6 ข้อสังเกตชุดคดี ม.112 ที่นราธิวาส หลังศาลทยอยนัดฟังคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์

จังหวัดนราธิวาส หรือกล่าวให้เฉพาะเจาะจงขึ้น คือที่ สภ.สุไหงโก-ลก พื้นที่ใต้สุดของประเทศไทย นับได้ว่าเป็นท้องที่สถานีตำรวจหนึ่งที่มีการแจ้งความกล่าวหาด้วยมาตรา 112 จำนวนมากอีกแห่งหนึ่ง เนื่องจากมีประชาชนคนหนึ่งไปดำเนินการแจ้งความกล่าวหาประชาชนคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เอาไว้ในหลายคดี  

คดีแทบทั้งหมดเท่าที่ทราบข้อมูล ดำเนินมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ยังไม่ได้สิ้นสุดลง จำเลยหลายคนต้องเดินทางไปต่อสู้คดีในพื้นที่นานนับปี โดยคดีกำลังทยอยมีนัดฟังคำพิพากษาในชั้นศาลอุทธรณ์อย่างต่อเนื่องแล้ว ทั้งยังเริ่มมีผู้ถูกพิพากษาจำคุกในชั้นอุทธรณ์ โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างฎีกา

ชวนทบทวนสถานการณ์และข้อสังเกตของชุดคดีมาตรา 112 เหล่านี้ที่จังหวัดนราธิวาส

.

ว่าด้วยผู้ถูกกล่าวหา

1. เท่าที่ทราบข้อมูล ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส มีการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในช่วงหลังปี 2563 เป็นต้นมา อย่างน้อย 8 คดี แยกเป็นคดีผู้ใหญ่ 6 คดี และคดีของเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี อีกจำนวน 2 คดี 

ในจำนวนนี้เป็นคดีที่ให้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย จำนวน 6 คดี ได้แก่ คดีอุดม, ภัคภิญญา, “กัลยา”, “วารี”, “ชัยชนะ” และ “ปูน”

ผู้ถูกกล่าวหาในทุกคดีไม่มีใครมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ภาคใต้แต่อย่างใด โดยรายที่ต้องเดินทางไปต่อสู้คดีไกลที่สุด คือ “ชัยชนะ” ผู้ป่วยจิตเวชวัย 33 ปี จากอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ที่ต้องเดินทางไกลกว่า 1,800 กิโลเมตร ไปสู้คดีที่นราธิวาส

ทั้งในชั้นตำรวจ กรณีของชัยชนะยังเป็นกรณีเดียวที่ถูกศาลออกหมายจับ และตำรวจไปจับกุมตัวเขาถึงบ้านในจังหวัดลำพูน ก่อนนำตัวเดินทางไปที่อำเภอสุไหงโก-ลก โดยคาดว่ามีการออกหมายเรียกมาก่อน แต่เจ้าตัวไม่ทราบ ส่วนกรณีผู้ถูกกล่าวหาคนอื่น ๆ ได้เดินทางไปพบตำรวจตามหมายเรียก หากแม้จะไปตามหมายเรียก แต่ทุกคดี ตำรวจก็มีการนำตัวไปขอฝากขังต่อศาล และศาลอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวนทุกคดี 

นอกจากชัยชนะ จำเลยในคดีส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคกลาง ได้แก่ ภัคภิญญาและปูนอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ, กัลยาอาศัยอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี, วารีอาศัยอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ สุดท้ายคืออุดมอาศัยอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี ทั้งหมดมีภาระค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาในการเดินทางไปต่อสู้คดีอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในคดีของชัยชนะ ทนายจำเลยยังได้ยื่นคำร้องเพื่อขอโอนย้ายคดีจากศาลจังหวัดนราธิวาสไปยังศาลอาญาในกรุงเทพฯ เพื่อประโยชน์ในการลดภาระค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีและเดินทางไกล และศาลจังหวัดนราธิวาสได้ส่งคำร้องให้ศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย ต่อมาศาลฎีกายกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่าจำเลยสามารถเดินทางไปต่อสู้คดียังศาลจังหวัดนราธิวาสได้ตามปกติอยู่แล้ว อีกทั้งผู้กล่าวหาและพนักงานสอบสวนในคดีนี้ต่างก็พักอาศัยอยู่ในนราธิวาส ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดนราธิวาส

.

.

ว่าด้วยผู้กล่าวหา

2. ในทุกคดีเป็นคดีเกี่ยวกับการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก โดยมี พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ประกอบอาชีพเป็นครูสอนพิเศษภาษาอังกฤษ อยู่ที่อำเภอสุไหงโก-ลก เป็นผู้ไปแจ้งความกล่าวหาไว้ทั้งหมดที่ สภ.สุไหงโก-ลก โดยเขาเคยเบิกความว่าไปแจ้งความลักษณะนี้จำนวนไม่น้อยกว่า 15 กรณี แต่ไม่ทราบว่าตำรวจมีการดำเนินคดีหรือแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมดหรือไม่ โดยอาจเป็นได้ว่ามีจำนวนคดีมากกว่าที่ทราบข้อมูลดังกล่าว

สำหรับ พสิษฐ์ เขาเบิกความในแต่ละคดี โดยระบุว่าตนไม่ได้สังกัดกลุ่มการเมืองใด แต่ในการแจ้งความได้มีการปรึกษา ‘รุ่นพี่’ ที่อยู่ในกลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (คปส.) พร้อมกับศึกษาข้อกฎหมายเพิ่มเติมเอง และได้ขอแบบฟอร์มของกลุ่มดังกล่าวมาใช้ในการแจ้งความ แต่ในเอกสารดังกล่าวนั้นในทุกคดี ระบุในตอนท้ายว่าผู้กล่าวหาเป็นสมาชิกของกลุ่มเครือข่ายนี้

ผู้กล่าวหายืนยันว่าการแจ้งความมาตรา 112 แก่ประชาชนคนอื่น ไม่ได้ทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสียเพราะเป็นการมาทำตามหน้าที่ของผู้จงรักภักดีในสถาบันกษัตริย์ และทราบว่าทางกลุ่ม คปส. ดังกล่าว ได้ไปดำเนินการแจ้งความคดีมาตรา 112 ในจังหวัดต่าง ๆ แต่ไม่ทราบรายละเอียดว่าแจ้งที่ใดบ้าง

ข้อความที่ผู้กล่าวหาแจ้งความ อ้างว่าเกิดจากการเปิดโทรศัพท์มือถือพบในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” หรือในเพจเฟซบุ๊กอื่น ๆ และได้เข้าไปไล่ดูข้อความที่เคยโพสต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว ก่อนรวบรวมเป็นแคปภาพหน้าจอไปแจ้งความกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาหลายคนจึงถูกกล่าวหาในหลายข้อความ ซึ่งคิดเป็นหลายกระทงพร้อมกัน

ในอย่างน้อย 4 คดี ผู้กล่าวหาอ้างว่าได้พบโพสต์ข้อความในช่วงเดือนมกราคม 2564 แต่นำไปแจ้งความในช่วงเดือนเมษายน 2564 มีระยะเวลาห่างกันสามเดือนเศษ โดยเขาเบิกความถึงเรื่องนี้ในศาล ว่าเนื่องจากมีภาระงานต้องทำ และไม่แน่ใจในบางข้อความว่าเข้าข่ายความผิดหรือไม่ จึงใช้เวลาในการปรึกษารุ่นพี่ก่อน รวมถึงบางกรณีก็ใช้เวลาสืบทราบตัวตนของผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว

ผู้กล่าวหาระบุว่าในช่วงวันที่ 11-12 เม.ย. 2564 ได้แจ้งความผู้ใช้เฟซบุ๊กไปรวมแล้ว 15 ราย โดยพิสูจน์ตัวบุคคลได้บางส่วน แต่ยังไม่พบว่ามีคดีความเพิ่มเติมหลังจากช่วงต้นปี 2564 ดังกล่าว

.

ว่าด้วยตำรวจและอัยการ

3. ในทุกคดี ตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาสได้แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน อันเป็นการพิจารณาสำนวนและมีความเห็นทางคดีร่วมกันเป็นคณะทำงาน อีกทั้งในคดีมาตรา 112 ทางตำรวจได้มีการกำหนดแนวทางให้มีการสอบพยานบุคคลจากหลากหลายสาขาอาชีพ เพื่อประกอบความคิดเห็น

ใน 4 คดีที่มีการสืบพยานที่ศาลจังหวัดนราธิวาส พ.ต.ต.นที จันทร์แสงศรี เป็นพนักงานสอบสวนที่มาเบิกความในคดีเป็นหลัก โดยไม่ได้มีคณะทำงานคนอื่น ๆ มาเบิกความ พยานนายตำรวจปากนี้เคยตอบคำถามค้านในคดีของอุดมด้วยว่า ในส่วนของตนมีความเห็นว่าบางข้อความอาจไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 112 แต่เนื่องจากการพิจารณาเป็นคณะฯ และตนเป็นอาวุโสน้อยที่สุด เจ้าพนักงานรายอื่น ๆ อาจเห็นว่าครบองค์ประกอบ และตัวพยานก็ไม่ได้เสนอความเห็นแย้งต่อผู้บังคับบัญชา

นอกจากนั้น คดีในหมวดความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทางพนักงานอัยการโจทก์ที่เป็นผู้ว่าความในคดีนั้น ไม่ใช่อัยการจังหวัดเหมือนในพื้นที่ภาคอื่น ๆ แต่เป็นพนักงานอัยการที่ทำคดีด้านความมั่นคงจากสำนักงานอัยการภาค 9 (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9) มาเป็นผู้ทำคดี โดยอัยการในส่วนดังกล่าวเป้าประสงค์หลักเพื่อดูแลคดีที่เกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะ แต่กลายเป็นคดีมาตรา 112 กลับอยู่ในขอบข่ายคดีด้านความมั่นคงไปด้วย

.

.

ว่าด้วยพยานโจทก์

4. ในส่วนพยานความคิดเห็นนั้น พบว่าฝ่ายโจทก์นำพยานในลักษณะเดียวกันมาเบิกความ หลายรายมาเบิกความในหลายคดี อาทิ อาจารย์ด้านภาษาไทย จากมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ตำรวจเดินทางไปสอบปากคำที่มหาวิทยาลัย และผู้บริหารติดต่อให้อาจารย์มาให้ความเห็นต่อข้อความในแต่ละคดี

นอกจากนั้น ตำรวจยังไปสอบปากคำข้าราชการในพื้นที่ เช่น ปลัดอำเภอ, รองนายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก มาประกอบความคิดเห็นเกือบทุกคดีด้วย

ขณะเดียวกัน ยังมีกรณีประธานสภาทนายความของจังหวัดนราธิวาส ที่ถูกเรียกมาให้ลงชื่อในบันทึกคำให้การที่พนักงานสอบสวนจัดเตรียมไว้แล้ว และพยานปากนี้เมื่อถึงชั้นศาล ได้ขอปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใด ๆ ต่อข้อความในแต่ละคดีด้วย

ที่น่าสนใจ คือ ในคดีของอุดม คดีของกัลยา และคดีของชัยชนะ มีพยานฝ่ายโจทก์ที่เป็นแม่ยายของผู้กล่าวหาเข้าเบิกความด้วย โดยระบุว่าเป็นผู้เดินทางไปให้ปากคำที่ สภ.สุไหงโก-ลก ร่วมกับลูกเขย เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2564 ตำรวจจึงสอบไว้เป็นพยานด้วย  อีกทั้งในสองคดีแรก ยังมีพยานโจทก์ที่เคยไปแจ้งความคดีมาตรา 112 เอาไว้ที่ สภ.สุไหงโก-ลก ทำให้ทางพนักงานสอบสวนได้เรียกมาสอบปากคำเป็นพยานความเห็นอีกด้วย

ควรกล่าวด้วยว่า ในคดีของอุดมยังมีประเด็นสำคัญ เรื่องที่คำให้การในชั้นสอบสวนของพยานหลายปาก มีข้อความในทำนองเดียวกัน โดยเหมือนกันแทบทุกตัวอักษร แต่ศาลไม่ได้นำประเด็นนี้มาวินิจฉัย

.

ว่าด้วยคดีเยาวชน

5. ส่วนคดีของเยาวชน 2 ราย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทราบข้อมูลในหนึ่งคดี ได้แก่ คดีของ “ปูน” จากกลุ่มทะลุฟ้า ที่ถูกกล่าวหาจากการโพสต์เฟซบุ๊ก 8 ข้อความในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” โดยแทบทั้งหมดเป็นโพสต์ในวันเวลาที่ปูนยังอายุไม่ถึง 18 ปี ทำให้ถูกดำเนินคดีในฐานะเยาวชน

ต่อมาคดีของปูนได้ถูกฟ้องที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในกรุงเทพฯ เนื่องจากตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 95 กำหนดให้คดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดให้ศาลเยาวชนและครอบครัวซึ่งมีเขตอำนาจในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนมีถิ่นที่อยู่ปกติ มีอำนาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับความผิดนั้น ซึ่งปูนกำลังศึกษาอยู่ภายในกรุงเทพฯ ทำให้ถูกฟ้องที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางแทน

ทั้งนี้ในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนยื่นขอออกหมายควบคุมตัวต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนราธิวาส ซึ่งทนายความได้แถลงคัดค้านว่าศาลเยาวชนนราธิวาสฯ ไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ แต่ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอของพนักงานสอบสวน

ในคดีของปูน หลังการฟ้องคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง จำเลยได้ให้การรับสารภาพ และศาลให้เข้ามาตรการพิเศษแทนการมีคำพิพากษา

นอกจากนั้น ทางศูนย์ทนายฯ ยังทราบข้อมูลว่ามีเยาวชนถูกดำเนินคดีในลักษณะเดียวกันนี้ที่ สภ.สุไหงโก-ลก อีกหนึ่งราย แต่ไม่ทราบรายละเอียดและความคืบหน้าของคดี

.

.

ว่าด้วยคำพิพากษาในศาลชั้นต้น

6. จนถึงปัจจุบัน (17 ต.ค. 2566) ในส่วนคดีของผู้ใหญ่ 6 คดี ศาลจังหวัดนราธิวาสได้มีคำพิพากษาทั้งหมดแล้ว โดยแยกเป็นคดีที่ศาลเห็นว่ามีความผิด และลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา จำนวน 3 คดี คดีที่ศาลพิพากษายกฟ้อง จำนวน 2 คดี และไม่ทราบผลคำพิพากษา 1 คดี โดยมีคดีของ “ภัคภิญญา” ที่ศาลลงโทษจำคุกสูงสุด คือจำคุกถึง 9 ปี จากข้อความที่ถูกกล่าวหา 3 ข้อความ

ในช่วงเดือนตุลาคมและปลายปีนี้ ศาลได้เริ่มทยอยนัดหมายฟังคำพิพากษาของชั้นอุทธรณ์ในแต่ละคดีแล้ว โดยในคดีที่ศาลชั้นต้นยกฟ้อง ได้แก่ คดีของ “วารี” และ “ชัยชนะ” ฝ่ายอัยการโจทก์ก็ได้อุทธรณ์คดีด้วย ทำให้คดีทั้งหมดยังไม่สิ้นสุดแต่อย่างใด

ในทั้งสองคดีที่ศาลยกฟ้องนี้ เป็นการยกฟ้องในประเด็นด้านพยานหลักฐานเหมือนกัน โดยศาลเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังไม่เพียงพอให้เชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้นำเข้าโพสต์ดังกล่าวตามฟ้อง

โดยในคดีของ “วารี” ศาลเห็นว่ามีเพียงผู้กล่าวหาคนเดียวที่เบิกความว่าจำเลยโพสต์ แต่กลับเบิกความถึงการเห็นโพสต์แตกต่างกัน อีกทั้งภาพที่นำมาแจ้งความก็ไม่ปรากฏ URL ประกอบการคำเบิกความของพยานจำเลยซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งสองเห็นว่า ภาพมีการตัดต่อมา

ส่วนคดีของ “ชัยชนะ” ศาลเห็นว่าขณะที่จำเลยถูกจับกุม ตำรวจได้ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของจำเลยมาตรวจสอบด้วย แต่ตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีการเข้าใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหา และนอกจากชื่อสกุลและภาพของจำเลย ไม่มีข้อมูลอื่นใดที่เชื่อมโยงให้เห็นว่าจำเลยใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว

ส่วนคดีของ “กัลยา” ศาลเห็นว่ามีความผิดในทั้งสองกระทงที่ถูกกล่าวหา ส่วนคดีของอุดมและภัคภิญญา ศาลพิพากษายกฟ้องข้อความบางส่วน ที่เห็นว่าไม่ชัดเจนว่าหมายถึงบุคคลใด โดยในคดีของอุดมยังยกฟ้องในข้อความที่กล่าวถึงอดีตกษัตริย์ โดยเห็นว่าองค์ประกอบของมาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะกษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 9 ก็เห็นพ้องในเรื่องดังกล่าว

คดีของ “อุดม” หนุ่มโรงงานจากปราจีนบุรี นับเป็นคดีที่มีนัดฟังคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ไปเป็นคดีแรก และศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ให้จำคุก 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา โดยอุดมไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นฎีกา ทำให้เขาถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาสในปัจจุบัน

สถานการณ์คำพิพากษาคดีที่นราธิวาส จึงต้องจับทั้งในชั้นอุทธรณ์และฎีกาต่อไป

.

X