ศาลนราธิวาสยกฟ้อง! คดี ม.112 ของ “ชัยชนะ” ผู้ป่วยจิตเวชจากลำพูน ชี้พิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊ก-โพสต์ 4 ข้อความตามฟ้อง

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “ชัยชนะ” (นามสมมติ) ประชาชนชาวจังหวัดลำพูนและผู้ป่วยจิตเวช อายุ 33 ปี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากกรณีถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ในเฟซบุ๊ก จำนวน 4 ข้อความ เมื่อต้นปี 2564 

คดีนี้มี พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหา ชัยชนะจึงต้องเดินทางไกลกว่า 1,800 กิโลเมตรจาก จ.ลำพูน เพื่อไปต่อสู้คดีที่ จ.นราธิวาส ทุกครั้งชัยชนะจะต้องเดินทางไปกลับพร้อมกับผู้ปกครอง 1 คนเสมอ นั่นทำให้เขาและครอบครัวต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าผู้ถูกดำเนินคดีในพื้นที่ห่างไกลรายอื่น ทั้งนี้เป็นเพราะชัยชนะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยจิตเภท เข้ารับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาอย่างต่อเนื่องตลอดมา ทั้งยังมีบัตรประจำตัวผู้พิการ ประเภทความพิการ 4 อีกด้วย 

เส้นทางการต่อสู้คดีของชัยชนะ ก่อนศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องทุกกรรม

15 ก.ย. 2564 ชัยชนะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมถึงบ้านที่ อ.ลี้ จ.ลำพูน และถูกนำตัวไปถึง สภ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เพื่อดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหา ในวันที่ 17 ก.ย. 2564

18 ก.ย. 2564 พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังชัยชนะต่อศาลจังหวัดนราธิวาส ศาลรับฝากขัง แต่ได้ให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยชัยชนะได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน

8 ธ.ค. 2564 พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาล ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยกล่าวหาว่าชัยชนะได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเข้าข่ายเป็นความผิดจำนวน 4 ข้อความ ได้แก่

  1. ข้อความวิพากษ์วิจารณ์และตำหนิเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่มีชื่อที่คล้ายพระนามของรัชกาลที่ 10 ในโพสต์ด้วย
  2. ข้อความบรรยายโพสต์ที่แชร์มาจากเพจ “Design for Life ออกแบบเพื่อชีวิต” ซึ่งต้นโพสต์มีภาพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ปรากฏอยู่พร้อมข้อความถวายพระพรเนื่องในวันคล้ายวันประสูติ
  3. ข้อความวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 
  4. ข้อความวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเกี่ยวกับที่ดินและการสั่งทหารฆ่าประชาชน โดยมีการนำภาพข่าวหนังสือพิมพ์ที่มีภาพรัชกาลที่ 9 ปรากฏอยู่มาโพสต์ประกอบด้วย

ก่อนจะถึงนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีนี้ ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอโอนย้ายคดีจากศาลจังหวัดนราธิวาสไปยังศาลอาญา รัชดาฯ ในกรุงเทพฯ เพื่อประโยชน์ในการลดภาระค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีและเดินทางไกล 

ศาลจังหวัดนราธิวาสได้ส่งคำร้องให้ศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย ต่อมาศาลฎีกายกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่าจำเลยสามารถเดินทางไปต่อสู้คดียังศาลจังหวัดนราธิวาสได้ตามปกติอยู่แล้ว อีกทั้งผู้กล่าวหาและพนักงานสอบสวนในคดีนี้ต่างก็พักอาศัยอยู่ใน จ.นราธิวาส ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดนราธิวาส การต่อสู้คดีในชั้นศาลจึงยังคงต้องดำเนินต่อไปที่ศาลจังหวัดนราธิวาส

ระหว่างวันที่ 3-4 พ.ย. 2565 ศาลได้ดำเนินการสืบพยานโจทก์และจำเลย โดยสืบพยานฝั่งโจทก์ได้ทั้งสิ้น 7 ปาก ได้แก่ ผู้กล่าวหา ภรรยาและแม่ของผู้กล่าวหา นักการเมืองท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง นักวิชาการ และพนักงานสอบสวน 

ภาพรวมการสืบพยานโจทก์ ผู้กล่าวหาเบิกความยืนยันว่า ทั้ง 4 ข้อความตามฟ้องนั้นเป็นการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่มีเพียงข้อความที่ 1 เท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ 10 หรือพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน อีกทั้งบางประเด็นผู้กล่าวหายังเบิกความไม่ตรงกับชั้นสอบสวนอีกด้วย ส่วนพยานโจทก์ปากอื่นที่เหลือต่างก็เบิกความไม่สอดคล้องกัน 

ด้านพยานฝั่งจำเลยสืบพยานไปได้ทั้งสิ้น 5 ปาก ได้แก่ แพทย์ผู้เคยทำการรักษาอาการทางจิตของจำเลย รวม 3 ปาก และเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ รวม 2 ปาก เมื่อศาลดำเนินการสืบพยานจนแล้วเสร็จจึงได้นัดฟังคำพิพากษาเป็นวันนี้

ภาพรวมการสืบพยานฝั่งจำเลย พยานผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์เบิกความว่า เอกสารหลักฐานซึ่งเป็นภาพบันทึกหน้าจอมาจากแอพพลิเคชั่นเฟซบุ๊กในโทรศัพท์มือถือ (ภาพแคปหน้าจอมือถือ) ไม่มีความน่าเชื่อถือ เพราะไม่ได้สั่งพิมพ์จากหน้าเว็บไซต์โดยตรง ไม่ปรากฏที่อยู่ของเว็บไซต์ (URL) และหมายเลข IP Address นอกจากนี้ทุกภาพยังผ่านการตัดต่อแก้ไขมาแล้ว ซึ่งมีจุดสังเกตหลายประการ เช่น ภาพมีกรอบสีดำ ขนาดภาพไม่ได้เป็นขนาดภาพจากการบันทึกหน้าจอโทรศัพท์ตามปกติ เป็นต้น

พยานฝั่งจำเลย แพทย์ให้การรักษาจำเลย รวม 3 ปาก จาก 3 โรงพยาบาลที่ให้การตรวจและรักษาอาการจิตเภทของจำเลย เบิกความไปในทางเดียวกันว่าจำเลยมีอาการเหม่อลอย สันโดษ หวาดระแวงว่าจะถูกทำร้าย เชื่อว่าตนเองสามารถติดต่อกับมนุษย์ต่างดาวได้ โดยพยานทั้ง 3 ปากต่างก็วินิจฉัยตรงกันว่าจำเลยเป็น “ผู้ป่วยจิตเภท”

ศาลพิพากษา “ยกฟ้องทุกกรรม” เหตุพิสูจน์ไม่ได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของเฟซบุ๊ก-โพสต์ 4 ข้อความที่ถูกฟ้อง 

เวลา 09.30 น. ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 4 ศาลออกพิจารณาคดี โดยวันนี้มีนัดหมายคดีอื่นในห้องพิจารณาเดียวกัน 3-4 คดี ชัยชนะเดินทางมาศาลล่าช้ากว่ากำหนด เนื่องจากในพื้นที่ อ.เมือง จ.นราธิวาส ฝนตกอย่างหนักติดต่อกันมาหลายคืน รวมถึงวันนี้ด้วย ส่งผลให้มีน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ถนนบางสายจึงถูกตัดขาดไม่สามารถเดินทางผ่านไปได้

เมื่อชัยชนะเดินทางมาถึง ทันทีที่เขาเข้ามาในห้องพิจารณาคดี ตำรวจศาลได้ใส่กุญแจมือทั้งสองข้างโดยทันที วันนี้ชัยชนะไม่ได้เดินทางมาพร้อมกับแม่เหมือนเช่นเคย เนื่องจากเธอต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลใน จ.เชียงใหม่ เพราะล้มป่วยจากโรคกระดูกทับเส้น

แม่ของชัยชนะจึงวานให้เพื่อนบ้านเดินทางมาดูแลชัยชนะแทนต่อมา เวลา 10.30 น. ก่อนจะเริ่มอ่านคำพิพากษา ศาลได้สั่งให้ผู้อื่นในห้องพิจารณาคดีที่ไม่ใช่คู่ความออกไปจากห้องทั้งหมด โดยอ้างว่าคดีของชัยชนะเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ จากนั้นศาลจึงเริ่มอ่านคำพิพากษาซึ่งมีรายละเอียดโดยสรุปว่า 

คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กและนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามฟ้องหรือไม่ จากการสืบพยานได้ข้อเท็จจริงว่า บัญชีเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดใช้รูปภาพและชื่อของจำเลยจริง แต่โจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยเป็นผู้ใช้งานหรือเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว

ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นพยานฝั่งจำเลยได้เบิกความว่าข้อมูลส่วนตัวที่ถูกเผยแพร่อยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตนั้นสามารถถูกนำไปตัดต่อ ปลอมแปลง หรือแก้ไขไปเป็นข้อมูลและหลักฐานเท็จได้ ซึ่งจำเลยได้เคยให้การในชั้นสอบสวนไว้ว่า จำเลยมีเฟซบุ๊กเป็นของตัวเองอยู่แล้วและได้โพสต์ข้อมูลส่วนตัวไว้ เช่น ชื่อ-สกุล ภาพถ่ายที่เห็นใบหน้า เป็นต้น

ขณะที่จำเลยถูกจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของจำเลยมาตรวจสอบด้วย แต่ตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีการเข้าใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาว่าได้ใช้กระทำความผิดในคดีนี้แต่อย่างใด

อีกทั้ง จำเลยได้ให้การปฏิเสธตลอดมา ตั้งแต่ชั้นจับกุมจนถึงชั้นพิจารณาคดี ประกอบกับจำเลยมีอาการทางจิต จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาแล้วเสร็จ ตำรวจศาลได้ไขกุญแจมือให้ชัยชนะทันที เขาและผู้ดูแลจึงรีบเดินทางไปยังสนามบินเพื่อเดินทางกลับ จ.ลำพูน ให้ทันรอบการเดินทางในเวลาเที่ยงตรงของวันโดยทันที 

จากคำพิพากษายกฟ้องของศาลชั้นต้น อัยการโจทก์ยังสามารถยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาได้อีกเป็นลำดับต่อไป แต่หากอัยการไม่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไปอีก คดีนี้ของชัยชนะก็จะถือว่าถึงที่สุดแล้ว

นอกจากคดีของชัยชนะแล้ว พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ยังเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษคดีมาตรา 112 ที่ สภ.สุไหงโก-ลก อีกอย่างน้อย 7 คดี เช่น คดีของภัคภิญญา, “วารี”, และอุดม โดยผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดมีไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้หรือจังหวัดนราธิวาส ก่อนหน้านี้ศาลได้ทยอยมีคำพิพากษา โดยมีเพียงคดีของ “วารี” ที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง

X