วันที่ 6 ต.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดฟังคำพิพากษาในคดี ของ ‘วารี’ (นามสมมติ) พนักงานรับจ้างอิสระ วัย 23 ปี ในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) สืบเนื่องจากการถูกกล่าวหาว่านำภาพข้อความจากทวิตเตอร์เกี่ยวกับการเลือกปกป้องกษัตริย์ของตำรวจและนำมาโพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว รวมถึงการโพสต์รูปการ์ตูนล้อเลียนตำรวจในคอมเมนต์ และการแชร์โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ประยุทธ์ที่สั่งปิดกั้นเพลงของ R.A.D
คดีนี้มี พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหาไว้ที่ สภ.สุไหงโก-ลก เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2564 ภายหลังวารีได้เดินทางจากจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นจังหวัดที่เธออาศัยและทำงานอยู่ไปรับทราบข้อกล่าวหาและต่อสู้คดีเรื่อยมา วารีเดินทางไปต่อสู้คดียัง จ.นราธิวาส แล้วอย่างน้อย 5 ครั้ง รวมแล้วสูญเสียค่าใช้จ่ายไปมากกว่า 60,000 บาท
คดีนี้ศาลได้ดำเนินการสืบพยานไปแล้วเมื่อระหว่างวันที่ 23-25 ส.ค. 2565 โดยสืบพยานโจทก์ไปได้ทั้งสิ้น 6 ปาก ได้แก่ ผู้กล่าวหา พนักงานสอบสวน ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ภาษา และพยานความเห็นในฐานะประชาชนทั่วไปอีก 3 ปาก และสืบพยานจำเลยไปได้ทั้งสิ้น 2 ปาก ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและคอมพิวเตอร์ 1 ปาก และผู้เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์อีก 1 ปาก จากนั้นศาลได้นัดฟังคำพิพากษาเป็นวันนี้
อ่านบันทึกสืบพยาน: 6 ตุลาฯ ศาลนราธิวาส นัดชี้ชะตา คดี ม.112 ‘วารี’ เหตุแชร์โพสต์วิจารณ์ตำรวจที่เลือกปกป้องกษัตริย์มากกว่าประชาชน-โพสต์ภาพการ์ตูนล้อเลียน
ศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลอ่านคำพิพากษามีใจความโดยสรุป ดังนี้ แม้โจทก์จะนำสืบได้ว่าบัญชีเฟซบุ๊กเป็นของจำเลยจริง ตามรูปในทะเบียนราษฎรและรูปโปรไฟล์เฟซบุ๊กที่เหมือนกัน ประกอบกับเบอร์โทรศัพท์ที่ถูกโพสต์บนหน้าบัญชีเฟซบุ๊กกับเบอร์โทรศัพท์ที่จำเลยและญาติของจำเลยเคยให้การไว้ก็เป็นเบอร์เดียวกัน
แต่ศาลเห็นว่า พยานโจทก์ยังไม่พอให้เชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้นำเข้าโพสต์ดังกล่าวจริงหรือไม่ เพราะพยานโจทก์มีเพียงผู้กล่าวหาเพียงคนเดียวที่เป็นผู้เบิกความว่าจำเลยโพสต์จริง แต่กลับเบิกความถึงการเห็นโพสต์แตกต่างกัน อีกทั้งภาพที่นำมาแจ้งความก็ไม่ปรากฏ URL ประกอบการคำเบิกความของพยานจำเลยซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งสองเห็นว่า ภาพมีการตัดต่อมา พยานโจทก์จึงยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กดังกล่าวตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
หลังศาลยกฟ้อง ภาระจากการสู้คดีที่ผ่านมาใครรับผิดชอบ ?
‘วารี’ พนักงานขายอิสระ ชาวสมุทรปราการ วัย 23 ปี ถูกเลี้ยงดูมาโดยพ่อผู้ซึ่งเป็นคนเสื้อแดง มีอุดมการณ์ยึดมั่นและมุ่งก่อร่างให้ประเทศนี้ปกครองด้วยระบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง บ่อยครั้งเธอในวัยเด็กตามพ่อไปม็อบของคนเสื้อแดง และแทบทุกเย็นพ่อของเธอมักจะเปิดรายการข่าวการเมืองและพูดวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเผด็จการให้เธอได้ยินเสมอ นั่นทำให้วารีซึมซับทัศนะทางการเมืองและแนวคิด ‘คนเท่ากัน’ มาตั้งแต่ยังเด็ก
ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน วารีก็ไม่เข้าใจเรื่องที่พ่อพูดมากนักหรอก รู้แต่เพียงว่า พ่อมักมีอารมณ์โกรธ ฉุนเฉียว และบางครั้งก็วิพากษ์วิจารณ์ข่าวการเมืองด้วยถ้อยคำไม่น่ารื่นหูสักเท่าไหร่เสมอ นั่นทำให้วารีก็มักบ่นพ่อประจำว่า ‘ขอให้พ่อใจเย็นๆ ลงหน่อยเถอะ’ และบางครั้งเธอก็เผลอขอให้พ่อหยุดพูดด้วยความรำคาญ
แต่มีครั้งหนึ่งพ่อของเธอตอบกลับมาด้วยคำตอบ ที่เธอเองยังคงจำขึ้นใจมาจนถึงทุกวันนี้ว่า “แล้ววันข้างหน้าเอ็งจะเชื่อที่พ่อพูด”
“แล้วทุกวันนี้มันก็เหมือนที่พ่อพูดจริงๆ ด้วย เรามาไกลกันมาก” วารีพูด
พ่อ คือ ผู้ประกอบสร้างตัวตนและทัศนะตระหนักรู้ทางการเมืองให้เป็นเธอเช่นทุกวันนี้ และเป็นกำลังใจสำคัญที่สุดหลังถูกดำเนินคดีในครั้งนี้ “เพราะพ่อเข้าใจเราที่สุดและสู้มาก่อนเราจะเกิดด้วยซ้ำ”
ทว่าพ่อของวารีได้เสียชีวิตลงแล้วเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2565 ก่อนศาลนัดสืบพยานเพียงไม่กี่เดือน ตั้งแต่พ่อจากไป เธอจะใส่บาตร อุทิศส่วนกุศลให้เสมอ พร้อมพูดกับพ่อในใจประจำว่า
‘ตอนนี้มาถึงจุดนี้แล้วนะพ่อ (การสืบพยานในคดีนี้) พ่อน่าจะอยู่รอหนูชนะคดีก่อน พ่อช่วยให้หนูชนะคดีด้วยนะ …’
หมายเรียก ม.112
หลังได้รับหมายเรียกคดีแรกในชีวิตและยังเป็นคดีตามมาตรา 112 ซึ่งอยู่หมวดความมั่นคงของประเทศด้วยนั้น วินาทีแรกที่รู้เธอถึงกับช็อกไปเลย เพราะไม่คิดว่าประชาชนคนธรรมดาอย่างเธอจะถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาที่ร้ายแรงแบบนั้น
ที่ผ่านมาเธอก็มั่นใจว่าได้แสดงความคิดเห็นมุ่งเรียกร้องประชาธิปไตยและประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องอยู่ในขอบเขตของกฎหมายเรื่อยมา หลังจากวันที่ได้รับหมายเรียก เธอมีอาการนอนไม่หลับไปนานถึง 2 วัน 2 คืน เพราะเอาแต่ย้ำคิดซ้ำไปมาว่า ‘หากติดคุกขึ้นมาจะทำอย่างไร’ ตลอด 2-3 วันนั้นแฟนหนุ่มของเธอก็ร้องไห้ด้วยความกังวลจากเหตุผลเดียวกันนี้ไปด้วยตลอดแทบจะทุกวัน
เธอเล่าว่า ได้พยายามติดต่อทนายความให้มาว่าความให้ถึง 5 คน แต่ปรากฏว่าไม่มีใครยอมรับว่าความให้เลยสักคน ก่อนจะได้รับคำแนะนำให้ติดต่อมาขอความช่วยเหลือยังศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
เท่าที่วารีติดตามข่าวของประชาชนที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 คดีที่วารีสะเทือนใจที่สุดคือ กรณีของ ‘อัญชัญ’ ปรีเลิศ’ อดีตข้าราชการกรมสรรพากร ที่ถูกศาลพิพากษาให้จำคุกถึง 87 ปี ซึ่งเธอเห็นว่าเป็นโทษที่สูงเกินไปอย่างมากจน และนั่นทำให้เธออดคิดถึงผลคำพิพากษาในคดีของตัวเองไม่ได้
สมุทรปราการ – นราธิวาส
หลังถูกกล่าวหาในคดีนี้ เธอเดินทางจากบ้าน ที่ จ.สมุทรปราการ ไปต่อสู้คดีที่ จ.นราธิวาส แล้วอย่างน้อย 5 ครั้ง (รวมนัดฟังคำพิพากษา) สูญเสียค่าใช้จ่ายถึง 2 เท่า เพราะทุกครั้งแฟนของเธอจะติดตามไปด้วยเสมอเพราะความเป็นห่วง
เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า จ.นราธิวาส คือ 1 ใน 3 จังหวัดภาคใต้ที่มีปัญหาความขัดแย้งมาหลายสิบปี ก่อตัวเป็นปัญหาความรุนแรงอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะช่วงก่อนศาลนัดสืบพยานในคดีนี้เพียงไม่กี่วัน มีการรายงานข่าวเหตุความรุนแรงหลายจุดในพื้นที่ จ.นราธิวาส ติดต่อกันนานประมาณ 2-3 วันด้วยกัน
แม้วารีจะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางและที่พักของตัวเองกับกองทุนดาตอร์ปิโดได้ แต่ก็ยังคงจะต้องเสียค่าใช้ในส่วนของแฟนอยู่ดี โดยตลอดระยะเวลาการสู้คดีในคดีนี้ที่ จ.นราธิวาส กว่า 5 ครั้ง พวกเธอสูญเสียค่าใช้จ่ายไปมากกว่า 6 หมื่นบาท มิหนำซ้ำยังต้องลาหยุดงานบ่อยครั้ง สูญเสียรายได้ไปโดยใช่เหตุอีกด้วย
นับถอยหลังเวลาอิสรภาพ
ทุกครั้งๆ ที่เธอเดินทางมาต่อสู้คดี เหมือนกับว่าเวลาแห่งอิสรภาพใกล้จะหยุดเดินลงเต็มที
“ช่วงนี้พยายามกินให้ได้มากที่สุด เที่ยวให้ได้มากที่สุด เวลาเข้าคุกไปแล้วจะได้ไปโม้ว่า ‘ฉันไปเที่ยวมาเยอะแยะเลยนะ เธอ (เพื่อนในเรือนจำ) คงอยู่แต่นราธิวาสละสิ!”
วารีพูดทีเล่นทีจริงด้วยอารมณ์ขันไว้เมื่อครั้งศาลนัดสืบพยานในคดีนี้ เธอย้ำว่า ได้พยายามใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ให้เต็มที่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะหากศาลพิพากษาให้จำคุกและไม่ให้ประกันตัวเธอแล้ว เธอจะถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส ไกลจากบ้านที่สมุทรปราการของเธอคนละภาคเลย หรือคิดเป็นระยะทางกว่า 1,141 กิโลเมตรทีเดียว
ทว่ายังโชคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้อง ทำให้เธอจะยังคงได้รับอิสรภาพต่อไปจนกว่าคดีนี้จะถึงที่สุด โดยหากอัยการไม่อุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลอุทธรณ์อีกภายในระยะเวลาที่กำหนดก็จะถือว่าคดีนี้ถึงที่สุดแล้วและเธอจะได้รับอิสระถาวรตลอดไป
ต้นทุนของการต่อสู้คดี ม.112 จาก สมุทรปราการ-นราธิวาส ของ ‘วารี’ กระทั่งศาลสั่งยกฟ้อง
- สูญเสียเงินค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางไปต่อสู้คดีที่ จ.นราธิวาส ทั้งหมดประมาณ 60,000 บาท และที่ไม่สามารถเบิกจ่ายกับกองทุนดาตอร์ปิโดได้อย่างน้อย 30,000 บาท (เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางของแฟน และค่าใช้จ่ายบางประการที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือของกองทุนฯ)
- สูญเสียความมั่นใจ ความสุขในการใช้ชีวิต วิตกกังวล และได้รับผลกระทบต่อภาวะจิตใจจนกลายเป็นปัญหาต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงาน เช่น วิตกกังวลจนมีอาการนอนไม่หลับ ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น
- สูญเสียรายได้จากการทำงาน 2 เท่า (ของวารีและแฟน) เพราะต้องลางานมาเพื่อต่อสู้คดี
- แบกรับความเสี่ยงที่อาจจะต้องเผชิญเหตุร้ายจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และแม้จะไม่ได้รับอันตรายใด ก็ยังคงได้รับผลกระทบทางจิตใจและความปลอดภัยในชีวิตอยู่ดี