เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 – ที่ สน.ยานนาวา พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกให้ประชาชน 3 ราย และ 1 นักกิจกรรมเยาวชน คือ “ภูมิ หัวลำโพง” (นามแฝง) เดินทางเพื่อรับทราบพฤติการณ์เพิ่มเติมใน 2 คดี สืบเนื่องจากการชุมนุมที่ด้านหน้าสถานทูตเมียนมา เพื่อต่อต้านการรัฐประหารในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 1 และวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564
ในส่วนของผู้ต้องหา 2 รายแรก ได้แก่ ปัณณพัทธ์ จันทนางกูล และ เกียรติศักดิ์ พันธุ์เรณู ทั้ง 2 ถูกจับกุมในระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ก่อนจะถูกแจ้งข้อหาทั้งหมด 5 ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, “มั่วสุมกันใช้กำลังประทุษร้ายฯ” ตามป.อาญา มาตรา 215, “ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน” มาตรา 138 ประกอบมาตรา 140 ป.อาญา และ “ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน” ตามมาตรา 296 ป.อาญา
>>> 3 ปชช.-นศ.มธ. ชุมนุมต้านรปห.สถานทูตเมียนมา ถูกแจ้งข้อหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-ต่อสู้ขัดขวางจนท.
>>> ศาลอนุญาตฝากขัง 3 ผู้ชุมนุมต้านรปห.เมียนมา ก่อนได้รับการประกันตัว
ทางพนักงานสอบสวนคือ พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ พิมมานนท์ สารวัตร (สอบสวน) สน. ยานนาวา ได้แจ้งพฤติการณ์เพิ่มเติมต่อทั้ง 2 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และได้กล่าวหาทั้ง 2 ในฐานะที่เป็นผู้ทำความผิดร่วมกับผู้ต้องหากลุ่มการ์ด We Volunteer อีก 7 คน ที่ได้รับหมายเรียก เหตุจากการร่วมชุมนุมในวันเดียวกัน และได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาก่อนหน้าเรียบร้อยแล้ว
ทั้ง 7 คนถูกกล่าวหาทั้งหมด 6 ข้อหา ก่อนที่ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564 เจ้าหน้าที่ได้ออกหมายเรียกให้ทั้ง 7 มารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมอีก 1 ข้อหา คือ “ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงานจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส” ตามมาตรา 297 ป. อาญา
การออกหมายเรียกในวันนี้ก็เพื่อจะรวมคดีความทั้ง 2 คดีเข้าเป็นคดีเดียวกัน โดยหลังจากรับทราบเรื่องการรวมคดีแล้ว ทั้ง 2 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาเช่นเดิม
อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ชุมนุมอีก 2 รายที่ได้เดินทางมาที่ สน.ยานนาวาเช่นเดียวกัน คือ ชาติ (นามแฝง) และ ภูมิ หัวลำโพง (นามแฝง) ถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมในการชุมนุมเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 (ชาติเองเข้าร่วมในการชุมนุมเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์และเป็นหนึ่งในผู้ต้องหา 7 รายกลุ่ม WeVo ที่ถูกดำเนินคดี)
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564 และวันที่ 17 มีนาคม 2564 ทั้งชาติและภูมิได้เดินทางมาเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาทั้งหมด 3 ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ “ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน” มาตรา 138 ป.อาญา
ในการออกหมายเรียกวันที่ 5 เมษายน ทางพนักงานสอบสวนคือ พ.ต.ท.คมสัน เลขาวิจิตร รองผู้กำกับ (สอบสวน) และ พ.ต.ท.อินศร อุดติ๊บ สารวัตร (สอบสวน) สน.ยานนาวา ได้แจ้งพฤติการณ์ทางคดีเพิ่มเติมต่อทั้ง 2 ว่า จากการสืบสวนและสอบสวน ทราบว่า เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 พบว่ามีผู้ร่วมกระทำความผิดในการขัดขวางการทำงานของเจ้าพนักงานและมีการใช้กำลังประทุษร้ายมากกว่า 3 รายขึ้นไป ถือเป็นความผิดตาม มาตรา 138 ประกอบมาตรา 140 ของ ป. อาญาฯ
หลังจากทั้งสองทราบพฤติการณ์เพิ่มเติมแล้ว ทั้งคู่ได้ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมใน 30 วัน
เปิดบันทึกข้อกล่าวหาและพฤติการณ์เพิ่มเติม กรณีม็อบวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564
ในส่วนของบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาของการชุมนุมเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พนักงานสอบสวนระบุ โดยเท้าความว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 สืบเนื่องจากเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศเมียนมา ต่อมาเวลาประมาณ 14.45 น. ของวันเดียวกัน ประชาชนชาวพม่าที่อยู่ในประเทศไทย เกิดความไม่พอใจจึงได้ออกมารวมตัวกันที่หน้าสถานทูตเมียนมา บริเวณถนนสาทรเหนือ เพื่อต่อต้านการรัฐประหาร
ต่อมาได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งคนไทยและชาวพม่า จํานวนประมาณ 200 คน ได้มาชุมนุมและทําการเรียกร้องและต่อต้านการรัฐประหารในประเทศเมียนมา และทําการปราศรัยอยู่ที่บริเวณหน้าสถานทูต เจ้าหน้าที่ตํารวจจึงได้เข้ามาทําการดูแลความเรียบร้อยในพื้นที่ชุมนุม และบริเวณใกล้เคียง
ต่อมาเวลาประมาณ 16.10 น. ผู้กำกับสน.ยานนาวา ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกาศให้ นายปัณณพัทธ์ จันทนางกูล รวมทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมให้เลิกการชุมนุมมั่วสุมภายในเวลาที่กําหนด เนื่องจากเห็นว่าเป็นการชุมนุมที่อาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อาจจะเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายแพร่ระบาดออกไป ปรากฏว่านายปัณณพัทธ์ฯ และกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่าฝืนไม่ยอมเลิกการชุมนุมตามที่ประกาศ
จากนั้น เจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชนจึงได้ทําการกระชับพื้นที่ผลักดันให้กลุ่มผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม กระทั่งเวลาประมาณ 17.00 น. ขณะที่เจ้าหน้าที่ตํารวจกําลังกระชับพื้นที่ นายปัณณพัทธ์ฯ กับพวก (กลุ่มการ์ดกลุ่ม We Volunteer ทั้ง 7 คน) และคนที่ยังหลบหนี ยังไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด ได้ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชน โดยการผลักดันไม่ให้เจ้าหน้าที่ตํารวจฯ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
กลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวกับพวกที่หลบหนี ยังได้ร่วมกันใช้กําลังทําร้ายเจ้าหน้าที่ตํารวจที่กําลังปฏิบัติหน้าที่ด้วยการขว้างปาขวดน้ำ กรวยยาง ใส่เจ้าหน้าที่ฯ มีการใช้อาวุธที่เรียกว่าดิ้วตีและใช้แผงเหล็กป้ายเขตก่อสร้าง ทุ่มใส่เจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชน นอกจากนี้ยังได้ใช้อุปกรณ์ก่อสร้างและก้อนอิฐขว้างใส่เจ้าหน้าที่อีกด้วย การกระทําดังกล่าวเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชนได้รับบาดเจ็บเป็นจํานวน 14 คน และยังเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง