13 ม.ค. 64 เวลาประมาณ 10.40 น. ที่ สน.ลุมพินี “มีมี่” เยาวชนอายุ 17 ปี และสมาชิกกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมวันที่ 25 ต.ค. 63 บริเวณแยกราชประสงค์
ก่อนหน้านี้ “มีมี่” ได้รับหมายเรียกของสน.ลุมพินี ลงวันที่ 29 ธ.ค. 63 ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในคดีเดียวกันกับจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่” โดยมี พ.ต.ต.สิทธิศักดิ์ สุดหอม เป็นผู้กล่าวหา
ในวันนี้ “มีมี่” เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา พร้อมกับผู้ปกครองและทนายความ โดยมีสมาชิกกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก เดินทางไปร่วมให้กำลังใจ และร่วมกันเต้นเพลง ‘สีดาลุยไฟ’ ที่ด้านหน้าสถานีตำรวจ
พ.ต.ท.เทอดศักดิ์ มนัสชน สารวัตร (สอบสวน) และร.ต.อ.สุทวัฒน์ ศรีพรวรรณ์ รองสารวัตร (สอบสวน) สน.ลุมพินี ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหา บรรยายพฤติการณ์แห่งคดีว่า เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 63 เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนสน.ลุมพินี ได้จัดกำลังตำรวจฝ่ายสืบสวนหาข่าวบริเวณแยกราชประสงค์ บริเวณที่มีการนัดหมายชุมนุมมวลชน
เวลาประมาณ 16.10 น. นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เดินทางมาถึงตามนัดหมายและเข้าพบปะผู้ร่วมชุมนุมที่รออยู่ จากนั้นได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ระบุว่าการมากิจกรรมชุมนุมครั้งนี้คือเพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยให้ผู้ร่วมชุมนุมตะโกนขับไล่ และยังประกาศว่าการชุมนุมจะยุติในเวลาประมาณ 20.30 น. จากนั้นประกาศต่อผู้ชุมนุมว่า “ทุกคนคือราษฎร ไม่มีแกนนำ” “เราจะมีโทรโข่งกระจายกันอยู่ทั่วไปนะครับ” “กระจายตามจุดๆ ราษฎรคนไหนอึดอัดอยากระบายอยากจะออกมาพูดได้เลยนะครับ” ผู้ชุมนุมจึงผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยตามโทรโข่งที่กระจายตามจุดต่างๆ
ในช่วงประมาณ 16.30 น. ผู้กำกับสน.ลุมพินี ยังเข้าชี้แจ้งต่อผู้ชุมนุมว่าเนื่องจากสถานที่ชุมนุมเป็นที่สาธารณะ ซึ่งต้องแจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งตามกฎหมายชุมนุมสาธารณะ แต่ในการชุมนุมครั้งนี้ไม่ได้มีการแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง จึงอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.การชุมนุมฯ ให้เลิกการชุมนุมภายในเวลา 17.00 น. แต่ไม่มีการยุติการชุมนุมภายในเวลาดังกล่าว และได้มีการชุมนุมปราศรัยไปจนถึงเวลา 21.15 น. จึงยุติการชุมนุม
พ.ต.ต.สิทธิศักดิ์ สุดหอม กับพวก ได้รวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานต่างๆ จัดทำรายงานการสืบสวนเสนอต่อผู้บังคับบัญชาพิจารณา ต่อมาได้รับมอบหมายจากผู้กำกับสน.ลุมพินีให้แจ้งความดำเนินคดีกับนายจตุภัทร์และพวก รวม 6 คน ได้แก่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, อรรถพล บัวพัฒน์, ธานี สะสม, ณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์, ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา และ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล
พนักงานสอบสวนระบุอีกว่าต่อมาวันที่ 18 พ.ย. 63 ผู้กล่าวหาและเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนสน.ลุมพินี ได้ทำการสืบสวนเพิ่มเติมกรณีมีหญิงไทยผมยาวมัดผม ใส่เสื้อยืดสีดำ สะพายกระเป๋าเป้ ขึ้นปราศรัยบนรถกระบะติดเครื่องขยายเสียง เรื่องการบริหารงานของรัฐบาลยุคพล.อ.ประยุทธ์, การดำเนินคดีกับแกนนำอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย, กระบวนการยุติธรรมที่เป็นสองมาตรฐาน ไม่ใช่น.ส.ภัสราวลี แต่คือ “มีมี่” เยาวชนอายุ 17 ปี ผู้กล่าวหาจึงประสงค์จะดำเนินคดีกับเธอ
พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา 2 ข้อหาต่อ “มีมี่” ได้แก่
- ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 “ไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า”
- ฝ่าฝืนข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 13 ข้อ 1 และข้อ 5
“มีมี่” ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ปฏิเสธลงลายมือชื่อและเขียนข้อความว่า “ไม่ประสงค์ลงลายมือชื่อ” ในช่องสำหรับลงลายมือชื่อ โดยจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 20 วัน
หลังรับทราบข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ให้ปล่อยตัวไป โดยไม่ได้นำตัวไป “มีมี่” ไปตรวจสอบการจับกุมที่ศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งก่อนหน้านี้หลังจากการแจ้งข้อกล่าวหาเยาวชนหลายคดี พนักงานสอบสวนนำตัวเยาวชนไปตรวจสอบการจับกุมและขอออกหมายควบคุม อันเป็นการละเมิดสิทธิและสร้างภาระแก่เยาวชนเกินสมควร
ก่อนหน้านี้ ผู้ต้องหา 5 รายในคดีนี้ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปแล้วในวันที่ 9 ธ.ค. 63 ยกเว้น “มายด์” ภัสราวลี ผู้ต้องหาที่ 6 ไม่ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหา เนื่องจากพนักงานสอบสวนเข้าใจผิดว่าบุคคลอื่นที่ขึ้นปราศรัยคือภัสราวลี แล้วจึงได้มีการดำเนินคดีกับ “มีมี่” แทน
>> “ครูใหญ่” – “ไผ่” ถูกแจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ – พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เหตุร่วม #ม็อบ25ตุลา สี่แยกราชประสงค์
ภาพบรรยากาศการชุมนุม #ม็อบ25ตุลา บริเวณ แยกราชประสงค์
สำหรับ กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก (ผู้หญิงปลดแอก) เป็นการรวมตัวกันของนักกิจกรรมที่ต้องการสร้างการตระหนักรู้ เรื่องอคติทางเพศ และปัญหาการกดขี่ทางเพศที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยมุ่งหมายจะทำลายโครงสร้างปิตาธิปไตย โดยกิจกรรมการแสดง “สีดาลุยไฟ” ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศในหลายประเทศ
“มีมี่” นับเป็นเยาวชนรายที่ 8 แล้วที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองในปีที่ผ่านมา
>> สถิติเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุม ปี 2563-64