เปิดคำเบิกความพยานโจทก์คดีแกนนำ ARMY57 ก่อนเริ่มสืบพยานจำเลยต่อ

ในวันที่ 19,21 ก.ค. และ 2,3 ส.ค. 2565 ศาลาอาญา รัชดาภิเษก จะกลับมาเริ่มสืบพยานจำเลยในคดีแกนนำผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้งเหตุชุมนุมและปราศรัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และเคลื่อนขบวนไปชุมนุมหน้ากองบัญชาการทัพบก ในวันที่ 24 มี.ค. 2561 (หรือ คดี ARMY57) 

หลังจากมีการสืบพยานโจทก์ไประหว่างวันที่ 9-12, 16 และ 19 มี.ค. 2564 โดยคดีนี้อัยการยื่นฟ้องแกนนำทั้ง 10 ต่อศาล ในข้อหาหลักคือ “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (2) (3) และข้อหาอื่นๆ รวม 4 ข้อหา

ย้อนมูลเหตุคดีกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

มูลเหตุแห่งคดีนี้เริ่มจาก “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” จัดการชุมนุมเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดการเลือกตั้งภายในปี 2561 พร้อมเรียกร้องให้ยุติการสืบทอดอำนาจ โดยมีการจัดกิจกรรมในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างน้อย 6 ครั้ง ตลอดครึ่งปี 2561 นำไปสู่การถูก คสช. กล่าวหาดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง

ส่วนเหตุการณ์ในคดี ARMY57 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2561 กลุ่มคนอยากเลือกตั้งจัดกิจกรรม “รวมพลถอนราก คสช.” นัดรวมพลที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อเดินขบวนไปชุมนุมหน้ากองทัพบก ต่อมามีผู้ชุมนุมถูกกล่าวหาดำเนินคดีรวม 57 คน แยกเป็นสองคดี ได้แก่ คดีของผู้ชุมนุม และคดีของแกนนำ  

อัยการยื่นฟ้องผู้ร่วมชุมนุม 46 คน ที่ศาลแขวงดุสิต ภายหลังศาลตัดสินยกฟ้องจำเลย 45 คน ยกเว้น ลูกเกด “ชลธิชา แจ้งเร็ว” ซึ่งศาลเห็นว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 15 (2) (4) ในฐานะผู้จัดการชุมนุม แต่ไม่สามารถดูแลการชุมนุมให้เลิกภายในเวลาตามที่แจ้งไว้ได้ และไม่สามารถควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ให้เดินบนพื้นผิวการจราจรได้ ลงโทษตามมาตรา 31 ปรับ 1,000 บาท

>>> สรุปความเป็นมาและคำฟ้องในคดีแกนนำชุมนุม ARMY57

>>> รายงานข่าวกรณีศาลแขวงดุสิตยกฟ้องคดีผู้ชุมนุม ARMY57 

ส่วนคดีนี้ เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2562 อัยการสูงสุดได้สั่งฟ้อง 10 แกนนำ ได้แก่ รังสิมันต์ โรม, สิริวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, ปกรณ์ อารีกุล, อานนท์ นำภา, กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์, ณัฏฐา มหัทธนา, ศรีไพร นนทรี, ธนวัฒน์ พรหมจักร, โชคชัย ไพบูลย์รัชตะ และเอกชัย หงส์กังวาน  ด้วยกัน 4 ข้อหา คือ 1. “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (2) (3) 2. เดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมหลัง 6 โมงเย็นโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ, ไม่เลิกชุมนุมตามเวลาที่ผู้จัดชุมนุมแจ้งไว้ ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ พ.ศ. 2558 3. ร่วมกันเดินขบวนขวางการจราจร ตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 108, 114 และ 4. ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

เดิมนั้น คดีนี้มีกำหนดนัดสืบพยานที่ศาลอาญา ตั้งแต่กลางปี 2563 แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ประกอบกับอัยการแถลงขอเลื่อนการนัดสืบพยาน เนื่องจากฝ่ายโจทก์ยังเตรียมพยานมาไม่พร้อม แม้ทางทนายจำเลยจะแถลงยืนยันว่าหากเลื่อนคดี จะเป็นภาระแก่จำเลย แต่ศาลก็ได้อนุญาตให้เลื่อนคดีมาในปี 2564 นี้

คำเบิกความของพยานโจทก์

ตลอดนัดหมายสืบพยานโจทก์ในช่วงเดือนมีนาคมจำนวน 6 นัด อัยการนำสืบพยานโจทก์ไปจำนวน 6 ปาก ได้แก่ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ พยานปากผู้กล่าวหา, พ.ต.อ.จักรกริศน์ โฉสูงเนิน หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม, พ.ต.อ.กัมปนาท. อรุณคีรีโรจน์ ผู้กำกับ สน.นางเลิ้ง, พ.ต.อ.สุรศักดิ์ เลิศไกร ผู้กำกับกองบังคับการตำรวจสันติบาล3, พ.ต.ท.ประจักษ์ พงษ์ปรีชา รองผู้กำกับสอบสวน สน.ชนะสงคราม และ พ.ต.ท. ไตรรัตน์ เพ็งนู รองผู้กำกับสืบสวน สน.บางขุนเทียน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตการสืบพยานโจทก์ในคดีนี้ ระหว่างวันที่ 9-12 มีนาคม  64 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ศาลจดบันทึกสิ่งที่ทนายถามค้านอย่างครบถ้วน และไม่มีการห้ามผู้สังเกตการณ์คดีจดบันทึก 

แต่บรรยากาศศาลเปลี่ยนไปหลัง “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ แถลงการณ์ตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรม ในวันนัดพร้อมคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ศาลมีการควบคุมเข้มข้นมากขึ้น โดยวันที่ 16 และ 19 มี.ค. มีการเปลี่ยนห้องพิจารณาจากบัลลังก์ 704 ที่มีขนาดใหญ่ ประชาชนสามารถเข้าร่วมฟังการสืบพยานได้ เป็นบัลลังก์ 708 ที่มีขนาดเล็ก มีการจำกัดผู้เข้าฟัง โดยผู้เข้าร่วมต้องมีความเกี่ยวข้องกับคดีหรือเป็นญาติของจำเลย มีการจดรายชื่อผู้เข้าฟัง พร้อมทั้งมีตำรวจศาลเกือบสิบนายบริเวณหน้าห้องพิจารณา อ้างเป็นมาตรการโควิด-19 แต่ทั้งนี้ตลอดการสืบพยานศาลจดบันทึกสิ่งที่ทนายถามค้านอย่างครบถ้วน และไม่มีการห้ามจดแต่อย่างใด

พยานโจทก์ปากที่ 1 พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้กล่าวหาร้องทุกข์ในคดี 

พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งเป็นนายปฏิบัติการประจำกองทัพบก หัวหน้าปฏิบัติการฝ่ายกฎหมาย ได้รับมอบหมายอำนาจจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้มาร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยในคดี จำนวน 10 คน ในความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (2) (3) และคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12

พยานเบิกความว่า แม้พยานไม่ได้อยู่ในสถานที่ขณะเกิดเหตุ แต่ทราบผ่านสื่อออนไลน์ และเจ้าหน้าที่ทหารที่ไปสังเกตการณ์ว่ามีการเคลื่อนขบวนในวันดังกล่าว โดยได้รับเอกสารถอดเทปคำปราศรัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่ามีการโจมตีรัฐบาล เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้ง และไม่ให้กองทัพบกเข้าข้างรัฐบาล ซึ่งแม้การชุมนุมดังกล่าวจะมีการแจ้งชุมนุมอย่างถูกต้องตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แต่การเชิญชวนให้ประชาชนออกมาชุมนุมร่วมถอนราก คสช. เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 ข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ที่บังคับใช้ในขณะนั้น 

ทนายจำเลยถามค้านว่า ช่วงเวลาเกิดเหตุนั้นยังไม่มีสมาชิกผู้แทนราษฎร ไม่มีการอภิปรายในสภา ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมต้องการเดินเท้าไปกองทัพบกเพื่อตั้งคำถาม พยานตอบกลับมาว่า แม้ยังไม่มีสมาชิกผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง แต่มีช่องทางหลายให้เรียกร้อง อย่างศูนย์ดำรงธรรมที่มีทุกจังหวัด ทั้งนี้การวิพากษ์วิจารณ์ คสช. ประชาชนสามารถทำได้ แต่ต้องไม่ละเมิดกฎหมาย อีกทั้งแม้กลุ่มจำเลยจะมีการศึกษาดี และไม่เคยมีพฤติกรรมเป็นอาชญากรมาก่อน แต่มีทัศนคติไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล 

เมื่อทนายถามค้านว่าการใช้มาตรา 116 กับกลุ่มจำเลยเป็นการสร้างภาระ ความยุ่งยาก ให้กลุ่มจำเลย และเป็นการดำเนินคดีกับคนเห็นต่างหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ใช่ เป็นการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งนี้สำหรับคำปราศรัยตามเอกสารการถอดเทปที่ทนายจำเลยนำมาให้ดูในตอนแรกนั้นเป็นของตำรวจฝ่ายเดียว พยานไม่ทราบและไม่ได้รับรองเอกสาร โดยเอกสารที่พยานนำมานั้นจะมีลายเซ็นต์ของพยานกำกับอยู่

ยันไม่ได้เลื่อน “เลือกตั้ง” แค่กฎหมายไม่พร้อม

พล.ต.บุรินทร์ ยังเบิกความด้วยว่า “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้ง ภายในปี 2561 แต่เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง จึงไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งได้ 

ส่วนประเด็นที่ว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 บัญญัติไว้ว่าเมื่อกฎหมายลูกประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ทันที แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 กลับบัญญัติไว้ว่ากฎหมายลูก จะมีผลก็ต่อเมื่อหลังประกาศใช้ครบ 90 วัน ทำให้ประชาชนไม่พอใจและออกมาชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง พยานระบุว่า ประเด็นการเลือกตั้งเป็นเพียงส่วนหนึ่ง โดยมีการเรียกร้องในประเด็นอื่นๆ ด้วย

หลังจากนั้นทนายถามค้านว่า แท้จริงแล้วกรอบเวลาที่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้อง รัฐบาลสามารถกำหนดการเลือกตั้งให้เกิดขึ้นภายในปี 2561 ได้ โดยระบุว่า กฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ทั้ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, พ.ร.บ.สมาชิกวุฒิสภา, พ.ร.บ.คณะกรรมการเลือกตั้ง รวมถึง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ประกาศใช้แล้ว 

ดังนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถจัดให้มีการเลือกตั้ง ภายในเดือนธันวาคม 2561 ตามที่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องได้ พยานตอบว่าไม่ทราบ เป็นตามกำหนดเวลาที่กฎหมายลูกกำหนดไว้ และบอกปัดให้ถามที่ กกต.

พยานโจทก์ปากที่ 2 พ.ต.อ.จักรกริศน์ โฉสูงเนิน หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนชนะ สน.ชนะสงคราม

พ.ต.อ.จักรกริศน์ โฉสูงเนิน ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่ง ผกก.สน.ชนะสงคราม และเป็นผู้กล่าวหาที่ 2 ในคดีนี้ โดยเป็นผู้กล่าวหาในข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, พ.ร.บ.การจราจรทางบก และ พ.ร.บ. เครื่องขยายเสียงฯ เพิ่มเติม อีกทั้งยังเป็นผู้กล่าวหาจำเลยทั้ง 57 คน และในวันเกิดเหตุมีหน้าที่ดูแลและอำนวยความสะดวกต่อการชุมนุม

พ.ต.อ.จักรกริศน์ เบิกความว่าเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 61 น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว ได้ทำหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อพยาน โดยมีสาระสำคัญ เพื่อเรียกร้องให้ คสช. จัดการเลือกตั้งภายในปี 2561 และให้ คสช. ยุติบทบาท เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างโปร่งใส 

อีกทั้งในหนังสือยังมีการขอความอนุเคราะห์ด้านการดูแลความปลอดภัย และดูแลการจราจรให้แก่ผู้ชุมนุม  ต่อมากลุ่มจำเลยได้นำรถเครื่องขยายเสียง 1 คันตามขบวนไปด้วย ทั้งนี้พยานไม่ได้มีหนังสือแจ้งให้เปลี่ยนแปลงการชุมนุม หรือกำหนดเงื่อนไขไม่ให้เคลื่อนขบวนแต่อย่างใด เพียงแต่ให้คำแนะนำว่า หากชุมนุมหน้ากองทัพบก ไม่ให้ลงไปชุนนุมบนพื้นผิวจราจร และแนะนำให้ขออนุญาตใช้เครื่องเสียงกับเขตท้องที่เท่านั้น 

เจราจาเพื่อเลี่ยงชุมนุมหน้ากองทัพบก ยันไม่ใช่เพื่อถ่วงเวลา

ในวันเกิดเหตุ พ.ต.อ.จักรกริศน์ ได้ติดตามขบวนของผู้ชุมนุมตั้งแต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนถึงหน้ากองทัพบก ในวันดังกล่าวพยานได้เข้าเจรจากับชลธิชาให้ชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินขบวนไปชุมนุมหน้ากองทัพบกถึง 3 ครั้ง 

พยานปฏิเสธว่าการตั้งควบคุมฝูงชน 1 กองร้อย หน้าทางเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น ไม่ได้เป็นการสกัดกั้นรถเครื่องเสียง ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีเจตนาถ่วงเวลาเพื่อให้ขบวนไปถึงที่หมายเลยเวลาที่กำหนด แต่รถเครื่องเสียงไม่ได้เคลื่อนออกมาเอง

กีดขวางเหตุเดินบนถนน ยันพื้นที่บนทางเท้าเพียงพอ

พ.ต.อ.จักรกริศน์ รับว่า เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 61 ที่นัดประชุมเตรียมความพร้อม ไม่ได้มีการนำเรียนผู้บังคับบัญชาให้แจ้งกรมประชาสัมพันธ์ ให้แจ้งประชาชนที่สัญจรไปมาหลีกเลี่ยงเส้นทางการจราจรว่าในวันที่ 24 มี.ค. จะมีการชุมนุม

ก่อนทนายถามค้านว่า ในคดีนี้ผู้ชุมนุมากกว่า 300 คน พยานไม่ได้ปิดช่องทางการจราจร 1 เลน ให้เดินขบวน แต่แนะนำให้ขบวนเคลื่อนไปตามทางเท้า ซึ่งมีสิ่งกีดขวาง อาทิ ป้ายรถโดยสาร ต้นไม้ หรือประชาชนที่รอรถประจำทางบนทางเท้า ทำให้ผู้ชุมนุมบางส่วนลงมาเดินบนพื้นผิวจราจร แม้ผู้ชุมนุมจะได้แจ้งขอช่องทางการจราจร 1 เลนแล้วก็ตาม 

พยานตอบว่าหากมีการขออนุญาตก็สามารถเดินบนพื้นผิวจราจรได้ และสาเหตุที่มีการกั้นแนวบริเวณกองสลากเก่า เนื่องจากต้องการให้กลุ่มผู้ชุมนุมเดินบนทางเท้าซึ่งความกว้างของทางเท้าเพียงพอ และพยานยังรับในการถามค้านอีกว่า เจตนาโดยรวมของผู้ชุมนุม คือเคลื่อนไปชุมนุมที่กองทัพบก ไม่ได้มีเจตนารวมตัวเพื่อกีดขวางการจราจร

ส่วนประเด็นคำปราศรัยของจำเลยนั้น พ.ต.อ.จักรกริศน์ เห็นว่าประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ ติชม รัฐบาล ตามสิทธิเสรีภาพภายในขอบเขตตามรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งภายหลังรัฐบาลประกาศวันเลือกตั้ง กลุ่มคนดังกล่าวก็ไม่ได้ออกมาเรียกร้องอีก นอกจากเหตุการณ์การดันแผงเหล็ก และการเดินบนพื้นผิวจราจรที่ไม่สงบแล้ว ก็ไม่มีการจับกุมผู้ชุมนุมในการกระทำผิดซึ่งหน้าในวันชุมนุม และไม่ได้มีประชาชนมาแจ้งความว่าได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุมดังกล่าวแต่อย่างใด

อัยการโจทก์ได้ถามติงในประเด็น พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ว่า ผู้ชุมนุมสามารถเดินบนพื้นผิวจราจรได้ แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไข, การเจรจากับผู้ชุมนุมเป็นการควบคุมผู้ชุมนุม และการเจรจรให้ผู้ชุมนุมเปลี่ยนเส้นทางการเดิน ถือว่าอยู่ในอำนาจของพยานที่เป็นผู้ควบคุมดูแลตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 

พยานโจทก์ปากที่ 3 พ.ต.อ.กัมปนาท อรุณคีรีโรจน์ ผกก.สน.นางเลิ้ง

ในวันเกิดเหตุคดีนี้ พ.ต.อ.กัมปนาท อรุณคีรีโรจน์ ทำหน้าที่ดูแลการเดินขบวนของผู้ชุมนุมตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ไปตามถนนราชดำเนินนอก จนถึงหน้ากองทัพบก

พ.ต.อ.กัมปนาท เบิกความถึงการประชุมคณะทำงานของตำรวจ เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 61 ว่า การประชุมมีขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การชุมนุม และเป็นการรักษาความปลอดภัยให้ผู้สัญจรไปมา พยานจำไม่ได้ว่ามีทหารเข้าร่วมหรือไม่  แต่จำได้ว่าไม่มีการสั่งย้ายชุมนุมจากหน้ากองทัพบกมาเป็นหน้าสนามมวยราชดำเนิน 

ในวันนั้นพยานได้เสนอให้ย้ายสถานที่ไปหน้าสนามมวย เพราะเชื่อว่าหากชุมนุมหน้าสนามมวยจะไม่กีดขวางการจราจร โดยที่ประชุมตอบรับว่า หากผู้ชุมนุมยินยอมก็สามารถทำได้ แต่พยานไม่ทราบว่าการไปชุมนุมหน้าสนามมวยนั้นจะขัดกับวัตถุประสงค์ของผู้ชุมนุมหรือไม่ 

พ.ต.อ.กัมปนาท เบิกความถึงวันเกิดเหตุว่า พยานทราบจากวิทยุที่ติดตัวตลอดว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนตัวช้ากว่ากำหนด 50 นาที และในวันดังกล่าวมีการแจ้งการเคลื่อนขบวนเป็นระยะๆ ทั้งนี้ระยะทางจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนถึงกองทัพบก จะมีจุดสกัดกั้นกี่จุด พยานไม่ทราบ ทราบเพียงจุดที่พยานประจำ 1 จุด คือบริเวณสี่แยก จปร. 

เหตุที่มีการสกัดกั้นจุดดังกล่าว เนื่องจากต้องการให้กลุ่มผู้ชุมนุมไปชุมนุมหน้าสนามมวยราชดำเนิน โดยมีเหตุวุ่นวายเล็กน้อย จากการตั้งแผงเหล็กทำให้ประชาชนไม่สามารถสัญจรได้ ก่อให้เกิดการชะงักงันในหมู่ผู้ชุมนุมและผู้สัญจรประมาณ 5-10 นาที เหตุนี้ส่วนหนึ่งมาจากเจ้าหน้าที่ และผู้ชุมนุมไม่ยอมเคลื่อนไปที่สนามมวยราชดำเนิน โดยได้ฝ่าด่านกั้นเข้าไปชุมนุมหน้ากองทัพบก

พ.ต.อ.กัมปนาท เบิกความว่า ตนทราบว่าการปราศรัยเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งอยู่ในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และเป็นการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ทราบว่าการปราศรัยได้ยั่วยุให้คนก่อความวุ่นวายหรือไม่ 

อีกทั้งหลังยุติการชุมนุม เวลา 20.35 น. ไม่มีเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ สน.นางเลิ้ง และขณะปฏิบัติหน้าที่พยานเห็นว่าการชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบ ปราศจากอาวุธ แต่จะมีเหตุการณ์การความรุนแรงเกิดขึ้นในบ้านเมืองถัดจากวันเกิดเหตุหรือไม่ ตนจำไม่ได้

พยานโจทก์ปากที่ 4 พ.ต.อ.สุรศักดิ์ เลิศไกร ตำรวจสันติบาล 

ขณะเกิดเหตุ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ เลิศไกร รับราชการเป็นรองผู้กำกับการกองบัญชาการตำรวจสันติบาล 1 มีหน้าที่สืบสวนติดตามความเคลื่อนไหวของบุคคล หากมีความวุ่นวายต้องทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชา ซึ่งบุคคลจะเป็นภัยคุกคามหรือไม่แล้วแต่ความเห็นของผู้บังคับบัญชา 

ในวันเกิดเหตุ พยานและผู้ใต้บังคับบัญชา 5 นาย ได้เข้าไปสังเกตการณ์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่ เวลา 16:00 น และติดตามการเดินขบวนมาถึงหน้ากองทัพบก โดยไม่ได้สวมใส่เครื่องแบบ ได้ร่วมกันเก็บภาพ เสียง และสังเกตบุคคลเพื่อป้องกันการก่อเหตุวุ่นวาย 

พยานเบิกความต่อว่า ตนทราบว่ามีการเจรจาไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปหน้ากองทัพบก และเห็นว่าในวันนั้นเจ้าหน้าที่ได้กั้นแผงเหล็ก จากนั้นได้มีการยื้อกับผู้ชุมนุมเล็กน้อย ก่อนที่ผู้ชุมนุมจะเคลื่อนไปได้ ตามความเข้าใจของพยาน จุดประสงค์ที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งไปชุมนุมหน้ากองทัพบบก เป็นการเรียกร้องเชิงสัญลักษณ์ให้กองทัพไม่รับใช้ คสช. และการตั้งแผงเหล็กกั้น เพื่อไม่ให้มีการชุมนุมบริเวณหน้ากองทัพบก

ส่วนคำปราศรัยที่พยานได้ยินและได้ฟังที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของกลุ่มจำเลย เป็นการวิงวอนให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ได้บังคับขู่เข็ญ ไม่ได้ปลุกระดมให้มีความรุนแรง และกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้มีพฤติกรรมกระทำไปเกินความจำเป็น และคาดว่าการเลือกชุมนุมในวันเสาร์เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรไม่ให้ติดขัด 

ทั้งจากการติดตามกลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวของพยาน ตั้งแต่การชุมนุมบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง  (MBK) และบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มผู้ชุมนุมออกมาเคลื่อนไหวเพียงเห็นต่างจาก คสช. เท่านั้น และการชุมนุมด้วยความสงบ ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆ อีกทั้งไม่ได้รับรายงานว่ามีความวุ่นวายจากผู้ใต้บังคับบัญชาที่ร่วมติดตามการชุมนุม 

พยานโจทก์ปากที่ 5 พ.ต.ท.ประจักษ์ พงษ์ปรีชา พนักงานสอบสวน

ขณะเกิดเหตุ พ.ต.ท.ประจักษ์ พงษ์ปรีชา รับราชการเป็น รอง ผกก. (สอบสวน) สน.ชนะสงคราม และเป็นหนึ่งในคณะพนักงานสอบสวน ทำหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานและมีความเห็นสั่งฟ้องในคดีนี้ 

คณะสอบสวนแบ่งหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนถอดเทปคำปราศรัย พนักงานวิเคราะห์คำปราศรัย และพนักงานสอบสวนสอบปากคำ โดย พล.ต.บุรินทร์ กล่าวโทษในความผิดมาตรา 116 และความผิดฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/58  ส่วน พ.ต.อ.จักรกริศน์ เป็นผู้กล่าวหาเพิ่มเติม เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้น พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 57 คน

พ.ต.ท.ประจักษ์เบิกความว่า ชลธิชาได้ทำหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะ โดยมีการแจ้งขอใช้พื้นผิวจราจร 2 ช่องทาง แต่ไม่แน่ใจว่าได้ใช้หรือไม่ และพยานรับว่าในวันเกิดเหตุไม่มีการกั้น 1 ช่องทางจราจร เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุมได้เดินขบวนบนพื้นผิวจราจร 

ในวันเกิดเหตุ พ.ต.ท.ประจักษ์ ได้ขับรถจักรยานยนต์ติดตามขบวนตั้งแต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนถึงหน้ากองบัญชาการกองทัพบก พยานเห็นการเจรจาระหว่าง ชลธิชา กับ พ.ต.อ.จักรกริศน์ 2-3 ครั้ง เพื่อไม่ให้ออกมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ผู้ชุมนุมสามารถออกมาได้ ส่วนรถเครื่องเสียงไม่สามารถออกไปได้ เนื่องจากมีชุดควบคุมฝูงชนขวางกั้นตรงหน้าประตูทางเข้าออก 

หลังจากนั้นพยานเห็นรถกระบะบรรทุกเครื่องขยายเสียงนำผู้ชุมนุมไปยังหน้ากองทัพบก โดยวัตถุประสงค์ใช้เครื่องขยายเสียงเพื่อปราศรัย อีกทั้งมีการประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมเดินบนช่องเดียว หรือขึ้นไปเดินบนบริเวณทางเท้า เพื่อไม่ให้กีดขวางการจราจร ส่วนชลธิชาได้ใช้โทรโข่งประกาศให้ผู้ชุมนุมขึ้นไปเดินบนทางเท้า

พ.ต.ท.ประจักษ์ เบิกความต่อว่า ตนทราบว่าวัตถุประสงค์หลักของการเดินขบวนในครั้งนี้ คือการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งโดยปกติทราบว่าการเดินขบวนจะมีผลกระทบอยู่บ้าง เช่น ผู้นำขบวนไม่สามารถควบคุมผู้ชุมนุมไม่ให้เดินบนช่องทางการจราจรได้ แต่ยืนยันว่าเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องมีการอำนวยความสะดวกกับผู้ชุมนุมมาโดยตลอด

สำหรับประเด็นแผงเหล็กกั้น ตั้งแต่แยกจปร. เรื่อยไปตามเส้นทางลานพระบรมรูปทรงม้า พยานเบิกความว่า พยานไม่ทราบว่าแผงเหล็กกั้นเป็นของผู้ใด แต่ลักษณะคล้ายแผงเหล็กกั้นของเจ้าหน้าที่การจราจร อีกทั้งยังพบเหตุความไม่สงบที่แยก จปร. โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมผลักดันแผงเหล็กเข้าไปยังหน้ากองทัพบก ส่วนใครจะเป็นผู้ผลักแผงเหล็กนั้นไม่ทราบและไม่สามารถพิสูจน์ได้  

นอกจากนี้พยานเบิกความรับในประเด็นเครื่องขยายเสียงว่า ไม่ได้สอบสวนพนักงานของสำนักงานเขต ในเรื่องการขออนุญาตเคลื่อนย้ายเครื่องเสียง พยานยังอ้างว่าในวันเกิดเหตุมีเจ้าพนักงานเขตมาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อวัดความดังของเสียงว่ามีการรบกวนประชาชนหรือไม่ แต่ในสำนวนไม่มีภาพของบุคคลที่พยานกล่าวอ้าง

พ.ต.ท.ประจักษ์ ได้เบิกความถึงหนังสือแจ้งสรุปสถานการณ์ชุมนุมเพิ่มเติมว่า ในหนังสือดังกล่าวไม่ได้มีการแจ้งในหลายเรื่อง ทั้งการนำชุดควบคุมฝูงชนไปกั้นหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การนำแผงเหล็กไปปิดกั้นช่องทางการจราจร การย้ายสถานที่ชุมนุมไปหน้าสนามมวยราชดำเนิน รวมถึงไม่ได้มีคำแนะนำให้เลิกชุมนุมหลังเวลา 20.00 น. มีเพียงระบุข้อแนะนำว่า ต้องขอเคลื่อนย้ายกับสำนักงานเขตพระนครและสำนักงานเขตดุสิตให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ เท่านั้น

แจ้ง มาตรา 116 แกนนำ เหตุติชมรัฐบาลไม่สุจริต

พ.ต.ท.ประจักษ์เบิกความว่า ข้อความคำปราศรัยต่างๆ มาจากคณะทำงานและชุดวิเคราะห์การถอดเทป ซึ่งวัตถุพยานนำมาจากวิดีโอภาพเคลื่อนไหว จากฝ่ายต่างๆ ของทหารที่ผู้กล่าวหานำมา และฝ่ายสืบสวนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ในคำปราศรัยของจำเลยต่างๆ เป็นการโจมตีรัฐบาล ขัดขืนอำนาจรัฐ และเป็นข้อความชักชวนให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน แต่ไม่ถึงขนาดให้ประชาชนก่อความไม่สงบ โดยความเห็นส่วนตัวของพยาน คำปราศรัยที่ขับไล่รัฐบาลเป็นการล่วงละเมิดกฎหมายของแผ่นดิน และไม่ใช่การติชมโดยสุจริต จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 

ก่อนที่ทนายความจำเลยจะถามค้านต่อ ว่าการกระทำโดยสุจริตจะต้องทำแบบใด พยานตอบว่าไม่ทราบ แต่หากมีการทำผิดกฎหมายก็จะต้องดำเนินคดี และขอให้การกับเกี่ยวกับ “เผด็จการทหาร” เพียงเท่านี้ โดยการดำเนินคดีนี้ จะเป็นการมุ่งหวังผลทางการเมืองหรือไม่ พยานไม่ทราบ และไม่มีผู้ใดมาเร่งรัดการสืบสวนคดีนี้

ก่อนที่อัยการจะถามติงพยานโจทก์ว่า พนักงานสอบสวนในคณะมีหน้าที่อย่างไร พ.ต.ท.ประจักษ์ตอบว่าพนักงานสอบสวนมีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิด เพื่อที่จะมีความเห็นและทราบตัวผู้กระทำความผิด โดยพยานหลักฐานทุกชนิดที่รวบรวม ทั้งการถอดเทปคำปราศรัยและแผนผัง เป็นพยานหลักฐานที่คณะทำงานได้กระทำ 

หลังจากรวบรวมสำเร็จจึงมีความเห็นสั่งฟ้องในคดี โดยเป็นไปในรูปแบบของคณะทำงาน ซึ่งการตอบคำถามค้านของทนายจำเลยนั้น เป็นความเห็นส่วนตัวของพยาน แต่จะตรงตามความเห็นของคณะทำงานหรือไม่นั้นพยานจำไม่ได้  และพยานไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งให้ใครได้รับโทษ แต่เป็นการปฏิบัติไปตามหน้าที่

พยานโจทก์ปากที่ 6 พ.ต.ท.ไตรรัตน์ เพ็งนู ตำรวจฝ่ายสืบสวน

ขณะเกิดเหตุ พ.ต.ท.ไตรรัตน์ เพ็งนู เป็นรองผู้กำกับสืบสวน สน.ชนะสงคราม มีหน้าที่สืบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิดในกฎหมายอาญา

พ.ต.ท.ไตรรัตน์ เบิกความถึงการประชุมวันที่ 22 มี.ค. 61 ว่ามีการประชุมเรื่องการแบ่งหน้าที่ดูแลความปลอดภัย การบันทึกภาพและวิดีโอของกลุ่มผู้ชุมนุม โดยมีเจ้าหน้าที่เข้าร่วมการประชุม จาก สน.ชนะสงครามตำรวจ, กองกำกับการสืบสวนจนครบาล 1 และกองบัญชาการตำรวจนครบาล ทั้งหมดราว 30 นาย

พ.ต.ท.ไตรรัตน์ เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุได้รับแจ้งจากผู้ชุมนุมว่าจะมีการชุมนุมสาธารณะ เมื่อตำรวจทราบก็ตรวจสอบโซเชียลมีเดีย พบว่ามีแกนนำผู้ชุมนุมโพสต์เชิญชวนให้มาร่วมชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ทางเฟซบุ๊กจำนวน 7 คน 

ในวันเกิดเหตุพยานเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุเวลา 10.00 น. โดยพยานอยู่ระหว่างตึกโดมและสนามบอลในมหาวิทยาลัย พบรถเครื่องเสียง 1 คัน ลักษณะเป็นรถบรรทุก 6 ล้อ สามารถถ่ายทอดเสียงได้ดังในบริเวณรอบๆ แต่ไม่ได้ยินทั่วทั้งมหาวิทยาลัย 

วันนั้นมีผู้ปราศรัยทั้งหญิงและชาย จะมีใครบ้างนั้นพยานจำไม่ได้ แต่ผู้ใต้บังคับบัญชาของพยานได้ถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอไว้ หลังจากชุมนุมเสร็จได้รวบรวมหลักฐานส่งพนักงานสอบสวน ทั้งนี้พยานเดินตามขบวนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแล้วก็กลับ ไม่ได้ติดตามขบวนถึงหน้ากองทัพบก

ทนายความจำเลยถามค้าน ในประเด็นเอกสารประกอบการชุมนุมของตำรวจที่มีการเขียนว่าให้ตำรวจแฝงตัว ทนายถามว่าทำไมไม่แต่งกายในเครื่องแบบไป พ.ต.ท.ไตรรัตน์ตอบว่า เวลาคนเห็นตำรวจในเครื่องแบบแล้วคนจะไม่กระทำความผิด ก่อนจะตอบใหม่ว่า โดยปกติหน่วยสืบไม่แต่งกายในเครื่องแบบอยู่แล้ว และการให้แฝงตัวในคำสั่ง ไม่ได้แปลว่าตำรวจมองกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นผู้กระทำความผิด ไม่ได้มุ่งหมายเอาโทษแก่จำเลยหรือกลั่นแกล้งใคร 

ในส่วนพยานวัตถุต่างๆ ในคดีนี้ พยานไม่ได้เป็นผู้บันทึก แต่ฝ่ายสืบสวนเป็นผู้บันทึก และพยานไม่ทราบว่าภาพวิดีโอเหตุการณ์จะถูกตัดต่อหรือถ่ายอย่างต่อเนื่องกัน 

อัยการถามติงถึงเรื่องการแต่งเครื่องแบบ พยานตอบโดยอ้างถึงระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสืบสวน เจ้าหน้าที่สืบสวนไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องแบบ และมีอำนาจในเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน

พยานโจทก์ทั้งหมดรับ การชุมนุมอยู่ในความมุ่งหมายรธน. ปราศจากอาวุธ แต่บางปากอ้างว่ายังมีเหตุไม่สงบอยู่บ้าง

โดยสรุปแล้ว ในการเบิกความพยานโจทก์ดังกล่าว ในประเด็นเป้าหมายของการชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง และคำปราศรัยของกลุ่มจำเลยนั้น ทั้ง พล.ต.บุรินทร์, พ.ต.อ.กัมปนาท และ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ เบิกความตรงกันว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นไปตามความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญปี 2560 

ส่วน พ.ต.อ.จักรกริศน์ และ พ.ต.ท.ประจักษ์ เบิกความว่าการวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิทธิเสรีภาพในขอบเขต ซึ่งข้อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งนั้น ยังสอดคล้องกับสิ่งที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ด้าน พ.ต.ท.ไตรรัตน์ เบิกความว่า การชุมนุมเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หากสงบและปราศจากอาวุธ แต่ไม่ทราบว่าการเรียกร้องเรื่องการเลือกตั้งจะสร้างความปั่นป่วนหรือความกระด้างกระเดื่องหรือไม่

ด้านประเด็นความสงบเรียบร้อยและปราศจากอาวุธของการชุมนุมนั้น พ.ต.อ.จักรกริศน์, พ.ต.อ.กัมปนาท และ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ เบิกความตรงกันว่า หลังการชุมนุมเสร็จสิ้น วันต่อมาและวันถัดๆ ไปไม่มีเหตุการณ์ความวุ่นวายเกิดขึ้น โดย พ.ต.อ.จักรกริศน์ เบิกความเพิ่มเติมว่าหลังเหตุการณ์ ไม่ได้มีประชาชนเข้ามาแจ้งความกล่าวหากลุ่มจำเลยทั้งหมด

ขณะที่ พ.ต.ท.ประจักษ์ เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุมีความวุ่นวายเกิดขึ้น ทั้งการดันแผงเหล็กของเจ้าหน้าที่ การลงเดินบนพื้นผิวจราจร รวมถึงมีประชาชนเข้าร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อน โดยให้การปากเปล่า ไม่มีการยื่นภาพหรือเอกสารเพิ่มเติม  ส่วน พ.ต.ท.ไตรรัตน์ เบิกความว่ามีผู้ได้รับความเดือดร้อน เช่น ผู้ขับรถมอเตอร์ไซต์รับจ้าง แม่ค้า โดยยืนยันว่าไม่มีคำสั่งจากพยานและผู้ใต้บังคับบัญชาให้ไปตามใครมาเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อน

อย่างไรก็ตามพยานทุกปากให้การตรงกันว่า การชุมนุมดังกล่าวไม่มีการตรวจพบอาวุธ และไม่มีการรายงานเรื่องอาวุธในการชุมนุมแต่อย่างใด

ในคดีนี้ก่อนหน้านี้ อัยการยื่นบัญชีระบุพยานบุคคลที่จะนำเข้าสืบจำนวนทั้งหมด 51 ปาก แต่ตลอด 6 นัดของการสืบพยานโจทก์ อัยการสืบพยานได้ทั้งสิ้น 6 ปากเท่านั้น และอ้างว่าเนื่องจากพยานที่เหลือติดต่อไม่ได้ อัยการโจทก์จึงไม่ติดใจจะสืบพยานที่เหลือต่อไป ทำให้ศาลกำหนดวันนัดเพิ่มเติม เป็นการนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 20-21 ตุลาคม และ 26-29 ตุลาคม 2564 ก่อนจะเลื่อนนัดสืบพยานอีกครั้งเป็นวันที่ 31 พ.ค.,19-20 ก.ค. และ 2-3 ส.ค. 2565

ทั้งนี้ในชุดคดีชุมนุมคนอยากเลือกตั้งของกลุ่มแกนนำ ซึ่งมีทั้งหมด 4 คดีหลัก ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาตามมาตรา 116 ในจำนวนนี้ ศาลอาญาได้ยกฟ้องไปแล้ว 2 คดี ได้แก่ คดี MBK39 และ คดี RDN50 โดยทั้งสองคดี ศาลเห็นว่าการชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งยังอยู่ในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 116 แต่อย่างใด ส่วนคดี ARMY57 และ คดี UN62 ยังอยู่ระหว่างรอการสืบพยานในชั้นศาลให้เสร็จสิ้นเช่นเดียวกัน

X