‘2 ราษฎรใต้’ เข้ามอบตัวคดี ม.112-116 ที่ สภ.เมืองพัทลุง ก่อนศาลให้ประกัน

เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 64 ที่ สภ.เมืองพัทลุง อลิสา บินดุส๊ะ สมาชิกกลุ่มนักกฎหมายอาสา “Law Long Beach” และชมพูนุท (สงวนนามสกุล) นักศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งทราบว่าได้ถูกออกหมายจับในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้เดินทางเข้ามอบตัว ก่อนถูกตำรวจส่งขอฝากขัง และศาลให้ประกันตัวโดยใช้ตำแหน่งอาจารย์  

หลังจากเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 64 ตำรวจได้เข้าจับกุม ศุกภร ขุนชิต นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ถึงภายในมหาวิทยาลัย ขณะกำลังเดินทางมาฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก่อนนำตัวไปสอบสวนที่ สภ.เมืองพัทลุง จากกรณีถูกกล่าวหาว่าได้ขับขี่รถไปถ่ายภาพในตัวเมืองพัทลุง เมื่อช่วงกลางดึกวันที่ 24 สิงหาคม 2563 และนำไปใส่ข้อความทางการเมืองโพสต์ลงในเพจเฟซบุ๊ก “พัทลุงปลดแอก” และ “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” ก่อนศุภกรจะได้รับการประกันตัวหลังตำรวจขอฝากขังต่อศาล แต่ได้ทราบว่ายังมีการออกหมายจับผู้ต้องหาอีกสองรายในคดีเดียวกันด้วย

อลิสา และชมพูนุท พร้อมทนายความ จึงประสานงานเข้ามอบตัวกับทางตำรวจ สภ.เมืองพัทลุง โดยต่อมาพบว่าหมายจับดังกล่าว ออกโดยศาลจังหวัดพัทลุง ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ในสามข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามมาตรา 112, ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยที่ทั้งคู่ก็ไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน

พ.ต.ท.หาญพล รามด้วง รองผู้กำกับสืบสวน สภ.เมืองพัทลุง ได้เป็นผู้จัดทำบันทึกการมอบตัวทั้งสองคน โดยระบุว่าจากกรณีที่ศาลได้มีการออกหมายจับ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวนกดดันจนทั้งสองได้เข้าพบตำรวจชุดสืบสวน และขอมอบตัวเพื่อต่อสู้คดีต่อไป ทั้งสองได้ให้การปฏิเสธในชั้นจับกุม และปฏิเสธจะลงลายมือชื่อ เนื่องจากไม่ทราบถึงข้อเท็จจริงอันเป็นพฤติการณ์แห่งคดีที่ถูกกล่าวหา

จากนั้น พนักงานสอบสวนได้แจ้งพฤติการณ์ข้อกล่าวหาต่อทั้งสองคนในลักษณะเดียวกับศุภกร คือกล่าวหาว่าในช่วงคืนวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ทั้งสามคนได้ร่วมกันขับขี่รถยนต์เพื่อถ่ายรูปสถานที่ต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง อำเภอเขาชัยสน และอำเภอศรีนครินทร์ จากนั้นได้ใส่ข้อความในภาพดังกล่าว แล้วโพสต์ในเพจเฟซบุ๊ก “พัทลุงปลดแอก” และ “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” ซึ่งเจ้าหน้าที่อ้างว่าภาพและข้อความดังกล่าวเป็นการดูหมิ่น และใส่ความพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินี ทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง และมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ทั้งสองคนยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไปภายใน 30 วัน

จากนั้น พ.ต.ท.นพรัตน์ แก้วใจ พนักงานสอบสวน ได้ยื่นขอฝากขังทั้งสองคนต่อศาลจังหวัดพัทลุง ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ พร้อมขอคัดค้านการประกันตัว อ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวไป เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีและไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุร้ายประการอื่น

ต่อมา ศาลจังหวัดพัทลุงได้อนุญาตให้ฝากขังตามคำขอของพนักงานสอบสวน ทนายความจึงได้ยื่นขอประกันตัว โดยใช้ตำแหน่งนักวิชาการสองท่านจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะนายประกัน ก่อนศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยไม่มีเงื่อนไข และนัดให้มารายงานตัวในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565

อลิสา เปิดเผยความรู้สึกว่ารู้สึกโกรธกับการถูกดำเนินคดีที่เกิดขึ้น ทั้งด้วยสถานการณ์ที่การถูกดำเนินคดีเกิดขึ้นหลังจากมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หรือสถานการณ์เรื่องการไม่ออกพาสปอร์ตของนักกิจกรรมในกรุงเทพฯ โดยก่อนหน้านี้ ตนซึ่งจบการศึกษาด้านกฎหมาย ก็ได้ไปทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยทนายความในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายต่อผู้ถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกต่างๆ กลับมาโดนกล่าวหาเอง ทำให้รู้สึกว่าทุกๆ ขั้นตอนในกระบวนการที่เกิดขึ้น ทำให้เราตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบทั้งหมด

นอกจากนั้นยังมีข้อสังเกตว่า นอกจากคดีนี้ ทุกคนจะไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน แต่ถูกออกหมายจับทันทีแล้ว หมายจับทั้งสามหมาย ศาลยังออกตั้งแต่เดือนสิงหาคม โดยตลอดช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา ตนได้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยทนายความ ให้ความช่วยเหลือนักกิจกรรมในภาคใต้ที่ถูกดำเนินคดีจากกรณีจัดกิจกรรมคาร์ม็อบ ทำให้ได้เดินทางไปยังสถานีตำรวจต่างๆ ทั้งไปที่ศาลด้วย ก็ยังไม่เคยมีการจับกุม หรือแสดงหมายจับ จึงสามารถตั้งคำถามได้ว่าเจ้าหน้าที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ และเหตุใดจึงเกิดการจับกุมและแสดงหมายจับในช่วงเวลานี้

อลิสา ยังระบุอีกข้อสังเกตว่า ในเอกสารบันทึกจับกุม หรือบันทึกฝากขังในคดีนี้ ไม่มีการระบุข้อความที่อ้างว่าถูกใส่ลงในภาพถ่ายที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด แม้ทางตำรวจจะมีการอ่านให้ฟัง แต่ก็ไม่มีการบันทึกลงในเอกสารคดี ทำให้ไม่มีความชัดเจนว่าถูกกล่าวหาจากข้อความใด รวมทั้งคิดว่าข้อความต่างๆ เหล่านั้น ไม่ได้เข้าข่ายตามมาตรา 112 และ 116 แต่อย่างใด

ทั้งนี้ การถูกกล่าวหาของทั้งสองคน ทำให้ปัจจุบันมีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไม่น้อยกว่า 162 คน ใน 166 คดี แล้ว หากนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ข้อกล่าวหานี้ถูกนำมาบังคับใช้อีกครั้ง

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

นักศึกษา ม.อ. ถูกล้อมจับคดี ม.112 เหตุถ่ายภาพจุดต่างๆ ในเมืองพัทลุง พร้อมใส่ข้อความการเมืองโพสต์ช่วงปี 63 ก่อนได้ประกันตัว

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

.

X