อัยการสั่งฟ้อง ม.112 “ลูกเกด” เหตุโพสต์ “ราษฎรสาสน์” ศาลให้ประกัน แต่ให้ใส่ EM พร้อมอีก 4 เงื่อนไข

15 มี.ค. 2565 ที่ ศาลอาญา รัชดาฯ พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 ได้ยื่นฟ้องคดีของ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์ข้อความถึงสถาบันกษัตริย์ในการเคลื่อนไหว “ราษฎรสาส์น” เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563

หลังศาลอาญารับฟ้องได้ให้ประกันตัวชลธิชา โดยให้วางหลักประกันเป็นเงินสด 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ และให้ใส่กำไล EM พร้อมทั้งกำหนด 4 เงื่อนไข ได้แก่ 1) ห้ามกระทำกิจกรรมที่มีลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหา 2) ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นการกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 3) ห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 20.00-05.00 น. และ 4) ให้มารายงานตัวต่อศาลทุก 15 วัน เป็นเวลา 3 เดือน

สำหรับคดีนี้มี นายนพดล พรหมภาสิต เลขาศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) เป็นผู้กล่าวหา โดยชลธิชาได้เดินทางไปรับข้อกล่าวหาที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) แล้วเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2564 

>> ‘ลูกเกด-ไมค์’ รับทราบข้อกล่าวหา 112 เหตุ ‘ราษฎรสาส์น’ โพสต์จดหมายถึงกษัตริย์

เปิดคำฟ้อง “ราษฎรสาส์น” อัยการชี้เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงให้ ปชช.เกิดความกลัวสถาบันกษัตริย์ 

นายสัณห์สิทธิ์ ยุทธภัณฑ์บริการ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 บรรยายคำฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า 

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 จําเลยซึ่งใช้ชื่อบัญชีเฟซบุ๊กว่า “Chonticha Kate Jangrew” ได้โพสต์ข้อความข้อความถึงสถาบันกษัตริย์ในการเคลื่อนไหว “ราษฎรสาส์น” โดยได้แสดงความเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ในประเด็นต่างๆ เช่น การไปพักอาศัยในต่างประเทศ การโอนอัตรากําลังพลและงบประมาณไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ การใช้จ่ายงบประมาณของสถาบันกษัตริย์ที่ฟุ่มเฟือย และการเลื่อนยศตำแหน่งให้กับข้าราชการและพลเรือน เป็นต้น 

โพสต์ดังกล่าวยังได้มีการเขียนข้อความแสดงความเห็นเกี่ยวกับการที่ประชาชนผู้คิดต่างหรือเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กลับถูกดําเนินคดี คุมขัง ถูกคุกคาม ถูกทําร้าย และต้องลี้ภัย โดยกล่าวว่า หลังรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา มีนักกิจกรรมการเมืองที่ถูกทางการไทยมองว่าเป็น “พวกล้มเจ้า” ที่ถูกอุ้มหายและพบ 2 ศพ นอกจากนี้ยังได้เรียกร้องให้กษัตริย์รับฟังเสียงของประชาชนเกี่ยวกับข้อเสนอให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รวมถึงเชิญชวนให้ประชาชนมาเข้าร่วมกิจกรรม #ราษฎรสาส์น ใน #ม็อบ8พฤศจิกา เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อีกด้วย

พนักงานอัยการระบุในคำฟ้องว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการล่วงละเมิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 ซึ่งประชาชนทั่วไปที่พบเห็นภาพและข้อความดังกล่าวเข้าใจความหมายได้ว่า พระองค์ไปอยู่ต่างประเทศ ไม่ดูแลประชาชน บิดเบือนข้อเท็จจริงให้ประชาชนเกิดความกลัวต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทําให้เข้าใจว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ใช้ให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและพวกพ้องคณะรัฐประหาร กระทําการรัฐประหาร แล้วสืบทอดอํานาจ เพื่อยึดอํานาจจากประชาชน 

อัยการยังระบุอีกว่าข้อความดังกล่าวทำให้ประชาชนเข้าใจว่ารัชกาลที่ 10 ทรงเบียดเบียนทรัพยากรของประเทศที่ได้มาด้วยน้ําพักน้ําแรงของราษฏรไปใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย พระมหากษัตริย์เป็นศัตรูกับประชาชน เข้ามาแทรกแซงการเมืองและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสูญหายของบุคคลที่มีความเห็นต่างทางการเมือง โดยประการที่น่าจะทําให้พระมหากษัตริย์ทรงเสื่อมเสีย พระเกียรติยศชื่อเสียงถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง และประชาชนเสื่อมความเคารพศรัทธาในพระองค์และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

อัยการจึงฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ส่วนเรื่องการประกันตัว อัยการขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล

หลังพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี 

ต่อมา นายพริษฐ์  ปิยะนราธร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักประกันเป็นเงินสด 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ และให้ใส่กำไล EM โดยได้นัดตรวจพยานหลักฐานต่อไปในวันที่ 25 เม.ย. 2565 เวลา 09.00 น. พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว 4 ประการ ได้แก่

1. ห้ามกระทำกิจกรรมที่มีลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหา 

2. ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นการกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 

3. ห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 20.00-05.00 น.

4. ให้มารายงานตัวต่อศาลทุก 15 วัน เป็นเวลา 3 เดือน

สำหรับกิจกรรม #ราษฎรสาส์น เป็นการจัดการชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอกเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 63 โดยมีการให้ประชาชนร่วมกันเขียนจดหมายถึงกษัตริย์ และมีการเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปใกล้พระบรมมหาราชวัง เพื่อส่งจดหมาย ทำให้นักกิจกรรมมีการเขียนจดหมายถึงกษัตริย์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อยืนยันข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์  

ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าคดีนี้เป็นคดีมาตรา 112 คดีแรก ที่ชลธิชาถูกฟ้องต่อศาล โดยเธอไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี และยังไม่เคยถูกยื่นขอฝากขังมาก่อน แต่ศาลกลับกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวใกล้เคียงกับแกนนำหลายคนที่ได้รับการประกันตัวก่อนหน้านี้ 

นอกจากคดีนี้ ชลธิชา ยังถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 อีก 1 คดี ได้แก่ คดีปราศรัยใน #ม็อบ11กันยา รวมตัวเรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนเรา บริเวณศาลจังหวัดธัญบุรี ระหว่างรอผลประกันตัวแกนนำคดีชุมนุมหน้า ตชด. เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2564 ซึ่งคดีนี้ยังอยู่ในชั้นสอบสวน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

‘ลูกเกด-ไมค์’ รับทราบข้อกล่าวหา 112 เหตุ ‘ราษฎรสาส์น’ โพสต์จดหมายถึงกษัตริย์

สภ.ธัญบุรีแจ้ง ม.112 “ลูกเกด” หลังปราศรัย #ม็อบ11กันยา วิพากษ์การออกกฎหมาย-การจัดสรรงบประมาณสถาบันกษัตริย์  

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-65

X