิพากษาขอคำร้องขอคัดถ่ายเอกสารฉบับเดิมที่เคยยื่นไว้ต่อศาลกลับไป และมีคำสั่งอนุญาตให้คัดถ่ายเอกสารตามที่ขอได้ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 8(4) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  

 

กรอบระยะเวลาการบริหารจัดการคดีในการกำหนดวันนัดสืบพยาน ตัวชี้วัดการบริหารจัดการคดีและความยุติธรรมหรือไม่ 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในส่วนการกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยนั้น ที่ปรึกษากฎหมายจำเลยมีคดีเป็นจำนวนมาก และมีวันว่างตรงกันกับฝ่ายโจทก์ที่สามารถนัดได้ต่อเนื่อง คือ วันที่ 13-16 ธ.ค. 2565 เจ้าหน้าที่ศูนย์นัดความแจ้งว่าศาลนี้ไม่นัดสืบพยานในวันจันทร์และวันอังคารและจะนำเรียนสอบถามผู้บริหารศาลเยาวชนฯ ให้ อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารศาลเยาวชนฯ แจ้งกลับมาว่า การกำหนดสืบพยานควรนัดให้อยู่ในกรอบระยะเวลาการบริหารจัดการคดี ซึ่งเดือนธันวาคมนั้นเป็นการนัดเกินกรอบระยะเวลาแล้ว จึงให้หาวันนัดในเดือนกันยายนหรือตุลาคม โดยเป็นการกำหนดแบบไม่ต้องต่อเนื่องหรือฟันหลอในวันจันทร์หรืออังคารแทน 

ที่ปรึกษากฎหมายจำเลยแจ้งเจ้าหน้าที่ศาลว่า ตารางนัดของตนเหลือเพียงวันจันทร์วันเดียว ซึ่งวันอังคารถึงศุกร์ของทุกสัปดาห์ในเดือนกันยายนและตุลาคมที่ปรึกษากฎหมายมีนัดสืบพยานคดีอื่นแล้ว การแทรกวันนัดสืบพยานในวันจันทร์อีกจะทำให้ขาดประสิทธิภาพในการเตรียมคดี จนกระทบต่อสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ของจำเลยที่เป็นเยาวชน ที่ปรึกษากฎหมายจึงแจ้งเจ้าหน้าที่ศาลว่า จะเขียนคำร้องอธิบายเหตุผลความจำเป็นที่ต้องนัดเกินกรอบระยะเวลาที่ศาลกำหนดให้ 

ระหว่างที่กำลังเขียนคำร้องยังไม่เสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ศาลได้มาแจ้งว่าไม่ต้องเขียนแล้ว ศาลเยาวชนฯ อนุญาตให้นัดสืบพยานโจทก์จำเลยได้ในเดือนธันวาคม 2565 โดยให้นัดสืบพยานโจทก์วันที่ 14 และ 15 ธ.ค. และสืบพยานจำเลยในวันที่ 16 และ 21 ธ.ค. 2565 ตามที่คู่ความว่างตรงกัน 

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งข้อสังเกตว่า ระเบียบปฏิบัติหรือแนวทางการบริหารจัดการคดี ซึ่งเป็นเรื่องภายในของศาล ที่อาจจะถูกกำหนดให้เป็นตัวชี้วัดการบริหารจัดการคดีของศาลยุติธรรมนั้น ควรมีความยืดหยุ่นโดยคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงความยุติธรรมของจำเลยในคดีอาญามากกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่ และควรเอื้อต่อการปฏิบัติหน้าที่ของที่ปรึกษากฎหมายหรือทนายความมากกว่านี้หรือไม่  

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง:   

สั่งฟ้องคดี 3 แกนนำนร. เยาวชนชี้อัยการไม่ได้พิจารณาประเด็นขอความเป็นธรรมที่ร้องไป

สถิติเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุม ปี 2563-65

การให้เข้าสังเกตการณ์คดี: ก้าวต่อไปของรัฐไทยเพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิเด็กในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ในคดีจากการใช้เสรีภาพในแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม

X