ฟ้องคดี ม.112 – พ.ร.บ.คอมฯ บรรณารักษ์ชาวกรุงเทพฯ ไกลถึงนราธิวาส เหตุแชร์ 6 โพสต์วิจารณ์การเมือง อัยการอ้างจำเลยเจตนาให้ประชาชนเคลือบแคลงกษัตริย์  

เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2565 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 ยื่นฟ้อง ภัคภิญญา (สงวนนามสกุล) บรรณารักษ์ห้องสมุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ต่อศาลจังหวัดนราธิวาส ในคดีความสืบเนื่องจากการแชร์โพสต์ 6 โพสต์ ตั้งแต่ปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 โพสต์ทั้งหมดถูกกล่าวหาว่า มีเนื้อหาเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยมี พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหา

ต่อมา วันที่ 7 ม.ค. 2565 ภัคภิญญาเดินทางไปรายงานตัวตามสัญญาประกัน และรับทราบว่า อัยการได้ยื่นฟ้องแล้ว ก่อนศาลให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี โดยใช้หลักประกันเดิมที่วางในชั้นสอบสวน เป็นเงินสด 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลนัดครั้งต่อไปเป็นนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 9 มี.ค. 2565

การถูกฟ้องคดีไกลถึงจังหวัดนราธิวาสสร้างผลกระทบต่อชีวิตของภัคภิญญาเป็นอย่างมาก เธอต้องเสียทั้งค่าเดินทางและค่าที่พักในการมาตามนัดหมายแต่ละครั้ง จากการพูดคุยล่าสุด ภัคภิญญากลัวว่าการถูกดำเนินคดีในครั้งนี้อาจก่อผลกระทบกับงานของเธอ หากหัวหน้างานทราบ ร้ายแรงสุดคืออาจถึงขั้นให้ออกจากงาน

>>> บรรณารักษ์สาวกรุงเทพฯ ถูกแจ้ง ม.112 ที่ สภ.สุไหงโก-ลก เหตุแชร์ 6 โพสต์เฟซบุ๊กหมิ่นกษัตริย์

สำหรับคำฟ้องที่ยื่นต่อศาล ว่าที่ ร.ต.นราชัย พรธีระภัทร พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 บรรยายฟ้อง มีเนื้อความระบุว่า ประเทศไทยไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีรัชกาลที่ 10 เป็นกษัตริย์องค์ปัจจุบัน ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6 บัญญัติว่า กษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพ ผู้ใดจะละเมิด กล่าวหา หรือฟ้องร้องไม่ได้

อัยการระบุว่า จำเลยได้ทำผิดต่อกฎหมายรวม 6 กรรม กล่าวคือ 

1. เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 จำเลยได้แชร์โพสต์จากเพจเฟซบุ๊ก ‘เยาวชนปลดแอก-Free YOUTH’ ซึ่งโพสต์ภาพตำรวจควบคุมผูงชนฉีดน้ำ พร้อมข้อความว่า “ด่วน ตํารวจฉีดน้ำพยายามสลายการชุมนุมแล้วถึง 5 ครั้ง ใส่แนวหน้าของเราที่เข้าไปแสตนบายที่พื้นที่ก่อนมวลชนจะมาถึง! และประกาศจะใช้กระสุนยาง!!!…” โดยจำเลยได้พิมพ์ข้อความประกอบว่า “ถ้าใส่เสื้อเหลืองเมื่อเช้านี่เปิดให้เข้าได้เลยนะ พ่อเขาบอกว่ารักทุกคน เราเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอมอ่ะ สับปลับ!”

2. เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2563 จำเลยได้แชร์โพสต์จากเพจเฟซบุ๊ก ‘KTUK-คนไทยยูเค’ ซึ่งโพสต์ข้อความในทำนองว่า รัชกาลที่ 10 เป็นผู้สั่งเตรียมรับมือการชุมนุม #ม็อบ25พฤศจิกา เมื่อปี 2563 โดยสั่งการให้มวลชนเสื้อเหลืองเข้าปะทะกับผู้ชุมนุม และเตรียมใช้ 112 จับแกนนำ โดยจำเลยได้พิมพ์ข้อความประกอบว่า “มันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”

3. เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2563 จำเลยได้แชร์โพสต์จากบัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่งที่มีข้อความว่า “ถ้าจะเก็บสนามหลวงไว้เผาศพอย่างเดียว กูก็ขอให้พวกมึงได้ใช้บ่อยละกัน” โดยจำเลยได้พิมพ์ข้อความประกอบว่า “รับสิ้นปีเลยนะ”  

4. เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2564 จำเลยได้แชร์โพสต์จากบัญชีเฟซบุ๊ก ‘อานนท์ นําภา’ ที่มีข้อความว่า “อุ้มหายบ่อยๆ จะทําให้ในหลวงรัชกาลที่ 10 กลับเยอรมันลําบาก พวกทําไปกะเอาใจนายรับรู้ไว้ด้วย อย่าขยันแต่โง่” โดยจำเลยได้พิมพ์ข้อความประกอบว่า “5555 ว้ายยยย”

5. เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2564 จำเลยได้แชร์โพสต์จากเพจ ‘ราษฎร’ ซึ่งมีเนื้อหาตั้งคำถามถึงเหตุผลในการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างล่าช้าของรัฐบาล และการให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ผูกขาดการผลิตวัคซีนเพียงรายเดียวในประเทศไทย โดยจำเลยไม่ได้พิมพ์ข้อความใดประกอบ

6. เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2564 จำเลยได้แชร์โพสต์จากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งที่มีข้อความว่า “เพื่อคนๆ เดียวมา 7 ปี ยอมล้มทั้งกระบวนการนิติบัญญัติ ล้มกระบวนการยุติธรรม ล้มแม้กระทั่งหลักการสาธารณสุขพื้นฐานของประเทศ จนประเทศล้มเหลวขนาดนี้ นับมาสิบห้าปี ประเทศไทยมีอะไรดีขึ้นบ้าง นอกจากพอร์ทของเจ้าสัวใหญ่สิบห้าตระกูล ถามผู้หลักผู้ใหญ่ที่ยังมีสติในบ้านเมืองนี้หน่อยเถอะ ยอมไปได้ไง”  โดยจำเลยได้พิมพ์ข้อความประกอบว่า “ฆ่าคนกว่าหกสิบล้าน เพื่อคนๆ เดียว แปลว่าถ้าคนๆ เดียวตาย มันอาจจะดีขึ้นไหมนะ” 

โดยอัยการเห็นว่า ข้อความทั้งหมดมีความหมายตรงตัวอักษร เป็นคำด่า และเปรียบเทียบ ผู้ที่พบเห็นเข้าใจทันทีว่า สื่อถึงรัชกาลที่ 10 ที่ไม่วางพระองค์เป็นกลาง ทรงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง สั่งให้มีการปราบปรามผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง เป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ โดยจำเลยเจตนาให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยในพระมหากษัตริย์ และระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำลายสถาบันกษัตริย์ ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อกษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2564 ภัคภิญญาเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของ  สภ.สุไหงโก-ลก หลังแจ้งข้อกล่าวหา โดยภัคภิญญาได้ให้การปฏิเสธ พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องฝากขังต่อศาลจังหวัดนราธิวาส ทั้งที่เธอเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ทำให้ทนายความต้องยื่นประกัน ก่อนที่ศาลจะอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างสอบสวน โดยภัคภิญญาต้องเดินทางไปรายงานตัวต่อศาลครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว ซึ่งในแต่ละครั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางและที่พักราว 6,000 บาท เธอเคยให้ความเห็นต่อการถูกดำเนินคดีในคดีนี้ว่า

“ไม่มีใครควรเจอกับเรื่องแบบนี้อีก เหมือนเขากลั่นแกล้งเรา กฎหมายข้อนี้มันมีช่องโหว่เยอะมากเลย มันเป็นกฎหมายที่ตีความได้กว้างมาก และมีช่องโหว่ไว้ใช้กลั่นแกล้ง” 

.

X