ตร.นางเลิ้ง ขอศาลถอนประกัน “ตะวัน” อ้างเหตุโพสต์-แชร์เฟซบุ๊ก 10 ครั้ง ทั้งขับรถเข้าใกล้ขบวนเสด็จ ทนายเตรียมยื่นคำคัดค้าน ก่อนฟังคำสั่ง 20 เม.ย.นี้ 

5 เม.ย. 2565 เวลา 10.00 น. ที่ ศาลอาญา รัชดาฯ นัดไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนประกันตัวของ “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมอิสระวัย 20 ปี ในคดีมาตรา 112 ที่เธอถูกกล่าวหาจากการไลฟ์สดก่อนมีขบวนเสด็จบริเวณตรงข้ามองค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 โดยเหตุที่ตำรวจอ้างในการขอถอนประกันครั้งนี้มาจากการโพสต์และแชร์ข้อความในเฟซบุ๊ก 10 ครั้ง พร้อมทั้งอ้างว่า ทานตะวันและพวกพยายามขับรถเข้าใกล้พื้นที่ที่มีขบวนเสด็จในช่วงค่ำของวันที่ 17 มี.ค. 2565 

ในคดีนี้ ทานตะวันถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวมทั้งข้อหาขัดคำสั่งและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน หลังถูกจับกุมขณะไลฟ์สดบริเวณตรงข้ามองค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 ซึ่งต่อมาวันที่ 7 มี.ค. 2565 ศาลอาญาได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างสอบสวน โดยให้วางหลักทรัพย์วงเงิน 100,000 บาท พร้อมทั้งให้ติด EM และกำหนดเงื่อนไข 

“ห้ามมิให้ผู้ต้องหากระทำในลักษณะแบบเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ หรือเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และกิจกรรมหรือการกระทำใดๆ ในอันที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” 

ภายหลังทานตะวันได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง เจ้าของสำนวนคดี ได้รับรายงานว่า ทานตะวันมีความเคลื่อนไหวในเฟซบุ๊กส่วนตัวนับได้ 10 ครั้ง และพยายามขับรถเข้าใกล้พื้นที่ขบวนเสด็จอีก 1 ครั้ง โดยตำรวจเห็นว่าเป็นพฤติการณ์ในลักษณะที่น่าจะผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว ต่อมา เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2565 พนักงานสอบจึงได้ยื่นคำร้องขอถอนประกันทานตะวันต่อศาลอาญา และศาลได้นัดไต่สวนคำร้องเป็นวันนี้

.

คำร้องขอถอนประกัน: ตร.ระบุ 10 โพสต์-แชร์เฟซบุ๊ก และขับรถเข้าใกล้พื้นที่ขบวนเสด็จ เข้าข่ายสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ ผิดเงื่อนไขประกัน

พ.ต.ท.สำเนียง โสธร สว.(สอบสวน) สน.นางเลิ้ง ได้ยื่นคำร้องขอถอนประกันทานตะวันต่อศาลอาญา โดยระบุว่าทานตะวันมีพฤติการณ์ในลักษณะเดียวกับการกระทำที่ต้องหาในคดีนี้ และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้ว 

พฤติการณ์ดังกล่าวที่พนักงานสอบสวนเห็นว่าผิดเงื่อนไขนั้นปรากฏตามรายงานตรวจสอบความเคลื่อนไหวบุคคลเฝ้าระวังของกองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ซึ่งมีการสืบหาข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อการถวายความปลอดภัยระหว่างขบวนเสด็จของรัชกาลที่ 10 และราชินี ซึ่งจะเสด็จพระราชดำเนิน ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ในวันที่ 17 มี.ค. 2565 โดยพฤติการณ์ของทานตะวันทั้งหมดตามรายงานเกิดขึ้นในวันที่ 17 มี.ค. 2565 เพียงวันเดียวเท่านั้น สรุปพฤติการณ์ได้ดังนี้

  1. เวลา 14.57 น. โพสต์วิดีโอขณะนั่งอยู่บนรถยนต์ที่กำลังเคลื่อนที่และมีรถยนต์สีดำเคลื่อนที่อยู่ข้างหน้าลงบนบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมพิมพ์ข้อความประกอบว่า “เมื่อคุณโดนตำรวจตาม คุณจึงตามตำรวจกลับ ทะเบียน…” 
  1. เวลา 16.01 น. แชร์โพสต์ซึ่งเป็นรูปภาพและข้อความจากเพจเฟซบุ๊ก “ศูนย์ช่วยเหลือกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ ศชอ.” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับนัดหมายการเสด็จของรัชกาลที่ 10 และราชินี ที่วัดบวรนิเวศวรวิหาร พร้อมพิมพ์ข้อความประกอบว่า “กำหนดการในหลวง ร.10 วันนี้ ทรงพระเจริญ”
  1. เวลา 00.00 น. แชร์รูปภาพโพลสำรวจความเห็นเกี่ยวกับเรื่อง “ขบวนเสด็จเดือดร้อนหรือไม่” ผ่านสตอรี่เฟซบุ๊ก
  1. เวลา 15.00 น. โพสต์วิดีโอขณะขับรถตามรถคันหนึ่งบนถนนผ่านสตอรี่เฟซบุ๊ก พร้อมเขียนข้อความว่า “เมื่อโดนตำรวจตาม คุณจึงตามตำรวจกลับ”  
  1. เวลา 16.00 น. โพสต์รูปภาพกำหนดการบำเพ็ญกุศลเจ้าพระสมเด็จวันรัต อดีตเจ้าอาวาส วัดบวรวรนิเวศวิหาร ผ่านสตอรี่เฟซบุ๊ก พร้อมเขียนข้อความว่า “กำหนดการในหลวง ร.10 วันนี้ ทรงพระเจริญ”  
  1. เวลา 17.00 น. โพสต์วิดีโอบริเวณถนนแห่งหนึ่งขณะนั่งอยู่บนรถยนต์ ผ่านสตอรี่เฟซบุ๊ก พร้อมเขียนข้อความว่า “วันนี้ไม่มีม้าเหรอ”  
  1. เวลา 18.00 น. โพสต์วิดีโอขณะมีทหารม้าหลายนายขี่ม้าอยู่บริเวณทางเท้าริมถนนแห่งหนึ่งผ่านสตอรี่เฟซบุ๊ก พร้อมเขียนข้อความว่า “ม้า มีม้าด้วย ขบวนเสด็จพ่อหลวงมีม้าด้วย”
  1. เวลา 19.00 น. โพสต์วิดีโอขณะมีแผงเหล็กกั้นปิดถนนเส้นหนึ่งและถูกตำรวจเรียกให้ลงจากรถผ่านสตอรี่เฟซบุ๊กพร้อมเขียนข้อความว่า “กำลังจะไปกินแมค งง”
  1. เวลา 19.00 น. โพสต์วิดีโอผ่านสตอรี่เฟซบุ๊ก พร้อมเขียนข้อความว่า “จะไปกินแมคก็ไม่ยอมให้ไป เพราะขบวนเสด็จพ่อหลวงจะผ่านตรงนั้น ทรงพระเจริญ”
  1. เวลา 19.47 น. แชร์โพสต์จากเพจเฟซบุ๊ก “มังกรปฏิวัติ Draconis Revolution” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเชิญชวนประชาชนร่วมรับเสด็จในหลวง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 18 มี.ค. 2565 เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป และพิมพ์ข้อความประกอบว่า “ทรงพระเจริญ”

นอกจากนี้ตามรายงานดังกล่าวยังระบุเหตุการณ์ที่ทานตะวันและพวกรวม 4 คน ขับรถยนต์เข้าไปใกล้พื้นที่ที่จะมีขบวนเสด็จ ในวันที่ 17 มี.ค. 2565 ในเวลาประมาณ 18.30 น. ก่อนถูกตำรวจ บก.น.1 เรียกตรวจรถเพื่อสอบถาม รวมถึงตรวจสอบภาพกล้องวงจรปิดของรถคันดังกล่าว และพบว่ามีลักษณะการขับรถวนเวียนใกล้เคียงเส้นทางเสด็จ ซึ่งตำรวจก็มีความเห็นว่าการกระทำนี้เข้าข่ายการกระทำที่ผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้ด้วยเช่นเดียวกัน 

.

ไต่สวนพยานผู้ร้องขอถอนประกัน “ตะวัน” รวม  2 ปาก 

ณ ห้องพิจารณาคดี 804 ฝั่งผู้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนประกันได้นำพยานเข้าเบิกความ 2 ปาก ได้แก่  พ.ต.ท.สำเนียง โสธร พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี ผู้ยื่นคำร้อง และ พ.ต.ต.ภัทร บุญอารักษ์ ตำรวจสืบสวนผู้จัดทำรายงานความเคลื่อนไหวของทานตะวัน

พงส.ผู้ยื่นคำร้องตอบทนายไม่ได้ว่า พฤติการณ์ที่เป็นเหตุขอถอนประกัน ผิดเงื่อนไขประกันตัวอย่างไร 

พ.ต.ท.สำเนียง โสธร สารวัตร (สอบสวน) สน.นางเลิ้ง อายุ 53 ปี เบิกความว่า ในคดีนี้ เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 ตำรวจได้เข้าจับกุมทานตะวัน ขณะไปยืนไลฟ์สดก่อนมีขบวนเสด็จบริเวณถนนราชดำเนินนอกโดยกล่าวหาว่า ขัดคำสั่งพนักงาน, ต่อสู้ขัดขวาง, นำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และความผิดตามมาตรา 112 

ตร.จับ “ตะวัน” ไลฟ์สดก่อนมีเสด็จ คุมตัวแจ้ง ม.112 อ้างกล่าว “ด้อยค่า” กษัตริย์ ซ้ำแจ้งเพิ่มอีกคดี กรณีทำโพลความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ

ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2565 พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้นำตัวทานตะวันไปขอฝากขังต่อศาลอาญา และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวด้วย 4 เงื่อนไข 

  1. ห้ามทำกิจกรรมหรือการกระทำใดที่อาจเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
  2. ห้ามโพสต์เชิญชวน ปลุกปั่น ยั่วยุ ชักจูงประชาชนให้เขาร่วมชุมนุมในสื่อโซเชียลมีเดียหรือร่วมชุมนุมที่อาจก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง
  3. ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล
  4. ให้ติด EM

ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2565 พยานได้รับรายงานจากตำรวจฝ่ายสืบสวนของกองกำกับการตำรวจนครบาล 1 ว่าทานตะวันได้เคลื่อนไหวผ่านเฟซบุ๊กในลักษณะสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งพยานเห็นว่าผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้จึงได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลอาญาในวันที่ 18 มี.ค. 2565

หลังพยานยื่นคำร้องขอถอนประกันในวันดังกล่าว ทานตะวันยังมีการเคลื่อนไหวในลักษณะผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว จำนวน 2 ครั้ง ได้แก่ เมื่อวันที่ 30 มี.ค. และวันที่ 3 เม.ย. 2565

ทนายผู้ต้องหาได้แย้งว่า ไม่ทราบมาก่อนว่าพยานจะนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหลังจากวันยื่นคำร้องขอถอนประกันมายื่นต่อศาลเพิ่มเติม ทนายผู้ต้องหาจึงไม่ได้เตรียมเอกสารเพื่อมาแย้งข้อเท็จจริงดังกล่าว และจะเป็นการไม่ยุติธรรมหากศาลได้พิจารณาข้อเท็จจริงภายหลังพยานยื่นคำร้องแล้ว

พยานเบิกความว่า การยื่นคำร้องในครั้งนี้เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ มีจุดเริ่มต้นมาจากตำรวจฝ่ายสืบสวนทำรายงานการสืบสวนเกี่ยวกับการกระทำที่อาจผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวของผู้ต้องหามาเสนอต่อตนเอง โดยพยานเห็นว่าพฤติการณ์ของผู้ต้องเข้าข่ายกระทำผิดเงื่อนไขจริง จึงได้รายงานต่อไปยังผู้บังคับบัญชาให้รับทราบ แล้วจึงยื่นคำร้องขอถอนประกันผู้ต้องหาต่อศาลอาญา

ทนายผู้ต้องหาถามว่า พฤติการณ์ของผู้ต้องหาตามรายงานการสืบสวนที่ได้ยื่นประกอบคำร้องขอถอนประกันต่อศาลและอ้างว่าเป็นการกระทำที่ผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวนั้น พยานได้ตรวจสอบดูรายละเอียด “เงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวของศาล” หรือไม่

พยานตอบว่า ได้ตรวจสอบเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวจากคำสั่งของศาลใน “คำร้องขอฝากขัง” โดยตรวจดูหลังจากที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในคดีนี้เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2565 

ทนายแย้งว่า คำสั่งของศาลซึ่งระบุเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้นั้นไม่ได้บันทึกอยู่ใน “คำร้องขอฝากขัง” แต่ศาลมีคำสั่งใน “คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว” ที่ทนายความของผู้ต้องหาได้ยื่นต่อศาล โดยในคำสั่งดังกล่าวนั้นไม่ได้ระบุเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการ “ห้ามโพสต์สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์และเชิญชวน ปลุกปั่น ยั่วยุ ชักจูง ประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมในสื่อโซเซียลมีเดีย …” ตามที่พยานได้กล่าวอ้าง

พยานขอดูเอกสารซึ่งเป็นคำสั่งของศาลในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้อีกครั้ง และเบิกความตอบว่า เงื่อนไขที่ศาลสั่งว่าห้ามกระทำการใดๆ ที่สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์นั้น “พยานตีความเอง” ว่า รวมถึงการโพสต์ลงสื่อโซเชียลมีเดียด้วย

พยานเบิกความอีกว่า รายงานการสืบสวนของตำรวจฝ่ายสืบสวน กก.สส.บก.น.1 ที่พยานได้รับมานั้นพยานไม่ได้จัดทำเอง พยานยืนยันข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของผู้ต้องหาตามรายงานดังกล่าวที่ได้รับมา

ทนายผู้ต้องหากล่าวกับพนักงานสอบสวนว่า ติดใจรายงานการสืบสวนดังกล่าวอยู่ 2 ประเด็นด้วยกัน คือ  หนึ่ง เหตุการณ์ที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนดักล้อมและตรวจค้นรถของผู้ต้องหา ขณะขับอยู่บนถนนทางหลวง เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 17 มี.ค. 2565 ซึ่งผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับความวุ่นวายและกระทบต่อสถาบันกษัตริย์เลย และถามพยานว่าการขับรถอยู่บนถนนนั้นผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวอย่างไร 

พยานเบิกความว่า ในประเด็นนี้ให้ตำรวจฝ่ายสืบสวนที่ปฏิบัติหน้าที่ในขณะนั้นมาชี้แจงด้วยตนเองจะดีกว่า แต่เท่าที่พยานทราบเบื้องต้นนั้นตำรวจได้บุกล้อมและชะลอรถของผู้ต้องหาครั้งนั้นเป็นเพราะว่าผู้ต้องหาได้ขับรถยนต์เคลื่อนที่เข้ามาใกล้กับพื้นที่ที่กำลังจะมีขบวนเสด็จของ ร.10 แต่ทั้งนี้เมื่อเรียกให้รถหยุดและเรียกตรวจไม่พบว่ามีสิ่งผิดกฎหมายภายในรถคันดังกล่าว จึงไม่ได้จับกุมผู้ใดไว้และปล่อยตัวไปในที่สุด 

สุดท้ายทนายได้ถามพนักงานสอบสวนอีกประเด็นว่า โพสต์ซึ่งเป็นรูปภาพเกี่ยวกับการเชิญชวนร่วมรับเสด็จในหลวงที่ผู้ต้องหาแชร์จากเพจเฟซบุ๊กอื่นนั้น พยานเห็นว่าผิดเงื่อนไขอย่างไร เพราะเป็นภาพเชิญชวนร่วมรับเสด็จที่ถูกเผยแพร่เป็นการทั่วไป พ.ต.ท.สำเนียง ตอบเพียงว่า เห็นด้วยว่าผู้ต้องหาไม่ได้จัดทำภาพดังกล่าวเอง แต่เป็นการแชร์มาจากเพจเฟซบุ๊กอื่น และเป็นภาพที่เผยแพร่อยู่ทั่วไปอยู่แล้ว

.

ตำรวจสืบผู้จัดทำรายงานความเคลื่อนไหวของตะวัน รับข้อมูลจากลูกน้อง ไม่ได้ติดตามตะวันด้วยตนเอง

พ.ต.ต.ภัทร บุญอารักษ์ อายุ 32 ปี สารวัตรกองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 เบิกความว่า ทานตะวันเป็นบุคคลเฝ้าระวัง เนื่องจากได้กระทำการสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์หลายครั้งด้วยกัน โดยพยานติดตามการเคลื่อนไหวของผู้ต้องหามาตั้งแต่หลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีทำโพลเรื่องขบวนเสด็จที่ห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 ซึ่งเป็นคดีมาตรา 112 คดีแรกของเธอ ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอื่นๆ 

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2565 มีขบวนเสด็จของในหลวงและราชินี ผู้ต้องหาก็ได้ปรากฏตัวพร้อมกับพวกในโซเชียลมีเดีย ต่อมาตำรวจพบตัวผู้ต้องหาและพวกขณะขับรถเคลื่อนเข้าหาขบวนเสด็จจึงได้เรียกให้ผู้ต้องหาหยุดรถเพื่อเรียกตรวจ แต่ไม่มีการค้นตัวและสิ่งของภายในรถแต่อย่างใด เมื่อชะลอรถผู้ต้องหาไว้จนขบวนเสด็จเคลื่อนผ่านไปแล้วจึงได้ปล่อยตัวผู้ต้องหาและพวกไป ตำรวจเบิกความตอบทนายว่า “การชะลอรถผู้ต้องหาไว้ เพราะเกรงว่าจะไปขัดขวางขบวนเสด็จ” ต่อมาพยานได้ทำรายงานการสืบสวนเพื่อเสนอต่อพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง 

ทนายผู้ต้องหาขอให้พยานเบิกความว่าพฤติการณ์ตามรายงานสืบสวนแต่ละอย่างนั้น “ผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวอย่างไร” พยานพยายามตอบทนายผู้ต้องหาโดยดูรายงานการสืบสวนประกอบ ศาลจึงบอกให้พยานเบิกความตามที่ได้จัดทำรายงานมาโดยไม่ต้องดูเอกสาร พยานเบิกความต่อว่า หลังติดตามเฝ้าระวังผู้ต้องหา เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2565 ผู้ต้องหามีการโพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “เห็นด้วยหรือไม่กับขบวนรับเสด็จ” จากนั้นก็ได้ไปปรากฏตัวใกล้กับขบวนเสด็จอีก พยานและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องจึงได้รวบรวมโพสต์ดังกล่าว ซึ่งเห็นว่ากระทบต่อสถาบันกษัตริย์ไว้ และจัดทำเป็นรายงานส่งพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง 

เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2565 พยานและผู้ใต้บังคับบัญชาได้จัดทำรายงานเพิ่มเติมซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการยุยง ปลุกปั่น และสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ โดยพยานจำรายละเอียดไม่ได้จึงไม่ได้เบิกความต่อ

ทนายผู้ต้องหาถามค้านว่า “การเฝ้าระวังติดตาม” ที่พยานได้เบิกความต่อศาลนั้น คือการที่ตำรวจติดตามผู้ต้องหาแทบจะตลอดเวลา ทั้งเวลากินข้าว ไปเรียน อยู่บ้าน และทำกิจกรรม ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า พยานไม่ได้เป็นผู้ทำหน้าที่ติดตามผู้ต้องหาด้วยตนเอง แต่ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่นั้นมาอีกทีหนึ่ง หากผู้ใต้บังคับบัญชาพบพฤติการณ์ของผู้ต้องหาว่ากระทำการผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวก็จะรายงานมาให้ตนทราบ 

ทนายผู้ต้องหาถามว่า ตามคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวนั้นไม่มีพฤติการณ์ใดของผู้ต้องหาที่ตำรวจจะนำไปดำเนินคดีอาญาเป็นคดีอื่นใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบ แต่หากมีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาเป็นคดีอื่นจากพฤติการณ์ที่ปรากฏตามรายงาน ตนก็จะทราบได้ทันทีจากการถูกเรียกไปเป็นพยาน

ในวันที่ตำรวจเข้าชะลอรถของผู้ต้องหาและควบคุมรถนั้นไว้ พยานไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ มีแต่ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ไปปฏิบัติหน้าที่ แต่พยานเห็นพฤติการณ์ของผู้ต้องหาและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพราะติดตามผ่านเครื่องมอนิเตอร์ แต่ไม่ได้เป็นผู้ออกคำสั่งในเหตุครั้งนั้น

ทนายผู้ต้องหาถามว่า การที่บุกล้อมและชะลอรถครั้งนั้นเกี่ยวข้องกับการกระทำที่กระทบต่อสถาบันกษัตริย์อย่างไร พยานตอบว่า ผู้ต้องหาและพวกขับรถเคลื่อนเข้าใกล้ขบวนเสด็จในกรุงเทพฯ ทนายถามต่อว่า ตามรายงานการสืบสวนนั้นพยานทราบหรือไม่ว่า “ขณะที่ผู้ต้องหาโพสต์ภาพว่ากำลังขับรถเข้ามาในกรุงเทพฯ ผ่านสตอรี่เฟซบุ๊ก รถของผู้ต้องหาเคลื่อนที่อยู่บนถนนสายใด” พยานตอบว่า “ไม่ทราบ”

ทนายถามค้านอีกว่า การที่ผู้ต้องหาโพสต์เฟซบุ๊ก “ขบวนเสด็จเดือดร้อนหรือไม่” นั้นเป็นภาพที่ผู้ต้องหาถูก สน.ปทุมวัน ดำเนินคดีแล้ว ก่อนได้รับการประกันตัวในคดีนี้ พยานตอกว่า ทราบว่าผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีจากการทำกิจกรรมทำโพลดังกล่าวไปแล้ว แต่เมื่อผู้ต้องหานำภาพถ่ายขณะกระทำผิดมาโพสต์ซ้ำอีกครั้งเท่ากับมีเจตนายุยงและปลุกปั่น ทั้งนี้ พยานไม่ทราบว่า ภาพกิจกรรมทำโพลดังกล่าวนั้น ผู้ต้องหาได้โพสต์บนเฟซบุ๊กอยู่บ่อยครั้งเพื่อยืนยันเจตนาว่า “การทำโพลสำรวจความเห็นดังกล่าวไม่มีความผิดตามมาตรา 112”

ส่วนที่ผู้ต้องหาแชร์ภาพมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเชิญชวนประชาชนร่วมต้อนรับขบวนเสด็จของรัชกาลที่ 10 นั้น พยานไม่ทราบว่ามีที่มาจากที่ใด แต่น่าจะมาจากที่อื่น และผู้ต้องหาไม่ได้จัดทำเอง

ทนายถามว่าพยานทราบหรือไม่ว่า ผู้ต้องหาต้องเดินทางไปเรียนพิเศษภาษาอังกฤษที่สถาบันแห่งหนึ่งเป็นกิจวัตรประจำวัน พยานเบิกความตอบว่า ในการติดตามตัวบุคคลเฝ้าระวังนั้น ตนจะไม่ทราบถึงรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตประจำวันว่าเป็นอย่างไร เพียงแต่จะคอยระวังว่าผู้ต้องหาจะไปกระทำผิดเงื่อนไขหรือไม่เท่านั้น 

.

หลังพยานฝ่ายผู้ร้องเบิกความเสร็จ ฝ่ายผู้ถูกร้องคือทานตะวันไม่ได้นำพยานปากอื่นเข้าเบิกความในการไต่สวนครั้งนี้ โดยจะทำคำคัดค้านแถลงยืนยันว่าผู้ต้องหาไม่ได้ทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้ นำมายื่นต่อศาลภายใน 10 วัน ศาลจึงนัดฟังคำสั่งในวันที่ 20 เม.ย. 2565 เวลา 10.30 น.

.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ตร.จับ “ตะวัน” ไลฟ์สดก่อนมีเสด็จ คุมตัวแจ้ง ม.112 อ้างกล่าว “ด้อยค่า” กษัตริย์ ซ้ำแจ้งเพิ่มอีกคดี กรณีทำโพลความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ

จับตาสถานการณ์ศาลนัดไต่สวน “ถอนประกันตัว” 4 นักกิจกรรมคดี ม.112 

X