อัยการให้สอบพยานเพิ่มคดี 3 เยาวชนชุมนุมราชประสงค์ ยังไม่ฟ้อง-ไม่ควบคุมตัว

29 ธ.ค. 63 ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง สามเยาวชน ได้แก่  “มิน” ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ, “พลอย” เบญจมาภรณ์ นิวาส จากกลุ่มนักเรียนเลว และ “ภูมิ” (สงวนชื่อและนามสกุล) จากกลุ่มนักเรียนไท เข้าพบพนักงานอัยการฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 ตามนัดหมาย เพื่อฟังคำสั่งว่าจะพิจารณาสั่งฟ้องในคดี ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีการเข้าร่วมการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 หรือไม่ 

แกนนำเยาวชนทั้งสามคนถูกกล่าวหาจากพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ว่าฝ่าฝืนข้อกำหนดตามมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีการเข้าร่วมการชุมนุม #15ตุลาไปราชประสงค์ ที่บริเวณแยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในช่วงเช้าตรู่ของวันดังกล่าว พร้อมกับที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

>> แจ้งข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 3 แกนนำนักเรียน ปราศรัยชุมนุม #15ตุลาไปราชประสงค์

ในวันนี้พนักงานอัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้องเยาวชนทั้งสาม เนื่องจากอัยการมีคำสั่งให้สอบสวนพยานเพิ่มเติม โดยอัยการได้ยื่นคำร้องขอผัดฟ้องครั้งที่ 1 เป็นเวลา 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 63 – 13 ม.ค. 64 และยังแถลงไม่ประสงค์ขอให้ควบคุมตัวเยาวชนผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม 

ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้มีคำสั่งอนุญาตตามคำขอของพนักงานอัยการ โดยอนุญาตให้ผัดฟ้องและไม่มีคำสั่งควบคุมตัวเยาวชนผู้ถูกกล่าวหา ทั้งหมดจึงเดินทางกลับโดยไม่ต้องมีการประกันตัว และพนักงานอัยการนัดฟังคำสั่งอีกครั้งในวันที่ 13 ม.ค. 64 เวลา 10.00 น. ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง

ทั้งนี้เนื่องจากวันที่ 24 ธ.ค. 63 ที่ผ่านมา เยาวชนทั้งสามเข้าพบพนักงานอัยการ ที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลเยาวชนและครอบครัว เนื่องจากพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี มีความเห็นควรสั่งฟ้องคดี ในการเข้าพบพนักงานอัยการดังกล่าว ทั้งสามได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการ ขอให้สั่งสอบสวนพยานเพิ่มเติมและสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา และการแสดงออกในการชุมนุมเป็นการใช้เสรีภาพตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก, รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 อีกด้วย

สำหรับพยานที่เยาวชนทั้งสามขอให้สอบเพิ่มเติม ได้แก่ ดร.พัชร์ นิยมศิลป คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน ในประเด็นเสรีภาพในการชุมนุม และความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯ และนางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก นักวิชาการด้านสิทธิเด็กและเยาวชน ในประเด็นสิทธิเด็กและเยาวชนในการมีส่วนร่วม

>> อ่านรายละเอียดเหตุการณ์และหนังสือขอความเป็นธรรมดังกล่าวได้ที่ 3 แกนนำนักเรียนยื่นหนังสือขออัยการสั่งไม่ฟ้อง ชี้ละเมิดกติกาสากล-อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขณะนี้มีเยาวชนทั้งหมด 6 ราย ที่ถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมในการชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมือง โดยในจำนวนนี้ มี 2 รายที่ถูกตั้งข้อหาด้านความมั่นคงอย่าง มาตรา 116 และมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา

X