20 ม.ค. 2564 ที่ สน.ปทุมวัน นักกิจกรรมกลุ่มราษฎร ได้แก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, เบนจา อะปัญ, “ไมค์” ภานุพงศ์ จาดนอก, ณัฐกรณ์ และธนกร (สงวนนามสกุล) ซึ่ง 2 รายสุดท้ายเป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี เข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกิจกรรม #ใครๆก็ใส่ครอปท็อป ไปเดินสยามพารากอน เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2563 ทั้งหมดให้การปฏิเสธ พนักงานสอบสวนนัดส่งตัวให้อัยการต้นเดือน มี.ค. 2564
ในช่วงเช้าก่อนที่ทั้งหกจะเข้าด้านใน สน.ปทุมวัน มีการนำป้ายไวนิลข้อความ “ยาไม่จับ บ่อนไม่จับ จับแต่นักเรียน นักศึกษา” ไปติดที่รั้วด้านหน้า แต่ตำรวจ 2 นายพยายามเข้ายึด ทำให้ประชาชนนำป้ายมาถือให้นักข่าวถ่ายรูปแทน ก่อนนำไปติดที่รั้วฝั่งตรงข้าม รวมทั้งมีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านมาตรา 112 และการอุ้มหาย
.
กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์หน้า สน.ปทุมวัน (ภาพโดย ประชาไท)
.
คดีนี้มีประชาชนคือ ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล สมาชิกกลุ่มไทยภักดี เป็นผู้เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีนักกิจกรรมทั้งหก
การแจ้งข้อกล่าวหาในวันนี้แยกเป็น 2 คดี คือ เยาวชน 2 ราย และนักกิจกรรม 4 ราย พ.ต.ท.เจริญศักดิ์ จงอิทธิ รอง ผกก. (สอบสวน) สน.ปทุมวัน ในฐานะพนักงานสอบสวน แจ้งพฤติการณ์ที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาในทั้ง 2 คดี เหมือนกัน ระบุว่า ก่อนเกิดเหตุ พริษฐ์, ปนัสยา, ณัฐกรณ์ และภาณุพงศ์ ได้โพสต์เชิญชวนผ่านเฟซบุ๊กให้ประชาชนมาร่วมกิจกรรมแต่งชุดครอปท็อป (Crop top) เพื่อมาเดินในศูนย์การค้าสยามพารากอนในวันที่ 20 ธ.ค. 2563
ต่อมาในวันดังกล่าว ผู้ต้องหาทั้งหมดได้มารวมตัวทำกิจกรรมในที่เกิดเหตุ โดยพริษฐ์, ปนัสยา, เบนจา, ณัฐกรณ์ และภาณุพงศ์ ได้แต่งชุดครอปท็อป และมีการแสดงออกให้ประชาชนทั่วไปว่ากำลังแสดงเป็นรัชกาลที่ 10 และพระราชินี พร้อมด้วยข้าราชบริพาร พริษฐ์และปนัสยายังถือลูกโป่งรูปสุนัข โดยบอกประชาชนทั่วไปว่า ถือสุนัขชื่อ “ฟ่องฟู” และ “ฟูฟ่อง” เพื่อสื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นการล้อเลียนรัชกาลที่ 10 ที่มีสุนัขทรงโปรดชื่อ “ฟูฟู”
นอกจากนี้ พริษฐ์, ปนัสยา และเบนจา ได้เขียนข้อความบนร่างกาย เช่น ยกเลิก 112, ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นต้น ซึ่งมีความหมายต่อต้านสถาบันกษัตริย์ มีถ้อยคำหยาบคาย ท้าทาย มีเจตนาลบหลู่ดูหมิ่น ไม่ให้ความเคารพรัชกาลที่ 10 เบนจายังถือพานทองที่มีกระเป๋าวางอยู่บนพานและเดินตามพริษฐ์และปนัสยาตลอดเวลาในลักษณะเหมือนข้าราชบริพารเดินถือเครื่องใช้ส่วนพระองค์ ณัฐกรณ์และภาณุพงศ์ได้ร่วมเดินอยู่ในกลุ่มผู้ต้องหาตลอดเวลาและมีการร่วมชู 3 นิ้วถ่ายรูปร่วมกันที่ลานพาร์ค พารากอน
ส่วนธนกรได้ร่วมกับกลุ่มผู้ต้องหาแสดงออกในลักษณะเดียวกัน มีการชูป้ายกระดาษมีข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” “ยกเลิก ม.116 ม.112” และร่วมเดินกับกลุ่มผู้ต้องหามาร่วมชู 3 นิ้วถ่ายรูป
ผู้กล่าวหาเห็นว่า การกระทำของกลุ่มผู้ต้องหามีเจตนาล้อเลียนรัชกาลที่ 10 ถือเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ จึงเข้าแจ้งความให้ดำเนินคดี
.
.
พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหานักกิจกรรมทั้งหกว่า “ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ทั้งหกให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 17 ก.พ. 2564 นอกจากนี้ พริษฐ์ได้ให้การด้วยว่า ขอให้พนักงานสอบสวนเรียกบุคคลมาสอบเป็นพยานเพิ่มเติมดังนี้
- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สอบในประเด็นว่า ร.10 เคยมีพระราชดำรัสไม่ให้ใช้มาตรา 112 จริงหรือไม่ และได้มีพระราชดำรัสเป็นอย่างอื่นเพิ่มเติมหรือไม่
- พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เลขาธิการพระราชวัง สอบในประเด็นว่า ร.10 ได้มีพระราชดำรัสกับ พล.อ.ประยุทธ์ ดังกล่าวจริงหรือไม่
สำหรับพริษฐ์, ปนัสยา, เบนจา และภาณุพงศ์ พนักงานสอบสวนนัดส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้อัยการที่สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ในวันที่ 1 มี.ค. 2564 หลังรับทราบข้อกล่าวหาเสร็จ พนักงานสอบสวนไม่มีการควบคุมตัว ทั้ง 4 ราย จึงเดินทางกลับ ส่วนเยาวชนคือ ณัฐกรณ์และธนกร พนักงานสอบสวนนัดส่งตัวอัยการวันที่ 5 มี.ค. 2564 หลังออกจาก สน.ปทุมวัน ทั้งสองพร้อมผู้ไว้ใจได้เดินทางไปที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กธนบุรีเพื่อกำหนดนัดหมายวันทำการสืบเสาะและพินิจต่อไป
.
.
คดีนี้มีข้อสังเกตว่า ในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวน ยังปรากฏชื่อ ‘ป๊อกแป๊ก’ เป็นผู้ต้องหาอีกรายซึ่งร่วมทำกิจกรรมในวันเกิดเหตุ
นอกจากนี้ เป็นที่สังเกตว่า พนักงานสอบสวนไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเยาวชนและครอบครัวออกหมายควบคุมตัวเยาวชนทั้งสอง ซึ่งก่อนหน้านี้ ในคดีมาตรา 112 ของเยาวชน 2 คดี คือ คดีที่สายชล (นามสมมติ) ตกเป็นผู้ต้องหาจากการแต่งชุดครอปท็อปและเขียนข้อความบนตัวเองไปในกิจกรรม #ม็อบ29ตุลา หน้าวัดแขก ถนนสีลม และคดีที่ธนกร ตกเป็นผู้ต้องหาจากเหตุปราศรัยในการชุมนุมบริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ หลังแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว พนักงานสอบสวนได้นำตัวไปยื่นคำร้องขอให้ศาลเยาวชนและครอบครัวออกหมายควบคุมตัว โดยศาลอนุญาตให้ออกหมายควบคุมตัว และครอบครัวต้องวางหลักทรัพย์ประกันตัวเยาวชน ทั้งที่เยาวชนทั้งสองเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ไม่ได้ถูกจับกุมตามหมายจับแต่อย่างใด
สำหรับการดำเนินคดีครั้งนี้เกิดจากกิจกรรมรณรงค์ “ยกเลิก112” เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2563 ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยเพนกวิน พร้อมด้วย รุ้ง ไมค์ รวมทั้งสมาชิกคนอื่นๆ แต่งกายชุดครอปท็อป เดินภายในสยามพารากอน ในกิจกรรม #ใครๆก็ใส่คร็อปท็อป เพื่อยืนยันว่าการสวมชุดครอปท็อปไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย หลังสายชล (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 16 ปี ถูกดำเนินคดี มาตรา 112 เพียงเพราะใส่ชุดครอปท็อปและเขียนข้อความบนตัวเอง กิจกรรมในวันนั้นมีประชาชนมาร่วมกันถ่ายภาพ ซึ่งทุกคนมีการชูสามนิ้วแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อยู่เป็นระยะ ก่อนจะมีผู้ถูกออกหมายเรียกในข้อหามาตรา 112 รวม 6 ราย
.
ภาพโดย Banrasdr Photo
.
จนถึงวันนี้ มีการดำเนินคดีและออกหมายเรียกในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในช่วงปี 63 – 64 จากการแสดงออกทางการเมืองรวม 42 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 54 ราย คดีนี้ยังนับเป็นการดำเนินคดีเยาวชนด้วย มาตรา 112 คดีที่ 3 โดยมีเยาวชนถูกดำเนินคดีด้วยข้อหานี้แล้วรวม 3 ราย และ 1 ใน 3 คือ ธนกร ถูกดำเนินคดีเป็นคดีที่ 2 จากการปราศรัยวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ที่วงเวียนใหญ่ ด้านเพนกวิน ถูกดำเนินคดีและออกหมายเรียกมากที่สุดรวม 15 คดีแล้ว
>>สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64
.