‘ไร้เดียงสาทางการเมืองแค่ไหน ก็ยังรู้ว่านี่คือเกมการเมือง’ เปิดคำให้การ ‘ป้ามล’ ขอยุติดำเนินคดีเยาวชน

วันที่ 28 ม.ค. 64 ที่จะถึงนี้พนักงานอัยการฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 ได้นัดหมาย สามเยาวชน ได้แก่ “มิน” ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ, “พลอย” เบญจมาภรณ์ นิวาส แกนนำกลุ่มนักเรียนเลว และ ภูมิ (สงวนชื่อและนามสกุล) แกนนำกลุ่มนักเรียนไท เพื่อฟังคำสั่งว่าจะพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ หลังจากที่ทั้งสามถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีการเข้าร่วมการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563

คดีนี้ทั้งสามคนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สน.ลุมพินี เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 63 จากนั้นพนักงานสอบสวนได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องคดี และนัดส่งตัวเยาวชนทั้งสามต่ออัยการในวันที่ 24 ธ.ค. 63 ซึ่งในวันดังกล่าวทั้งสามได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการ และขอให้สอบปากคำพยานเพิ่มเติมจำนวน 2 ปาก ได้แก่ ดร.พัชร์ นิยมศิลป คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน และนางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก นักวิชาการด้านสิทธิเด็กและเยาวชน

วันที่ 6 ม.ค. 64 ทนายความของเยาวชนทั้งสามได้เข้ายื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อพนักงานสอบสวน พร้อมกับนำพยานผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ นางทิชา ณ นคร เข้าให้การต่อหน้าพนักงานสอบสวน เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้ของเยาวชนทั้งสามคนด้วย โดยคำให้การของทิชา ได้ให้ความเห็นในคดีไว้ 2 ประเด็น ได้แก่

ประเด็นแรก ยืนยันเรื่องสถานะของประเทศไทยที่ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the rights of the child : CRC) โดยมีผลบังคับใช้ในประเทศไทยเมื่อ 26 เมษายน 2535

ประการที่สำคัญซึ่งมีผลผูกพันต่อรัฐไทย ได้แก่ 1. รัฐภาคีต้องปรับปรุงระเบียบ กฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญา 2. รัฐภาคีต้องรายงานความก้าวหน้าและสถานการณ์สิทธิเด็กในประเทศไทยต่อคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ทุก 5 ปี

หลังจากรัฐภาคีรายงานความก้าวหน้าฯ ไปยังคณะกรรมการฯแล้ว คณะกรรมการฯ ก็จะมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะให้แก่ประเทศภาคี ซึ่งประเทศไทยก็ออกกฎหมายหลายฉบับเพื่อให้สอดคล้องตามข้อสังเกตฯ 

อย่างไรก็ตาม ทัศนคติและวัฒนธรรมของประเทศไทยเป็นอุปสรรคต่อการแสดงความคิดเห็นของเด็ก และกระบวนการยุติธรรมไทยยังไม่สอดคล้องกับหลักการ “ต้องดำเนินการทุกวิถีการทุกวิถีทางให้การคุมขังเด็กเป็นมาตรการสุดท้ายหากเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องใช้เวลาในการคุมขังให้น้อยที่สุด” 

คณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติยังเสนอ “ระดับการมีส่วนร่วมของเด็ก…จากการทำพอเป็นพิธีสู่ความเป็นประชาชน” หรือที่เรียกกว่า “บันไดการมีส่วนร่วมของเด็ก” เพื่อเป็นตัวชี้วัดการมีส่วนร่วมของเด็ก 

สิ่งที่รัฐบาลนายกฯ ประยุทธ์ฯ กระทำต่อเด็กนอกจากจะละเมิดอนุสัญญาคุ้มครองเด็กแล้ว ยังขัดขวางพัฒนาการ “ความเป็นประชาชน” ของเด็กอีกด้วย

ประเด็นที่สองคำให้การในฐานะพยานบุคคล ทิชาให้การเพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา 5 ข้อ ดังนี้

1.การตั้งข้อหาเด็กเพื่อนำเด็กเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและเปลี่ยนสถานะของเด็กเป็นผู้ต้องหาโดยที่เด็กไม่ได้ก่ออาชญากรรมต่อชีวิต ต่อทรัพย์สิน ต่อเพศ ฯลฯ แต่เป็นการชุมนุมและแสดงความคิดเห็นอย่างสงบ ปราศจากอาวุธ ที่สำคัญรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้ให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพดังกล่าว แต่รัฐบาลนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาศัยอำนาจของฝ่ายบริหารประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงจนเป็นเหตุให้การชุมนุมและแสดงความคิดเห็นอย่างสงบ ปราศจากอาวุธของเด็กเป็นความผิดตามกฎหมาย ในฐานะรัฐภาคีรัฐบาลได้ละเมิดสิทธิเด็กต่อสายตาประชาคมโลกซึ่งจะเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่ยากลบเลือน

ในฐานะพยาน ขอสนับสนุนข้อโต้แย้งของผู้ต้องหาที่ระบุว่าคำประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง แม้จะเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร แต่เป็นการใช้อำนาจเกินจำเป็น ไม่ได้สัดส่วน ไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จนกระทบต่อสาระแห่งสิทธิเสรีภาพของประชาชน และความ “สมเหตุสมผลที่ประชาชนผู้รักเป็นความเป็นธรรม ต้องออกมาปกป้องสิทธิของตนและใช้เสรีภาพในการสื่อสาร”

2. การตั้งข้อหาและนำเด็กเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และเปลี่ยนสถานะของเด็กเป็นผู้ต้องหา “ขัดแย้ง” กับสิ่งที่รัฐบาลในฐานะรัฐภาคีควรทำเป็นเบื้องต้น คือการสืบค้น การหาความจริงว่า “ทำไม” เด็กจึงต้องใช้สิทธิในการชุมนุม ใช้เสรีภาพในการแสดงออก รัฐบาลในฐานะรัฐภาคี รวมถึงกระทรวงหรือตลอดจนกลไกต่างๆ ในกำกับของรัฐบาลล้มเหลวตรงไหน จนทำให้เด็กสิ้นหวัง สิ้นศรัทธา มองไม่เห็นอนาคต

การตั้งคำถาม การหาคำตอบหรืออาจหมายถึงการปฏิรูปอย่างเป็นระบบ คือสิ่งที่รัฐบาลในฐานะรัฐภาคีต้องใช้อำนาจของฝ่ายบริหารเข้าไปจัดการ ไม่ใช่ใช้อำนาจนั้นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง “เพื่อเปลี่ยนเสียงร้องหาอนาคตที่ดีกว่าของเด็กให้เป็นผู้ต้องหาของรัฐ”

พยานจึงขอให้รัฐบาลในฐานะรัฐภาคีกลับไปหาคำตอบและทบทวนเหตุปัจจัยผลักไสให้เด็กเข้าไปแบกรับภาระที่เกินตัว จนมิอาจใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยได้อีกต่อไป

3. รัฐบาลอาจลงโทษเด็กได้ตามกฎหมายเพราะรัฐบาลมีอำนาจทั้งที่ชอบธรรมและอำนาจที่มองไม่เห็นในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย แต่ขอให้ตรวจสอบอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้อ 3 วรรค 1 และ ข้อ 40 วรรค 5 ซึ่งสรุปได้ว่า “กระบวนการยุติธรรมตลอดสายตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงจุดจบทุกฝ่ายได้ดำเนินการบนประโยชน์สูงสุดของเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐภาคีผู้ให้สัตยาบันจะเพิกเฉยไม่ได้”

การลงโทษทางกฎหมายต่อผู้ต้องหาเด็กในคดีฝ่าฝืนคำสั่งในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ร้ายแรง เท่ากับ “รัฐบาลในฐานะรัฐภาคีกำลังละเมิดสิทธิเด็กอย่างไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ขณะที่ระเบียบโลกสนับสนุนให้เด็กใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นประชาชนและพลโลกอย่างมีคุณภาพ”

4. การตั้งข้อหาเด็ก นำเด็กเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และเปลี่ยนสถานะเด็กเป็นผู้ต้องหา สำหรับผู้ติดตามข่าวสารนี้โดยเฉพาะระดับประชาคมโลก ต่อให้บุคคลเหล่านั้นไร้เดียงสาทางการเมืองแค่ไหนก็ยังรู้ว่านี่คือเกมการเมือง นี่คือการเปลี่ยนอำนาจการบริหารให้เป็นอำนาจทางกฎหมาย เพื่อหยุด เพื่อปราบปรามผู้ที่เห็นต่าง และยิ่งน่าอับอาย น่าอัปยศที่ผู้เห็นต่างในเกมนี้คือเด็ก

ทิชากล่าวด้วยว่า “แน่นอนที่พยานไม่สามารถเห็นด้วยกับรัฐบาลนายกฯ ประยุทธ์ฯ ใช้อำนาจบริหารโดยการประกาศภาวะฉุกเฉินร้ายแรงเพื่อผลักให้การใช้สิทธิ ใช้เสรีภาพของเด็กเป็นความผิดตามกฎหมายและเป็นผู้ต้องหา แทนที่รัฐบาลจะแก้ปัญหาด้วยสติปัญญาทางการเมืองหรือวิถีทางการเมือง เช่น การตั้งคณะทำงานเพื่อรับฟังเสียงของพวกเขา และเปิดพื้นที่เจรจาอย่างสันติ ตั้งแต่สัญญาณความขัดแย้งเริ่มก่อตัวและยังเป็นมวลขนาดเล็ก”

5. แม้ว่าการรายงานความก้าวหน้าและสถานการณ์สิทธิเด็กของประเทศไทยต่อคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติจะเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ แต่ขณะเดียวกันคณะกรรมการฯ ก็รับรายงานทางเลือกจากองค์กรพัฒนาเอกชนด้วย เมื่อถึงเวลานั้นไม่ใช่เรื่องของภาครัฐอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของประเทศไทยและประชาชนไทยทุกคน 

ดังที่ทุกคนทราบดีว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิเด็กนำไปสู่การกีดกันทางการค้า ความเสียเปรียบทางธุรกิจหรือการจัดอันดับความช่วยเหลือที่แย่ลง ฯลฯ นั่นแสดงว่าทุกคนต่างมีส่วนในการปกป้องชื่อเสียง ผลประโยชน์ของประเทศชาติผ่านการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิเด็ก

การอ้างเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนและละเมิดสิทธิเด็กว่าเป็นกิจการภายในของประเทศและต้องไม่ถูกแทรกแซงจากองค์กรใดหรือปัจจัยภายนอกอื่นใดก็สามารถอ้างได้ แต่รัฐบาลนายกฯ ประยุทธ์ฯ ก็ต้องตอบคำถามว่า “การให้สัตยาบันของประเทศไทยต่อสหประชาชาติซึ่งเสมือนการส่งสัญญาณบอกกับประชาคมโลกว่าประเทศไทยพร้อมจะให้การคุ้มครอง ดูแลเด็กๆ ทุกคน ทุกรุ่นเต็มความสามารถ จะมีความหมายอะไร เพราะความย้อนแย้ง ความไม่มีมารยาทของรัฐบาลไทยโดยการนำของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเล่าเรื่องด้วยภาพ ด้วยข้อเท็จจริงที่ไม่สามารถตีความเป็นอื่นได้ นอกจากเป็นรัฐบาลที่ใช้อำนาจบริหารออกคำสั่งเกินจำเป็น ไม่ได้สัดส่วนเพื่อปราบปรามคนที่เห็นต่าง ที่สำคัญพวกเขาเป็นเด็ก”

จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงวันที่ 27 ม.ค. 64 มีเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและชุมนุมทางการเมือง แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 9 ราย ใน 16 คดี

>> สถิติเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุม ปี 2563-64

X