แจ้งข้อหา 7 ปชช.เพิ่ม คดี #ม็อบ1กุมภา เหตุ คฝ.นิ้วก้อยหัก ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ พร้อมดำเนินคดี 1 ผู้ชุมนุม #ม็อบ8กุมภา

วันนี้ (12 มี.ค. 64) ประชาชนและสมาชิกกลุ่ม We Volunteer (WeVo) รวม 7 คน เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม เหตุชุมนุม #ม็อบ1กุมภา หรือ #StandWithMyanmar หน้าสถานทูตเมียนมา เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 64 หลังทั้งหมดรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกไปแล้วเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 64 ทั้งยังแจ้งข้อหาแก่ 1 ผู้ต้องหาในคดี #ม็อบ1กุมภา ในคดี #ม็อบ8กุมภา ที่หน้าสถานทูตเมียนมาอีก 1 คดี

รูปภาพการรับทราบข้อหาครั้งแรก เมื่อ 19 ก.พ. 64

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 64 นั้น พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ พิมพ์มานนท์ สารวัตรสอบสวน สน.ยานนาวา ได้แจ้ง 6 ข้อหาแก่ 6 คน โดยมีข้อหาหลัก คือ มาตรา 215 วรรคสอง “มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยผู้กระทำผิดคนใดคนหนึ่งมีอาวุธ”, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 “ร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 “ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์” ส่วนชาติ (นามสมมติ) ถูกแจ้งเพียง 6 ข้อหา โดยไม่มีข้อหาทำให้เสียทรัพย์

>> แจ้งข้อหา 10 ประชาชน-เยาวชน คดีชุมนุมหน้าสถานทูตเมียนมา พบ 1 ในผู้ได้รับหมายเรียกไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ

ต่อมา พนักงานสอบสวนได้ประสานให้ผู้ต้องหาทั้งเจ็ดมารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ในข้อหา “ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงานซึ่งได้กระทำตามหน้าที่จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส” ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พร้อมกับแจ้งข้อหาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 “ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์”​ เพิ่มกับชาติ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทำให้ทั้งเจ็ดถูกแจ้งข้อกล่าวหารวมทั้งหมด 7 ข้อหาเช่นเดียวกัน

ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมบรรยายพฤติการณ์คดีว่า เนื่องจากพนักงานสอบสวนได้รับแจ้งผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ รพ.ตํารวจ พบว่ามี เจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชน 1 นาย ได้รับบาดเจ็บนิ้วก้อยเท้าขวาหัก ต้องใช้เวลาในการรักษาประมาณ 6 สัปดาห์ และจากการสอบปากคําเจ้าหน้าที่ตํารวจคนดังกล่าวเพิ่มเติม พบว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เนื่องจากยังต้องดามนิ้วก้อยไว้ ถือว่าเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส 

นอกจากนี้ ยังพบว่า ชาติ (นามสมมุติ) เป็นผู้นําทรัพย์สินของผู้อื่นคือแผ่นอิฐปูถนนของบริษัท จอมธกล จํากัด มาเป็นอาวุธขว้างปาใส่เจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชนอีกด้วย

ทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 9 เม.ย. 64

การชุมนุมในวันที่ 1 ก.พ. 64 หน้าสถานทูตเมียนมา มีผู้ถูกดำเนินคดีรวมทั้งหมด 14 ราย หนึ่งในจำนวนนี้แบ่งเป็นผู้ถูกจับกุมระหว่างสลายการชุมนุมจำนวน 3 ราย และผู้ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาอีก 11 ราย ทั้งนี้ ยังมีเยาวชนอีก 1 ราย ซึ่งจะเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันจันทร์ที่ 15 มี.ค. 64 เวลา 10.00 น. 

แจ้งข้อหาคดี #ม็อบ8กุมภา กับผู้ชุมนุมอีก 1 ราย เหตุทักท้วง ตร.ตรวจบัตรชาวเมียนมา

วันเดียวกันนี้ ชาญชัย หนึ่งในผู้ต้องหาคดี #ม็อบ1กุมภา ที่มารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ยังถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม #ม็อบ8กุมภา เพิ่มอีกด้วย  โดย พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ พิมพ์มานนท์ สารวัตรสอบสวน สน.ยานนาวา บรรยายพฤติการณ์คดีโดยสรุป ดังนี้ 

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 64 เวลาประมาณ 15.00 น. ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมชาวเมียนมาราว 50-60 คน มาชุมนุมต่อต้านรัฐประหารในประเทศเมียนมา อยู่ที่หน้าสถานทูตเมียนมา โดยมีชาญชัยและภูมิ หัวลำโพง เยาวชนอายุ 17 ปี เป็นชาวไทยที่เข้าร่วมการชุมนุมด้วย 

ทั้งสองได้เข้าพูดจาโวยวายไม่พอใจกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน สน. ยานนาวา ขอตรวจสอบหนังสือเดินทางและบัตรประจําตัวชาวเมียนมาที่มาร่วมชุมนุม โดยชาญชัยและภูมิพยายามกดดันให้เจ้าหน้าที่คืนบัตรให้กับชาวเมียนมาและปล่อยตัวเขาไป 

ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) แต่งกายด้วยเครื่องแบบสีกากีเดินเข้ามาอยู่ระหว่างฝ่ายสืบ สน.ยานนาวา กับ ชาญชัยและภูมิกับพวก พร้อมแจ้งว่าใครไม่เกี่ยวข้องให้ออกไป ทำให้ทั้งสองไม่พอใจ ผลัก คฝ.จนเสียหลัก ชาญชัยและภูมิกับพวกยังดันเข้าหา คฝ.อีก ทำให้เจ้าหน้าที่ชุด คฝ. ใช้มือกันไว้ไม่ให้เข้าใกล้ แต่ทั้งสองกับพวกก็ยังคงยืนรุมล้อม และโวยวายใส่เจ้าหน้าที่ตํารวจอยู่ ทั้ง 2 คนไม่ยอมถอยห่างออกจากแนว ยังยืนดูและต่อว่าการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยชาวเมียนมาคนดังกล่าว จึงแยกย้ายกลับไป

ดังนั้น พนักงานสอบสวนจึงแจ้ง 3 ข้อหาแก่ชาญชัย ได้แก่ 

  1. ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ 2548 
  2. ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ร่วมกันกระทําการซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะฯ มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
  3. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 “ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กําลัง ประทุษร้าย” มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ 

ชาญชัยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 1 เม.ย. 64  ส่วนภูมิ เยาวชนอีก 1 ราย ผู้ถูกดำเนินคดีนี้เช่นกันจะเดินทางรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 17 มี.ค. 64 

สำหรับทั้ง 2 คดี มีที่มาจากการชุมนุมต่อต้านการทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน โดย พล.อ.พิเศษ มิน อ่อง หลาย เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 64 และ 8 ก.พ. 64 หน้าสถานทูตเมียนมา สำหรับการชุมนุมในวันที่ 1 ก.พ. 64 มีการเข้าสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชน และการจับกุมผู้ชุมนุมรวม 3 ราย ในข้อหา “ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน” ด้วย

>> 3 ปชช.-นศ.มธ. ชุมนุมต้านรปห.สถานทูตเมียนมา ถูกแจ้งข้อหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-ต่อสู้ขัดขวางจนท.

X