เปิดบันทึกการต่อสู้คดี ม.112 ของ “อุดม” คนงานโรงงานจากปราจีนฯ ก่อนศาลนราธิวาสพิพากษา

วันที่ 26 ก.ค. 2565 นี้ ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “อุดม” คนทำงานโรงงานจากปราจีนบุรีวัย 34 ปี ผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 7 ข้อความ

อ่านเรื่องราวของอุดม จากปราจีนบุรีถึงนราธิวาส: การเดินทางที่อาจไม่ได้หวนกลับของ “อุดม” ผู้ถูกฟ้องคดี ม.112

การสืบพยานในคดีของอุดม มีขึ้นเมื่อวันที่ 27-28 เม.ย. 2565 นับเป็นคดีแรกในชุดคดีที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมี นายพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ติวเตอร์สอนภาษาอังกฤษ เป็นผู้กล่าวหาไว้ที่ สภ.สุไหงโก-ลก โดยผู้กล่าวหารายนี้ได้กล่าวหาคดีมาตรา 112 ไว้หลายคดีในพื้นที่ ซึ่งกำลังทยอยขึ้นสู่ศาล

สำหรับโพสต์ที่ถูกกล่าวหาทั้ง 7 โพสต์ในคดีนี้ โพสต์โดยใช้เฟซบุ๊กชื่อสกุลเดียวกับจำเลย เป็นโพสต์ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ถึงเดือนมกราคม 2564 โดยมีโพสต์ที่เป็นภาพและข้อความที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์เองเพียงอย่างเดียว 5 ข้อความ และเป็นโพสต์ที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กแชร์ข่าวของสำนักข่าวมติชน และแชร์ข้อความจากเพจ “คนไทยยูเค” พร้อมเขียนความเห็นประกอบอีกอย่างละโพสต์

ในการต่อสู้คดี จำเลยได้ยอมรับว่าโพสต์ข้อความตามที่ถูกฟ้องจริง และเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กตามที่ถูกกล่าวหา แต่ข้อความต่างๆ ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาท-ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ไม่ได้มีการเอ่ยนามบุคคลใดในโพสต์ ทั้งข้อความแต่ละข้อความก็ตีความถึงบุคคลได้หลากหลาย แม้แต่พยานโจทก์ที่มาเบิกความเอง ก็เห็นไม่ตรงกันว่าแต่ละข้อความหมายถึงสิ่งใด ขณะที่บางข้อความ แม้พยานความเห็นของโจทก์จะระบุว่าตีความได้หมายถึงรัชกาลที่ 9 แต่ฝ่ายจำเลยก็ถามค้านว่ามาตรา 112 มีองค์ประกอบคุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันเท่านั้น

ภาพรวมการสืบพยานในคดีนี้ มีพยานโจทก์ขึ้นเบิกความรวมทั้งหมด 8 ปาก นอกจากผู้กล่าวหาและพนักงานสอบสวนในคดีแล้ว ทั้งหมดอีก 6 ปาก เป็นพยานความคิดเห็น ที่ถูกตำรวจให้มาอ่านข้อความและแสดงความคิดเห็นต่อข้อความที่ถูกกล่าวหา ขณะที่ฝ่ายจำเลยไม่นำสืบพยาน แต่ถามค้านพยานความเห็นของโจทก์ปากต่างๆ เป็นหลัก

ในการสืบพยาน ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยได้ถามความคิดเห็นพยานต่อโพสต์ต่างๆ ทั้ง 7 โพสต์ ทำให้มีการถามความลงรายละเอียดในแต่ละโพสต์พอสมควร ซึ่งไม่นำสามารถนำมาเสนอทั้งหมดในที่นี้ได้

ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าคดีในหมวดความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีอัยการจากสำนักงานอัยการภาค 9 มาทำหน้าที่โจทก์ในคดี ไม่ใช่อัยการจังหวัดเหมือนในพื้นที่อื่นๆ

นอกจากนั้น ในระหว่างพิจารณาคดี จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ ราว 2-3 นาย สลับกันมานั่งอยู่ในห้องพิจารณา ตลอดการพิจารณา โดยพบว่าเจ้าหน้าที่ยังได้พยายามเข้ามาพูดคุยห้ามไม่ให้ผู้สังเกตการณ์จดบันทึกในห้องพิจารณา แต่ต่อมาศาลอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์จดบันทึกประเด็นการพิจารณาได้

.

ผู้กล่าวหาปฏิเสธว่าไม่ใช่สมาชิกกลุ่มปกป้องสถาบันฯ แต่นำเอกสารที่ใช้แจ้งความมาจากรุ่นพี่ในกลุ่ม คปส.  รับเห็นว่า ม.112 คุ้มครองเฉพาะบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอยู่

พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน อายุ 40 ปี ประกอบอาชีพเป็นครูสอนพิเศษภาษาอังกฤษ อยู่ที่อำเภอสุไหงโก-ลก  เกี่ยวกับคดีนี้เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 เขาได้เข้าไปใช้เฟซบุ๊กผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยมีการเข้าไปดูโพสต์ในกลุ่มเฟซบุ๊กต่างๆ แล้วบังเอิญไปเห็นผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อเดียวกันกับจำเลยในคดีนี้ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในกลุ่ม “ตลาดหลวง” จึงได้เข้าไปไล่ดูข้อมูลเฟซบุ๊กของจำเลย 

พสิษฐ์ระบุว่า หลังจากพบเห็นข้อความต่างๆ แล้ว ได้มีการปรึกษารุ่นพี่ในกรุงเทพฯ ที่อยู่ในกลุ่มเกี่ยวกับการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยสอบถามว่ามีกฎหมายที่ให้ประชาชนทั่วไปไปแจ้งความดำเนินการเรื่องสถาบันฯ ได้หรือไม่ เมื่อทราบว่ามี จึงได้ค้นคว้าข้อกฎหมายเพิ่มเติม ก่อนนำเรื่องไปแจ้งความเมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2564 โดยได้นำแบบฟอร์มของกลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบันกษัตริย์ (คปส.) ที่ได้รับมาจากรุ่นพี่มาใช้ในการร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยแคปหน้าจอข้อความแต่ละข้อความของจำเลยไปใช้ในการแจ้งความ

ผู้กล่าวหาเบิกความอ้างว่า เหตุที่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว เพราะมีการใช้ชื่อนามสกุลจริง และสามารถดูที่อยู่ที่ส่งภาพบัตรประชาชนยืนยันตัวตนไปให้เฟซบุ๊กได้ เนื่องจากช่วงหลังเฟซบุ๊กมีระบบการให้ยืนยันตัวตนจริง โดยพยานอ้างว่าได้ตรวจสอบพบว่ามีเอกสารการยืนยันตัวตนของอุดม แต่ไม่ได้นำมายื่นประกอบการดำเนินคดี

พยานระบุว่าในการแจ้งความ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้เปิดเข้าไปดูเฟซบุ๊กดังกล่าวด้วย และยังพบข้อความต่างๆ อยู่ และตำรวจยังพิมพ์ทะเบียนราษฎร์ของอุดมออกมาตรวจสอบ และพบว่าข้อมูลตรงกัน โดยพยานไม่ได้รู้จักจำเลยมาก่อน

พสิษฐ์อ้างว่าอ่านข้อความของจำเลยรวมๆ แล้วทำให้เข้าใจว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยหากคนที่ไม่มีความรู้มาอ่าน อาจหลงเชื่อและเข้าใจสถาบันพระมหากษัตริย์ผิดไป ทำให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เขาจำโพสต์ที่แจ้งความไม่ได้ทั้งหมด ต้องให้อัยการเปิดสำนวนเอกสารคดีให้ดูในแต่ละโพสต์ เพื่อให้ความคิดเห็นถึงแต่ละโพสต์

ในส่วนการถามค้านของทนายจำเลย พสิษฐ์เบิกความว่าเขาไปแจ้งความในคดีมาตรา 112 มาแล้วประมาณ 15 คดี แต่พยานไม่ได้สังกัดกลุ่ม ศปส. แม้ในเอกสารที่พยานนำมาแจ้งความ จะระบุว่าพยานเป็นสมาชิกของกลุ่มเครือข่ายนี้ พยานทราบว่ากลุ่มดังกล่าวมีการทำหน้าที่ในการจับตาดูข้อความในโซเชียลเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเขาไม่ได้ทำงานในลักษณะจับตาโซเชียลมีเดียแบบนั้น

ส่วนเหตุที่พบข้อความตั้งแต่สิ้นเดือนมกราคม 2564 แต่ไปแจ้งความในวันที่ 12 เม.ย. 2564 พสิษฐ์เบิกความว่า เขามีงานต้องทำ ก่อนหน้านั้นเป็นช่วงเปิดเทอม จึงต้องสอนทั้งวัน อีกทั้งมีบางข้อความที่ไม่แน่ใจว่าเป็นความผิดมาตรา 112 หรือไม่ แต่หลังจากปรึกษารุ่นพี่แล้ว เห็นว่าน่าจะเป็นความผิด จึงได้รวบรวมไปแจ้งความ

พสิษฐ์ทราบว่ามาตรา 112 มุ่งคุ้มครองบุคคล 4 บุคคล ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยทั้ง 4 บุคคลหมายถึงบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน หรือในขณะที่มีผู้กระทำความผิด

พสิษฐ์รับว่าข้อความที่นำมาแจ้งความ เป็นการแคปภาพจากหน้าจอมือถือ ไม่ได้มี URL ของแต่ละโพสต์ ทั้งยังมีการตัดภาพหน้าจอให้เหลือเฉพาะข้อความ โดยรับว่ามีข้อความหนึ่งที่จำเลยแชร์มาจากเพจคนไทยยูเคนั้น แคปข้อความที่แชร์มาไม่ครบถ้วน

.

.

พยานโจทก์หลากหลายสาขาอาชีพถูก ตร. เรียกมาให้ความเห็น บางคนเบิกความว่า ตร. เตรียมเอกสารไว้ให้เซ็น ข้อความเหมือนกันกับคนอื่นๆ

ขณะเดียวกัน พยานโจทก์ปากที่เหลือทั้งหมด นอกจากพนักงานสอบสวน เป็นพยานจากสาขาอาชีพต่างๆ ที่ถูกตำรวจติดต่อให้มาให้ความเห็นต่อข้อความ โดยพบว่าหลายคนได้ถูกตำรวจขอให้ให้ความเห็นในคดีมาตรา 112 หลายคดีของ สภ.สุไหงโก-ลก พร้อมๆ กันด้วย

ในการตอบคำถามค้านของทนาย พยานโจทก์ทุกปากรับว่าเมื่ออ่านข้อความตามฟ้องแล้ว ไม่ได้รู้สึกไม่รัก ไม่เทิดทูล หรือไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

นอกจากผู้กล่าวหาแล้ว ยังมีพยานโจทก์ปากที่ 2 ทัศนีย์ อกนิษฐ์กุล ที่มีความสัมพันธ์เป็นแม่ยายของพสิษฐ์ ผู้กล่าวหาด้วย ที่เบิกความระบุว่าลูกเขยได้เปิดเฟซบุ๊กที่กล่าวหาให้ดู และตนได้เดินทางไปให้ปากคำที่ สภ.สุไหงโก-ลก ร่วมกับลูกเขย เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2564 ตำรวจจึงสอบไว้เป็นพยานด้วย

พยานระบุรวมๆ ว่าได้อ่านข้อความของจำเลยทั้งหมดแล้วเห็นว่าเป็นข้อความในเรื่องไม่ดีเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ แต่เมื่อทนายจำเลยถามค้านในแต่ละโพสต์ พยานก็รับว่าแต่ละโพสต์ไม่ได้เอ่ยชื่อบุคคลใด และบางโพสต์อ่านดูใหม่ ก็เห็นว่าไม่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

.

พยานโจทก์ปากที่ 3 ประทุม พัฒนวงษ์ เป็นผู้ทำงานรับจ้างในอำเภอสุไหงโก-ลก และเคยไปแจ้งความเด็กนักเรียน 5 คน ในคดีมาตรา 112 เอาไว้ที่ สภ.สุไหงโก-ลก ทำให้พนักงานสอบสวนติดต่อให้มาดูโพสต์ข้อความในคดีนี้ โดยพยานไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มหรือเครือข่ายเกี่ยวกับการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ พยานเบิกความเห็นว่าแต่ละข้อความเป็นข้อความเกี่ยวกับ “เบื้องสูง” และเป็นข้อความไม่สมควรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ในการถามค้าน ทนายจำเลยพบว่าพยานมาให้การเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 ในคำให้การของพยานในหน้าที่ 2 เหมือนกันทุกตัวอักษรกับพยานโจทก์ปากที่ 2 ก่อนหน้านี้ พยานตอบว่าไม่ทราบว่าทำไมถึงเหมือนกัน

พยานยังรับว่า ตนไม่ทราบว่ามาตรา 112 คุ้มครองบุคคลใดบ้าง แต่รับว่าน่าจะต้องเป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้นด้วย และรับว่าข้อความที่ “ไม่เหมาะสม” นั้น ไม่เท่ากับว่าข้อความนั้นเป็นความผิดตามมาตรา 112 โดยทันที

.

พยานโจทก์ปากที่ 4 ประสิทธิ์ ศรีสืบ เป็นประธานสภาทนายความในจังหวัดนราธิวาส โดยพยานปากนี้เบิกความว่ารับว่าตำรวจ สภ.สุไหงโก-ลก ได้ติดต่อมาขอให้มาลงชื่อในคำให้การในคดีนี้ โดยเมื่อไปถึงสถานี ตำรวจได้จัดทำเอกสารไว้เรียบร้อยแล้ว โดยพิมพ์มาให้พยานเซ็นชื่อ พยานได้ดูเอกสารก่อนเซ็น แต่จำเนื้อหาไม่ได้แล้ว

พยานปากนี้ไม่ขอออกความเห็นใดๆ ในชั้นศาล ต่อข้อความที่โจทก์นำมาให้ดูทั้งหมด

.

พยานโจทก์ปากที่ 5 ผศ.วันชัย แก้วหนูนวล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ พยานเบิกความว่าตนได้รับการโทรติดต่อจากรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัย เชิญให้ไปขอคำปรึกษาที่สำนักงานอธิการบดี เมื่อไปถึงก็พบว่ามีพนักงานสอบสวน สภ.สุไหงโก-ลก อยู่ด้วย ตำรวจได้ให้อ่านเอกสารข้อความโพสต์จากเฟซบุ๊ก และแจ้งขอให้ช่วยพิจารณาตีความวิเคราะห์สาร และความหมายของข้อความ

พยานได้ให้การในคดีมาตรา 112 ไว้ ทั้งหมด 3 คดี โดยทางตำรวจมีการบอกก่อนให้ดูข้อความว่าเป็นคดีเดียวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่มีผู้มาแจ้งความไว้

พยานเบิกความว่า บางข้อความสื่อโดยใช้ถ้อยคำผรุสวาท ในลักษณะการด่าทอ เสียดสี และมีองค์ประกอบเชื่อมโยงไปถึงบุคคลได้ในบางข้อความ โดยมีข้อความหนึ่งที่พยานเห็นว่าสื่อถึงโครงการในพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 และมีภาพของอีกข้อความหนึ่งที่มีพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 แต่ข้อความที่เหลือไม่สามารถระบุชัดเจนว่าหมายถึงบุคคลใด

.

พยานโจทก์ปากที่ 6  กิตติศักดิ์ กังวานโยธากุล รองนายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก พยานเบิกความว่าตนได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากตำรวจ สภ.สุไหงโก-ลก ให้มาเป็นพยาน โดยแจ้งว่าเป็น “คดีหมิ่นเบื้องสูง” จึงได้มาดูและให้ความเห็นต่อข้อความในคดีนี้

ในการเบิกความพบว่า พยานปากนี้ไม่เคยเห็นโพสต์ตามฟ้องในชั้นสอบสวนมาก่อนจำนวน 3 โพสต์ ขณะที่เคยเห็นอีก 4 โพสต์ โดยพยานเบิกความว่าบางโพสต์คิดว่าสื่อถึงรัชกาลที่ 9 โดยไม่ได้มีการระบุพระนาม และเห็นว่ามีการใช้ข้อความไม่สมควรเป็นบางส่วน

ขณะที่ทนายความ ยังพบว่าคำให้การชั้นสอบสวนของพยานปากนี้ ตรงกันกับพยานปากอื่นทุกตัวอักษร ซึ่งพยานตอบว่าไม่ทราบว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่พยานได้อ่านบันทึกคำให้การของตน ก่อนลงลายมือชื่อ

.

พยานโจทก์ปากที่ 7 อภินันท์ ชาจิตตะ อดีตปลัดอำเภอสุไหงโก-ลก เบิกความว่าในคดีนี้ พนักงานสอบสวนได้โทรติดต่อให้พยานมาให้ความเห็น และตำรวจให้ดูโพสต์ข้อความที่ระบุว่ามีการพาดพิงสถาบันฯ แต่เมื่อพยานดูข้อความแล้ว มีทั้งหมด 4 ข้อความที่พยานไม่มีความเห็นใดๆ และมี 2 ข้อความที่ดูเหมือนจะสื่อถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ก็เป็นลักษณะคำถามลอยๆ และไม่มีการเอ่ยชื่อบุคคลใด

ขณะที่ในการถามค้าน พยานปากนี้ก็ไม่ทราบว่าทำไมคำให้การในชั้นสอบสวนของตน ถึงเหมือนกันทุกตัวอักษรกับพยานโจทก์ปากอื่น

.

.

พนักงานสอบสวนรับเห็นว่าบางข้อความไม่เข้าข่าย ม.112 แต่คณะทำงานฯ เห็นว่าเข้า

พยานโจทก์ปากที่ 8 พ.ต.ต.นที จันทร์แสงศรี พนักงานสอบสวน สภ.สุไหงโก-ลก เบิกความว่า คดีนี้เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2564 พยานเป็นพนักงานสอบสวนเวร ได้มีนายพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน มาแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยนำเอกสารข้อความมาส่ง โดยระบุว่าเขาได้เปิดเฟซบุ๊กส่วนตัว และพบเฟซบุ๊กที่ลงข้อความที่เห็นว่าเข้าข่ายมาตรา 112

พ.ต.ต.นที เบิกความว่า ตนได้จัดพิมพ์ทะเบียนราษฎร์ของอุดม เพื่อตรวจสอบผู้โพสต์ โดยพยานดูข้อความที่กล่าวหาจากเฉพาะที่ผู้กล่าวหาจัดพิมพ์เอกสารมา ไม่ได้เปิดเฟซบุ๊กเข้าดูในตอนหลัง แต่ไปตรวจสอบภายหลัง

หลังแจ้งความ พยานรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาระดับภูธรจังหวัดนราธิวาส ต่อมาได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนในคดีนี้ โดยคณะฯ มีการทำหนังสือตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊ก ไปยัง บก.ปอท., กระทรวงดิจิทัลฯ แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ใดเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊ก เพราะฐานข้อมูลอยู่ต่างประเทศ ส่วนการตรวจสอบเฟซบุ๊กชื่ออุดมฯ นั้นพบว่ามีการโพสต์ภาพบุคคลที่เป็นภาพลักษณะเดียวกับภาพถ่ายนายอุดมฯ จึงน่าเชื่อว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กนี้คือนายอุดมฯ

พ.ต.ต.นที ระบุว่า ตามแนวทางของคณะพนักงานสอบสวนในคดีมาตรา 112 ได้ให้มีการสอบพยานบุคคลจากหลากหลายสาขาอาชีพ พยานจึงมีการเรียกพยานมาให้ความเห็นต่อข้อความ โดยมีทั้งการสอบที่ สภ. หรือที่ๆ พยานปากนั้นอยู่ โดยใช้วิธีถามตอบ จัดทำคำให้การ

อัยการถามว่ามีการพิมพ์คำให้การไว้ก่อนแล้วหรือไม่ พ.ต.ต.นที เบิกความว่าไม่ใช่ ตำรวจมีการพิมพ์โครงร่างบันทึกคำให้การไว้ เมื่อให้ดูข้อความตามข้อกล่าวหา หากพยานมีความเห็นในทางเดียวกัน ก็จะเซ็นชื่อในบันทึกคำให้การนั้นได้ แต่ถ้าไม่เห็นด้วย ก็สามารถขอแก้ไขปรับเปลี่ยนก่อนลงชื่อได้

เมื่อคณะพนักงานสอบสวน มีความเห็นว่าข้อความเข้าข่ายความผิด จึงมีการออกหมายเรียกจำเลยให้มารับทราบข้อหา ซึ่งผู้ต้องหาได้มาพบตามหมายเรียก เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2564 โดยอุดมให้การยอมรับว่าโพสต์ แต่ระบุว่าได้นำข้อความมาจากที่เขาส่งต่อๆ กันมา หรือแชร์ต่อๆ กันมา ทั้งข้อความที่เผยแพร่ ไม่ได้ระบุถึงใคร อย่างไร

พ.ต.ต.นที ระบุว่าตนได้แจ้งสิทธิฯ ให้อุดมทราบแล้ว แต่จำได้ว่าผู้ต้องหาระบุว่าไม่ต้องการทนายความ แม้ตนจะแจ้งให้ทราบแล้ว

ในการตอบคำถามค้านของทนายจำเลย พ.ต.ต.นที รับว่าในเอกสารที่พิมพ์ข้อความที่อ้างว่าจำเลยโพสต์ ตนไม่ทราบว่าเรียงลำดับอยู่แบบนี้จริงๆ หรือไม่ในหน้าเฟซบุ๊ก และไม่ทราบว่าถูกต้องตรงตามต้นทางหรือไม่

พ.ต.ต.นที ระบุว่าในการเรียกพยานมาสอบปากคำ มีการเรียกเป็นสองชุด ในช่วงก่อนและหลัง 14 มิ.ย. 2564 ที่มีการแจ้งข้อหากับผู้ต้องหา แต่เมื่อทนายความไล่เรียงวันที่พยานแต่ละปากไปให้ปากคำ พบว่าพยาน 6 ปาก ไปให้ปากคำในเดือนสิงหาคม หลังจากการแจ้งข้อกล่าวหาต่อจำเลยแล้ว มีเพียงผู้กล่าวหาและแม่ยายที่ไปให้การก่อนเท่านั้น

พ.ต.ต.นที จึงเบิกความว่าเนื่องจากในตอนแรก ทางภูธรจังหวัดเห็นว่าการสอบพยานผู้กล่าวหาเพียงคนเดียวก็เพียงพอแล้ว เนื่องจากมีการให้การรับสารภาพ แต่ภูธรภาค 9 เห็นว่ายังไม่เพียงพอ  จึงมีการเรียกพยานอื่นๆ มาสอบเพิ่มเติม เพื่อให้ปราศจากข้อสงสัย แต่พยานไม่มีเอกสารคำสั่งของภูธรภาค 9 มาแสดงต่อศาลในที่นี้

พ.ต.ต.นที เบิกความรับว่า องค์ประกอบของมาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะบุคคลใน 4 ตำแหน่ง แต่ความเห็นของคณะพนักงานสอบสวนเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเป็นกษัตริย์ที่ยังทรงครองราชย์อยู่ในขณะกระทำความผิด แต่พยานก็รับว่าไม่เคยมีคนมาแจ้งความเรื่องหมิ่นสมเด็จพระนารายณ์ฯ

พยานรับว่าตามองค์ประกอบความผิดมาตรา 112 ต้องชี้เฉพาะเจาะจงอย่างชัดเจนว่าหมายถึงบุคคลที่กฎหมายคุ้มครองทั้งสี่ พยานรับว่าในส่วนของตนมีความเห็นว่าบางข้อความในคดีนี้ อาจไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 112 แต่เนื่องจากการพิจารณาเป็นคณะฯ และตนเป็นอาวุโสน้อยที่สุด เจ้าพนักงานรายอื่นๆ อาจเห็นว่าครบองค์ประกอบ และตัวพยานก็ไม่ได้เสนอความเห็นแย้งต่อผู้บังคับบัญชา

ทนายความได้อ่านทวนคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวน ระบุว่า “ข้าฯ ไม่รู้ว่าข้อความหมายถึงบุคคลใด แต่ได้นำข้อความมาจากเพื่อนในเฟซบุ๊ก และนำมาลงต่อๆ กันมา เมื่อเพื่อนได้เตือนว่าเป็นข้อความไม่เหมาะสม จึงได้ลบออก และไม่เคยนำมาลงอีก” พยานรับว่า จำเลยเคยให้การเช่นนี้ไว้

พยานรับว่าจำเลยให้ความร่วมกับพนักงานสอบสวนด้วยดี มีการยอมรับว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กจริง โพสต์ข้อความจริง ทำให้พนักงานสอบสวนทราบข้อเท็จจริงได้

พ.ต.ต.นที เบิกความเพิ่มเติมเรื่องการจัดทำคำให้การพยานปากต่างๆ ว่าแต่ละคนมีการตีความแตกต่างกันบ้าง ไม่ได้เหมือนกันทั้งหมด พยานรับว่ากลุ่มพยานที่เรียกมาให้การนั้น ถูกเรียกมาในคดีมาตรา 112 ที่ สภ.สุไหงโก-ลก ในหลายคดี

พยานไม่ทราบว่าศาลจังหวัดนครพนมเคยมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยพิจารณาว่าข้อความที่ไม่ระบุตัวบุคคลชัดเจน ยังไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 112 แต่ไม่เคยเห็นคำพิพากษา ทนายความให้ดู และยื่นส่งศาล

เมื่อตอบคำถามอัยการถามติง พยานเบิกความใหม่ในเรื่องเอกสารตรวจสอบเฟซบุ๊กจาก บก.ปอท. ที่ระบุว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กของอุดมฯ น่าจะคือนายอุดมฯ เอง ไม่ใช่เพียงว่านายอุดมฯ ให้การรับสารภาพ จึงทำให้พนักงานสอบสวนได้ทราบข้อมูลนี้

อัยการยังได้ถามว่าพยานทราบว่าเคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกา ในคดีมาตรา 112 ที่เห็นว่าตีความถึงพระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว คือรัชกาลที่ 4 หรือไม่ พยานรับว่าเคยมีการคุยกันในคณะพนักงานสอบสวน แต่พยานไม่เคยเห็นตัวคำพิพากษา อัยการจึงให้พยานดูและยื่นส่งต่อศาล

.

การสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 18.42 น. ของวันที่ 28 เม.ย. 2565

ฝ่ายจำเลยแถลงไม่ประสงค์จะนำพยานเข้าเบิกความ แต่ได้ยื่นขอส่งคำแถลงปิดคดีภายใน 30 วัน ซึ่งศาลอนุญาต และกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 ก.ค. 2565 เวลา 9.00 น. เหตุที่นัดนานเนื่องจากต้องส่งร่างให้กับอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ดูก่อน

.

X