5 คำพิพากษายกฟ้องสำคัญแห่งปี 2565

ปี 2565 สำหรับผู้ชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง นับได้ว่าเป็นปีแห่งการต่อสู้คดีในศาลและกระบวนการยุติธรรม เมื่อคดีจากการชุมนุมทั่วประเทศในช่วงปี 2563-64 ทยอยขึ้นสู่ชั้นศาล รวมทั้งคดีที่ค้างคามาจากช่วงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ศาลก็ได้ทยอยมีคำพิพากษาออกมาอย่างต่อเนื่องตลอดปี 

ท่ามกลางคดีหลากหลายประเภท ทั้งคดีจากการชุมนุม คดีจากการชูป้าย คดีจากการแสดงออกในโลกออนไลน์ แนวทางคำพิพากษามีทั้งน่าชื่นชมและน่าตั้งคำถามคละเคล้าปะปนกันไป บางคดีศาลวางแนวทางใหม่ๆ ในการตีความกฎหมาย บางกรณีมีลักษณะพฤติการณ์แทบจะใกล้เคียงกัน แต่คำพิพากษาเป็นไปคนละแนวทาง ขณะเดียวกันการเข้าไปตัดสินชี้ขาดคดีจากการแสดงออกจำนวนมากเหล่านี้ ก็สะท้อนถึงสภาวะที่สถาบันตุลาการกลายเป็นส่วนหนึ่งที่เกี่ยวโยงกับสถานการณ์ทางการเมืองในสังคมไทยอย่างสำคัญ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเลือกสรร 5 คำพิพากษายกฟ้องของศาล และมีความสำคัญในการวางแนวทางที่น่าสนใจในรอบปี 2565 นี้ บันทึกไว้เป็นบางส่วนของเรื่องราวการต่อสู้ในปีนี้ แม้ว่าหลายคดีจะยังไม่ถึงที่สุด แต่ร่องรอยความเห็นจากคำพิพากษาเหล่านี้ ก็นับได้ว่ารองรับการต่อสู้คดีเพื่อสิทธิการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออกต่อไป

.

.

1. คดีทิวากร วิถีตน ศาลชี้สถาบันกษัตริย์ไม่ใช่องค์ประกอบตาม ม.112

ท่ามกลางคำพิพากษาอย่างต่อเนื่องในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในรอบปีที่ผ่านมา ไม่น้อยกว่า 32 คดี มีคดีที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องทุกข้อกล่าวหาจำนวน 5 คดี โดยส่วนใหญ่เป็นการยกฟ้องในประเด็นความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานโจทก์ แต่มีคดีของทิวากร วิถีตน เกษตรกรชาวขอนแก่น ผู้สวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ที่ต่อสู้ในประเด็นเนื้อหาข้อความที่จำเลยเผยแพร่โดยตรง และศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้อง 

คดีนี้ทิวากรถูกฟ้องทั้งจากพฤติการณ์การโพสต์ภาพที่ตนเองสวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ยังถูกกล่าวหาจากการโพสต์ข้อความเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์หยุดใช้มาตรา 112 และให้สั่งปล่อยตัวแกนนำราษฎร โดยจำเลยต่อสู้ว่าเป็นผู้โพสต์รูปและข้อความตามฟ้องทั้งหมดจริง แต่การกระทำไม่ได้เข้าองค์ประกอบตามมาตรา 112 และมาตรา 116

ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำพิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2565 ยกฟ้องทิวากรทุกข้อกล่าวหา โดยพิเคราะห์อย่างชัดเจนว่าการที่จำเลยโพสต์ภาพและข้อความดังกล่าว ไม่ได้ระบุถึงบุคคลที่ถูกดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทให้รู้ได้แน่นอนว่าเป็นองค์พระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ การเข้าใจข้อความดังกล่าวขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล ข้อความดังกล่าวจึงมิใช่การยืนยันข้อเท็จจริง ทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่ใช่องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 การที่จำเลยลงข้อความและรูปภาพดังกล่าวในเพจเฟซบุ๊กจึงไม่ใช่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ 

ท่ามกลางการตีความมาตรา 112 อย่างกว้างขวางของเจ้าหน้าที่รัฐและแนวทางคำพิพากษาในบางคดี อาทิ การตีความมาตรานี้ให้ครอบคลุมไปถึงอดีตกษัตริย์ ครอบคลุมพระบรมวงศานุวงศ์องค์ต่างๆ ที่ไม่ได้ระบุในตัวบท หรือการตีความให้ครอบคลุมทั้ง “สถาบันกษัตริย์” โดยอ้างอิงเชื่อมโยงกับมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ (องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้) คำพิพากษาในคดีของทิวากรที่ยืนยันขอบเขตการตีความอย่างเคร่งครัดและอยู่ในร่องในรอยของกฎหมายที่ควรจะเป็น จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน

>> อ่านบันทึกจากห้องพิจารณาคดีของทิวากร และเนื้อหาคำพิพากษาคดีนี้

>> อ่านบทสัมภาษณ์ทิวากร “ผมตกต่ำได้มากกว่านี้ แต่ผมจะไม่สยบยอม”: เบื้องหลัง “ทิวากร” ประกาศไม่ประกันตัวชั้นอุทธรณ์ และ กว่าจะ ‘หมดศรัทธาฯ’: เรื่องราวของ ‘ทิวากร วิถีตน’ กับวิถีการต่อสู้ที่ตนเลือกเอง

.

.

2. คดีชุมนุมพะเยา-คาร์ม็อบลพบุรี ชี้ประกาศผู้บัญชาการทหารสูงสุดไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ปี 2565 ศาลต่างๆ ได้ทยอยมีคำพิพากษาในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยแนวโน้มส่วนใหญ่ศาลพิพากษายกฟ้องเป็นหลัก ท่ามกลางคำพิพากษาจำนวนมาก มีคำพิพากษาของสองศาลที่เป็นหลักสำคัญที่ออกมาในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ได้แก่ คดีชุมนุม #คนพะเยาบ่เอาแป้ง ที่ศาลจังหวัดพะเยา และคดีคาร์ม็อบลพบุรี 2 คดี ที่ศาลแขวงลพบุรี 

ในคดีของทั้งสองศาลนี้ ทั้งได้พิจารณาวางหลักเรื่อง “การชุมนุมในสถานที่แออัด” ที่จะเป็นความผิดในการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เอาไว้ โดยเห็นว่าการชุมนุมที่จะเป็นความผิดนั้น คือมีผู้ชุมนุมหรือทำกิจกรรมอยู่กันอย่างหนาแน่นตลอดพื้นที่ในสภาพที่ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ จนทำให้ผู้ชุมนุมในพื้นที่ทั้งหมดหรือส่วนใหญ่อยู่ในลักษณะเสี่ยงต่อการใกล้ชิดสัมผัสกันเท่านั้น ไม่ได้หมายความรวมถึงกรณีที่มีการรวมกลุ่มใกล้ชิดกันในพื้นที่ เพียงบางส่วนของสถานที่ชุมนุม เมื่อผู้ชุมนุมยังสามารถเคลื่อนย้ายไปมาได้สะดวก การชุมนุมในพื้นที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก จึงไม่ใช่สถานที่แออัด ที่เป็นการฝ่าฝืนข้อกฎหมายดังกล่าว 

ทั้งยังชี้ประเด็นว่าถ้อยคำปราศรัยในการชุมนุมตามฟ้องทั้งสามคดีนั้น เป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล อันเป็นการใช้สิทธิตรวจสอบการทำงานของผู้มีอำนาจรัฐตามวิถีทางประชาธิปไตย และเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยแต่อย่างใด

ที่สำคัญ คำพิพากษาของทั้งสองศาลนี้ ยังชี้ว่า ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง (ผู้บัญชาการทหารสูงสุดโดยตำแหน่ง) ในส่วนที่ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ได้กำหนดองค์ประกอบเพิ่มเติมไปจากข้อกำหนดที่ให้อำนาจไว้ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีผลบังคับใช้  

แม้คำพิพากษาคดีอื่นๆ ที่มีตามมา จะไม่ได้พิจารณาในประเด็นสุดท้ายนี้เท่าใดนัก แต่คำพิพากษาของทั้งสองศาลนี้ นับได้ว่าได้วางหลักการพิจารณาข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไว้อย่างครอบคลุม และชี้ให้เห็นปัญหาของประกาศที่ลงนามโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่ออกมาในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีการใช้อำนาจของรัฐอย่างกว้างขวาง แต่ปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเพียงพอ

>> อ่านบันทึกการสืบพยานในคดีชุมนุมที่จังหวัดพะเยา และคำพิพากษาของศาลจังหวัดพะเยา

>> อ่านคำพิพากษาของศาลแขวงลพบุรี บทสัมภาษณ์จำเลยในคดีคาร์ม็อบลพบุรี 1 และคดีคาร์ม็อบลพบุรี 2

.

.

3. คดีแกนนำคนอยากเลือกตั้ง ARMY57 ยกฟ้อง ม.116 หลังสู้คดีกว่า 4 ปี   

ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งอยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร นับเป็นข้อหาหนึ่งที่ถูกใช้อย่างกว้างขวางต่อการแสดงออกทางการเมือง มาตั้งแต่ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การกล่าวหาด้วยข้อหานี้เป็นไปอย่างคาดเดาไม่ได้ และตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ และต่อมาหลังการพิจารณาอย่างยาวนาน ศาลมักมีคำพิพากษายกฟ้องในที่สุด

ในปี 2565 คดีในข้อหาตามมาตรา 116 ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วง คสช. ศาลก็ได้มีคำพิพากษายกฟ้องเพิ่มเติมอีก อาทิ คดี “แปดแอดมิน” ที่ถูกกล่าวหาว่าจัดทำเพจ “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในลักษณะล้อเลียนผู้มีอำนาจ ที่ต้องต่อสู้คดีทั้งในศาลทหารและศาลพลเรือน มานานกว่า 6 ปี รวมทั้งคดีชุมนุมคนอยากเลือกตั้งที่หน้ากองทัพบก หรือ ARMY57 ซึ่งแกนนำนักกิจกรรมรวม 10 คน ต้องต่อสู้คดีที่ศาลอาญานานกว่า 4 ปี ก่อนเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2565 ศาลได้พิพากษายกฟ้องในข้อหาหลักทั้งหมด โดยให้ลงโทษปรับคนละ 200 บาท เฉพาะข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

ในส่วนข้อหาตามมาตรา 116 ศาลอาญาวินิจฉัยชี้ว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นไปอย่างสงบสันติ ไม่มีความรุนแรง หรือพฤติกรรมยุยงปลุกปั่น เป็นการกระทำซึ่งเป็นวิถีในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นการชุมนุมตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญและสิทธิพลเมือง จึงไม่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 

คำพิพากษาคดีนี้นับได้ว่าต่อเนื่องในลักษณะเดียวกับคดีชุมนุมคนอยากเลือกตั้งก่อนหน้านี้ ทั้งคดี MBK39 และคดี RDN50 ที่ศาลยกฟ้องในข้อหามาตรา 116 ทั้งหมด หากก็ยังเหลือคดี UN62 ที่ยังอยู่ระหว่างต่อสู้คดีในศาล ชุดคดีเหล่านี้และผลคำพิพากษาที่ตามมาล้วนชี้ให้เห็นปัญหาการใข้ข้อหามาตรานี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐบาลและกองทัพ ที่ยังคงสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน และจำเป็นต้องถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงแนวทางการใช้กฎหมายต่อไป

>> อ่านบันทึกการเบิกความในคดีแกนนำ ARMY57 ของฝ่ายโจทก์ฝ่ายจำเลย และอ่านสรุปคำพิพากษาคดีนี้

.

.

4. คดีตั้งโต๊ะปิดสวิตซ์ ส.ว. ศาลชี้ตำรวจทราบเรื่องการจัดชุมนุมก่อนแล้ว แม้ไม่มีผู้แจ้ง ก็ครบองค์ประกอบ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

ในปี 2565 แม้จะมีคำพิพากษาในคดีตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ไม่มากนัก เพราะข้อกฎหมายที่ถูกใช้กับการชุมนุมสาธารณะในช่วงที่ผ่านมา กลายเป็น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นหลัก แต่ก็ยังปรากฏคำพิพากษาสำคัญคดีหนึ่ง ที่ค้างคามาตั้งแต่ก่อนสถานการณ์โควิด-19 และได้วางประเด็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่น่าสนใจไว้ ได้แก่ คดีทำกิจกรรมตั้งโต๊ะเขียนจดหมายเรียกร้อง “ปิดสวิตซ์ ส.ว. ไม่โหวตนายกฯ” ที่ลานอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งราย เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2562

คดีนี้นักกิจกรรมและประชาชน 7 ราย ถูกฟ้องว่าร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าพนักงานผู้รับแจ้งไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง แม้คดีจะมีอัตราโทษปรับ แต่จำเลยทั้งหมดเลือกจะต่อสู้คดีโดยใช้เวลากว่า 3 ปีเศษ

ศาลแขวงเชียงรายได้มีคำพิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2565 โดยยกฟ้องจำเลยทั้งหมด ด้วยเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้กำกับการ สภ.เมืองเชียงราย ทราบจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่าจะมีการชุมนุมดังกล่าว และ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ การแจ้งการชุมนุมก็เพื่อให้เจ้าพนักงานทราบก่อนการชุมนุม เพื่อให้ดูแลความสงบเรียบร้อย และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เมื่อ ผู้กำกับการ สภ.เมืองเชียงราย ในฐานะผู้รับแจ้งการชุมนุม ทราบก่อนแล้วไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และกิจกรรมก็เป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย จึงเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แล้ว

คำพิพากษาคดีนี้ นับได้ว่าเป็นการวินิจฉัยเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ไปในทิศทางที่สนับสนุนการใช้เสรีภาพในการชุมนุมมากยิ่งขึ้น และเท่าที่ทราบข้อมูล ยังไม่เคยมีคำพิพากษาของศาลที่วางหลักการตีความเรื่องการแจ้งการชุมนุมสาธารณะไปในลักษณะนี้มาก่อน  

แม้ล่าสุด อัยการได้มีการอุทธรณ์คำพิพากษาคดีนี้ต่อศาลอุทธรณ์แล้ว แต่มุมมองจากคำพิพากษาในคดีนี้ ก็ยังมีความสำคัญในการต่อสู้ในคดีตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และการใช้เสรีภาพในการชุมนุมในปีต่อๆ ไป

>> อ่านประมวลการสืบพยานในคดีตั้งโต๊ะปิดสวิตซ์ ส.ว. และสรุปคำพิพากษา

.

.

5. คดีชูป้าย ‘I HERE ตู่ รัฐบาลฆาตกร’ ศาลเห็นว่านายกฯ ย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะกระทบกระทั่งได้

ข้อหาหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นโดยการโฆษณา รวมไปถึงข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยังคงถูกผู้มีอำนาจที่เป็นบุคคลสาธารณะนำมาใช้กล่าวหาผู้แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์หรือแม้แต่ด่าทอพวกเขา โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีจากการสืบทอดอำนาจรัฐประหาร ก็เป็นผู้หนึ่งที่มีการมอบอำนาจไปกล่าวหาดำเนินคดีประชาชนในหลายคดี รวมทั้งพบการใช้อำนาจนอกกฎหมายในลักษณะให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าติดตามข้อมูลและคุกคามประชาชน ในขณะที่เดินทางไปลงพื้นที่จังหวัดต่างๆ

คดีหนึ่งที่น่าสนใจในปีนี้ ได้แก่ คดี ‘ไบค์’ หัสวรรษ และ ‘ภูมิ’ กัมพล สองสมาชิกกลุ่มคบเพลิง ที่ถูกฟ้องในข้อหาดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา จากการชูป้าย ‘I HERE ตู่ รัฐบาลฆาตกร’ ในระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางไปตรวจราชการที่ จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2564 

คดีนี้ นักกิจกรรมทั้งสองคนต่อสู้ว่า การไปชูป้ายดังกล่าวมีเจตนาเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการทำงานของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ข้อความดังกล่าวเป็นการวิจารณ์รัฐบาลในลักษณะเปรียบเปรยเชิงสัญลักษณ์ และเป็นการวิจารณ์โดยชอบธรรม ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ทั้งยังมีอาจารย์มหาวิทยาลัยผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามายืนยันว่า ‘I HERE’ ไม่ได้พ้องเสียงกับ ‘ไอ้เหี้ย’ 

ก่อนที่เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2565 ศาลแขวงอุบลราชธานีได้มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสอง โดยเห็นว่า คำว่า “I HERE ตู่” หากจะแปลความหมายก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของบุคคลนั้นๆ และคำว่า I HERE ไม่พ้องเสียงกันกับ “ไอ้เหี้ย” ตามที่พยานผู้เชี่ยวชาญเบิกความ

ส่วนคำว่า “รัฐบาลฆาตกร” ด้วยสถานการณ์ขัดแย้งขณะนั้น ย่อมชี้ชัดว่าเป็นรัฐบาลปัจจุบัน แต่ข้อความไม่ได้หมายถึงบุคลใดโดยเฉพาะ และนายกรัฐมนตรีย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะกระทบกระทั่งได้ ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติรับรองเสรีภาพในการแสดงออกไว้ในมาตรา 34 และตามหลักการเสรีภาพในการแสดงออก 

แนวทางคำพิพากษาที่เห็นว่านายกรัฐมนตรีในฐานะบุคคลสาธารณะที่ใช้อำนาจรัฐ ย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ แม้ในลักษณะกระทบกระทั่งก็ตาม นับได้ว่าเป็นการพิจารณาที่สำคัญต่อประเด็นเสรีภาพการแสดงออกในสังคมไทยต่อไป

>> อ่านบันทึกการสืบพยานคดีชูป้าย ‘I Here ตู่’ และสรุปคำพิพากษา

>> อ่านบทสัมภาษณ์หนึ่งในจำเลย FC ‘ประยุทธ์’ สู่จำเลย ชูป้าย ‘I Here ตู่’ ย้อนโมงยามพลิกผันแปรของ ‘ไบค์ คบเพลิง’ 

.

X