29 พฤศจิกายน 2564 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 ได้มีคำสั่งฟ้องคดีของ “อัปสร” (นามสมมติ) พนักงานบริษัทหญิงข้ามเพศ ต่อศาลอาญา ในคดีความสืบเนื่องจากแชร์โพสต์ของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ซึ่งโพสต์วิพากษ์วิจารณ์เรื่องการทำการประชาสัมพันธ์ของสมาชิกราชวงศ์ไทย ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
สำหรับพฤติการณ์ตามคำฟ้อง ระบุว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้ ประเทศไทยมีการปกปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือรัชกาลที่ 10 ซึ่งดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 จำเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 โดยการนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ผ่านทางเฟซบุ๊ก ด้วยการแชร์โพสต์ซึ่งเป็นสาธารณะของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองในคดีความมาตรา 112 โดยโพสต์ดังกล่าวมีเนื้อหาพาดพิงเรื่องการทำประชาสัมพันธ์ของสมาชิกราชวงศ์แข่งกับกลุ่มผู้ชุมนุม เช่นการที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ร่วมงานรำกับสามัญชน การที่เจ้าคุณพระสินีนาฏฯ ซื้อสินค้ามูลนิธิสายใจไทย สนับสนุนโครงการหลวง ซึ่งปวินมองว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องล้าสมัย และได้เปรียบเทียบกับราชนิกูลในต่างประเทศที่เข้าร่วมงานกิจกรรมสังคมที่สนับสนุนประชาธิปไตย เคารพสิทธิมนุษยชน อย่างเช่นเจ้าหญิงไดอาน่าที่เลือกทำประเด็นอย่างการดูแลผู้ไร้ที่อยู่อาศัย หรือเยาวชนที่ติดยาเสพติด
อัยการกล่าวหาว่าข้อความดังกล่าวเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จและเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ทำให้บุคคลทั่วไปที่พบเห็นโพสต์เข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 มอบหมายให้พระบรมวงศานุวงศ์ออกมาทำสงครามกับประชาชน แสดงให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์เป็นศัตรูกับประชาชน และทำให้เข้าใจได้ว่า รัชกาลที่ 10 เข้ามาแทรกแซงการเมือง
นอกจากนั้น โพสต์ดังกล่าวยังมีการใช้คำจาบจ้วง มีการใช้สรรพนามเรียกไม่เหมาะสม คือใช้คำว่า “อีง่าว” ซึ่งเป็นภาษาถิ่นทางภาคเหนือ คนทั่วไปสามารถเข้าใจความหมายได้ แปลว่า “โง่” เป็นคำหมิ่นเกียรติพระบรมวงศานุวงศ์ ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระมหากษัตริย์ มีเจตนามุ่งหมายให้ประชาชนเกิดความรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชัง และไม่เทิดทูนพระมหากษัตริย์ เป็นการกระทำที่ไม่สมควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง เป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ในประการที่ทำให้พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์เสื่อมพระเกียรติ ทั้งยังเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
หลังจากที่อัยการมีคำสั่งฟ้อง ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย กำหนดหลักประกันเป็นเงิน 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้จำเลยกระทำการใดในลักษณะเช่นเดียวกับความผิดตามฟ้องซ้ำอีก หรือห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล พร้อมนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 31 มกราคม 2565 เวลา 13:30 น.
จากการพูดคุยกับอัปสรในภายหลัง เธอได้เล่าว่า ตอนแรกที่เธอโดนคดีนี้ เธอรู้สึกตกใจมาก พอลองสอบถามไปยังตำรวจ พบว่าเป็นเหตุจากการแชร์โพสต์ในเฟซบุ๊กเก่าของเธอ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแล้ว และไม่ได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมใดๆ เพียงแต่แชร์โพสต์เท่านั้น โดยในวันที่อัยการมีคำสั่งฟ้อง สิ่งที่เธอหวาดกลัวที่สุดนั่นก็คือการต้องเข้าเรือนจำชาย ซึ่งขัดกันกับเพศสภาพของเธอ
“หนูห่วงเรื่องนี้มาก ตอนที่อยู่ในห้องเวรชี้ก็รู้สึกตกใจ ต้องอยู่ตั้งแต่ 11 โมง จนถึงเย็น อยู่ในห้องนั้นคนเดียว ไม่มีเพื่อน ถึงจะได้ประกันออกมา อย่างไรก็ยังมีคดีติดตัว”
ทั้งนี้คดีนี้มี นายสุรภพ จันทร์เปล่ง รับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีนี้ ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท)
ฐานข้อมูลคดี
คดี 112 “อัปสร” สาวข้ามเพศวัย 22 ปี DE กล่าวหาเหตุแชร์โพสต์ “ปวิน”
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ตร.ปอท. แจ้ง “ม.112-พ.ร.บ.คอมฯ” สาวข้ามเพศวัย 22 ปี เหตุแชร์โพสต์เฟซบุ๊ก “ปวิน”
.