วันที่ 15 มี.ค. 64 ที่ สน.ยานนาวา “ณัฐ” เยาวชนอายุ 17 ปี เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมจากการชุมนุม #ม็อบ1กุมภา หรือ #StandWithMyanmar หน้าสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 64 หลังถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีนี้ไปแล้วเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 64
เหตุในการชุมนุมหน้าสถานทูตเพื่อร่วมต่อต้านการรัฐประหารในประเทศเมียนมา ทำให้มีผู้ถูกจับกุมระหว่างการชุมนุมจำนวน 3 ราย และมีผู้ถูกออกหมายเรียกเพิ่มเติมอีก 11 ราย หนึ่งในนั้นคือณัฐ เยาวชนที่เคยถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 มาแล้ว จากกิจกรรมร่วมกิจกรรม #แต่งครอปท็อปเดินห้างสยามพารากอน ที่สน.ปทุมวัน
เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 64 นั้น พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ พิมพ์มานนท์ สารวัตรสอบสวน สน.ยานนาวา ได้แจ้ง 6 ข้อหาแก่ณัฐ พร้อมกับผู้ต้องหาอื่น โดยมีข้อหาหลัก คือ มาตรา 215 วรรคสอง “มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยผู้กระทำผิดคนใดคนหนึ่งมีอาวุธ”, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 “ร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน” และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 “ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์”
ภาพการรับทราบข้อกล่าวหา เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 64
ต่อมา พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา ได้ออกหมายเรียกให้ ณัฐ และผู้ต้องหาคนอื่นๆ ในคดี มารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ในวันที่ 12 มี.ค. 64 ที่ผ่านมา แต่ไม่ได้จัดให้มีพนักงานอัยการและทีมสหวิชาชีพเข้าร่วมการแจ้งข้อกล่าวหาให้กับเยาวชน จึงได้เลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาเป็นวันที่ 15 มี.ค. 64
วันนี้ ณัฐเข้าพบพนักงานสอบสวนอีกครั้ง พร้อมกับที่ปรึกษากฎหมาย (ทนายความ) โดยมี พ.ต.ท.พนม ผุยหนองโพธิ์ สารวัตร (สอบสวน) พนักงานสอบสวน เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงานซึ่งได้กระทำตามหน้าที่จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส” ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมบรรยายพฤติการณ์คดีว่า เนื่องจากพนักงานสอบสวนได้รับแจ้งผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์จากโรงพยาบาลตํารวจ พบว่ามีเจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชน 1 นาย ได้รับบาดเจ็บนิ้วก้อยเท้าขวาหัก ต้องใช้เวลาในการรักษาประมาณ 6 สัปดาห์ และจากการสอบปากคําเจ้าหน้าที่ตํารวจคนดังกล่าวเพิ่มเติม พบว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เนื่องจากยังต้องดามนิ้วก้อยไว้ ถือว่าเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส
ณัฐ ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 9 เม.ย. 64 หลังรับทราบข้อกล่าวหาไม่มีการควบคุมตัวแต่อย่างใด
จากการติดตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ปี 2563 มีเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและชุมนุมทางการเมือง แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 16 ราย ใน 21 คดี
>> สถิติเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุม ปี 2563-64