6 ตุลาฯ ศาลนราธิวาส นัดชี้ชะตา คดี ม.112 ‘วารี’ เหตุแชร์โพสต์วิจารณ์ตำรวจที่เลือกปกป้องกษัตริย์มากกว่าประชาชน-โพสต์ภาพการ์ตูนล้อเลียน  

เมื่อวันที่ 23-25 ส.ค. 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดสืบพยานในคดี ของ วารี (นามสมมติ) พนักงานรับจ้างอิสระ วัย 23 ปี ในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) สืบเนื่องจากการถูกกล่าวหาว่านำภาพข้อความจากทวิตเตอร์เกี่ยวกับการเลือกปกป้องกษัตริย์ของตำรวจและนำมาโพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว รวมถึงการโพสต์รูปการ์ตูนล้อเลียนตำรวจในคอมเมนต์ และการแชร์โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ประยุทธ์ที่สั่งปิดกั้นเพลงของ R.A.D 

คดีนี้มี พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหาไว้ที่ สภ.สุไหงโก-ลก เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2564 ภายหลังวารีได้เดินทางจากจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นจังหวัดที่เธออาศัยและทำงานอยู่ไปรับทราบข้อกล่าวหาและต่อสู้คดีเรื่อยมา หากนับรวมการเดินทางไปฟังคำพิพากษาในวันที่ 6 ต.ค. นี้ วารีเดินทางไปต่อสู้คดียัง จ.นราธิวาส แล้วอย่างน้อย 5 ครั้ง รวมแล้วสูญเสียค่าใช้จ่ายไปมากกว่า 60,000 บาท

คดีนี้ศาลได้ดำเนินการสืบพยานโจทก์ไปได้ทั้งสิ้น 6 ปาก ได้แก่ ผู้กล่าวหา พนักงานสอบสวน ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ภาษา และพยานความเห็นในฐานะประชาชนทั่วไปอีก 3 ปาก และสืบพยานจำเลยไปได้ทั้งสิ้น 2 ปาก ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและคอมพิวเตอร์ 1 ปาก และผู้เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์อีก 1 ปาก จากนั้นศาลได้นัดฟังคำพิพากษาเป็นวันที่ 6 ต.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

เหตุที่ถูกดำเนินคดี

คดีนี้วารีถูกฟ้องว่ากระทำความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ด้วยการกระทำบนเฟซบุ๊กส่วนตัว 3 กรณีด้วยกัน ดังนี้

  1. โพสต์ภาพจากทวิตเตอร์ วิจารณ์ตำรวจเลือกปกป้องกษัตริย์มากกว่าประชาชน 

ถูกกล่าวหาว่า โพสต์เฟซบุ๊กเป็นภาพโพสต์จากทวิตเตอร์ จำนวน 1 ภาพ ของผู้ใช้งานบัญชีหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับตำรวจเลือกปกป้องกษัตริย์มากกว่าประชาชน พร้อมข้อความ #ม็อบ13กุมภา และ #whathappeninginthailand โดยมีภาพประกอบโพสต์เป็นภาพถ่ายเหตุการณ์สลายการชุมนุม #ม็อบ13กุมภา ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2564 

  1. คอมเมนต์ใต้โพสต์ที่ 1 ด้วยรูปการ์ตูนล้อเลียน คนหัวสุนัขกำลังหมอบกราบ

ถูกกล่าวหาว่า คอมเมนต์ใต้โพสต์ที่ 1 ด้วยรูปภาพการ์ตูนล้อเลียน จำนวน 1 ภาพ พร้อมคำบรรยายภาพว่า “มารับปลอกคอเร้ววววว” ภาพการ์ตูนดังกล่าวเป็นภาพที่มีตัวการ์ตูนเป็นคนนั่งอยู่บนเก้าอี้กําลังมอบสายคล้องคอที่มีเหรียญ โดยมีการ์ตูนที่มีหัวเป็นสุนัขและรูปร่างเป็นมนุษย์ก้มหมอบลงกราบ และมีตัวการ์ตูนที่มีลักษณะคล้ายๆ กันยืนตบมือข้างๆ 

  1. แชร์โพสต์วิจารณ์กรณีคลิปเพลง ‘ปฏิรูป’ วง R.A.D. ถูกปิดกั้นบน Youtube

ถูกกล่าวหาว่า แชร์โพสต์เฟซบุ๊กของผู้ใช้งานบัญชีรายหนึ่ง ซึ่งโพสต์ภาพถ่ายศิลปิน วง R.A.D. และเขียนข้อความว่า “ไอ้ยุทธ์สั่งยูทูปปิดไม่ให้ดู พวกกูจึงต้องช่วยกันเปิดให้ผู้คนดู เพลงขับไล่เผด็จการของวง R.A.D.” พร้อมเขียนคำบรรยายประกอบการแชร์โพสต์ว่า “ใช้ทรัพย์สินส่วนของมึง แล้วอยากจะมีอีกกี่เมียก็เรื่องของมึง”

อย่างไรก็ตาม พนักงานอัยการบรรยายคำฟ้องรวมการกระทำทั้งสามมาเป็นการกระทำความผิดเพียงกรรมเดียว

หมายเหตุ เหตุตามฟ้องทั้ง 3 กรณีข้างต้น ผู้กล่าวหาได้ภาพมาเป็น 3 ภาพ ด้วยวิธีการแคป (Capture) หน้าจอมือถือ และนำไปแจ้งความดำเนินคดีกับวารี โดยกล่าวหาว่า โพสต์ที่ 1 และโพสต์ที่ 2 ตามฟ้อง ซึ่งเป็นคนละโพสต์ และคนละเวลา มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน โดยอ้างว่าโพสต์ที่ 2 เป็นการแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ที่ 1 

ข้อมูลประกอบการอ่านบันทึกสืบพยาน

URL หรือ Universal Resource Locator คือ ที่อยู่เว็บแบบสมบูรณ์ที่ใช้ค้นหาหน้าเว็บที่เฉพาะเจาะจง ขณะที่โดเมนคือชื่อของเว็บไซต์ URL จะเป็นสิ่งที่นำไปยังหน้าใดหน้าหนึ่งภายในเว็บไซต์ ทุก URL จะประกอบด้วยชื่อโดเมนและองค์ประกอบอื่นๆ ที่จำเป็นในการค้นหาหน้าเว็บหรือเนื้อหาที่เจาะจง 

ตัวอย่าง URL ได้แก่ 

http://www.google.com

https://www.youtube.com/feed/trending

พระปรมาภิไธยย่อการย่อพระปรมาภิไธยให้เหลือเพียง 3 ตัวอักษร โดยส่วนมาก มักใช้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ และตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธี และงานเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสสำคัญต่างๆ  

ตัวอย่างพระปรมาภิไธยย่อ ได้แก่

รัชกาลที่ 1 พระปรมาภิไธยย่อ คือ ‘จปร’ ย่อมาจาก “มหาจักรีบรมนาถ ปรมราชาธิราช”

รัชกาลที่ 2 พระปรมาภิไธยย่อ คือ ‘อปร’ ย่อมาจาก “มหาอิสรสุนทรปรมราชาธิราช”

รัชกาลที่ 10 พระปรมาภิไธยย่อ คือ ‘วปร’ ย่อมาจาก “วชิราลงกรณ ปรมราชาธิราช” 

การหมอบกราบใช้ถวายความเคารพ ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ลงมาถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ในโอกาสที่เข้าเฝ้า นอกจากนี้ยังพบว่าการหมอบกราบถูกใช้ในงานพิธีไหว้ครู ไหว้ผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโสที่ให้ความเคารพนับถือ อย่างเช่น ตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร ปี 2557 มีหลายบุคคลถวายความเคารพ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ด้วยวิธีการหมอบกราบด้วย

ผลการรายงานการตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาเป็นของจำเลย

  1. ผลการตรวจสอบของ ปอท. – พนักงานสอบสวน สภ.สุไหงโก-ลก ได้ส่งหนังสือลงวันที่ 16 เม.ย. 2564 เพื่อขอให้ บก.ปอท.ตรวจสอบดูบัญชีเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นของจำเลยหรือไม่ ผลการตรวจสอบ พบว่า บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวยังคงเปิดใช้งานอยู่และตรวจพบว่าบนไทม์ไลน์เฟซบุ๊กมีการโพสต์ข้อความที่ระบุถึง ID Line และ เบอร์โทรศัพท์ 1 เบอร์
  1. ผลการตรวจสอบของกระทรวงดิจิทัลฯ – ไม่พบรูปภาพหรือข้อมูลที่สามารถยืนยันตัวบุคคลผู้ใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวได้ จึงไม่สามารถระบุตัวบุคคลและหาความเชื่อมโยงของบัญชีเฟซบุ๊กเพื่อพิสูจน์ทราบสืบสวนหาตัวบุคคลผู้ลงชื่อเข้าใช้งานได้ อีกทั้งยังไม่สามารถตรวจสอบหมายเลขไอพีแอดเดรสของบัญชีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กได้

เอกสารหมาย จ.1 เอกสารที่ฝ่ายโจทก์ยื่นส่งต่อศาลในระหว่างการสืบพยานลำดับที่ 1 ซึ่งในคดีนี้มีจำนวน 3 หน้า 

แผ่นที่ 1 คือ หนังสือคำร้องทุกข์กล่าวโทษที่นายพสิษฐ์ ผู้กล่าวหาในคดีนี้จัดทำขึ้นเองและนำมาร้องทุกข์แก่พนักงานสอบสวน สภ.สุไหงโก-ลก 

แผ่นที่ 2 คือ รูปภาพแคปหน้าจอมือถือ จำนวน 2 ภาพ ได้แก่ 1) หน้าบัญชีเฟซบุ๊กที่อ้างว่าเป็นของจำเลย และ 2) รูปโพสต์เฟซบุ๊กเป็นข้อความและภาพจากทวิตเตอร์เรื่องตำรวจเลือกปกป้องกษัตริย์มากกว่าประชาชน (เหตุที่ 1 ตามฟ้อง)

แผ่นที่ 3 คือ รูปภาพแคปหน้าจอมือถือ จำนวน 3 ภาพ ได้แก่ 1) ภาพแสดงการคอมเมนต์ที่อ้างว่าทำโดยบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลย (ในภาพไม่แสดงต้นโพสต์ที่ได้เข้าไปแสดงความคิดเห็น) คอมเมนต์ด้วยภาพการ์ตูนล้อเลียนตัวคนหัวสุนัขในท่าหมอบกราบ (เหตุที่ 2 ตามฟ้อง) 2) ภาพการแชร์โพสต์เกี่ยวกับการวิจารณ์หลังเพลงปฏิรูปของวง R.A.D. ถูกปิดกั้นบนยูทูป และ 3) เป็นภาพแสดงลิงค์โปรไฟล์เฟซบุ๊กหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นของจำเลย 

การเบิกความของพยานโจทก์

ภาพรวมของการสืบพยานโจทก์ ส่วนใหญ่เป็นการเบิกความที่ต้องอาศัยการตีความทั้งรูปภาพและข้อความตามฟ้อง พยานแทบทุกปากเบิกความไปในทิศทางเดียวกันว่า เหตุที่ 1 ตามฟ้อง มีเนื้อหาพาดพิงถึงกษัตริย์ในลักษณะที่ไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม พยานโจทก์เหล่านี้ก็รับกับทนายจำเลยว่า ผู้โพสต์และเนื้อหามีลักษณะมุ่งหมายที่จะตำหนิหรือตัดพ้อการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้กำลังในการสลายการชุมนุม #ม็อบ13กุมภา64 มากกว่า

ส่วนเหตุที่ 2 ตามฟ้อง ซึ่งเป็นการแสดงความเห็นด้วยภาพการ์ตูนล้อเลียน พยานทุกปากเห็นพ้องกันว่าตัวการ์ตูนที่นั่งอยู่บนเก้าอี้และยื่นมือมอบเหรียญรางวัลแก่ตัวการ์ตูนตัวเป็นคนหัวเป็นสุนัขที่อยู่ท่าหมอบกราบนั้นหมายถึง ‘กษัตริย์’ โดยพยานครึ่งหนึ่งมีความเห็นว่ากษัตริย์ที่ว่านั้นเป็น ‘รัชกาลที่ 10’ แม้ภาพตัวการ์ตูนดังกล่าวจะไม่มีภาพใบหน้าหรือพระนามของกษัตริย์พระองค์ใดก็ตาม 

พยานที่ระบุว่าตัวการ์ตูนที่นั่งเก้าอี้ คือ กษัตริย์รัชกาลที่ 10 นั้นอ้างเหตุผลประกอบหลายอย่างต่างกันไป เช่น เพราะคอมเมนต์นี้ถูกกระทำขึ้นในรัชสมัยของ รัชกาลที่ 10 หรือเป็นเพราะอ้างอิงจากตัวการ์ตูนอื่นในภาพที่ถวายความเคารพตัวการ์ตูนที่นั่งเก้าอี้ด้วยการหมอบกราบ หรือดูจากคอมเมนต์ต่อท้ายที่กล่าวถึง ‘ฟูฟู’ อย่างไรก็ดี พยานส่วนใหญ่ยอมรับว่าการหมอบกราบนั้นแท้จริงไม่ได้ใช้กับเฉพาะกษัตริย์ แต่ใช้กับพระบรมวงศานุวงศ์หรือในพิธีไหว้ครูด้วย 

นอกจากนี้ พยานส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าเหตุที่ 2 มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกับเหตุที่ 1 หรือไม่ กล่าวคือ ไม่ทราบว่า เหตุที่ 2 เป็นการคอมเมนต์ใต้ต้นโพสต์เหตุที่ 1 หรือไม่ เนื่องจากพยานทุกปากยกเว้นผู้กล่าวหาไม่ได้เห็นโพสต์ต้นฉบับในเว็บไซต์เฟซบุ๊ก

เหตุที่ 3 ตามฟ้อง ซึ่งเป็นการแชร์โพสต์ที่มีเนื้อหาวิจารณ์การปิดกั้นเพลงปฏิรูป ของวง R.A.D. พยานโจทก์เองทุกปากไม่ได้เบิกความถึง มีเพียงผู้กล่าวหาที่เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยชัดเจนว่า โพสต์นี้ไม่ได้มีการระบุถึงชื่อหรือรูปภาพของกษัตริย์พระองค์ใดเลย รวมถึงเห็นด้วยว่า การแชร์โพสต์นั้นโดยปกติผู้คนจะเขียนคำบรรยายประกอบให้มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับโพสต์ต้นฉบับ ซึ่งพูดถึงการปิดกั้นเพลงปฏิรูปและเพลงขับไล่เผด็จการ

พยานโจทก์ปากที่ 1 – พสิษฐ์ ผู้กล่าวหา 

พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เบิกความว่า ประกอบอาชีพเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 ได้เปิดดูเฟซบุ๊ก ขณะอ่านข่าวสารอยู่นั้นได้สะดุดกับเฟซบุ๊กของจำเลยที่ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เมื่อตนเข้าไปดูบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยพบว่า จำเลยได้โพสต์และแชร์ข้อความรวมถึงรูปภาพ ซึ่งเป็นไปตามฟ้อง 

เหตุที่ 1 ตามฟ้อง – พสิษฐ์เห็นว่าเป็นการดูหมิ่นพระเกียรติของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 เพราะพระองค์ทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง ข้าราชการทำงานสนองพระยุคลบาท การสลายการชุมนุมเป็นหน้าที่ของตำรวจ ไม่เกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 เลยแม้แต่น้อย 

เหตุที่ 2 ตามฟ้อง – พสิษฐ์เข้าใจว่า ‘ผู้ที่นั่งเก้าอี้’ หมายถึง ‘กษัตริย์รัชกาลที่ 10’ เพราะสังเกตจากตัวการ์ตูนอื่นในภาพให้ความนอบน้อมและอยู่ในท่าหมอบคลาน ซึ่งเป็นประเพณีของชาวไทยเมื่อเข้าเฝ้ากษัตริย์ ตัวการ์ตูนที่ทำท่าทางหมอบคลานพยานเข้าใจว่าเป็น ‘ข้าราชการ’ เพราะสวมใส่ชุดพระราชทานสีขาวและมีบ่าอินทรธนูบนเครื่องแต่งกายนั้นด้วย 

พสิษฐ์เห็นว่า เป็นการหยามหมิ่นพระเกียรติ เข้าใจได้ว่าหมายถึง กษัตริย์เลี้ยงข้าราชการไว้เป็นเหมือนดั่งสุนัขรับใช้ ที่เข้าใจว่าเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 10 เพราะข้อความนี้ถูกโพสต์ขึ้นในรัชสมัยของรัชกาลที่ 10 

หลังจากนั้นพยานได้แคปภาพโปรไฟล์บัญชีเฟซบุ๊กของจำเลย พร้อมกับเหตุตามฟ้องทั้งสาม ต่อมาเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2564 จึงนำหลักฐานไปแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน ที่ สภ.สุไหงโก-ลก และได้เปิดบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยให้พนักงานสอบสวนดูด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่าบัญชีของจำเลยนี้มีอยู่จริงและยังคงใช้งานอยู่  

ขณะไปแจ้งความให้ดำเนินคดีกับจำเลยในคดีนี้ พสิษฐ์ยังได้แจ้งความดำเนินคดี ในข้อหาตามมาตรา 112 กับประชาชนรายอื่นอีก 8 รายด้วย แต่พนักงานสอบสวนรับแจ้งความเพียง 6 รายเท่านั้น  โดยประชาชนทั้ง 9 รายดังกล่าวไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ที่ อ.สุไหงโก-ลก หรือจังหวัดในภาคใต้เลยสักคนเดียว ในจำนวนนี้ยังมีเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีรวมอยู่ด้วย

ในวันที่เข้าแจ้งความ พสิษฐ์ได้มอบเอกสารเป็นเหตุตามฟ้องทั้ง 3 โพสต์ พร้อมทั้งรายละเอียดบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยด้วย และยังได้ให้ชื่อ-นามสกุลของจำเลยแก่พนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนจึงได้สั่งพิมพ์ข้อมูลของจำเลยจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ออกมาให้ตรวจสอบ พยานตรวจดูแล้วเห็นว่าตรงกันกับข้อมูลที่ได้จากเฟซบุ๊กของจำเลย ไม่ว่าจะเป็นชื่อ นามสกุล และภาพถ่าย 

ทนายจำเลยถามค้าน

พสิษฐ์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จบการศึกษาสูงสุดระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) สาขาหาดใหญ่ และผ่านการอบรมพาณิชย์นาวี หลักสูตรใบประกาศนียบัตรการเดินเรือพาณิชย์นาวี มีภูมิลำเนาอยู่ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 

ทนายให้พสิษฐ์ดูบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวของพสิษฐ์เองที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน และพสิษฐ์ให้การยืนยันว่าเป็นของตนเองจริงและเปิดใช้งานมาประมาณ 14 ปีแล้ว

พริษฐ์รับว่า หนังสือคำร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีนี้พสิษฐ์เป็นผู้จัดทำขึ้นมาด้วยตัวเอง ซึ่งมีส่วนที่ระบุว่าพสิษฐ์เป็นสมาชิกเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบันกษัตริย์ (คปส.) แต่พสิษฐ์ยืนยันว่าตนไม่ใช่สมาชิกของเครือข่ายดังกล่าว เหตุที่ในหนังสือคำร้องทุกข์ระบุว่าเป็นสมาชิก คปส. เพราะได้ดาวน์โหลดแบบฟอร์มจาก คปส. มาใช้ร้องทุกข์ในคดีนี้และไม่ได้เปลี่ยนข้อมูลส่วนที่เหลือในแบบฟอร์มไปเป็นอย่างอื่น

(หนังสือคำร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีนี้ จัดทำโดยนายพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน)

พสิษฐ์ยืนยันว่าไม่ได้ติดตามหรือจับตาจำเลยเป็นพิเศษเพื่อพยายามหาเหตุดำเนินคดีเอาผิด เป็นเพียงการติดตามทั่วไปและหากพบว่ามีข้อความหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ก็จะดำเนินคดีต่อไป

พยานเคยเข้าไปดูเพจเฟซบุ๊กของ คปส. ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มีวัตถุประสงค์แจ้งความดำเนินคดีกับประชาชนที่แสดงความเห็นเข้าข่ายผิดมาตรา 112 จากนั้นทนายจำเลยให้ดูโพสต์หนึ่งของ คปส. ซึ่งโพสต์ว่า “เจตนารมณ์ของเพจจัดขึ้นมาเพื่อกระทืบเหี้ยโดยเฉพาะ” ทนายถามว่า ‘เหี้ย’ ในที่นี้คือ ‘ประชาชนผู้เห็นต่าง’ ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ‘ไม่ทราบ’

บ่อยครั้งที่สมาชิก คปส. มักพูดคุยกันบนเพจเฟซบุ๊ก คปส. เพื่อชักชวนกันไปแจ้งความดำเนินคดีกับประชาชนยังพื้นที่ห่างไกล เช่น สุไหงโก-ลก, เชียงใหม่, เชียงราย ฯลฯ ซึ่งพสิษฐ์ก็เคยไปคอมเมนต์ใต้โพสต์ของเพจดังกล่าวด้วย

พยานทราบว่า มาตรา 112 ไม่ได้ถูกใช้ในช่วงปี 2560-2563 เพราะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาให้สัมภาษณ์ว่า กษัตริย์ รัชกาลที่ 10 ทรงมีเมตตาไม่ให้ใช้ ม.112 กับประชาชน แต่เมื่อช่วงปลายปี 2563 ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ใหม่ว่าจะใช้กฎหมายทุกฉบับดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมในขณะนั้น

ระหว่างที่มาตรา 112 ถูกระงับการบังคับใช้ พยานพบว่ามีผู้กระทำผิดเข้ามาตรานี้เป็นจำนวนมาก จึงได้ศึกษาข้อกฎหมายนี้เรื่อยมา ภายหลังที่ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่าจะกลับมาใช้กฎหมายทุกฉบับดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม พยานจึงได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ผู้อื่นในข้อหา ม.112 ด้วยตัวเองทันที โดยไม่ได้ปรึกษาผู้ใดก่อน

พสิษฐ์ตอบทนายจำเลยอีกว่า ตนบันทึกโพสต์ที่นำไปแจ้งความด้วยวิธีการแคปหน้าจอจากโทรศัพท์มือถือและจัดแต่งขนาดรูปให้เหมาะสมกับกระดาษ แล้วจึงสั่งพิมพ์ออกมา ทั้งนี้ ขณะแจ้งความพยานให้พนักงานสอบสวนดูรูปที่แคปหน้าจอและบันทึกอยู่ในมือถือ โดยไม่ได้ส่งมอบมือถือหรือไฟล์รูปภาพต้นฉบับให้ด้วย

เกี่ยวกับโพสต์ที่ 1 ตามฟ้อง – พสิษฐ์เบิกความตอบทนายจำเลยว่า พยานไม่เห็นด้วยว่า การสลายการชุมนุมจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ด่าทอและโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่เห็นด้วยว่าโพสต์จากทวิตเตอร์ที่จำเลยแชร์มามีจุดประสงค์มุ่งตำหนิเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งมีหน้าที่พิทักษ์ความสงบของประชาชน แต่เหตุที่ตำรวจสลายการชุมนุม พยานเห็นว่าเป็นเพราะผู้ชุมนุมทำลายข้าวของและก่อความวุ่นวาย แต่ทั้งนี้พยานไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์การชุมนุม #ม็อบ 13กุมภา64 ด้วย แต่ทราบเบื้องต้นว่ามีเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงกับประชาชน

ส่วนโพสต์ที่ 2 พยานเข้าใจว่า ‘ตัวการ์ตูนที่มีลักษณะตัวเป็นคน หัวเป็นสุนัข’ เป็น ‘เจ้าที่ตำรวจ’ ไม่ใช่ข้าราชการทั่วไป ส่วนวัตถุทรงกลมรีที่มีอักษร ‘ส’ อยู่ภายในที่ปรากฏอยู่ในภาพดังกล่าว พยานไม่ทราบว่าแปลว่าอะไร แต่ไม่ใช่อักษรพระปรมาภิไธยย่อของรัชกาลที่ 10 ซึ่งคือ ‘ว.ป.ร.’ ภาพดังกล่าวจะเป็นทำนองประชดเสียดสีหรือไม่ พยานไม่มีความเห็น

และเกี่ยวกับโพสต์ที่ 3 นั้น พยานเห็นด้วยว่า ปกติการแชร์โพสต์ผู้คนจะต้องเขียนคำบรรยายที่เชื่อมโยงกับต้นโพสต์ที่แชร์มา ซึ่งในที่นี้ต้นโพสต์มีเนื้อหาเกี่ยวกับประยุทธ์และเพลงขับไล่เผด็จการ โดยไม่มีข้อความระบุถึงชื่อกษัตริย์ รัชกาลที่ 10 จึงต้องตีความเอง ซึ่งการตีความขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคน

พสิษฐ์รับว่า ไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีด้วย ม.112 กับผู้ใช้งานบัญชีทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊กที่จำเลยแชร์โพสต์มา หรือผู้ใช้งานเฟซบุ๊กที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อท้ายในโพสต์ที่ 2 

อัยการไม่ถามติง

พยานโจทก์ปากที่ 2 – ผศ.วันชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา

ผศ.วันชัย แก้วหนูนวล เบิกความว่า ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ จ.นราธิวาส รับข้าราชการเป็นอาจารย์ สอนวิชาภาษาไทย อยู่ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อช่วงเดือน ต.ค. 2564 คณบดีได้ติดต่อมาบอกว่ามีผู้ต้องการขอคำปรึกษาเกี่ยวกับภาษาไทย เมื่อตนไปถึงสำนักงานคณบดีได้พบกับพนักงานสอบสวน สภ.สุไหงโก-ลก และได้ดูเอกสารซึ่งเป็นเหตุตามฟ้องในคดีนี้ 

เหตุที่ 1 ตามฟ้อง – พยานอ่านแล้วรู้สึกว่า เป็นการเขียนเพื่อสื่อในลักษณะตัดพ้อและเหน็บแนมต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เลือกปกป้องกษัตริย์ ไม่ใช่เพราะความจงรักภักดี แต่เพราะผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากกษัตริย์ และโพสต์นี้ก็มีการพาดพิงถึงกษัตริย์ด้วย ผู้โพสต์มีเจตนาเหน็บแนมและประชดประชันว่ากษัตริย์ไม่ได้ให้อะไรตำรวจเลย นอกจากปลอกคอ ซึ่งเป็นเครื่องผูกล่ามของสัตว์ บุคคลที่โพสต์ข้อความหรือภาพนี้มีเจตนาจาบจ้วงต่อพระมหากษัตริย์

เหตุที่ 2 ตามฟ้อง – พยานเห็นว่าสื่อถึงการเหน็บแนมผู้รับใช้สถาบันกษัตริย์ เพราะรูปภาพและบริบทพยายามเลียนแบบสถาบันกษัตริย์ที่มีการก้มหมอบกราบ มีรูปแทนพระองค์ คนที่นั่งอยู่น่าจะเป็นกษัตริย์ ผู้คนหมอบกราบ แต่งกายในชุดข้าราชการสีขาว น่าจะเป็นข้าราชบริพาร ข้าราชการ ข้อความสื่อถึงการประชดประชันสถาบันกษัตริย์และข้าราชการ

ผู้ที่เข้ามาแสดงความเห็นต่อท้ายเรื่องฟูฟู พยานเห็นว่าถ้ามองภาพที่จำเลยคอมเมนต์เป็นภาพการ์ตูนคนหัวสุนัขไว้ก่อนหน้า และดูข้อความของผู้ที่เข้ามาคอมเมนต์เรื่องฟูฟูนี้ก็จะรู้ได้ว่า ‘ฟูฟู’ เป็นสุนัขทรงเลี้ยงของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ข้อความหมายความว่า บุคคลที่รับใช้สถาบันกษัตริย์ทำงานหนักจนตายก็ไม่ได้ยศเหมือนอย่างสุนัขทรงเลี้ยง

ทนายจำเลยถามค้าน

ผศ.วันชัย ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ขณะให้การกับพนักงานสอบสวน พยานได้ดูเฉพาะเอกสารที่เป็นเหตุตามฟ้อง ซึ่งผ่านการตัดแต่งมาเรียงต่อกัน โดยไม่ได้เห็นต้นฉบับโพสต์ที่แท้จริง 

เหตุที่ 1 ตามฟ้อง – ภาพ #ม็อบ13กุมภา พยานยืนยันไม่ได้ว่าเป็นภาพการสลายการชุมนุมของตำรวจ เพราะสิ่งที่ปรากฏในรูปภาพ ไม่ว่าใครๆ ก็ทำได้ และพยานไม่เคยเล่นทวิตเตอร์มาก่อน ในห้วงเวลาเดียวกันพยานทราบว่ามีความขัดแย้งทางการเมืองจนปะทุเป็นการประท้วงทางการเมือง ซึ่งเกิดมาจากความขัดแย้งในหลายประเด็นด้วยกัน

พยานยืนยันว่า ตำรวจมีหน้าที่เป็นผู้สลายการชุมนุม แต่ทั้งนี้ไม่จำเป็นจะต้องใช้ความรุนแรงหรือกำลังในการสลายการชุมนุมเสมอไป ผู้ชุมนุมอาจจะเลิกการชุมนุมไปเองหรือตำรวจอาจจะใช้วิธีเจรจาต่อรองให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมก็ได้เช่นกัน 

หากตำรวจสลายการชุมนุม ประชาชนจะไม่ก่นด่าเสมอไป แต่ฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามกับรัฐจะด่าทอแน่นอน พยานยืนยันว่าโพสต์เกี่ยวกับการชุมนุมและการสลายการชุมนุมของตำรวจนี้มุ่งหมายตำหนิการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เหตุที่ 2 ตามฟ้อง – พยานไม่ทราบว่า โพสต์นี้เป็นส่วนเดียวกันที่ต่อเนื่องกับโพสต์แรกหรือไม่

ภาพตัวการ์ตูนตัวเป็นคนหัวเป็นสุนัข ทุกองค์ประกอบของภาพมุ่งเน้นสื่อความหมายถึงข้าราชการไทยที่หมอบกราบสถาบันกษัตริย์ การ์ตูนทำในเชิงล้อเลียนหรือเสมือน ตัวอักษรย่อไม่จำเป็นต้องทำให้สมบูรณ์ก็ได้ แต่สื่อความหมายได้ก็พอ ทั้งนี้ ‘ส’ ไม่ใช่อักษรพระปรมาภิไธยย่อของ รัชกาลที่ 10 ซึ่งตามความเป็นจริงนั้นคือ ‘ว.ป.ร.’

ภาพนี้เป็นการล้อเลียนข้าราชการ เพราะตัวการ์ตูนใส่ชุดข้าราชการสีขาว ไม่ใช่เฉพาะตำรวจ แต่ข้าราชการมีหลายเหล่า พิธีหมอบกราบใช้กับบุคคลที่มีพระยศตั้งแต่ชั้นพระบรมวงศานุวงศ์ขึ้นไป และยังใช้กับพิธีไหว้ครูอีกด้วย แต่พิธีไหว้ครูจะต้องมีองค์ประกอบภาพที่สื่อว่าเป็นวิธีไหว้ครูด้วย 

อัยการไม่ถามติง

พยานโจทก์ปากที่ 3 – สุปราณี ปลัดอำเภอ

สุปราณี ใสบริสุทธิ์ ปลัดอำเภออยู่ที่ อ.สุไหงโก-ลก เบิกความว่า ในคดีนี้เมื่อช่วงเดือน ต.ค. 2564 พนักงานสอบสวน สภ.สุไหงโก-ลก ได้ติดต่อมาเพื่อขอให้มาเป็นพยานในคดีนี้และให้ดูเอกสารซึ่งเป็นเหตุตามฟ้อง พยานดูแล้วให้ความเห็นว่า

เหตุที่ 1 ตามฟ้อง – ทราบว่าเป็นข้อความที่แชร์มาอีกทีหนึ่ง แต่ไม่ทราบว่าแชร์มาจากที่ใด เห็นว่าเป็นการเปรียบเทียบว่าตำรวจปกป้องกษัตริย์ไม่ได้ปกป้องประชาชน ‘ปลอกคอ’ เป็นตัวแสดงถึงความเป็นเจ้าของ ใช้กับสุนัขหรือแมว พยานรู้สึกว่าการนำปลอกคอมาใช้กับตำรวจนั้นเสมือนว่าตำรวจเป็นสัตว์เลี้ยงของกษัตริย์ ซึ่งไม่เหมาะสม 

เหตุที่ 2 ตามฟ้อง – ภาพนี้เป็นภาพล้อเลียนคนที่เข้าเฝ้ากษัตริย์ ว่าเป็นสัตว์เลี้ยงของกษัตริย์ ให้กษัตริย์ชักจูงให้ทำในสิ่งที่ต้องการ บุคคลที่นั่งอยู่ล้อเลียนมาจากกษัตริย์ การนำหัวสุนัขมาสวมใส่กับคนที่หมอบกราบอยู่นั้นไม่เหมาะสม

เกี่ยวกับข้อความที่มีผู้ที่เข้ามาแสดงความเห็นเรื่องฟูฟูต่อท้ายคอมเมนท์ของจำเลยในเหตุที่ 2 นั้น คำว่า ‘ฟูฟู’ เป็นชื่อสุนัขทรงเลี้ยงของกษัตริย์ แต่พยานไม่แน่ใจว่าเป็นกษัตริย์พระองค์ใด

ทนายจำเลยถามค้าน

สุปราณีรับกับทนายจำเลยว่า พนักงานสอบสวนให้พยานแปลความหมายข้อความและรูปภาพตามฟ้อง โดยไม่ทราบว่าต้นโพสต์ที่แท้จริงเป็นอย่างไร 

เหตุที่ 1 ตามฟ้อง – พยานจำไม่ได้ว่า #ม็อบ13กุมภา64 มีการสลายการชุมนุมหรือไม่ เมื่อตำรวจสลายการชุมนุมประชาชนฝั่งตรงข้ามจะก่นด่า แต่ก็ไม่เสมอไป และเห็นด้วยว่าเหตุที่ 1 ตามฟ้องเป็นการมุ่งตำหนิเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่มีการพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ด้วย

เหตุที่ 1 และ 2 พยานเห็นว่าอาจไม่ใช่ภาพเดียวกันก็ได้ และไม่ทราบว่ามีความเกี่ยวข้องต่อเนื่องกันหรือไม่ เหตุที่ 2 มุ่งต่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยต้องดูภาพรวมทั้งภาพ ไม่ใช่แค่ตัวการ์ตูนที่มีตัวเป็นคนและมีหัวเป็นสุนัข พยานไม่ทราบว่าอักษร ‘ส’ หมายความว่าอย่างไร ในภาพไม่ปรากฏชื่อและภาพของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 โดยรวมแล้วภาพนี้เป็นภาพลักษณะเสียดสีล้อเลียนต้องอาศัยการตีความ การก้มหมอบกราบส่วนใหญ่ใช้กับกษัตริย์และยังใช้กับพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงใช้ในพิธีไหว้ครูอีกด้วย ส่วนจะใช้กับพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณด้วยหรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ

อัยการไม่ถามติง

พยานโจทก์ปากที่ 4 – ประสิทธิ์ ทนายความ

ประสิทธิ์ ศรีสืบ อาชีพทนายความ อาศัยอยู่ที่ จ.นราธิวาส เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้เมื่อช่วงเดือน ต.ค. ปี 2564 ได้รับการติดต่อจากพนักงานสอบสวน สภ.สุไหงโก-ลก ให้มาเป็นพยานและได้ดูเอกสาร ซึ่งเป็นเหตุตามฟ้อง พยานเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งานเฟซบุ๊กเบื้องต้น แต่ไม่เคยเปิดใช้งานมาก่อน 

เหตุที่ 1 ตามฟ้อง – เมื่ออ่านแล้วทำให้เข้าใจได้ว่ากษัตริย์เป็นคนไม่ดี เปรียบเทียบว่ากษัตริย์มองข้าราชการเป็นเหมือนเป็นสุนัขรับใช้ เพราะว่ามีคำว่า ‘ปลอกคอ’

เหตุที่ 2 ตามฟ้อง – พยานเข้าใจว่าคนที่นั่งเก้าอี้คือ ‘ผู้หลักผู้ใหญ่’ ถ้าดูจากบริบทของไทยจะเปรียบได้ว่าเป็น ‘กษัตริย์’ แต่ไม่ทราบว่าเป็นกษัตริย์พระองค์ใด ส่วนคนที่หมอบกราบพยานเข้าใจว่าเป็น ‘ข้าราชการ’ ผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นเรื่อง ‘ฟูฟู’ พยานไม่ทราบว่าฟูฟูหมายถึงผู้ใด

ทนายจำเลยถามค้าน

ประสิทธิ์ตอบทนายจำเลยว่า พยานไม่ทราบว่าภาพตามฟ้องที่ถูกแคปหน้าจอมาเรียงต่อกันนั้นจะมีการตัดต่อหรือไม่ เพราะเห็นว่าเป็นสำเนาเอกสารแล้ว และเหตุที่ 1-2 ตามฟ้องจะมีความเกี่ยวเนื่องเป็นอันเดียวกันหรือไม่ พยานไม่ทราบ 

เหตุที่ 1 ตามฟ้อง – พยานเห็นว่าเป็นข้อความลักษณะตัดพ้อและแสดงความน้อยใจต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พยานจำไม่ได้ว่าขณะนั้นมีการชุมนุมเพื่อประท้วงรัฐบาลหรือไม่ แต่หากเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม ประชาชนที่ทำการชุมนุมจะด่าทอเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เหตุที่ 2 ตามฟ้อง – พยานยืนยันว่าไม่ปรากฏพระนามและภาพของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 เมื่อไม่ปรากฏชื่อใดในภาพการ์ตูนดังกล่าวจึงต้องอาศัยการตีความ ในทางกฎหมายจึงไม่ใช่การยืนยันข้อเท็จจริง เป็นเพียงการเปรียบเทียบเท่านั้น 

หากไม่มีผู้มาแสดงความคิดเห็นต่อท้ายเรื่องฟูฟู ภาพการ์ตูนที่มีลักษณะตัวเป็นคนหัวเป็นสุนัขก็ไม่อาจตีความได้ว่าคนหัวสุนัขดังกล่าวนั้นหมายถึงสุนัขทรงเลี้ยงที่ชื่อฟูฟู ภาพการ์ตูนคนหัวสุนัข สื่อความหมายว่าคนก้มกราบเป็นสุนัขรับใช้ เปรียบเทียบเจ้าหน้าที่เป็นสุนัขรับใช้ เป็นภาพการ์ตูนล้อเลียน ไม่ได้มีลักษณะในการประชดประชัน

พยานไม่แน่ใจว่า พิธีหมอบกราบใช้กับผู้ที่มีพระยศตั้งแต่พระบรมวงศานุวงศ์ขึ้นไปหรือไม่ และไม่ทราบว่าหลังมีการรัฐประหาร ปี 2557 การหมอบกราบก็ได้ถูกใช้กับพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รวมถึงพิธีไหว้ครูด้วยหรือไม่ ส่วนตัวอักษร ‘ส’ ในภาพการ์ตูนนั้น พยานไม่ทราบว่าหมายถึงอะไร

อัยการไม่ถามติง

พยานโจทก์ปากที่ 5 – กิตติศักดิ์ นักการเมืองท้องถิ่น

กิตติศักดิ์ กังวานโยธากุล นักการเมืองท้องถิ่น อยู่ที่ อ.สุไหงโก-ลก เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้เมื่อช่วงเดือน ต.ค. ปี 2564 พนักงานสอบสวน สภ.สุไหงโก- ลก ติดต่อให้มาเป็นพยาน และให้ดูเอกสารซึ่งเป็นเหตุตามฟ้อง

เหตุที่ 2 ตามฟ้อง – พยานเข้าใจว่า ‘คนที่นั่งอยู่บนเก้าอี้’ คือ ‘กษัตริย์’ ส่วนคนมีหัวเป็นสุนัขตัวเป็นคนและอยู่ในท่าหมอบกราบนั้นคือ ‘ข้าราชการ’ โดยรวมภาพสื่อความหมายได้ว่า กษัตริย์มองข้าราชการเป็นสุนัขรับใช้ เพราะมีคำว่า ‘ปลอกคอ’ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้กับสุนัข พยานเข้าใจว่าเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 10 เพราะถูกข้าราชการให้ความเคารพด้วยการหมอบกราบ และเหตุนี้จำเลยกระทำขึ้นในปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ กษัตริย์รัชกาลที่ 10 ขึ้นครองราชย์อยู่

ทนายจำเลยถามค้าน

กิตติศักดิ์รับกับทนายจำเลยว่า พยานเห็นด้วยว่าเอกสารตามฟ้อง ซึ่งเป็นภาพแคปหน้าจอมาจากมือถือนั้นมีการตัดต่อมาวางเรียงกัน ไม่ได้ปรินท์มาจากเฟซบุ๊กต้นฉบับโดยตรง ฉะนั้นข้อความจะตรงกันกับต้นโพสต์ที่แท้จริงหรือไม่นั้นพยานไม่อาจทราบได้

เหตุที่ 1 ตามฟ้อง – พยานเห็นว่าเป็นข้อความที่โพสต์ในลักษณะตัดพ้อและแสดงความน้อยใจต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นข้อความเชิงเสียดสี ส่วนภาพถ่ายประกอบซึ่งเป็นการสลายการชุมนุมนั้น ไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องกับ #ม็อบ13กุมภา จริงหรือไม่ แต่หากตำรวจสลายการชุมนุมจริง ผู้ประท้วงก็น่าจะด่าทอตำรวจอยู่แล้วเป็นปกติ

เหตุที่ 2 ตามฟ้อง – ภาพการ์ตูนที่มีตัวเป็นคน หัวเป็นสุนัข พยานเห็นว่าเป็นภาพการ์ตูนล้อเลียน เหน็บแนม ประชดเสียดสี ว่าเจ้าหน้าที่เป็นเหมือนสุนัข ไม่ทราบว่า ‘ข้าราชการ’ ในที่นี้นั้นหมายถึงตำรวจหรือทหารหรืออื่นใดกันแน่ เป็นภาพที่ให้ความหมายเน้นหนักไปที่เจ้าหน้าที่โดยเฉพาะ หากไม่มีผู้มาแสดงความคิดเห็นเรื่องฟูฟูต่อท้าย ภาพการ์ตูนตัวเป็นคนหัวเป็นสุนัขนี้จะไม่สามารถตีความได้ว่าเป็นสุนัขทรงเลี้ยงของกษัตริย์

การหมอบกราบใช้กับบุคคลที่มียศตั้งแต่พระบรมวงศานุวงศ์ขึ้นไป และยังใช้กับพิธีไหว้ครูอีกด้วย แต่ไม่ทราบว่าจะใช้กับพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณด้วยหรือไม่ ส่วนตัวอักษร ‘ส’ พยานไม่ทราบว่ามีความหมายว่าอย่างไร ตามภาพไม่ได้ปรากฏรูปใบหน้าหรือระบุชื่อของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 หรือระบุชื่อว่าเป็นบุคคลใด จึงต้องอาศัยการตีความ 

อัยการไม่ถามติง

พยานโจทก์ปากที่ 6 – พ.ต.ต.นที พนักงานสอบสวน

พ.ต.ต.นที จันทร์แสงศรี พนักงานสอบสวนในคดีนี้ เบิกความว่า ในคดีนี้เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2564 เวลาประมาณ 17.00 น. ขณะปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ สภ.สุไหงโก-ลก พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ได้เดินทางมาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีในข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กับจำเลยในคดีนี้ โดยได้ส่งมอบหนังสือแจ้งความร้องทุกข์ที่จัดทำขึ้นเองพร้อมกับเอกสารซึ่งเป็นรายละเอียดเหตุที่กล่าวหาว่าเป็นความผิดให้กับพยาน 

พสิษฐ์บอกว่า ได้เล่นเฟซบุ๊กแล้วพบกับเฟซบุ๊กของจำเลย อ่านแล้วเห็นว่าเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 จึงได้มาแจ้งความดำเนินคดี โดยพสิษฐ์ได้นำชื่อและนามสกุลของจำเลยมามอบให้ด้วยเพื่อให้พยานสืบค้นดูในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ หลังได้ข้อมูลและตรวจสอบดูแล้ว พสิษฐ์บอกว่าข้อมูลตรงกันกับจำเลย ทั้งภาพใบหน้า และชื่อ-นามสกุล พสิษฐ์จึงยืนยันให้ดำเนินคดีจำเลย

ขณะรับแจ้งความ พยานไม่ได้ตรวจดูบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยจากมือถือของพสิษฐ์ เพราะในวันและเวลาเดียวกันนั้นพสิษฐ์มาแจ้งความดำเนินคดี ม.112 กับประชาชนรายอื่นอีก 8 รายด้วยกัน พยานจึงยุ่งมาก

เอกสารที่พสิษฐ์นำมาแจ้งความด้วยนั้น มีรูปหนึ่งแสดงลิงค์ (link) โปรไฟล์บัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยด้วย พยานจึงได้ส่งข้อมูลดังกล่าวไปตรวจสอบที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ผลการตรวจสอบจากหน่วยงานทั้งสองพบว่า ไม่สามารถดึงข้อมูลจากบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวมาตรวจสอบได้เนื่องจากข้อมูล IP Address ถูกเก็บไว้กับผู้ให้บริการที่ต่างประเทศ แต่พบว่าบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวเปิดใช้งานอยู่ และพบ ID LINE พร้อมกับโทรศัพท์มือถือถูกโพสต์อยู่ที่หน้าไทม์ไลน์ของเฟซบุ๊กดังกล่าวอีกด้วย ปรากฏตามรายงานการตรวจสอบ

เมื่อรวบรวมข้อมูลแล้วเสร็จ พยานจึงได้ออกหมายเรียกให้จำเลยมาพบ ที่ สภ.สุไหงโก-ลก เมื่อจำเลยและทนายความมาถึงจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (3) โดยจำเลยให้การปฏิเสธ 

พยานยังได้สอบปากคำจำเลยไว้อีกด้วย ขณะสอบปากคำจำเลยได้ให้เบอร์โทรศัพท์ไว้จำนวน 3 เบอร์ ซึ่ง 1 ใน 3 เบอร์นั้นตรงกับเบอร์โทรศัพท์ที่ ปอท.และกระทรวงดิจิทัลฯ ตรวจสอบพบว่าถูกโพสต์อยู่บนหน้าไทม์ไลน์เฟซบุ๊กของจำเลยโดยจำเลยเป็นคนโพสต์เอง

นอกจากนี้พยานยังได้สอบปากคำคนสนิทของจำเลยที่เดินทางไปพร้อมกัน โดยคนสนิทของจำเลยได้ให้การยืนยันว่าเบอร์ที่ปรากฏอยู่ในรายงานการตรวจสอบของ ปอท. และกระทรวงดิจิทัลฯ นั้นเป็นเบอร์โทรที่จำเลยเปิดใช้งานอยู่จริง

เหตุที่ 1 และที่ 2 ตามฟ้อง พยานเห็นว่าเมื่อปะติดปะต่อข้อความเข้าด้วยกันแล้ว เข้าใจได้ว่าตำรวจเลือกรับใช้กษัตริย์มากกว่าประชาชน โดยภาพการ์ตูนตัวเป็นคนหัวเป็นสุนัขเป็นการสื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นสุนัขรับใช้ ส่วนผู้ที่นั่งอยู่บนเก้าอี้ พยานเข้าใจว่าเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 10 เพราะมีผู้มาแสดงความคิดเห็นต่อท้ายระบุชื่อ ‘ฟูฟู’ ซึ่งเป็นสุนัขทรงเลี้ยงของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 และภาพการสลายการชุมนุมเหตุการณ์ประท้วงตามเหตุที่ 1 นั้นเกิดขึ้นในรัชสมัยของรัชกาลที่ 10 

ทนายจำเลยถามค้าน

พนักงานสอบสวนตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า พยานไม่แน่ใจว่า พสิษฐ์เป็นสมาชิกของ คปส. หรือไม่ แต่เมื่ออ่านจากหนังสือคำร้องทุกข์ที่พสิษฐ์จัดทำขึ้นเองและส่งมอบให้เพื่อให้ดำเนินคดีกับจำเลยในคดีนี้นั้น มีการระบุไว้ชัดเจนว่า พสิษฐ์เป็นสมาชิกของ คปส. นอกจากนี้ในคำร้องดังกล่าวยังมีการระบุชื่อ-นามสกุลของจำเลยไว้อย่างชัดเจนอีกด้วย

ส่วนเอกสารประกอบการร้องทุกข์ ซึ่งเป็นเหตุให้ดำเนินคดีนี้นั้นไม่ได้ถูกสั่งพิมพ์ออกมาจากเฟซบุ๊กโดยตรง แต่ได้มาด้วยการแคปภาพหน้าจอมือถือแล้วนำไฟล์ภาพมาจัดวางเรียงต่อกัน 

พนักงานสอบสวนร่วมในคดีนี้ ซึ่งอยู่ด้วยกันกับพยานในขณะที่พสิษฐ์มาแจ้งความร้องทุกข์ก็ไม่ได้ขอไฟล์รูปต้นฉบับนั้นไว้ และพยานก็ไม่ได้เข้าไปตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กที่พสิษฐ์อ้างว่าเป็นของจำเลยว่ามีการโพสต์หรือแชร์จริงตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ อีกทั้งไม่ได้ยึดโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ของจำเลยมาไว้ตรวจสอบอีกด้วย พยานจึงไม่ทราบว่า เหตุตามฟ้องจะตรงกับโพสต์ในเฟซบุ๊กของจำเลยหรือไม่ 

พยานได้ยื่นคำร้องขอข้อมูลกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือของจำเลยเพื่อตรวจสอบแล้วว่าเบอร์ที่ได้จากการสอบปากคำและตรวจสอบของ ปอท.และกระทรวงดิจิทัลฯ นั้นเป็นของจำเลยจริงหรือไม่ แต่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือไม่ได้ส่งจดหมายตอบกลับมาแต่อย่างใด

ตามรายงานการสอบสวนของ ปอท. และกระทรวงดิจิทัลฯ ไม่พบการกระทำตามฟ้องในบัญชีเฟซบุ๊กที่กล่าวหาว่าเป็นของจำเลยแต่อย่างใด และพยานทราบว่าโพสต์เฟซบุ๊กอาจจะมีการปลอมแปลงกันได้ ภาพแคปหน้าจอที่พสิษฐ์นำมาแจ้งความ ซึ่งเป็นเหตุที่ 1 และ 2 ตามฟ้องนั้นพยานไม่แน่ใจว่าจะเป็นข้อความที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันหรือไม่ 

เหตุที่ 1 ตามฟ้อง – พยานยืนยันว่า เป็นภาพการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อประชาชนถูกสลายการชุมนุมโดยตำรวจ ประชาชนจะมีการก่นด่าตำรวจบ้าง ยืนยันว่าเป็นโพสต์ที่มีลักษณะมุ่งตำหนิการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 

เหตุที่ 2 ตามฟ้อง – จำเลยไม่ได้คอมเมนต์คำว่า ‘ฟูฟู’ แต่เป็นผู้อื่นที่มาแสดงความเห็นต่อท้าย พยานยืนยันว่าหากไม่ดูข้อความที่ผู้อื่นมาแสดงความเห็นต่อท้ายเรื่องฟูฟูนั้น เมื่ออ่านคอมเมนต์แรกของจำเลยแล้ว เห็นว่าสื่อความหมายได้ว่า การ์ตูนตัวคนหัวสุนัขนั้นจะหมายถึงสุนัขทรงเลี้ยงที่ชื่อ ฟูฟู ไม่ได้

คดีนี้พยานไม่ได้ออกหมายจับจำเลย จำเลยซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ต้องหาได้เดินทางมาพบกับพนักงานสอบสวนถึงที่ สภ.สุไหงโก-ลก ด้วยตนเอง และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

อัยการไม่ถามติง

การเบิกความของพยานจำเลย 

เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งเป็นภาพแคปหน้าจอโพสต์เฟซบุ๊กที่ผู้กล่าวหาอ้างว่าเป็นความผิดและนำมาแจ้งความร้องทุกข์นั้น พยานฝั่งจำเลยทั้งสองปากเห็นพ้องกันว่าเอกสารดังกล่าวยังไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอ โดยเบิกความยืนยันว่าภาพในเอกสารดังกล่าวผ่านการตัดต่อ แก้ไข และเปลี่ยนมาอย่างแน่นอน เพราะหากเทียบกับกับรูปภาพที่ได้จากการแคปหน้าจอมือถือปกติ จะเห็นได้ว่ามีจุดต่างกันอยู่หลายจุด เช่น มีกรอบภาพ ขนาดภาพไม่เท่ากัน ภาพไม่มีส่วนหัวที่แสดงระดับแบตเตอร์รี่ หรือตัวเลขแสดงวัน-เวลา เป็นต้น แต่ไม่ทราบว่าจะทำด้วยวิธีการใด 

ทั้งนี้พยานยังเบิกความตั้งข้อสังเกตอีกว่า การกล่าวหาจำเลยว่ากระทำผิดตามฟ้องนั้นไม่จำเป็นว่าจำเลยจะเป็นผู้กระทำด้วยตัวเองหรือเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กก็สามารถมีหลักฐานหมาย จ.1 แผ่นที่ 2 และ 3 ดังกล่าวได้ ซึ่งอาจจะได้มาจากการเจาะเข้าระบบคอมพิวเตอร์ (Hacker) โดยแฮกเกอร์ หรือไปล็อกอินในอุปกรณ์เครื่องอื่นแล้วลืมออกจากระบบ แล้วจึงมีบุคคลนิรนามมากลั่นแกล้งก็ย่อมเป็นไปได้ รวมถึงอาจจะได้มาจากวิธีการแก้ไขอื่นใดทางเทคนิคและคอมพิวเตอร์ เช่น Web Inspector, โปรแกรมตัดต่อภาพอื่นๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้จัดการ iLaw ยังได้เบิกความถึง การใช้มาตรา 112 ในการกลั่นแกล้งผู้เห็นต่างทางการเมือง โดยชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันมีหลายกลุ่มจัดตั้งขึ้นมาเพื่อแจ้งความมาตรา 112 กับประชาชนโดยเฉพาะเป็นจำนวนหลายร้อยคดี

พยานจำเลยปากที่ 1 – ยิ่งชีพ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เบิกความว่า จบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และศึกษาจบเนติบัณฑิต ปัจจุบันทำงานอยู่ที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ilaw) ในตำแหน่งผู้จัดการโครงการ โครงการดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อติดตามและศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 รวมถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

พยานทำงานอยู่ที่ iLaw ตั้งแต่ปี 2552 และยังรับเป็นอาจารย์พิเศษอยู่ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสอนในวิชารายงานข่าวด้านสิทธิมนุษยชน และได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อีกด้วย 

อีกทั้งยังเคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ร่วมกับนักวิชาการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่ปี 2553-2555 โดยพบว่า มาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีจุดประสงค์บังคับใช้กับผู้เจาะระบบ (Hacker) ในลักษณะความผิดต่อระบบ แต่เมื่อบังคับใช้จริงกลับถูกนำมาใช้เอาผิดเกี่ยวกับการนำเข้าข้อมูลทางการเมืองหรือข้อมูลด้านความมั่นคง ซึ่งผิดเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ 

พยานเคยได้เรียนหลักสูตรการพิสูจน์ตัวตนทางอินเทอร์เน็ตและทำงานวิจัยด้านนี้มา การพิสูจน์ตัวตนผู้ใช้งานเฟซบุ๊กนั้นสามารถตรวจสอบได้จากหลักฐาน 5 อย่างด้วยกัน ดังนี้

  1. ต้องระบุต้นทางของเนื้อหาโพสต์ นั่นคือ ตัวชี้แจง (URLs) ซึ่งจะต้องสั่งพิมพ์หน้าเฟซบุ๊กบน Browser โดยตรง URLs จึงจะปรากฏ ซึ่งจะอยู่ด้านล่างซ้ายเสมอ และด้านบนจะปรากฏวันที่สั่งพิมพ์และผู้สั่งพิมพ์จะต้องลงลายมือเซ็นกำกับไว้ด้วย นอกจากนี้ด้านขวาล่างจะปรากฏตัวเลข ซึ่งแสดงจำนวนหน้ากำกับไว้ด้วยว่า โพสต์ต้นฉบับมีความยาวทั้งหมดกี่หน้า ทั้งหมดนี้ก็จะสามารถใช้เป็นหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือระดับหนึ่งว่ามีต้นโพสต์อยู่จริง
  2. เจ้าหน้าที่มีอำนาจตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่จะยื่นหนังสือไปยังผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเพื่อขอข้อมูลว่า ผู้ใช้บริการขณะนั้นใช้ IP address ใด หลังจากนั้นจะยื่นต่อไปยังผู้ให้บริการเพื่อขอข้อมูลว่า ผู้จด IP Address นั้นเป็นผู้ใดและอยู่ที่ใด
  3. เมื่อทราบชื่อที่อยู่ของผู้ใช้ IP Address ก็จะสามารถขอให้ศาลออกหมายเพื่อขอรายละเอียดข้อมูลจากแหล่งที่อยู่ว่ามีประวัติเคยเข้าใช้งานอะไรบ้าง
  4. เจ้าหน้าที่ตรวจหาดีเอ็นเอบนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์มือถือได้เพื่อให้รู้ว่าใครใช้อุปกรณ์อยู่ในขณะนั้น

ทนายจำเลยให้พยานดูพยานหลักฐานที่ผู้กล่าวหานำเข้าแจ้งความจำเลย (หมาย จ.1) พยานให้ความเห็นว่า เป็นการแคปภาพหน้าจอมือถือ แล้วนำมาเรียงต่อกัน จากนั้นจึงสั่งพิมพ์ออกมา หน้าตาคล้ายแอพพลิเคชั่นเฟซบุ๊กบนโทรศัพท์มือถือ แต่ไม่ได้ปรากฏ URL

ภาพแคปหน้าจอดังกล่าวนั้นสามารถทำได้ด้วยการแคปหน้าจอโทรศัพท์มือถือแต่ละรุ่นแล้วบันทึกเป็นไฟล์ภาพลงในเครื่อง และน่าจะเอาไปเข้าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อจัดเรียงไฟล์ภาพก่อน ซึ่งมีข้อสังเกตคือ

  1. ภาพแคปหน้าจอมือถือจะไม่มีกรอบภาพ แต่หมาย จ.1 มีกรอบภาพอยู่ 
  2. ส่วนหัวของภาพที่ทำการแคปหน้าจอจะมีบ่งบอกเวลา ระดับแบตเตอรี่ ระดับสัญญาณโทรศัพท์ แต่หมาย จ.1 นั้นมีการตัดต่อเอาส่วนนี้ออกทั้งหมด
  3. ขนาดภาพมีขนาดเท่ากันทั้งหมด โดยจะเท่ากับขนาดของหน้าจอมือถือแต่ละรุ่นที่ทำการแคปภาพ แต่จะเห็นได้ว่า ในแผ่นที่ 3 ซึ่งมีภาพแคปหน้าจอทั้งหมด 3 ภาพ มีขนาดรูปที่ไม่เท่ากัน ฉะนั้นจึงอาจพูดว่า ภาพที่ปรากฏอยู่บนหมาย จ.1 ทั้งหมดไม่ใช่ภาพต้นฉบับที่แคปหน้าจอมาจากมือถือ แต่มีการตกแต่ง แก้ไข เปลี่ยนแปลง ก่อนทำการสั่งพิมพ์ออกมา

ข้อความหรือโพสต์ในภาพที่แคปก่อนจะพิมพ์ สามารถแก้ไขด้วยโปรแกรมบางอย่างที่สามารถตัดต่อได้ด้วยเช่น Microsoft Word, Power Point, Photoshop, Keynote เป็นต้น

เท่าที่พยานได้ติดตามคดี ม.112 พบว่า มีหลายคดีที่จำเลยต่อสู้ว่า ถูกกลั่นแกล้ง เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมือง ข้อหานี้ถูกนำมาใช้กับผู้เห็นต่างทางการเมืองได้ อีกทั้งตอนนี้มีหลายกลุ่มจัดตั้งขึ้นมาเพื่อแจ้งความกับประชาชนโดยเฉพาะเป็นจำนวนหลายร้อยคดี และยังมีการโชว์ผลงานที่ได้แจ้งความกับประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมืองอีกด้วยว่า ได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับประชาชนไปแล้วจำนวนกี่ราย

จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีด้วย ม.112 จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามบรรยากาศทางการเมืองในขณะนั้น ตัวอย่างเช่นเมื่อปี 2557 มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วย ม.112 เป็นจำนวนมาก เพราะเกิดการรัฐประหารขึ้น แต่ในช่วงปี 2561-2562 พบว่า ไม่มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยกฏหมายข้อนี้เลย แต่ต่อมาเมื่อช่วงปี 2564 ถึงปัจจุบันมีผู้ถูกดำเนินคดีด้วย ม.112 เป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ 

วันที่ 19 พ.ย. 2553 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงว่าจะบังคับใช้กฎหมายทุกมาตรากับผู้ชุมนุมทางการเมืองและจากนั้นผู้ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 จึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

จากนั้นทนายจำเลยได้อ้างส่งศาลเป็นเอกสารแสดงข้อมูลเกี่ยวกับการแจ้งความด้วยมาตรา 112 เพื่อสร้างภาระให้ผู้ถูกกล่าวหาด้วยการริเริ่มคดีในพื้นที่ห่างไกล เช่น สุไหงโก-ลก, เชียงราย, ยะลา ฯลฯ ทำให้จะต้องเสียค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก โดยคดีเช่นนี้มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ 

พยานเคยไปเบิกความเป็นพยานจำเลยในคดี ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาหลายคดี ครั้งหนึ่งเคยไปที่ จ.เชียงราย ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับการโพสต์เฟซบุ๊กที่จำเลยเป็นผู้ต่อต้านการรัฐประหารและถูกทหารกล่าวหาว่าทำผิด แต่สุดท้ายศาลจังหวัดเชียงรายพิพากษายกฟ้อง คดีนี้ถึงที่สุดแล้วโดยอัยการไม่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นแต่อย่างใด

จากประสบการณ์การทำงานของพยาน ช่วงหนึ่งตำรวจมักจะใช้อำนาจตามมาตรา 18 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพื่อหาหลักฐานจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือและได้รับความร่วมมือมาโดยตลอด แต่ช่วงหลังไม่ค่อยมีหลักฐานลักษณะนี้ถูกนำขึ้นสู่ชั้นศาลเลย พยานไม่ทราบว่าเพราะเหตุใด

อัยการถามค้าน

ผู้จัดการ iLaw ตอบอัยการถามค้านว่า บัญชีเฟซบุ๊กจะต้องใส่อีเมลและรหัสผ่าน (Password) ก่อนลงชื่อเข้าใช้ (Log In) เพื่อยืนยันตัวตนก่อนเสมอ ผู้อื่นที่ไม่รู้อีเมลและรหัสผ่านจะไม่สามารถเข้าใช้งานได้ ข้อความที่โพสต์ แชร์ หรือคอมเมนต์ที่ไม่ถูกหรือไม่เหมาะสม หากอยู่ในเฟซบุ๊ก เจ้าของบัญชีจะสามารถทำการลบได้ทันที

เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งเป็นเหตุตามฟ้อง มีลักษณะเป็นภาพแคปหน้าจอจากแอพพลิเคชั่นเฟซบุ๊กบนมือถือ 

เหตุที่ 1 ตามฟ้อง ซึ่งเป็นโพสต์รูปที่ได้จากการแคปข้อความและรูปภาพที่ถูกโพสต์บนทวิตเตอร์ พยานเข้าใจว่ามีผู้แคปมาจากทวิตเตอร์ แต่ถูกนำมาโพสต์บนเฟซบุ๊กซ้ำอีกทีหนึ่ง และเข้าใจว่าน่าจะเป็นข้อความและรูปภาพที่ถูกโพสต์ลงในทวิตเตอร์ในวันที่เกิดเหตุการณ์ม็อบ 13 ก.พ. 2564 

เอกสารหมาย จ.1 ที่เป็นภาพแคปหน้าจอและมีรายละเอียดเป็นลิงค์บัญชีเฟซบุ๊กของจำเลย พยานคิดว่าคนอื่นน่าจะสามารถเข้าถึงได้หากตั้งค่าการเข้าถึงและเผยแพร่เป็นสาธารณะ 

เอกสารหมาย จ.1 ปรากฏเวลาที่โพสต์ว่า โพสต์เมื่อ 4 และ 2 ชั่วโมงที่ผ่านมา แสดงว่าเป็นเวลาที่แคปหน้าจอนับตั้งแต่โพสต์นั้นถูกโพสต์ ซึ่งยังไม่เกิน 24 ชั่วโมง หากเกินแล้วเวลาที่ระบุในโพสต์นั้นจะเปลี่ยนเป็นจำนวนวันแทน ตัวอย่างเช่น 1 วัน 

พยานไม่ทราบว่า โดยทั่วไปผู้ใช้งานเฟซบุ๊กจะใช้ชื่อจริงหรือรูปตัวตนจริงมาเป็นชื่อบัญชีเฟซบุ๊กและรูปโปรไฟล์หรือไม่ แต่คนรู้จักส่วนใหญ่ของพยานใช้รูปจริงและชื่อจริง บางคนใช้ชื่อย่อหรือชื่อเล่นก็มี

ทนายจำเลยถามติง

เอกสารหมาย จ.1 นั้นยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจำเลยได้โพสต์จริงหรือไม่ และไม่ทราบว่าข้อความจะมีอยู่จริงหรือไม่ หลักฐานซึ่งเป็นเอกสารหมาย จ.1 ยังไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอ

พยานจำเลยปากที่ 2 – วรัญญตา ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์

วรัญญตา ยันอินทร์ เบิกความว่า จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ปัจจุบันทำงานอยู่ที่โครงการอินเทอร์เน็ตกฎหมายเพื่อประชาชน (iLaw) ในตำแหน่งผู้ประสานงานกิจกรรม และมีหน้าที่เป็นนักเทคนิคในโครงการศึกษาสปายแวร์ที่ชื่อว่า ‘เพกาซัส’ (Pegasus)

ก่อนหน้านี้พยานเคยเป็นผู้ดูแลระบบแอพพลิเคชั่น ทำหน้าที่ตรวจสอบความผิดพลาดของระบบ และเคยฝึกงานในตำแหน่งนักพัฒนาโปรแกรมเพื่อให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้และจำแนกรูปภาพได้

เอกสารหมาย จ.1 พยานเห็นว่าเป็นการแคปภาพหน้าจอจากแอพพลิเคชั่นเฟซบุ๊กบนโทรศัพท์มือถือ และนำมาตัดต่อด้วยโปรแกรมบางอย่าง จากนั้นนำมาจัดเรียงต่อกันก่อนสั่งพิมพ์ออกมา พยานไม่สามารถระบุที่มารูปภาพที่แคปหน้าจอได้ว่ามาจากที่ใด เพราะปกติจะรู้ได้ว่ามาจากที่ใดนั้นจะต้องสั่งพิมพ์จากเบราว์เซอร์โดยตรง และเมื่อสั่งพิมพ์ออกมาแล้วจะมีองค์ประกอบอยู่บนหน้ากระดาษ ดังนี้

(หน้าเว็บไซต์เฟซบุ๊กของ iLaw
ที่สั่งพิมพ์โดยตรงจากเว็บเบราว์เซอร์ Chrome)

  1. ขอบด้านบนซ้ายของหน้ากระดาษจะปรากฏตัวเลขแสดงวันและเวลา ณ ขณะที่สั่งพิมพ์
  2. ขอบด้านบนของหน้ากระดาษเกือบกึ่งกลางปรากฏชื่อเว็บไซต์ของหน้าที่สั่งพิมพ์ 
  3. ด้านล่างซ้ายของหน้ากระดาษจะปรากฏ URL ซึ่งเป็นที่อยู่ของ Website ที่สั่งพิมพ์ออกมา เป็นประโยชน์ในการใช้ระบุต้นโพสต์ว่ามีที่อยู่บนที่ใดบนโลกอินเทอร์เน็ต
  4. ด้านขวาล่างปรากฏตัวเลขแสดงเลขที่หน้าที่สั่งพิมพ์  

ข้อสังเกตที่ทำให้ทราบว่ามีภาพแคปหน้าจอมือถือผ่านการตัดต่อ แก้ไข หรือเปลี่ยนแปลง

  1. การแคปภาพหน้าจอมือถือ ส่วนบนสุดจะแสดงปริมาณแบตเตอรี่ สัญญาณมือถือ และเวลา ขึ้นอยู่กับมือถือแต่ละยี่ห้อ แต่รูปตามเอกสารหมาย จ.1 ไม่มีส่วนที่แสดงข้อมูลเหล่านี้เลย จึงคาดว่ามีการตัดต่อ
  2. การแคปภาพหน้าจอมือถือจะได้ภาพที่มีขนาดเท่ากันทุกภาพ แต่เอกสารหมายจอหนึ่งแผ่นที่ 3 ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 3 ภาพ ภาพที่ 3 มีขนาดไม่เท่ากันกับอีก 2 ภาพที่เหลือ
  3. การแคปภาพจากมือถือจะไม่มีเส้นกรอบจึงเชื่อว่ามีการตัดต่อรูปภาพ 

           (ตัวอย่างภาพแคปหน้าจอจากโทรศัพท์มือถือ ต้นฉบับ (ซ้ายมือ) และผ่านการแก้ไข (ขวามือ)) 

การตัดต่อสามารถทำได้ทั้งขนาดภาพและข้อความบนรูปภาพ การตัดต่อข้อความในรูปภาพสามารถทำได้โดยใช้โปรแกรมจากมือถือหรือคอมพิวเตอร์ ซึ่งแม้จะเป็นโปรแกรมระดับพื้นฐานก็สามารถทำได้

นอกจากนี้เฟซบุ๊กนั้น ผู้ใดจะเป็นคนสร้างก็ได้ โดยใช้เพียงอีเมลและเบอร์โทรศัพท์ โดยจะใช้ชื่อและนามสกุลใดก็ได้ แม้จะเป็นบัญชีจริงก็สามารถถูกบุคคลอื่นเจาะระบบเข้าใช้งานได้เช่นกัน เช่นกรณีที่ไปเข้าสู่ระบบบนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เครื่องอื่นแล้วลืมออกจากระบบบัญชี หรือจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยใช้วิธี Web Inspector ก็ได้เช่นกัน

วิธี Web Inspector เป็นเครื่องมือที่ไว้ใช้ตรวจสอบความถูกต้องของเว็บไซต์และสามารถใช้แก้ข้อมูลบนเบราว์เซอร์ได้ด้วย วิธีใช้งานให้ไปที่หน้าโปรแกรม Chrome จากนั้นกด Control + Shift + C หรือ I จากนั้นจะปรากฏหน้าต่าง Web Inspector ขึ้นมา และสามารถแก้ไขข้อความบนหน้าเว็บไซต์ได้ทันที ซึ่งผลการแก้ไข เปลี่ยนแปลงที่ได้จะมีความแนบเนียนกว่าการตัดต่อรูปภาพด้วยโปรแกรมทั่วไปเสียอีก 

(ภาพก่อนและหลังแก้ไขภาพด้วยวิธี Web Inspector)
(ภาพหลังแก้ไขภาพด้วยวิธี Web Inspector)

ความรู้นี้บุคคลอื่นก็สามารถทำได้เช่นกัน เพราะความรู้เรื่องนี้ถูกเผยแพร่อยู่ทั่วไปบนอินเทอร์เน็ต เอกสารหมาย จ.1 จึงมีความน่าเชื่อถือค่อนข้างน้อย เนื่องจากสามารถตัดต่อ แก้ไข และเปลี่ยนแปลงได้ด้วยวิธีการใดๆ ให้มีขึ้นและผ่านการตัดต่อจากมือถืออยู่แล้ว 100%

อัยการถามค้าน

พยานตอบอัยการถามค้านว่า เจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กมีรหัสผ่านในการเข้าใช้งานของแต่ละคน คนที่จะสามารถเจาะเข้าระบบได้ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เฉพาะเสมอไป พยานไม่สามารถบอกได้ว่าตามเอกสารหมาย จ.1 นั้นผ่านการแก้ไขข้อความที่จุดใดมาบ้าง เพราะหากผ่านการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงด้วยวิธี Web Inspector จะแนบเนียนอย่างมาก

เอกสารหมาย จ. 1 แผ่นที่ 3 มีรูปภาพที่ 3 แสดงถึงลิงค์บนโปรไฟล์ที่อ้างว่าที่อยู่เว็บไซต์หน้าบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลย ซึ่งเป็นคนละตัวกันกับ URL หน้าเว็บไซต์แต่ละหน้ามี URL เฉพาะตัว แต่ลิงค์โปรไฟล์ในเอกสารหมาย จ.1 ที่ว่ามานั้นก็ทำให้เข้าถึงหน้าบัญชีเฟซบุ๊กนั้นได้เช่นกัน

ทนายจำเลยถามติง

รูปเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 3 รูปที่ 3 ภาพนี้มีกรอบและไม่ใช่ขนาดปกติ ยืนยันได้ว่าผ่านการแก้ไขและตัดต่อมาอย่างแน่นอน จะตรงกับหน้าบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยหรือไม่นั้นไม่อาจทราบได้

X