สองเยาวชนร้องอัยการไม่สั่งฟ้องในคดีชุมนุม ย้ำรัฐภาคีต้องประกันสิทธิเด็กตามอนุสัญญา

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 2 นักกิจกรรมเยาวชน อายุ 17 ปี ได้แก่ “ภูมิ หัวลำโพง” (นามแฝง) และ “มีมี่” พร้อมด้วยทนายความ ได้เดินทางไปตามนัดของพนักงานสอบสวน เพื่อส่งตัวและสำนวนให้กับอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว พร้อมกันนั้นทั้งคู่ยังได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมขอให้อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี และขอให้ทางอัยการมอบหมายให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำพยานเพิ่มเติมด้วย

สำหรับผู้ต้องหารายแรก “มีมี่” สมาชิกกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 จากการเข้าร่วมในการชุมนุม #ม็อบ25ตุลา ที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 63 โดยเธอได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สน.ลุมพินีก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 64

ในส่วนของผู้ต้องหาอีกรายคือ “ภูมิ” ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร, ข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานและทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 และมาตรา 296 จากการเข้าร่วมในการชุมนุม #16ตุลาไปแยกปทุมวัน ที่สี่แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 63 โดยคดีนี้เป็นคดีที่ 3 ของภูมิ (จากทั้งหมด 6 คดี) โดยเขาได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 63

ภายหลังจากพนักงานสอบสวนส่งตัวทั้งสองคนให้กับอัยการ ทางอัยการได้นัดให้มีมี่เดินทางมาฟังคำสั่งของอัยการอีกครั้งในวันที่ 11 ก.พ. 64 ส่วนภูมิ อัยการนัดให้เดินทางมาฟังคำสั่งอีกครั้งในวันที่ 30 เม.ย. 64

>>> ดูตารางสถิติคดีของเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมือง สถิติเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุม ปี 2563-64

 

ภาพบรรยากาศการชุมนุม #ม็อบ25ตุลา บริเวณ แยกราชประสงค์

 

สำหรับเนื้อหาในหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของมีมี่ระบุว่า เธอไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาและการสั่งฟ้องในคดีนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะแต่อย่างใด ทั้งยังได้ขอให้มีการสั่งสอบพยานเพิ่มเติมอีกด้วย โดยได้ยกเหตุผลประกอบดังนี้

1. แม้จะมีการยื่นคำให้การเพิ่มเติมของผู้ต้องหาในประเด็นด้านสิทธิเด็กและเยาวชน อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการสอบความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญคือ นางทิชา ณ นคร ผู้อํานวยการศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก นักวิชาการด้านสิทธิเด็กและเยาวชน เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา เพื่อยืนยันว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกรอบกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ปรากฏว่าทางพนักงานสอบสวนยังไม่ได้สอบคําให้การพยานผู้เชี่ยวชาญตามคำร้องขอ แต่กลับเร่งสรุปสํานวนทําความเห็นสั่งฟ้อง

2. ผู้ต้องหายืนยันว่าตนไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะแต่อย่างใด และไม่ได้ฝ่าฝืนข้อกำหนดของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ พฤติการณ์ในคดีถือว่าเป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสุจริตแต่เพียงเท่านั้น เป็นไปตามกฎหมายทั้งภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ การสั่งฟ้องผู้ต้องหาจึงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณะและจะส่งผลกระทบต่อประโยชน์สำคัญของประเทศ

เนื่องจากสิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออก ตลอดจนเสรีภาพในการชุมนุมเป็นเครื่องแสดงออกซึ่งเจตจํานงของมวลชน เป็นสิ่งกระตุ้นเตือนผู้มีอํานาจให้ตระหนักถึงความสําคัญของการบริหารราชการแผ่นดินและเป็นกลไกสําคัญในการตรวจสอบการทำงานของรัฐ อีกทั้งยังเป็นสิทธิที่ทางสากลให้การยอมรับและได้ถูกบัญญัติไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ในส่วนของพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการชุมนุมเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2563 บริเวณแยกราชประสงค์ ผู้ต้องหาขอเรียนว่า การกระทำของผู้ต้องหาเป็นการแสดงออกที่ได้รับการคุ้มครองตามหลักการทางกฎหมาย ทั้งในและระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกติกา ICCPR มาตรา 19 วรรค 1 และ 2 คุ้มครองสิทธิในการแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซงและสิทธิในการเผยแพร่และรับข้อมูลข่าวสาร และในมาตราที่ 21 ก็ได้รับรองสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งไทยก็ได้รับรองหลักการเหล่านี้ไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 44 วรรค 1 และ 2

เพิ่มเติมไปกว่านั้น การใช้สิทธิในครั้งนี้ยังสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC) ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาดังกล่าว โดยได้รับรองหลักเสรีภาพในการออกและเสรีภาพในการชุมนุมไว้ในมาตราที่ 12, 13 และ 15 กล่าวคือ รัฐภาคียอมรับสิทธิของเด็กที่จะมีเสรีภาพในการสมาคมและเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ เพื่อเรียกร้องหรือแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยในประเด็นที่ส่งผลกับเด็กเอง การดำเนินคดีอาญากับเยาวชนโดยทางเจ้าหน้าที่รัฐจึงเป็นการกระทำที่ขัดกันกับข้อบทกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้น

3. ประการสําคัญ การดําเนินคดีนี้กับผู้ต้องหาซึ่งเป็นเยาวชนเป็นไปโดยมีเหตุผลทางการเมือง รัฐบาลเลือกดําเนินคดีกับผู้ต้องหาที่มีความคิดเห็นทางการเมืองตรงข้ามกับรัฐบาล เป็นการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความคิดเห็นทางการเมือง ขัดกันกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้อ 2 (2) ที่ระบุว่า รัฐภาคีจะต้องประกันสิทธิเด็กจากการเลือกปฏิบัติ

พฤติกรรมการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาลต่อผู้ร่วมทํากิจกรรมชุมนุม ยังเป็นการบังคับใช้กฎหมายเกินกว่าเจตนารมณ์ เพราะในวันและเวลาที่มีการจัดกิจกรรมขึ้นตามข้อกล่าวหา ประเทศไทยไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายใหม่ภายในประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีและศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) ได้มีการออกข้อกําหนดเพื่อผ่อนปรนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด เนื่องจากสถานการณ์ที่คลี่คลายลง จึงไม่เข้าข่ายนิยาม “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ตามความหมายของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวกับผู้ต้องหาและผู้ร่วมชุมนุมรายอื่นไม่ได้เป็นการบังคับใช้ตามเจตนารมณ์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค แต่มุ่งจํากัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม เพื่อยับยั้งบุคคลไม่ให้มีความเห็นต่างจากรัฐ สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนตามข่าวในสื่อว่ามีการดำเนินคดีอย่างเฉพาะเจาะจงกับตัวบุคคลโดยมีเหตุผลมาจากประเด็นทางการเมือง

จากเหตุผลทั้งหมดข้างต้น ผู้ต้องหาจึงมิได้ทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา เพราะเป็นการใช้สิทธิตามที่ได้รับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศ ดังนั้น การดำเนินคดีหรือสั่งฟ้องผู้ต้องหาจึงไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ขอให้ทางอัยการได้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบพยานเพิ่มเติม และพิจารณาให้มีความเห็นควรไม่สั่งฟ้องผู้ต้องหาต่อไป

 

ดูประเด็นเรื่องสิทธิเด็กเพิ่มเติม

คุยเรื่องสิทธิเด็กกับวรางคณา มุทุมล: เลนส์มองปรากฏการณ์เด็กโต้กลับในวันผู้ใหญ่ยังไม่พร้อม

 

X