“วันเด็กแห่งชาติ” ที่เยาวชนถูกดำเนินคดีทางการเมืองแล้ว 13 คดี

วันเด็กแห่งชาติในปีนี้ ดูเหมือนจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หากพิจารณาจากปรากฏการณ์ที่สำคัญยิ่งอันเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยในช่วงปี 2563 คือการเคลื่อนไหวภายในโรงเรียนโดยกลุ่มนักเรียนหลากหลายพื้นที่ และการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองโดยผู้เข้าร่วมเป็นกลุ่มผู้มีอายุน้อยกว่า 18 ปี จำนวนมาก

ทั้งกลุ่มเด็กและเยาวชนยังร่วมกันนำเสนอประเด็นเรียกร้องที่น่าสนใจ อาทิเช่น วิพากษ์วิจารณ์ระบบอำนาจนิยมในโรงเรียน สิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกาย ความเหลื่อมล้ำและคุณภาพทางการศึกษา ภัยคุกคามทางไซเบอร์ เป็นต้น ซึ่งเป็นประเด็นที่แหลมคมและก้าวหน้ายิ่งสำหรับการเคลื่อนไหวในประเทศไทย

องค์การสหประชาชาติให้คำนิยามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ว่า “Children” คือบุคคลซึ่งอายุไม่เกิน 18 ปี เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 นิยามว่า “เด็ก” หมายถึงบุคคลซึ่งอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ นอกจากนั้น พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ให้คำนิยามว่า “เด็ก” หมายถึง บุคคลอายุยังไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์ และ “เยาวชน” คือบุคคลอายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ อนุสัญญาระหว่างประเทศซึ่งไทยเป็นภาคีและกฎหมายภายในของไทยเอง ต่างมีความมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชากรกลุ่มนี้

จากการแสดงออกในช่วงปีที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าเยาวชนต้องเผชิญกับทั้งการถูกติดตามคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ การปิดกั้นการแสดงออกของสถานศึกษา การใช้ความรุนแรงในมิติต่างๆ โดยบุคลากรทางการศึกษา ความขัดแย้งกับครอบครัว กระทั่งถูกไล่ออกจากบ้าน ไปจนถึงการถูกกล่าวหาดำเนินคดีทางการเมือง

ตั้งแต่หลังการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก 18 ก.ค. 2563 จนถึงวันที่ 7 ม.ค. 2564 ศูนย์ทนายสิทธิฯ พบว่ามีการดำเนินคดีกับเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้วถึง 13 คดี โดยมีเยาวชนที่ถูกกล่าวหาจำนวน 8 ราย

>>> ในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทั้ง 8 ราย มีเยาวชน 5 ราย ถูกดำเนินคดีเนื่องจากเป็นผู้ปราศรัยในการชุมนุม อีก 3 ราย เป็นผู้เข้าร่วมการชุมนุม

>>> แกนนำของกลุ่มเยาวชนสำคัญในปีที่ผ่านมา 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนักเรียนเลว และกลุ่มนักเรียนไท รวม 3 คน ได้แก่ มิน, พลอย และภูมิ ถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากมีส่วนร่วมในการปราศรัยระหว่างการชุมนุม #15ตุลาไปราชประสงค์

>>> เยาวชนอายุ 17 ปี 1 ราย ถูกดำเนินคดีถึง 4 คดีแล้ว จากการเข้าร่วมการชุมนุม 4 พื้นที่ ได้แก่ คดีชุมนุม #ตามหานาย หน้าประตูทางเข้า ม.พัน 4 พล.1 รอ. เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 63, คดีชุมนุม #คณะราษฎรอีสาน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 63, คดีชุมนุม #16ตุลาไปแยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 63 และคดีการ์ด WeVo ขายกุ้งเพื่อช่วยผู้ค้ากุ้ง หรือ #ม็อบย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 63

>>> ธนกร เยาวชนอายุ 17 ปี อีก 1 ราย ถูกดำเนินคดี 3 คดี ใน 3 ข้อหาแตกต่างกัน ได้แก่ ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

>>> มีเยาวชน 2 รายแล้ว ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาตามมาตรา 112 และเยาวชนอายุน้อยที่สุดที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหานี้อายุเพียง 16 ปีเท่านั้น จากกรณีการแสดงออกในแฟชั่นโชว์ของ #ม็อบ29ตุลา หน้าวัดแขก ถนนสีลม

>>> ในจำนวนนี้ เยาวชน 2 ราย ยังถูกควบคุมตัวไปโดยตำรวจในลักษณะที่ไม่มีหมายจับ หนึ่งในนั้นถูกจับโดยไม่มีหมายจับและดำเนินคดีถึงสองครั้ง

 


 

เยาวชนที่ถูกดำเนินคดีจากกิจกรรมทางการเมืองต้องเผชิญกับภาระในกระบวนการยุติธรรม ที่มากกว่าผู้ใหญ่ที่ถูกดำเนินคดีในกรณีเดียวกัน เนื่องจากต้องปฏิบัติตามวิธีพิจารณาความอาญาสำหรับเยาวชนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553

ในช่วงปีที่ผ่านมา ศูนย์ทนายสิทธิฯ พบว่ากระบวนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในคดีชุมนุมทางการเมือง ในกรณีผู้ใหญ่ หลังเข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจจะปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหาไป เนื่องจากไม่มีอำนาจควบคุมตัว เพราะมาพบตามหมายเรียก

แต่ในกรณีเยาวชนในหลายคดี หลังจากเข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจตามหมายเรียก เจ้าหน้าที่จะนำตัวเยาวชนไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเพื่อตรวจสอบการจับกุม โดยอ้างอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ มาตรา 71 ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134

ในขั้นตอนดังกล่าว มีรายงานว่าเยาวชนได้ถูกควบคุมตัวไว้ในห้องขังของศาล นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจยังขอศาลฯ ออก “หมายควบคุม” อีกด้วย ซึ่งศูนย์ทนายสิทธิฯ ตั้งข้อสังเกตว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจดังกล่าวเนื่องจากเยาวชนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจควบคุมตัวแต่อย่างใด

กระบวนการเหล่านี้ทำให้การเข้ารับทราบข้อกล่าวหาของเยาวชนต้องใช้เวลาตลอดทั้งวัน เพื่อรอคอยการประกันตัวจากศาล ในขณะที่การรับทราบข้อกล่าวหาของผู้ใหญ่ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น ทำให้เยาวชนผู้ถูกกล่าวหามีแนวโน้มจะถูกละเมิดสิทธิมากกว่าผู้ใหญ่เสียอีก ทั้งที่เป็นกลุ่มที่ควรจะได้รับการปกป้องคุ้มครองใน “กระบวนการยุติธรรม” มากกว่า

 

 

อีกทั้ง หลังจากเข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ในกรณีคดีผู้ใหญ่ขั้นตอนต่อไป คือรอฟังคำสั่งจากพนักงานอัยการว่าจะสั่งฟ้องคดีหรือไม่ แต่ในกรณีของเยาวชน พวกเขาต้องเข้าพบผู้คุมประพฤติ เพื่อสืบเสาะข้อเท็จจริง มีรายงานว่าในกระบวนการนี้ มีการใช้คำถามอาทิเช่น “เคยมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันหรือไม่” เพื่อสอบถามเยาวชนที่ถูกกล่าวหา ซึ่งเป็นคำถามที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และการร่วมแสดงออกทางการเมืองของเยาวชน แม้จะถูกกล่าวหาดำเนินคดี แต่ก็ไม่ใช่การก่อ “อาชญากรรม” ในลักษณะที่เหมือนกับการก่อความรุนแรง ยาเสพติด หรือการปล้นชิงลักทรัพย์ต่างๆ

การดำเนินคดีต่อเยาวชนที่เข้าร่วมการชุมนุมเป็นการปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดที่เป็นความผิดในตัวเอง (mala in se) ทั้งที่พฤติการณ์อันเป็นเหตุแห่งคดีเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบ ทั้งตามรัฐธรรมนูญและหลักการระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมยังถือเป็นสิทธิในกลุ่มเดียวกันกับสิทธิในการมีส่วนร่วมตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งไทยได้ให้สัตยาบัน รัฐภาคีจะต้องยอมรับสิทธิเสรีภาพของเด็กในการสมาคม ชุมนุมอย่างสงบ เพื่อเรียกร้องหรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่ส่งผลกับเด็กเอง

วันเด็กแห่งชาติในปีนี้ จึงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อเด็กและเยาวชนในสังคมไทยจำนวนมาก ลุกขึ้นทวงถามสิทธิในหลายประเด็นปัญหาและเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่สิ่งที่ “ผู้ใหญ่” มอบให้พวกเขาและเธอจากการแสดงออกดังกล่าว กลับกลายเป็นการถูกดำเนินคดี การถูกติดตามคุกคาม และการปิดกั้นการแสดงออก

สังคมแบบไหนกัน ที่ “ผู้ใหญ่” มอบ #ของขวัญวันเด็ก เช่นนี้ให้กับเด็กและเยาวชนในสังคม?

 

อ่านมุมมองเรื่องสิทธิเด็กเพิ่มเติม

คุยเรื่องสิทธิเด็กกับวรางคณา มุทุมล: เลนส์มองปรากฏการณ์เด็กโต้กลับในวันผู้ใหญ่ยังไม่พร้อม

 

X