24 ธันวาคม 2563 – วันนี้ พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ได้นัดหมายให้เยาวชน 3 ราย ได้แก่ “มิน” ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ, “พลอย” เบญจมาภรณ์ นิวาส แกนนำกลุ่มนักเรียนเลว และ ภูมิ (สงวนชื่อและนามสกุล) แกนนำกลุ่มนักเรียนไท เดินทางมาพบเพื่อทำการส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ ที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลเยาวชนและครอบครัว หลังทั้งสามถูกกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนข้อกำหนดตามมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีการเข้าร่วมการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 และพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนโดยมีความเห็นควรสั่งฟ้องคดี
หลังจากอัยการรับสำนวนคดีได้นัดให้เยาวชนทั้งสามเดินทางมาฟังคำสั่งอัยการว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ ในวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง
ในวันนี้เยาวชนทั้งสามผู้ถูกกล่าวหายังได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการ ขอให้สั่งสอบสวนพยานเพิ่มเติมและสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากพวกตนไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา และการสั่งฟ้องในคดีดังกล่าวนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
หนังสือขอความเป็นธรรมดังกล่าวชี้แจงเหตุผลว่า พวกตนได้ยื่นคำให้การเพิ่มเติมโดยขอให้พนักงานสอบสวนสอบสวนพยานบุคคลเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้และยืนยันความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 โดยขอให้สอบ ดร.พัชร์ นิยมศิลป คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน ในประเด็นเสรีภาพในการชุมนุม และความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯ อีกรายคือ นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก นักวิชาการด้านสิทธิเด็กและเยาวชน ในประเด็นสิทธิเด็กและเยาวชนในการมีส่วนร่วม และเสรีภาพในการแสดงออก ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก, รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546
เยาวชนทั้งสามชี้แจงว่า ทั้งสองเป็นพยานสำคัญที่จะยืนยันว่าการกระทำของตนเป็นการกระทำโดยสุจริตตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ บนพื้นฐานหลักการด้านกฎหมายทั้งในและนอกประเทศ แต่พนักงานสอบสวนยังไม่ได้สอบพยานทั้งสองตามที่ร้องขอ ทำให้ผู้ต้องหาไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงขอให้ทางอัยการมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนไปสอบพยานทั้ง 2 ปากเพิ่มเติม
ผู้ต้องหายังยืนยันในหนังสือขอความเป็นธรรมว่า พวกเขาไม่ได้กระทำความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และไม่ได้ทำผิดกฎหมาย การที่ทั้งสามเข้าร่วมการชุมนุมในวันที่ 15 ตุลาคม 2563 เป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ เป็นไปตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกไว้ในข้อบทที่ [simple_tooltip content=’
“บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง”
‘]19 วรรคหนึ่ง[/simple_tooltip] และ[simple_tooltip content=’
“บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งกํารแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก”
‘]วรรคสอง[/simple_tooltip] และได้รับรองสิทธิในการชุมนุมไว้ใน[simple_tooltip content=’
“สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับกํารรับรอง กํารจำกัดการใช้สิทธินั้นจะกระทำมิได้ นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติหรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชําชนหรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น”
‘]ข้อบทที่ 21[/simple_tooltip] ซึ่งไทยได้ลงนามเป็นภาคีในข้อกติกานี้ จึงมีพันธะต้องปฏิบัติตาม
นอกจากนี้ เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมยังถือเป็นสิทธิในกลุ่มเดียวกันกับสิทธิในการมีส่วนร่วมตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC) ซึ่งไทยได้ให้สัตยาบัน รัฐภาคีจะต้องยอมรับสิทธิเสรีภาพของเด็กในการสมาคม ชุมนุมอย่างสงบเพื่อเรียกร้องหรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่ส่งผลกับเด็กเอง อีกทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ในมาตรา 44 [simple_tooltip content=’
“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ”
‘]วรรคหนึ่ง[/simple_tooltip] และ[simple_tooltip content=’
“การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น”
‘]วรรคสอง[/simple_tooltip] ก็ได้รับรองหลักการดังกล่าวไว้ด้วยเช่นกัน
การเข้าร่วมในการชุมนุมเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ของผู้ต้องหาทั้งสามที่พนักงานสอบสวนกล่าวหาจึงเป็นเพียงการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม เป็นไปโดยชอบทางกฎหมายและกติการะหว่างประเทศ และตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นแล้ว การสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 3 จึงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณชน และอาจกระทบต่อประโยชน์อันสำคัญของประเทศ เพราะจะถือเป็นการละเมิดต่อพันธกรณีกฎหมายระหว่างประเทศ สร้างความหวาดกลัวให้ประชาชนไม่กล้าใช้สิทธิและเสรีภาพ เพื่อพิทักษ์ไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ สิทธิเสรีภาพของประชาชนและประโยชน์สำคัญของประเทศ ผู้ต้องหาจึงขอให้อัยการพิจารณาสั่งไม่ฟ้องคดีนี้
จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขณะนี้มีเยาวชนด้วยกันทั้งหมด 6 ราย ที่ถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมในการชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมือง โดยในจำนวนนี้ มี 2 รายที่ถูกตั้งข้อหาด้านความมั่นคงอย่าง มาตรา 116 และมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:
เปิดข้อกล่าวหา ม.112 เยาวชน – ผู้แต่งคอสเพลย์ชุดไทย เหตุเดินพรมแดงม็อบแฟชั่นโชว์ที่สีลม
คุยเรื่องสิทธิเด็กกับวรางคณา มุทุมล: เลนส์มองปรากฏการณ์เด็กโต้กลับในวันผู้ใหญ่ยังไม่พร้อม
สภ.เมืองนนทบุรี แจ้งข้อหา ม.116 “ธนกร” เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 รายแรก เหตุชุมนุมที่ท่าน้ำนนท์