เปิดคำให้การอาจารย์จุฬาฯ คดี ‘นร.เลว-นร.ไท’ ยันประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

วันที่ 15 มิถุนายน 2564 นี้ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนัดพร้อมในคดีของเยาวชน 3 ราย ได้แก่ “มิน” ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ, “พลอย” เบญจมาภรณ์ นิวาส แกนนำกลุ่มนักเรียนเลว และ ภูมิ (สงวนชื่อและนามสกุล) แกนนำกลุ่มนักเรียนไท ซึ่งได้ถูกพนักงานอัยการสั่งฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในช่วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง จากกรณีการเข้าร่วมการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 

ระหว่างวันที่ 15 ต.ค. 63 เวลา 04.00 น. ถึง 22 ต.ค. 63 เวลา 12.00 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร การประกาศดังกล่าว เป็นการยกระดับความรุนแรงของการใช้กฎหมายขึ้นไปกว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในระดับปกติ

ช่วงเวลาดังกล่าวมีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสลายการชุมนุมจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ นอกจากนั้นยังมีการจับกุมแกนนำและผู้ชุมนุม นำไปควบคุมตัวยังสถานที่ที่ไม่ใช่สถานที่ควบคุมตัวตามกฎหมายปกติ คือกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 เกือบ 100 คน และยังตามมาด้วยการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมทางการเมืองครั้งต่างๆ

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 72 ราย ใน 23 คดี โดยเยาวชนทั้งสามคนเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ถูกกล่าวหา

คดีนี้ทั้งสามเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 63 ที่ สน.ลุมพินี จนเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 64 พนักงานอัยการฝ่ายคดีเด็กและเยาวชน 3 มีความเห็นสั่งฟ้องเยาวชนทั้งสามต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง แม้ว่าทั้งสามจะยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการ และขอให้สอบปากคำพยานเพิ่มเติมเพื่อประกอบความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีก็ตาม

>>  สั่งฟ้องคดี 3 แกนนำนร. เยาวชนชี้อัยการไม่ได้พิจารณาประเด็นขอความเป็นธรรมที่ร้องไป

>> ‘ไร้เดียงสาทางการเมืองแค่ไหน ก็ยังรู้ว่านี่คือเกมการเมือง’ เปิดคำให้การ ‘ป้ามล’ ขอยุติดำเนินคดีเยาวชน

ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 64 ดร.พัชร์ นิยมศิลป คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน หนึ่งในพยานผู้เชี่ยวชาญซึ่งเยาวชนทั้งสามขอให้สอบปากคำเพิ่มเติม ได้เข้าให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมายของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง และเหตุใดจึงไม่ควรสั่งฟ้องเยาวชนทั้งสาม ใน 3 ประเด็นหลัก โดยสรุปดังนี้

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงครั้งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ประเด็นที่ 1 การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ฉบับลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากเป็นการประกาศเหตุฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงที่ไม่ครบองค์ประกอบตามที่กฎหมายกำหนด 

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 นั้น มีวัตถุประสงค์ในการกําหนดมาตรการในการบริหารราชการสําหรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐไว้เป็นพิเศษ เพื่อให้รัฐสามารถรักษาความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความปลอดภัยสาธารณะ และรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้กลับสู่สภาพปกติได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 

ดังนั้น การจํากัดเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะภายใต้บังคับของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น จะต้องเข้าเงื่อนไข 2 ประการ ได้แก่ 1. ต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีสถานการณ์ที่จําเป็นและฉุกเฉินอย่างยิ่งเกิดขึ้นแล้ว (หลักความมีอยู่จริง) และ 2. การขจัดหรือแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นนั้น จําเป็นต้องอาศัยมาตรการเร่งด่วนซึ่งกฎหมายปกติไม่สามารถดําเนินการได้

สำหรับข้อเท็จจริงว่ามีสถานการณ์ที่จําเป็นและฉุกเฉินอย่างยิ่งเกิดขึ้นแล้ว จะต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ได้แก่

1. เป็นสถานการณ์ที่กระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ

2. เป็นสถานการณ์ที่เป็นภัยต่อความอยู่รอดของประเทศ

3. มีการกระทําความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

และสถานการณ์ในลักษณะดังกล่าวจะต้องมีอยู่จริงในปัจจุบัน หรือเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ซึ่งได้คุกคามความมั่นคงปลอดภัยของชาติหรือกระทบต่อประชาชนทั้งมวล (หลักฉุกเฉินเร่งด่วน) หากเป็นเพียงเพราะความวิตกหรือแค่สงสัยว่าจะมีภยันตรายเกิดขึ้นย่อมไม่มีน้ำหนักพอที่จะประกาศใช้มาตรการเฉพาะพิเศษเหล่านี้เพื่อจํากัดสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญได้

เงื่อนไขที่สอง คือ สถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นนั้นต้องการมาตรการที่กฎหมายปกติไม่อาจแก้ไขได้ หรือไม่มีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผลที่เหมาะสมรวดเร็วเพียงพอ

ดร.พัชร ยกตัวอย่างเหตุการณ์วันที่ 14-15 ต.ค. 63 ว่าไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่เข้าเงื่อนไขทั้งสองข้อที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผู้ชุมนุมไม่มีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงและเจ้าหน้าที่ตำรวจมีกำลังเพียงพอที่จะควบคุมสถานการณ์ได้ ดังนั้น การที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ ย่อมเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งขัดต่อหลักการกระทําของรัฐต้องชอบด้วยกฎหมาย (ultra vires) 

นอกจากนั้น ดร.พัชร ยังกล่าวด้วยว่า เหตุผลสามประการที่พล.อ.ประยุทธ์ อ้างเพื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงฯ นั้นไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

1. ข้ออ้างที่ว่า “มีผู้ปลุกระดมให้มีการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายและความไม่สงบเรียบร้อย” นั้น ไม่เป็นความจริงเนื่องจากการชุมนุมทุกครั้งที่ผ่านมาเป็นการชุมนุมโดยสงบมาโดยตลอด มีเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดแน่นอน มีข้อเรียกร้องชัดเจนและเป็นไปได้ แม้กระทั่งเช้ามืดวันที่ 15 ต.ค. 63 ผู้ชุมนุมประกาศยุติการชุมนุม และสลายตัวก่อนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ จะมีผลบังคับใช้ในเวลา 04.00 น.

2. ข้ออ้างที่ว่า “มีการขัดขวางขบวนเสด็จพระราชดําเนิน มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทําที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ” การกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน นั้น เป็นเหตุอันเกิดแล้วจบลงทันที ไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องมีมาตรการพิเศษต้องอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฯ ในการจัดการ

3. “ก่อให้เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะเปราะบาง” นั้น ที่ผ่านมาไม่มีหลักฐานใดชี้ว่าการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อ COVID-19 เป็นผลมาจากการชุมนุม ผู้ที่ติดเชื้อเกือบทั้งหมดในประเทศเป็นผู้ที่อยู่ในสถานที่กักกันของรัฐ (state quarantine)

หากจะอ้างว่าการชุมนุมรอบทำเนียบรัฐบาล เป็นเหตุในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถควบคุมพื้นที่ได้สำเร็จ เหตุในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ จึงหมดไป นายกรัฐมนตรีก็ควรจะยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เสีย แต่ก็ไม่ยกเลิก 

การกระทำดังนี้ชี้เจตนาของนายกรัฐมนตรีว่าจงใจใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อสกัดกั้นมิให้ประชาชนใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การเดินทาง การติดต่อสื่อสารและการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร อันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ 

ดังนั้น เมื่อนายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยไม่เข้าเงื่อนไขตามที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 11 กำหนดไว้ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นการชุมนุมโดยสงบของผู้ต้องหาทั้ง 3 คน ที่เกิดขึ้นเมื่อเย็นวันที่ 15 ตุลาคม 2563 จึงไม่เป็นความผิด

การจำกัดเสรีภาพฯ ต้องไม่ขัดกับเงื่อนไขตาม รธน. และกติการะหว่างประเทศ

ประเด็นที่ 2 หลักสากลเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมระหว่างมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ตามรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิมนุษยชนและพันธกรณีระหว่างประเทศ การคุ้มครองและส่งเสริมการใช้สิทธิเสรีภาพจึงเป็นหน้าที่ร่วมกันของฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐบาล ศาล และทุกภาคส่วนของสังคม การจํากัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธซึ่งได้รับการรับรองไว้ในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ข้อเท็จจริงปรากฏเป็นการทั่วไปว่าการชุมนุมที่นําโดยนิสิต นักศึกษา เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธมาโดยตลอด ตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 63 จนถึง 15 ต.ค. 63 ดังนั้น แม้ว่าจะเป็นชุมนุมที่ฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ก็ยังเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธที่รัฐไทยยังคงมีพันธกรณีตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่จะต้องคุ้มครองและอํานวยความสะดวกผู้ที่ใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ 

การจำกัดเสรีภาพฯ จะต้องไม่ขัดกับเงื่อนไขการจํากัดสิทธิขั้นพื้นฐานตามที่รัฐธรรมนูญกําหนด และจะต้องไม่ขัดต่อหลักสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการที่กําหนดไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 21 

คำว่าสถานการณ์ฉุกเฉินที่จะใช้ยกเว้นการคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบได้ จะต้องเป็นกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่จะก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของชาติ (ICCPR Article 4 (1); General Comment 37 paragraph 96) เหตุที่ยกขึ้นอ้างในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงครั้งนี้นั้นยากที่จะฟังได้ว่าเป็นภัยที่รุนแรงถึงระดับคุกคามต่อความอยู่รอดของชาติ การออกประกาศ ข้อกําหนด และคําสั่งที่ออกตามมาจึงไม่สอดคล้องกับหลักสากล ภายใต้กรอบกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

การตีความ “ผู้ร่วมกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน” และ “ยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” ควรเป็นไปอย่างเคร่งครัด

ประเด็นที่ 3 การตีความคำว่า “เป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน” และ “การยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย”

การชุมนุมโดยสงบตามหลักสากล หมายถึง การชุมนุมที่ผู้ชุมนุมไม่ดําเนินการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรง ซึ่งจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรือเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือทรัพย์สินของผู้อื่น รัฐจะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า การชุมนุมหนึ่งๆ นั้นจะดําเนินไปโดยสันติ และเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องพิสูจน์ว่า ผู้ชุมนุมจะก่อหรือได้ก่อความไม่สงบอย่างไร General Comment 37 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ อธิบายในย่อหน้า 44 ว่า

“…รัฐภาคีไม่ควรจะกล่าวอ้าง “ความสงบเรียบร้อย” ซึ่งเป็นคำที่มีความคลุมเครือเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการจำกัดสิทธิในการชุมนุมโดยสงบอย่างกว้างขวาง ในบางกรณีการชุมนุมโดยสงบอาจส่งผลกระทบไม่ว่าโดยธรรมชาติหรือโดยตั้งใจทำให้จำต้องใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างมีนัยสำคัญ คำว่า “สงบเรียบร้อย” (public order) และ “ความเป็นระเบียบเรียบร้อยตามกฎหมาย” (law and order) มิได้มีความหมายอย่างเดียวกัน การห้ามการก่อ “ความ

ไม่สงบเรียบร้อย” (public disorder) ภายใต้กฎหมายภายในประเทศไม่ควรถูกใช้โดยมิชอบเพื่อจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ”

นอกจากนั้น ในย่อหน้า 67 ของเอกสารเดียวกัน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ยังระบุอีกว่า “เมื่อมีการลงโทษทางอาญาหรือโทษทางปกครองแก่ผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุมในการชุมนุมโดยสงบ การลงโทษนั้นต้องได้สัดส่วน ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ และต้องไม่เกิดจากฐานความผิดที่ถูกกำหนดไว้อย่างกว้างๆ และมีคำจำกัดความที่คลุมเครือ หรือเป็นไปเพื่อปราบปรามการกระทำได้ได้รับการคุ้มครองตาม กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง”

ดังนี้ การตีความฐานความผิด“เป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน” และ “การยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” จะต้องตีความอย่างเคร่งครัด ไม่ตีความอย่างกว้างหรือตีความอย่างคลุมเครือเพื่อสร้างฐานความผิดในการปราบปรามผู้ใช้เสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศ

เมื่อพฤติการณ์ของผู้ต้องหาทั้ง 3 เป็นเพียงการใช้สิทธิโดยสุจริตในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ผู้ต้องหาทั้ง 3 จึงไม่ควรต้องหาว่าเป็นผู้ร่วมกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน และยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

X