ส่องขั้นตอนคดีเยาวชน: เมื่อเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง มีแนวโน้มมีภาระ-ถูกละเมิดมากกว่าผู้ใหญ่

เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของเยาวชน (บุคคลซึ่งอายุต่ำกว่า 18 ปี) เป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ซึ่งรัฐไทยเป็นภาคี และถูกรับรองไว้ใน มาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

หลังจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยตั้งแต่ช่วงปี 2563 เยาวชนจำนวนมากถูกดำเนินคดีและกล่าวหาโดยเจ้าหน้าที่รัฐ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 2563 จนถึงวันที่ 31 พ.ค. 2564 มีเยาวชนถูกดำเนินคดีแล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 43 ราย ใน 44 คดี

>> ภาพรวมคดีทางการเมืองของ “เยาวชน”: ยอดผู้ถูกดำเนินคดีพุ่งไปกว่า 43 รายแล้ว

ผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองต้องเข้าสู่การต่อสู้ใน “กระบวนการยุติธรรม” เช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดที่มีเป็นความผิดในตัวเอง (Mala in se การกระทำที่เป็นความผิด หรือความชั่วร้ายในตัวเอง) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ทั้งในกรณีเยาวชนยังต้องเผชิญกระบวนการตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว อีกด้วย ซึ่งมีแนวโน้มจะทำให้เยาวชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองมีภาระทางคดีมากกว่าผู้ใหญ่ นอกจากนั้นยังมีรายงานว่ามีการ “ละเมิดสิทธิเด็ก” ในกระบวนการยุติธรรมสำหรับเยาวชนอีกด้ว

.

กระบวนการยุติธรรมสำหรับเยาวชนสร้างภาระทางคดีมากกว่าผู้ใหญ่อย่างไร

ประเทศไทยลงนามภาคยานุวัติรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ทำให้รัฐไทยมีพันธกรณีระหว่างประเทศที่จะต้องรับรองสิทธิเด็กและต้องแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองเด็ก ประเทศไทยได้แก้ไขและออกกฎหมายหลายฉบับให้สอดคล้องกับอนุสัญญา รวมถึงการปรับปรุงแก้ไขกระบวนการยุติธรรมสำหรับเยาวชนใน พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาเยาวชนและครอบครัว

ตามหลักการแล้ว กระบวนการยุติธรรมสำหรับเยาวชนมีไว้ใช้กับเยาวชนที่ระทำความผิดที่เป็นความผิดในตัวเอง (Mala in Se) หรืออาชญากรรมที่ส่งผลกระทบต่อสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขฟื้นฟูเยาวชนที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนจากบรรทัดฐานของสังคม เนื่องจากการตัดสินใจในช่วงชีวิตที่ยังมีประสบการณ์น้อย เพื่อไม่ให้พวกเขาต้องสูญเสียโอกาสในอนาคต ทำให้กระบวนการยุติธรรมของเยาวชนมีกระบวนการพิเศษที่มุ่งหมายบำบัดฟื้นฟูและเบี่ยงเบนคดีออกจากกระบวนการยุติธรรม มากกว่าการพิสูจน์ว่ากระทำความผิดหรือไม่ ทำให้มีขั้นตอนมากกว่ากระบวนการยุติธรรมของผู้ใหญ่

โดยภาพรวมในคดีทางการเมืองของผู้ใหญ่ กรณีที่ได้รับหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหา ผู้ใหญ่มีภาระทางคดีในชั้นสอบสวนอย่างน้อย 3 กระบวนการใหญ่ๆ ได้แก่

1. เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจ (อาจมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมหรือสอบสวนเพิ่มเติมได้)

2. พนักงานสอบสวนนัดส่งตัวผู้ต้องหาและสำนวนคดีของพนักงานสอบสวนต่ออัยการที่สำนักงานอัยการ (มักมีการนัดรายงานตัวกับอัยการแต่ละเดือน เฉลี่ยประมาณเดือนละ 1 ครั้ง ระหว่างยังไม่มีคำสั่งทางคดี มากน้อยต่างกันไปในแต่ละคดี)

3. พนักงานอัยการนัดส่งตัวผู้ต้องหาต่อศาล กรณีอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดี หรือนัดฟังคำสั่งกรณีสั่งไม่ฟ้องคดี

กรณีผู้ใหญ่ถูกจับกุมระหว่างชุมนุมหรือทำกิจกรรมทางการเมือง มักถูกพนักงานสอบสวนฝากขังต่อศาล หากได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน ในระหว่างที่อัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้องคดี ผู้ถูกดำเนินคดีมีภาระทางคดีเพิ่มเติมคือต้องรายงานตัวต่อศาล ประมาณ 4-7 นัด ขึ้นอยู่กับโทษสูงสุดของข้อกล่าวหาที่ถูกดำเนินคดี หากอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลก็จะมีภาระต่อสู้คดีในชั้นศาล จำนวนนัดแตกต่างกันไปในแต่ละคดี

.

.

.

กรณีของเยาวชน พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ กำหนดให้ในคดีเยาวชนมีกระบวนการเพิ่มเติมจากกระบวนการยุติธรรมของผู้ใหญ่ ดังนี้

1. ในกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำเยาวชน พนักงานสอบสวนต้องจัดสถานที่แยกจากผู้ต้องหาทั่วไปเพื่อคุ้มครองชื่อเสียงของเยาวชน และต้องมีทีมสหวิชาชีพเข้าร่วม เพื่อไม่ให้เยาวชนให้การที่เป็นโทษต่อตัวเองจากการข่มขู่ หลอกลวง หรือเสนอประโยชน์อื่นใดจากเจ้าหน้าที่

2. กรณีเยาวชนถูกจับกุม พนักงานสอบสวนต้องนำตัวไปตรวจสอบการจับกุมที่ศาลเยาวชนและครอบครัว ภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อตรวจสอบว่าการจับกุมเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือกรณีเยาวชนเข้าหาพนักงานสอบสวนเองตามหมายเรียกโดยไม่มีการจับ แต่พนักงานสอบสวนเห็นว่ามีเหตุที่จะออกหมายขัง พนักงานสอบสวนจะสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลหรือควบคุมตัวเยาวชนไปส่งศาลเพื่อขอหมายควบคุมตัวเยาวชน

3. กระบวนการสืบเสาะประวัติเยาวชนและครอบครัวที่สถานพินิจ มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อวิเคราะห์สาเหตุการกระทำความผิด และออกแบบรูปแบบการฟื้นฟูเยาวชนแต่ละราย

4. นัดศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำของศาลเยาวชนและครอบครัว เพื่อประเมินและวิเคราะห์สภาพปัญหาของเยาวชนและครอบครัวในด้านกาย จิต สังคม เพื่อแก้ไขบำบัดฟื้นฟูในกรณีที่เยาวชนได้รับการประกันตัว

5. มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา ถูกออกแบบมาให้เป็นทางออกทางกฎหมายเพื่อไม่ให้เยาวชนถูกดำเนินคดีอาญา ซึ่งหากกระบวนการดำเนินไปจนกระทั่งมีคำพิพากษาลงโทษแม้เพียงโทษปรับก็ตาม จะทำให้เยาวชนมีประวัติอาชญากรรมและส่งผลต่อโอกาสทางสังคมในอนาคต

กรณีเยาวชนถูกดำเนินคดีทางการเมือง ทำให้ต้องเข้าสู่กระบวนการตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ เช่นเดียวกัน ทำให้เยาวชนกลุ่มนี้มีภาระทางคดีมากกว่าผู้ใหญ่ นอกจากนั้นยังมีรายงานว่า เยาวชนยังต้องเผชิญกับการ “ละเมิดสิทธิเด็ก” จากกระบวนการดังกล่าวอีกด้วย

.

.

ภาพรวมการ “ละเมิดสิทธิเด็ก” ในกระบวนการยุติธรรมสำหรับเยาวชนในคดีการเมือง

– ในกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำเยาวชน พนักงานสอบสวนต้องจัดสถานที่แยกจากผู้ต้องหาทั่วไปและต้องมีทีมสหวิชาชีพเข้าร่วม มีการรายงานว่าหลายกรณี พนักงานสอบสวนนัดหมายเยาวชนให้มารับทราบข้อกล่าวหาโดยไม่ได้จัดเตรียมสถานที่และทีมสหวิชาชีพไว้ สร้างภาระในการเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนอีกครั้งในภายหลัง

– หลังรับทราบข้อกล่าวหา กฎหมายกำหนดให้เยาวชนและครอบครัวต้องนัดพบพนักงานคุมประพฤติเพื่อสืบเสาะประวัติที่สถานพินิจฯ ประมาณ 2-3 ครั้ง สร้างภาระให้กับทั้’เยาวชนและครอบครัว ในขณะผู้ใหญ่ไม่ต้องเผชิญกระบวนการดังกล่าว

– กรณีที่เยาวชนถูกจับกุมระหว่างการชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมือง พนักงานสอบสวนจะนำตัวเยาวชนไปตรวจสอบการจับกุมที่ศาลเยาวชนและครอบครัว และขอออกหมายควบคุม โดยศาลฯ มักมีคำสั่งว่าเป็นการจับกุมโดยชอบและอนุญาตตามคำร้องของพนักงานสอบสวนทุกคดี แม้แต่กรณีที่มีการจับกุมตัวเยาวชนรวมกับผู้ใหญ่และใช้เครื่องพันธนาการ หรือกรณีที่เยาวชนได้รับบาดเจ็บจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่จนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลก็ตาม ศาลฯ ก็มีคำสั่งว่าเป็นการจับกุมโดยชอบ และอนุญาตควบคุมตัวตามคำร้องของพนักงานสอบสวน ทำให้เยาวชนต้องทำการขอประกันตัว สร้างภาระทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกด้วย 

– หลังจากได้รับการประกันตัว ในชั้นก่อนฟ้อง เยาวชนต้องรายงานตัวต่อศาลตามนัดเดือนละ 1 ครั้ง จำนวน 2-3 นัด มีนัดสืบเสาะประวัติเยาวชนและครอบครัวที่สถานพินิจ ประมาณ 2-3 ครั้ง และนัดพบศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำของศาลเยาวชนและครอบครัว อีกอย่างน้อย 2-3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับรูปแบบกิจกรรมที่ศาลเยาวชนฯ ออกแบบ ซึ่งคดีที่เกิดจากการร่วมชุมนุมหรือทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์นั้น แท้จริงเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ หลักสิทธิมนุษยชนและพันธกรณีระหว่างประเทศ ที่รัฐต้องคุ้มครองและส่งเสริมโดยไม่จำต้องหาเหตุการกระทำความผิดและวิเคราะห์สภาพปัญหาของเยาวชนและครอบครัวเพื่อแก้ไข 

– นอกจากนั้นกรณีที่เยาวชนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก พนักงานสอบสวนไม่มีเหตุออกหมายควบคุมหรือหมายขังได้ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 71 และ ป.วิ.อาญา มาตรา 134 แต่จากการติดตามของศูนย์ทนายสิทธิฯ พบว่ามีเยาวชน 6 ราย ใน 8 คดีทางการเมือง ที่เดินทางไปตามหมายเรียก แต่ถูกนำตัวไปตรวจสอบการจับกุมที่ศาลเยาวชนและครอบครัว และพนักงานสอบสวนมักขอออกหมายควบคุม แม้ว่าการกระทำดังกล่าวไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ แต่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลับมีคำสั่งควบคุมตัวตามคำร้องของพนักงานสอบสวนทุกครั้ง ส่งผลให้ผู้ต้องหาต้องยื่นประกันตัว และต้องรับภาระทางคดีเช่นเดียวกับเยาวชนที่ถูกจับกุม

– มีรายงานว่าในกระบวนการนัดสืบเสาะประวัติเยาวชนและครอบครัวที่สถานพินิจ มีการ “ละเมิดสิทธิเด็ก” หลายกรณี โดยอย่างน้อย 2 กรณี เกิดจากการใช้ชุดคำถามที่ไม่คำนึงถึงความหลากหลายทางเพศ ได้แก่ นักกิจกรรมเกย์วัย 17 ปี ถูกถามว่า “เคยมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันหรือไม่” และเยาวชน Non-binary ที่เป็น “เด็กผู้หญิง” ในสายตาของเจ้าหน้าที่รัฐถูกตำหนิว่า “การเล่นกีตาร์เป็นงานอดิเรกที่ไม่เหมาะสม (สำหรับผู้หญิง)” 

นอกจากนั้นยังมีรายงานอีกว่าอย่างน้อย 2 กรณี ที่เจ้าหน้าที่สถานพินิจใช้ชุดคำถามที่คล้ายคลึงกับพนักงานสอบสวน ทำให้เยาวชนตั้งข้อสังเกตว่ากระบวนการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการสอบสวนของตำรวจหรือไม่

– การเข้าสู่มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา กฎหมายกำหนดว่าต้องไม่เคยถูกดำเนินคดีอาญาในคดีอื่น และเยาวชนต้อง “สำนึกผิด” แต่ลักษณะการดำเนินคดีการเมืองต่อเยาวชน เจ้าหน้าที่มีแนวโน้มที่จะเลือกดำเนินคดีเฉพาะบุคคลจำนวนหนึ่งที่ตกเป็น “เป้าหมาย” จับตาของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เยาวชนอย่างน้อย 12 ราย ถูกดำเนินคดีมากกว่าหนึ่งคดี 

เยาวชน 2 ราย เคยตัดสินใจเข้าสู่มาตรการพิเศษฯ แต่ต่อมาผู้อำนวยการสถานพินิจฯ มีความเห็นให้ออกจากมาตรการพิเศษ เนื่องจากถูกตำรวจดำเนินคดีจากการชุมนุมอื่นอีก

– คดีแทบทั้งหมดของเยาวชนถูกกล่าวหาจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม เพื่อต้องการเรียกร้องอนาคตที่ดีกว่าให้กับตัวเองและสังคมรอบข้าง ไม่ใช่การก่ออาชญากรรมในลักษณะอาชญากรโดยแท้ 

การยอมรับเงื่อนไข “สำนึกผิด” เพื่อเข้าสู่มาตรการพิเศษ และไม่ต้องถูกดำเนินคดีไปถึงชั้นศาล ย่อมกลายเป็นการยอมรับว่าการเรียกร้องหรือการแสดงออกนั้นๆ กลายเป็น “ความผิด” เยาวชนหลายรายจึงปฏิเสธที่จะเข้าสู่มาตรการพิเศษฯ ในลักษณะนี้ เพื่อยืนยันว่าตนไม่ได้กระทำความผิด

– เยาวชนที่ถูกดำเนินคดีหลายคดี จะต้องเผชิญกระบวนการทั้งหมดนี้ซ้ำอีกในทุกๆ คดี แม้ในบางกระบวนการไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการซ้ำ ทำให้เยาวชนต้องรับภาระทางเศรษฐกิจและทำให้สูญเสียโอกาสทางสังคมหรือทางการศึกษา ระหว่างเผชิญกับกระบวนการยุติธรรมที่ยืดเยื้อในลักษณะนี้

– เยาวชนหลายรายให้ข้อมูลว่าหลังจากถูกดำเนินคดีความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวแย่ลง เยาวชนอย่างน้อย 2 ราย ต้องย้ายที่อยู่แยกจากครอบครัวหลัก บางรายประสบปัญหาทางการเรียนหรือการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น หลายรายรายงานว่าถูกลดการสนับสนุนทางเศรษฐกิจและถูกดดันจากครอบครัวให้ยุติการแสดงออก อย่างน้อย 1 ราย มีอาการ PTSD จากการถูกจับกุมตัวระหว่างการชุมนุมอีกด้วย

แม้ว่าบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ จะสอดคล้องกับหลักการคุ้มครองเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก แต่การนำมาบังคับใช้ต่อเยาวชนที่ถูกดำเนินทางการเมืองเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว เนื่องจากเหตุที่เยาวชนเหล่านี้ถูกดำเนินคดีเกิดจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบปราศจากอาวุธและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งได้รับการรับรองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ใช่ความผิดที่เป็นความผิดโดยตัวเองหรืออาชญากรรมที่มีผลกระทบต่อสังคม ที่ทุกองคาพยพในรัฐต้องรับรองคุ้มครองและส่งเสริมการใช้สิทธิเสรีภาพนี้ ดังนั้นการดำเนินต่อเยาวชนกลุ่มนี้จึงไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ กลับยิ่งสร้างความรู้สึกถึงการไม่ได้รับความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับเยาวชนที่กำลังเติบโต และ “กระบวนการยุติธรรม” เช่นนี้ ยังกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของกลไกของรัฐในการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองอีกด้วย

.

X