การให้เข้าสังเกตการณ์คดี: ก้าวต่อไปของรัฐไทยเพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิเด็กในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ในคดีจากการใช้เสรีภาพในแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม

ห้วงปี 2563-2564 “เยาวชน” อายุต่ำกว่า 18 ปี ได้ออกมาร่วมการชุมนุมเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยในสังคมไทยเป็นจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันรัฐไทยก็ตอบโต้ด้วยการปิดกั้นการแสดงออกและการชุมนุมในหลายวิธี ทั้งการติดตามคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ส่วนตัวและที่ชุมนุม การปิดกั้นการใช้สิทธิและเสรีภาพผ่านสถานศึกษา และการส่งผ่านความขัดแย้งสู่ครอบครัวและสังคมผ่านการถูกตีตราว่าเป็นเด็กไม่เคารพผู้ใหญ่ หนักที่สุดรัฐไทยนำการดำเนินคดีอาญามาปรับใช้ ทำให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองเป็นจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน 

การดำเนินคดีเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมถือว่าเป็นประเด็นที่ท้าทายสำหรับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยในขณะนี้ที่คดีเหล่านี้ที่เกิดขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมาเริ่มทยอยถูกส่งฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวโดยพนักงานอัยการ ณ วันที่ 13 มี.ค. 2565 พนักงานอัยการได้ทำการสั่งฟ้องคดีแล้ว 17 ราย ใน 17 คดี จาก 197 คดี ข้อหาร้ายแรงที่สุด คือ ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งอัยการสั่งฟ้องคดีแล้ว 5 คดี ในขณะเดียวกันนานาชาติก็ส่งความห่วงใยให้มีการยุติการดำเนินคดีเยาวชนเหล่านี้ผ่านการประชุมทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (Universal Periodic Review หรือ UPR) ครั้งที่ 3 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 

คดีเด็กและเยาวชนจึงเป็นที่สนใจของหลายฝ่ายในสังคมไทยรวมถึงเวทีโลก และมีการตั้งคำถามว่าคดีเหล่านี้บุคคลอื่นนอกจากบุคคลในกระบวนการยุติธรรมและบุคคลในสหวิชาชีพแล้ว บุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมอยู่ในห้องสอบสวนและห้องพิจารณาคดีได้หรือไม่ 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชวนสำรวจความเป็นไปได้ถึงการเข้าร่วมอยู่ของบุคคลอื่นในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในคดีเด็กและเยาวชน ที่สถานีตำรวจผ่านการสอบปากคำ ที่ศาลผ่านการตรวจสอบการจับ การไต่สวนสำคัญ การตรวจพยานหลักฐาน รวมถึงการสืบพยานในบริบทที่เหมาะสมและสถานที่ที่เป็นสัดส่วนจากคดีทั่วไป เพื่อให้เกิดการคุ้มครองและป้องกันความเสียหายต่อจิตใจของเด็กในการค้นหาความจริงในคดีอาญา และส่งเสริมความพร้อมของเด็กในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในคดีเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม โดยความเป็นไปได้นี้สอดคล้องตามหลักการถือประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยชน์สูงสุดผ่านเจตจำนงค์ของเด็กเอง และการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยในคดีเด็กและเยาวชนสามารถทำได้เมื่อมีเหตุผลที่ชัดเจนเพื่อประโยชน์ของเด็ก   

การพิจารณาคดีที่ถือประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ (The best interests of children)

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 3 ได้ระบุไว้ว่า “ผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก ในการกระทำในทุก ๆ เรื่องของเด็ก รวมถึงศาลยุติธรรม” โดยผู้พิพากษาและที่ปรึกษากฎหมายด้านคดีเด็กมีหน้าที่ประกันสิทธิของเด็กทั้งทางตรงและทางอ้อมในกระบวนการยุติธรรมในทุกชั้นของกระบวนการตั้งแต่ชั้นสอบสวน ชั้นอัยการ และชั้นศาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความล่าช้าในกระบวนการพิจารณาคดี การพิจารณาคดีที่เป็นมิตรต่อเด็ก (child-friendly environment) หรือการประสานงานและเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวกับคดีต่อสหวิชาชีพอื่น (other professions) เพื่อลดการที่เด็กถูกสัมภาษณ์หรือถามหลายๆ ครั้ง โดยผ่านการยินยอมของเด็ก 

โดยแนวทางการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่เป็นมิตรต่อเด็กและเยาวชน (Guidelines on Child-friendly Legal Aid, UNICEF ECARO, October 2018) เผยแพร่โดยองค์กรยูนิเซฟ  (UNICEF) แนวทางข้อที่ 2 ได้ให้คำแนะนำถึงวิธีการประเมิน “ประโยชน์สูงสุด” ของเด็กเอาไว้ว่า ผู้พิพากษาและที่ปรึกษากฎหมายจะต้องคำนึงถึงความคิดของเด็กในการประเมินว่าอะไรคือประโยชน์สูงสุด และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการที่ไม่ปิดกั้นความคิดของเด็กในการแสดงออกความคิดเห็นดังกล่าวถึงแม้ว่าจะไม่เห็นด้วยก็ตาม รวมถึงวิธีการที่ดีที่สุดในการประเมินและตัดสินใจของผู้พิพากษาและที่ปรึกษากฎหมาย คือการขอความยินยอมของเด็ก

การสอบถามความคิดของเด็กเกิดขึ้นได้ในขั้นตอนการพิจารณาร่วมกันถึงเหตุผลที่ชัดเจนว่า การเปิดโอกาศให้ห้องสอบสวนในสถานีตำรวจและห้องพิจารณาคดีในศาลมีบุคคลอื่นที่ไม่ส่งผลร้ายต่อเด็กอยู่ในห้องได้จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อเด็กอย่างไร ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นที่ผู้พิพากษาและที่ปรึกษากฎหมายจำเป็นต้องนำมาใช้สำหรับการประเมินประโยชน์สูงสุดของเด็ก และภายใต้การคำนึงถึงเสมอถึงสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของเด็กและการให้ความสำคัญกับความคิดของเด็ก (Right to be heard)      

การพิจารณาคดีโดยเปิดเผยในคดีเด็กสามารถทำได้เมื่อมีเหตุผลที่ชัดเจนเพื่อประโยชน์ของเด็ก

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 40 ได้ระบุถึงเด็กที่ถูกตั้งข้อหา หรือถือว่าได้ฝ่าฝืนกฎหมายอาญามีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายและการปฏิบัติอย่างยุติธรรม โดยได้รับการปฏิบัติต่อในลักษณะที่สอดคล้องกับการส่งเสริมถึงศักดิ์ศรีและคุณค่าของเด็ก โดยในทุกขั้นตอนของกระบวนการพิจารณาให้เคารพต่อความเป็นส่วนตัวของเด็กอย่างเต็มที่ (Privacy) ซึ่งต่อมาเมื่อปี 2014 ได้มีการเผยแพร่ความคิดเห็นทั่วไป (General Comment) ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee) ข้อที่ 10 ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ต่อเรื่องกระบวนการยุติธรรมของเด็ก โดยระบุในข้อ 65 และ 66 โดยสรุปได้ว่า การพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนควรเป็นความลับ ทั้งนี้การพิจารณาจะสามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้เมื่อมีเหตุผลที่ชัดเจนในคดีนั้น (well-defined case) ผ่านคำสั่งของศาลอีกชั้น ทั้งนี้เด็กและเยาวชนมีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อคำสั่งศาลได้หากไม่เห็นด้วย ส่วนในนัดฟังคำพิพากษา ศาลควรเปิดเผยต่อสาธารณะโดยที่ไม่กระทบต่อตัวตนของเด็ก  

แนวทางการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่เป็นมิตรต่อเด็กและเยาวชน ข้อที่ 9 ได้ให้คำแนะนำไว้อย่างสอดคล้องกับความคิดเห็นทั่วไปข้อที่ 10 ว่าการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยในคดีเด็กสามารถทำได้เมื่อมีเหตุผลที่ชัดเจนเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก ส่วนการเปิดเผยรายละเอียดในคดี หากต้องมีเพื่อวัตถุประสงค์ทางการศึกษากฎหมายและสื่อมวลชนในมิติที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมก็มีคำแนะนำให้เกิดขึ้นได้ ภายใต้ความยินยอมของเด็กและรายละเอียดทางคดีเหล่านั้นต้องไม่เปิดเผยถึงตัวตนของเด็ก

การยกเว้นหลักการเคารพต่อความเป็นส่วนตัวของเด็กเองหากเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กและป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ และจิตใจของเด็กก็เป็นหนทางที่ยอมรับได้มากกว่าการไม่เปิดเผยหรือปิดลับข้อมูลเหล่านั้น โดยแนวทางการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายฯ ได้กล่าวถึงข้อจำกัดในการระบุถึงเหตุผลที่ชัดเจนไว้ให้สอดคล้องกับบริบท ความหนักเบาของคดี ความสามารถของเด็ก และหลักการถือประโยชน์สูงสุดของเด็กและสิทธิในการได้รับการรับฟัง 

ศูนย์ทนายความฯ ชวนมองความเป็นไปได้ของเหตุผลที่ชัดเจนในคดีเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมที่ผู้พิพากษาจะอนุญาตให้พิจารณาคดีโดยเปิดเผยและอนุญาตให้มีบุคคลอื่นเข้าร่วมในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในคดีเด็กและเยาวชน ดังนี้ 

  1. การพิจารณาคดีที่โปร่งใสและเป็นธรรมสอดคล้องหลักการพิจารณาคดีเด็กตามหลักสากล ควรเปิดโอกาศให้เข้าถึงเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ และเป็นแนวทางการส่งเสริมแนวทางการปฏิบัติที่ดีในการปฏิบัติงานคดีอาญาในคดีเด็กและเยาวชน ผ่านการปฏิบัติภายในประเทศ  และถือว่าเป็นการเสริมสร้างความโปร่งใสของผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงที่ปรึกษากฎหมายด้านคดีเด็กว่าจะพิจารณาคดีด้วยความเป็นธรรม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ และลดข้อสงสัยในประเด็นดังกล่าวต่อสาธารณะได้เป็นอย่างดี
  2. ความเป็นส่วนตัวและการรักษาความลับของเด็กในคดีอาญาเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมนั้น ยกเว้นได้ เมื่อเด็กและเยาวชนให้ความยินยอมเป็นหนังสือชัดเจนหรือวาจาในห้องสอบสวนหรือห้องพิจารณาคดี และสามารถยกเลิกได้ทุกเมื่อเมื่อเด็กและเยาวชนรู้สึกไม่ปลอดภัย ภายใต้หลักการถือประโยชน์สูงสุดของเด็ก การเคารพสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของเด็กและการให้ความสำคัญกับความคิดของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อป้องกันความเสียหายต่อจิตใจของเด็กและเยาวชนในการถูกดำเนินคดีจากการแสดงความเห็นและการเข้าร่วมการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งเป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่รับรองไว้ให้ทุกคนในรัฐ ไม่เว้นแม้แต่บุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี 
  3. ความเปราะบางทางจิตใจของเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีอาญาจากการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมนี้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนแต่แรกเริ่มตั้งแต่การคุกคาม การปิดกั้นการใช้สิทธิและเสรีภาพจนเกิดการบอบช้ำทางจิตใจอย่างต่อเนื่องว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ การให้บุคคลอื่นเข้าร่วมในกระบวนการยุติธรรมในคดีที่ตนถูกกล่าวหา ทั้งเพื่อนนักกิจกรรม, ผู้ไว้วางใจ, และผู้เข้าสังเกตการณ์คดี จึงเป็นการลดความเปราะบางทางจิตใจลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีความมั่นใจ และมีความพร้อมในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนต่อหน้าผู้พิพากษาและบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรม  และให้การได้ตามที่ตนต้องการจริงๆ
  4. ในทางปฏิบัติมีแนวทางหลากหลายที่การอนุญาตให้มีบุคคลอื่นเข้าร่วมโดยไม่รบกวนการพิจารณาคดีและสร้างห้องพิจารณาคดีที่มีความเป็นมิตรต่อเด็ก เช่น การจัดให้เด็กได้นั่งกับผู้ไว้วางใจที่ให้การสนับสนุน เพื่อทำให้เด็กรู้สึกไว้วางใจ มั่นใจ สบายใจ และไม่รู้สึกกดดันจากบรรยากาศในห้องพิจารณาคดี หรือการทำความเข้าใจร่วมกันของทุกฝ่ายในห้องพิจารณาคดีถึงการอนุญาตให้บุคคลอื่นเข้าฟังการพิจารณา โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนว่าแนวทางนี้มีความเป็นไปได้ ประเมินถึงผลดีและผลเสียที่ในการตัดสินใจนี้ และการถอดถอนความยินยอมเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อเช่นกัน

ด้วยความเป็นไปได้ที่ผู้พิพากษาจะให้พิจารณาคดีโดยเปิดเผยและให้บุคคลอื่นเข้าอยู่ร่วมในกระบวนการดำเนินคดีเด็กและเยาวชนที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมนี้ จึงเป็นที่น่าติดตามต่อไปว่าการต่อสู้คดีทางการเมืองของเด็กและเยาวชนในชั้นศาลนั้นจะนำความยุติธรรมที่เป็นธรรมมาสู่เยาวชนได้หรือไม่ ในบริบทที่รัฐไทยควรมุ่งคุ้มครองสิทธิเด็กตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่รัฐไทยต้องผูกพัน และส่งเสริมการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นธรรมไปพร้อม ๆ กัน 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 

ประเทศไทยลงนามเข้าร่วมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (United Nations Convention on the Rights of the Child) และมีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2535 ซึ่งไทยมีพันธะผูกพันที่จะต้องยอมรับข้อกำหนดตามอนุสัญญาและดำเนินการให้มีความก้าวหน้าในการใช้สิทธิของเด็ก และการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิเด็กผ่านการดำเนินการขององค์กรรัฐไทยอย่างเต็มที่

จับตาคดีสำคัญ ด้านสิทธิเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุม เดือน มี.ค. 65

สถิติเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุม ปี 2563-65

วันเด็กเวียนมาอีกหน แต่จำนวนเยาวชนถูกดำเนินคดีทางการเมืองพุ่ง 272 คน

ส่องขั้นตอนคดีเยาวชน: เมื่อเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง มีแนวโน้มมีภาระ-ถูกละเมิดมากกว่าผู้ใหญ่

X