ศาลนราธิวาสพิพากษาจำคุก 9 ปี “ภัคภิญญา” เชื่อว่าเป็นผู้แชร์โพสต์จริง เข้าข่าย ม.112 สามข้อความ ก่อนให้ประกันสู้ต่อชั้นอุทธรณ์ 

19 ต.ค. 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “ภัคภิญญา” (สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี อดีตบรรณารักษ์ห้องสมุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ผู้ถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กรณีถูกกล่าวหาว่าแชร์โพสต์ในทำนองหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จำนวน 6 โพสต์ ดังนี้

1. วันที่ 17 พ.ย. 2563 แชร์โพสต์จากเพจเฟซบุ๊ก ‘เยาวชนปลดแอก-Free YOUTH’ ซึ่งโพสต์ภาพตำรวจควบคุมฝูงชนฉีดน้ำ พร้อมข้อความว่า “ด่วน ตํารวจฉีดน้ำพยายามสลายการชุมนุมแล้วถึง 5 ครั้ง ใส่แนวหน้าของเราที่เข้าไปแสตนบายที่พื้นที่ก่อนมวลชนจะมาถึง! และประกาศจะใช้กระสุนยาง!!!…” โดยจำเลยได้พิมพ์ข้อความประกอบว่า “ถ้าใส่เสื้อเหลืองเมื่อเช้านี่เปิดให้เข้าได้เลยนะ พ่อเขาบอกว่ารักทุกคน เราเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอมอ่ะ สับปลับ!”

2. วันที่ 24 พ.ย. 2563 แชร์โพสต์จากเพจเฟซบุ๊ก ‘KTUK-คนไทยยูเค’ ซึ่งโพสต์ข้อความในทำนองว่า รัชกาลที่ 10 เป็นผู้สั่งเตรียมรับมือการชุมนุม #ม็อบ25พฤศจิกา เมื่อปี 2563 โดยสั่งการให้มวลชนเสื้อเหลืองเข้าปะทะกับผู้ชุมนุม และเตรียมใช้ 112 จับแกนนำ โดยจำเลยได้พิมพ์ข้อความประกอบว่า “มันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”

3. วันที่ 31 ธ.ค. 2563 แชร์โพสต์จากบัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่งที่มีข้อความว่า “ถ้าจะเก็บสนามหลวงไว้เผาศพอย่างเดียว กูก็ขอให้พวกมึงได้ใช้บ่อยละกัน” โดยจำเลยได้พิมพ์ข้อความประกอบว่า “รับสิ้นปีเลยนะ”  

4. วันที่ 17 ม.ค. 2564 แชร์โพสต์จากบัญชีเฟซบุ๊ก ‘อานนท์ นําภา’ ที่มีข้อความว่า “อุ้มหายบ่อยๆ จะทําให้ในหลวงรัชกาลที่ 10 กลับเยอรมันลําบาก พวกทําไปกะเอาใจนายรับรู้ไว้ด้วย อย่าขยันแต่โง่” โดยจำเลยได้พิมพ์ข้อความประกอบว่า “5555 ว้ายยยย”

5. วันที่ 18 ม.ค. 2564 แชร์โพสต์จากเพจ ‘ราษฎร’ ซึ่งมีเนื้อหาตั้งคำถามถึงเหตุผลในการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างล่าช้าของรัฐบาล และการให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ผูกขาดการผลิตวัคซีนเพียงรายเดียวในประเทศไทย โดยจำเลยไม่ได้พิมพ์ข้อความใดประกอบ

6. วันที่ 10 เม.ย. 2564 แชร์โพสต์จากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งที่มีข้อความว่า “เพื่อคนๆ เดียวมา 7 ปี ยอมล้มทั้งกระบวนการนิติบัญญัติ ล้มกระบวนการยุติธรรม ล้มแม้กระทั่งหลักการสาธารณสุขพื้นฐานของประเทศ จนประเทศล้มเหลวขนาดนี้ นับมาสิบห้าปี ประเทศไทยมีอะไรดีขึ้นบ้าง นอกจากพอร์ทของเจ้าสัวใหญ่สิบห้าตระกูล ถามผู้หลักผู้ใหญ่ที่ยังมีสติในบ้านเมืองนี้หน่อยเถอะ ยอมไปได้ไง”  โดยจำเลยได้พิมพ์ข้อความประกอบว่า “ฆ่าคนกว่าหกสิบล้าน เพื่อคนๆ เดียว แปลว่าถ้าคนๆ เดียวตาย มันอาจจะดีขึ้นไหมนะ” 

ในคดีนี้จำเลยต่อสู้ว่า โพสต์เฟซบุ๊กที่ผู้กล่าวหาแคปหน้าจอและพิมพ์ออกมาก่อนนำมาแจ้งความร้องทุกข์นั้นขาดความน่าเชื่อถือ เนื่องจากผ่านการตัดต่อ แก้ไข และเปลี่ยนแปลงข้อมูลมาแล้ว รวมถึงชี้ให้เห็นว่า มีการใช้กฎหมายมาตรา 112 เป็นเครื่องมือที่ใช้กลั่นแกล้งผู้เห็นต่างทางการเมือง โดยสถิติการดำเนินคดีสัมพันธ์ไปกับสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้นๆ

ย้อนอ่านประมวล >> จับตา 19 ตุลา ศาลนราธิวาสพิพากษาคดี ม.112 “ภัคภิญญา” บรรณารักษ์ชาวกรุงเทพฯ หลังเจ้าตัวปฏิเสธแชร์ 6 โพสต์วิจารณ์การเมือง

.

ศาลลงโทษ 3 กรรม ชี้จำเลยเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กจริง ข้อความเจตนาสื่อถึง ร.10 ในแง่ดูหมิ่นและอาฆาตมาดร้าย

เวลาประมาณ 10.30 น. กิติกร ทัศนาขจร ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน อ่านคำพิพากษาเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 14 (3) ลงโทษกระทงละ 3 ปี รวมจำนวนสามกระทง รวมลงโทษจำคุก 9 ปี โดยไม่รอลงอาญา และเห็นว่าอีก 3 กระทงไม่เข้าข่ายความผิด

เนื้อหาของคำพิพากษาโดยสรุปได้ว่า จากหลักฐานพยานฝั่งโจทก์ปรากฎว่า ภาพเฟซบุ๊ก และทะเบียนราษฎรตรงกับของจำเลย รวมถึงปรากฎร่องรอยดิจิทัลเกี่ยวกับตัวจำเลยจำนวนมากบนสื่อโซเชียลมีเดีย โดยจำเลยไม่ได้นำสืบว่า จำเลยไม่ได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาดังกล่าวแต่อย่างใด รวมถึงไม่ได้มีการแจ้งความว่ามีบุคคลอื่นแอบอ้างใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวหรือไม่ 

ที่สำคัญการที่จำเลยนำสืบว่าข้อความตามฟ้องทั้ง 6 ข้อความเป็นการตัดต่อ โดยการนำภาพข้อความตามฟ้องใส่โปรแกรม word ซึ่งเป็นการจัดทำพยานหลักฐานทั่วไป จำเลยไม่ได้นำสืบว่ามีความผิดปกติเพิ่มเติมอย่างไร ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กและเป็นผู้นำเข้าข้อความตามฟ้องจริง ดังนั้นศาลต้องพิจารณาว่าข้อความดังกล่าวเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่

โพสต์ที่ 1 ตามฟ้อง – ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานโจทก์นำสืบไปในทางเดียวกันว่าเป็นพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งเมื่อพิจารณาความหมายของคำว่า “สับปลับ” ตามพจนานุกรม จะทำให้คนอ่านตีความได้ว่าในหลวง รัชกาลที่ 10 พูดไม่จริง เป็นการดูหมิ่น ใส่ความพระมหากษัตริย์ ต่อบุคคลที่สาม

โพสต์ที่ 2 ตามฟ้อง – ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ฝั่งโจทก์นำสืบไปในทางเดียวกันว่า ข้อความดังกล่าวสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 เกี่ยวข้องกับการชุมนุม เป็นคนไม่ดีชอบใช้ความรุนแรง สั่งให้กลุ่มเสื้อเหลืองเข้าปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม เห็นว่ามีเจตนาใส่ความพระมหากษัตริย์

โพสต์ที่ 3 ตามฟ้อง – พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกันและพิจารณาความหมายของ “สนามหลวง” ศาลเห็นว่าสนามหลวงเป็นสถานที่ๆ ใช้เผาศพพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ แม้ไม่ได้ระบุว่าข้อความที่จำเลยโพสต์หมายถึงใคร แต่ก็ไม่ปรากฎว่ามีประชาชนทั่วไป เคยใช้สนามหลวงเผาศพ 

โดยที่ผ่านมามีการใช้สนามหลวงประกอบพระราชพิธีเผาพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 แสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ต้องการแช่งในหลวงรัชกาลที่ 10 การที่จำเลยสืบว่า ในช่วงที่มีการโพสต์ก็ไม่ปรากฎว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 หรือพระราชินีมีอาการป่วยแต่อย่างใด ก็ไม่สามารถหักล้างพยานโจทก์ได้

โพสต์ที่ 4 ตามฟ้อง – หลังอ่านทั้งหมดยังไม่สามารถตีความได้ว่าสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10

โพสต์ที่ 5 ตามฟ้อง – ข้อความว่า “วัคซีนจากน้ำพระทัย” ไม่ใช่ข้อความดูหมิ่น และบุคคลทั่วไปก็ไม่อาจทราบได้ว่าโพสต์ดังกล่าวมุ่งหมายถึงใคร

โพสต์ที่ 6 ตามฟ้อง – ศาลเห็นว่าข้อความดังกล่าวเป็นการวิจารณ์การบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2557 ขณะที่มีการโพสต์ เป็นระยะเวลาประมาณ 7 ปี สอดคล้องกับที่จำเลยโพสต์ จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

หลังศาลอ่านคำพิพากษา “ภัคภิญญา” ถูกเจ้าหน้าที่นำตัวไปควบคุมไว้ที่ห้องขังของศาล ขณะเดียวกันทนายความได้ยื่นขอประกันตัวในชั้นอุทธรณ์คดี

ต่อมาเวลา 13.30 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันเพิ่มเติมอีก 50,000 บาท จากเดิมที่เคยวางไว้ระหว่างการสั่งฟ้องคดีจำนวน 150,000 บาท รวมเป็นใช้หลักทรัพย์ประกันในชั้นนี้ 200,000 บาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

อนึ่ง คดีนี้เป็นหนึ่งในคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 8 คดีที่ พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ติวเตอร์สอนภาษาอังกฤษ เข้าแจ้งความไว้ที่ สภ.สุไหงโก-ลก โดยคดีเหล่านี้ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีใครอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดทางภาคใต้ 

ขณะนี้ศาลจังหวัดนราธิวาสทยอยมีคำพิพากษาไปแล้ว 4 คดี ได้แก่ คดีของอุดม, คดีของ “กัลยา”, คดีของ “วารี” และคดีของภัคภิญญา โดยมีเพียงคดีของวารีซึ่งศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ให้เหตุผลว่าพยานโจทก์ยังไม่น่าเชื่อถือว่าจำเลยโพสต์ตามที่ถูกกล่าวหา นอกจากนั้นยังมีคดีของ “ชัยชนะ” ผู้ป่วยจิตเวชจากจังหวัดลำพูน ที่ยังไม่ได้เริ่มการสืบพยาน รวมทั้งยังมีคดีของเยาวชน 2 ราย ที่อัยการต้องนำคดีไปฟ้องที่ภูมิลำเนาของเยาวชนด้วย

.

X