คุยกับ ‘ติวเตอร์เคมี’ ผู้ถูกดำเนินคดีคาร์ม็อบลพบุรี: ความตระหนักรู้ต่อ ‘สิทธิ’ กำลังขยายกว้างในสังคม

“เราโดนกล่าวหาว่าฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่โรค แต่จริงๆ ในช่วงที่จัดคาร์ม็อบ เราก็จัดเพราะเหตุผลนั้นนะ เพราะเราคำนึงแล้วว่ามันเสี่ยงต่อโรคน้อย ทุกคนก็อยู่ในรถเป็นหลัก แล้วเราก็ไม่ได้ทิ้งสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ในการชุมนุมหรือการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล มันไม่ใช่มีโรคระบาดแล้ว รัฐบาลจะทำงานล้มเหลวยังไงก็ได้ โดยที่เราไม่มีสิทธิพูดอะไรเลย อย่างน้อยสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์เราต้องมี แต่จะแค่ไหนในสถานการณ์ต่างๆ แค่นั้นเอง ก็เลยเป็นคาร์ม็อบ ที่ไม่ให้คนออกมารวมกลุ่มกันจำนวนมาก”

หลังจากต่อสู้คดีมาเกือบ 9 เดือน เช้าวันนี้ (11 พ.ค. 2565) ศาลแขวงลพบุรีมีคำพิพากษายกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในคดีของประชาชน 2 ราย ที่เข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบในจังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 แต่ให้ลงโทษปรับในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต คนละ 200 บาท

คดีนี้นับเป็นคดีคาร์ม็อบในจังหวัดลพบุรีคดีที่สองซึ่งศาลมีคำพิพากษา หลังจากเมื่อปลายเดือนเมษายน 2565 ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องทุกข้อหาในคดีของประชาชนอีก 2 ราย ที่เข้าร่วมคาร์ม็อบเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 ไปก่อนแล้ว  

>> เปิดคำพิพากษายกฟ้องคดีคาร์ม็อบลพบุรี ชี้การชุมนุมยังไม่ถึงกับแออัดเต็มพื้นที่-ประกาศ ผบ.ทสส. ไม่มีผลใช้บังคับ ออกเกินอำนาจ

>> คุยกับ 2 ราษฎรลพบุรี กับ 2 ปี ของการเคลื่อนไหว ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีคาร์ม็อบ

.

“ไม่เกินความคาดหมายเท่าไร ผมได้มาฟังตอนพิพากษาคาร์ม็อบคดีแรกของเพื่อนอีกสองคน แล้วเขายกฟ้อง เลยพอเห็นแนวทาง พอเห็นว่าน่าจะทำนองเดียวกัน เลยไม่ได้แปลกใจเท่าไร” นั่นเป็นความรู้สึกของ ชมะนันท์ อินทรีย์ ติวเตอร์วิชาเคมีในจังหวัดลพบุรีวัย 32 ปี หนึ่งในสองผู้ถูกดำเนินคดีคาร์ม็อบลพบุรีคดีที่สองนี้ หลังฟังคำพิพากษา

แต่คดีนี้นับเป็นคดีแรกในชีวิตของเขา จากคนไม่เคยรู้เรื่องกระบวนการทางกฎหมาย เขาได้เรียนรู้มันเองโดยกลายเป็นผู้ต้องหาและจำเลยโดยตรง จากเด็กสายวิทย์ ที่ห่างไกลจากเรื่องราวทางการเมือง ชีวิตเขาขยับเขาใกล้ชิดกับการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเข้มข้น จากการอ่านหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองเริ่มลุกขึ้นร่วมปราศรัย จนถูกดำเนินคดี และถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เขายังมองเห็นความหวังและความสำเร็จจากการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา

ชวนรับฟังเรื่องราวของพลเมือง #คนธรรมดา อีกหนึ่งคน ที่กำลังพยายามเคลื่อนไหวเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ตามศักยภาพของตนเองในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

.

ติวเตอร์เคมี ผู้เริ่มสนใจการเมืองหลังรัฐประหาร 2557

ชมะนันท์ เป็นคนจังหวัดศรีสะเกษ เติบโตมาแบบเด็กสายวิทย์ เรียนจบสาขาวิชาเคมี จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังเรียนจบเขาไปใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดลพบุรี แม้ไม่ใช่บ้านเกิด แต่ก็อยู่ที่นี่มาเกือบ 10 ปีแล้ว โดยเริ่มทำอาชีพเป็นติวเตอร์สอนวิชาเคมีให้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมปลาย

ไม่ได้เป็นครูประจำในระบบโรงเรียน แต่ก็ไม่ต่างจากครู เพราะคลุกคลีด้านการเรียนการสอนมาตั้งแต่เรียนจบ เขาทั้งรับสอนพิเศษด้วยตนเอง และรับสอนตามโครงการต่างๆ ในโรงเรียนในจังหวัด

เหมือนกับใครอีกหลายคน ชมะนันท์ไม่ได้สนใจประเด็นทางการเมืองมาก่อน อาจเคยเห็นการชุมนุมของเสื้อเหลืองและเสื้อแดงที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ช่วงขณะที่เขายังเรียนอยู่ แต่ก็ไม่เคยไปร่วมชุมนุมกับฝ่ายไหน

“เราจบมาทางสายวิทย์ รู้สึกว่าวิทย์กับสังคมมันถูกแยกกัน ก็เลยไม่ได้สนใจทางด้านสังคมมาก เราก็โฟกัสที่การเรียนของเรามากกว่า จนกระทั่งช่วงหลังๆ พอรัฐประหาร 2557 เราเริ่มเห็นภาพเหตุการณ์กรณีที่ ‘ไผ่ ดาวดิน’ ไปชูสามนิ้วต่อหน้าประยุทธ์ ก็เลยทำให้เกิดความสงสัยว่ากลุ่มนี้เป็นใคร

“แล้วเรื่องที่เราไม่ชอบเลย ก็คือวิธีการเรียกคนไป ‘ปรับทัศนคติ’ ช่วงนั้นก็จะมีข่าวบ่อยมาก ทำให้รู้สึกอึดอัดกับสภาพบ้านเมือง รู้สึกว่ารัฐมีสิทธิอะไรที่มาพยายาม ‘เปลี่ยนความคิด’ คนๆ หนึ่งขนาดนั้น เราเชื่อในเสรีภาพทางความคิด มีความคิดเป็นของตนเอง เลยพูดได้ว่าการรัฐประหารครั้งนั้นทำให้เราสนใจเรื่องสังคมการเมืองมากขึ้น มันสะสมความรู้สึกอึดอัดเอาไว้”

.

ภาพการชุมนุมที่วงเวียนพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2563 (ภาพจากมติชนออนไลน์)

.

ร่วมชุมนุมปรากฏการณ์สะท้อนฟ้า จนเริ่มอ่านหนังสือประวัติศาสตร์การเมือง

จากการสั่งสมความรู้สึกอึดอัด แม้ยังไม่ได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารในช่วงยุค คสช. แต่ก็ทำให้ชมะนันท์เริ่มสนใจติดตามข่าวสารทางการเมืองมากขึ้น จนกระทั่งในช่วงการชุมนุมใหญ่กลางปี 2563 นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นการเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขา

“พอช่วงปี 2563 วันที่ 10 ส.ค. 63 ที่มีการชุมนุมที่ มธ.รังสิต เป็นครั้งแรกที่ผมไปร่วมชุมนุม ก่อนหน้านั้นไม่เคยไปไหนนะ ก็ใช้ชีวิตการทำงานอยู่ต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมันยังไม่ได้มีชุมนุมอะไร การชุมนุมที่มีทั่วประเทศขนาดนี้คิดว่ามีในปี 63-64 นี้เอง อย่างตอนเสื้อเหลืองเสื้อแดง ก็คิดว่ายังกระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่ๆ

“การชุมนุมครั้งนั้นก็เป็นปรากฏการณ์สะท้อนฟ้า ผมไปจากลพบุรี ตั้งแต่ก่อนเริ่ม ไปจองที่นั่ง ตอนนั้นก็เพิ่งรู้จักหลายคนที่ปราศรัย แล้วก็ประทับใจ 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ มันเป็นเนื้อหาแบบที่เราเพิ่งเคยได้ยินการพูดในที่สาธารณะ ก่อนหน้านี้ เราเคยติดตามอ่านข้อมูลอยู่บ้างแล้ว แต่พอไปฟัง มันทำให้ตัดสินใจเข้าร่วมการเคลื่อนไหวนี้ สนับสนุนข้อเรียกร้องเหล่านี้”

ความตื่นตัวครั้งใหม่นี้เอง ทำให้ชมะนันท์เริ่มศึกษาเพิ่มเติมในหมวดหนังสือที่ไม่ใช่ความสนใจของเขามาก่อน เริ่มอ่านหนังสือการเมืองและประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง เขาเล่าว่าเริ่มทยอยอ่านหนังสือชุดของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันหลายเล่ม เมื่อไปงานสัปดาห์หนังสือ ก็ไปหอบหนังสือแนวนี้มาเป็นตั้ง หมดค่าหนังสือไปหลายบาท

“ณ ตอนนั้น การไปร่วมชุมนุมของเรา มันเหมือนทำให้เรามองเห็นปัญหาของประชาชนรากหญ้ามากขึ้น และปัญหาในด้านต่างๆ ก่อนหน้านั้นเราไม่ได้รู้สึกขนาดนี้ การร่วมชุมนุมทำให้เรารู้สึกว่ามันมีเซนส์ของความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้น แล้วก็ยิ่งศึกษามากขึ้น

“เราเคยรู้สึกว่าเรื่องสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องที่แตะต้องไม่ได้ เราเองก็คิดแบบนั้น แต่พอเรามาอ่านหลายเรื่องในประวัติศาสตร์ มันทำให้รู้ว่าสถาบันกษัตริย์ก็เป็นสถาบันทางการเมืองหนึ่ง ที่ยังคงมีความสัมพันธ์ทางอำนาจ ความสัมพันธ์ทางการเมือง มันเห็นความเป็นมนุษย์ในสถาบันนี้มากขึ้น มันไม่ใช่สมมติเทพแบบความเชื่อเดิม เรื่องเหล่านี้ก็ทยอยอ่านสะสมมา”

.

ภาพกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่ลานอนุสาวรีย์จอมพล ป. เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 (ภาพจากเพจพลเมืองลพบุรีเพื่อประชาธิปไตย)

.

ปราศรัยครั้งแรก และถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามครั้งแรก

ในช่วงปลายปี 2563 เขาเริ่มไปร่วมชุมนุมอย่างต่อเนื่อง เดินทางเข้าไปชุมนุมในกรุงเทพฯ หลายครั้ง เคยไปเป็นการ์ดอาสาในการชุมนุมร่วมกับกลุ่ม We Volunteer และพอมีกิจกรรมในจังหวัดลพบุรี เขาไปก็ไปร่วมด้วย โดยจำได้ว่าครั้งแรก เป็นการชุมนุมในช่วงเดือนกันยายน 2563 ที่วงเวียนพระนารายณ์ ครั้งนั้นมี “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ เดินทางมาร่วมกิจกรรมด้วย และครั้งนั้น ก็ทำให้ชมะนันท์ได้รู้จักกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ริเริ่มจัดกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดที่เขาอยู่ จึงได้เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม

“ต่อมา มีกิจกรรมรำลึก 6 ตุลา ก็ได้ไปร่วมทำป้าย ทำโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ แล้วผมไปร่วมแต่งตัวเป็นคนตาย แสดงละคร แล้วก็เลยได้จับไมค์ ช่วยเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ เป็นการจับไมค์ครั้งแรก พื้นฐานเราเป็นคนทำงานสอนอยู่แล้ว มันเลยพอพูดได้ เราเคยสอนนักเรียนในห้องประชุมขนาดใหญ่ 100-200 คน เราเลยพอมีตรงนี้อยู่แล้ว เลยไม่ยากมาก พอจับไมค์ เราก็เล่าสตอรี่ 6 ตุลา ทำให้มันสนุกมากขึ้น”

เมื่อจับไมค์ปราศรัยเป็นครั้งแรก แต่ก็เป็นครั้งแรกที่ชมะนันท์ระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่รัฐเริ่มติดตามเช่นกัน เขาเล่าว่าหลังจากเสร็จกิจกรรมรำลึก 6 ตุลานี้ เขาเห็นว่ามีรถยนต์ขับตามเขามา โดยจำได้ว่าเป็นรถคันเดียวกับที่จอดในบริเวณงานมาก่อนด้วย เมื่อเขาไปส่งรถที่น้องมาด้วยกันแล้ว รถคันนี้ก็ยังขับตามเขามาอยู่ จนถึงที่พัก จึงคาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่ที่มาสืบเสาะที่อยู่อาศัยของเขา

“หลังจากนั้น ก็เริ่มมีสันติบาลมาหาที่บ้าน มาแบบเป็นมิตร หลังๆ เขาก็ไม่ได้แบบสะกดรอยตาม เหมือนเขารู้ที่อยู่ล่ะ ก็มาหาเลย มาขอคุยด้วย มานัดกินข้าว ที่ผ่านมาโดนนัดประมาณ 2 ครั้ง แล้วก็มีโทรศัพท์มาหาด้วย จำจำนวนครั้งไม่ได้ แต่มากกว่าการมาหาเอง ส่วนใหญ่ก็เป็นการคุยถามข้อมูล ไม่ได้ถึงขนาดข่มขู่ แต่เป็นมาเช็คความเคลื่อนไหว เช็คกิจกรรม ส่วนใหญ่ผมก็ไม่ได้ให้ข้อมูลอะไร”

.

โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์กิจกรรมคาร์ม็อบลพบุรี 15 ส.ค. 2564

.

คดีแรกในชีวิตที่ไม่ได้เหนือความคาดหมาย

หลังจากการเคลื่อนไหวในช่วงปี 2563 พอมีกระแสจัดกิจกรรมคาร์ม็อบในช่วงปี 2564 ชมะมันท์ก็ไปร่วมทุกครั้ง และยังมีส่วนร่วมขึ้นปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล บนรถที่เคลื่อนขบวนไปด้วย และนั่นเป็นที่มาของการถูกดำเนินคดีแรกในชีวิต

ชมะนันท์เล่าว่าตั้งแต่เริ่มไปร่วมการปราศรัย เขาก็คิดว่าไว้ว่าอาจโดนคดีได้อยู่แล้ว และเตรียมเผื่อใจไว้ขนาดว่าอาจจะต้องเข้าไปอยู่ในคุก เพราะไม่รู้ว่าจะถูกนำประเด็นอะไรมาเล่นในยุคสมัยที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจในลักษณะนี้ จึงต้องเตรียมใจเผื่อไว้ต่อสถานการณ์ที่แย่ที่สุด

“ตอนนั้น หมายเรียกก็ไปถึงบ้าน ทางแม่ก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่มีพี่สาวก็โทรมาถาม เราก็บอกไม่มีอะไร ตอนแรกเราก็รู้สึกตกใจนะ เพราะไม่เคยมีหมายตราครุฑมาถึงบ้าน แต่พอผ่านไป ก็รู้สึกว่าเรายังน้อย พอไปรู้เรื่องราวของไผ่ ของรุ้ง ของเพนกวิน ทุกๆ คนเขาโดนเยอะกว่าเรามาก เขาเสียสละเยอะมาก มันก็ทำให้เราไม่กลัวเลย เมื่อลองเทียบกับคนอื่นๆ” 

ชมะนันท์ยังบอกถึงการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นอีกจากการถูกดำเนินคดี เพราะก่อนหน้านี้เขาไม่เคยมีความรู้เรื่องกระบวนการทางกฎหมายมาก่อน ในชีวิตนี้ อย่างมากก็เคยโดนตำรวจปรับในเรื่องขับรถเร็วเกินกำหนด แต่ไม่เคยถูกกล่าวหาขึ้นโรงขึ้นศาล มันเลยทำให้เขาเห็นขั้นตอนต่างๆ ด้วยตนเองมากขึ้น ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ และศาล

“ในภาคของตำรวจ ผมก็พอรู้มาว่า มันเป็นความพยายามต้องการในการขัดขวางการเคลื่อนไหวของเรา ในชั้นนั้น เราเลยพยายาม make fun มีแต่งชุดนอนไป หรือแต่งคอสตูมไป ทำให้รู้สึกว่าเราไม่ได้กลัวกับความพยายามขัดขวางเรา สันติบาลก็เคยมาพูดกับเราเองว่า เขาเองได้รับคำสั่งมาจากข้างบนว่าให้ทำแบบนี้ แม้ตัวเขาจะไม่อยากทำ มันทำให้เห็นว่ากระบวนการของรัฐมันไม่ได้จริงใจกับประชาชน มันไม่ได้ตรงไปตรงมา เขามองเราเป็นแบบไม่ใช่ ‘ประชาชนของเขา’”

.

.

ทบทวนความสำเร็จในการเคลื่อนไหว: ความตระหนักรู้ต่อสิทธิที่กำลังขยายกว้างในสังคม

ผ่านไปเกือบสองปีของการเข้าร่วมเคลื่อนไหว กับอีกหนึ่งคดีความที่ได้รับ แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องในข้อหาหลักไปแล้ว แต่การเคลื่อนไหวและคดีความของอีกหลายคนก็ยังคงอยู่ เมื่อชวนชมะนันท์ประเมินความพยายามที่ผ่านมาว่าประสบความสำเร็จหรือไม่อย่างไร เขาตอบทันทีว่า ส่วนตัวแล้ว เห็นว่าประสบความสำเร็จในขั้นหนึ่ง แม้ไม่ได้ไปถึงข้อเรียกร้องต่างๆ หรือเปลี่ยนรัฐบาลได้ แต่ทุกคนตอนนี้เป็นฟันเฟืองที่ร่วมกันผลักดันการเปลี่ยนแปลงอยู่ และเป็นความเปลี่ยนแปลงที่กำลังลงลึกในสังคม

“ความสำเร็จสำหรับผม มองว่าไม่ใช่แค่เด็กรุ่นใหม่ แต่คือคนจำนวนมาก มีความตระหนักมากขึ้น เริ่มสนใจปัญหาของส่วนรวมมากขึ้น เริ่มสนใจสังคม สนใจการเมืองมากขึ้น เด็กรุ่นใหม่เขาเริ่มอ่าน เริ่มแชร์ เริ่มโพสต์เรื่องพวกนี้ โดยรู้สึกว่าเรื่องของสังคม มันเป็นเรื่องของเค้าด้วย ก่อนหน้านั้นมันไม่ได้เป็นแบบนี้ ลองเทียบกับเราช่วงที่เรียนอยู่ เรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องที่รู้สึกไกลตัว

“แล้วปัญหาต่างๆ มันถูกพูดถึงมากขึ้น ทุกคนเริ่มตระหนักในเรื่องของสิทธิ เรื่องเสรีภาพมากขึ้น หรือการพูดถึงความสำคัญของ ‘สถาบันประชาชน’ มากขึ้น เริ่มโฟกัสความเท่าเทียมกันในเรื่องต่างๆ มากขึ้น และเริ่มมองเห็นความสำคัญของความเป็นมนุษย์มากขึ้น ไม่ได้โฟกัสที่ว่าคนจะเรียนสูง ฐานะเป็นยังไง สภาพทางร่างกายเป็นยังไง หน้าตาเป็นยังไง ประเด็นสังคมมันถูกงัดออกมาพูดมากขึ้น ผมมองว่าเรื่องเหล่านี้สำคัญมาก

“ผมเชื่อว่าถ้าประเทศจะไปข้างหน้า คนในสังคมจะต้องเริ่มเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มาพูดคุย ถกเถียง หาข้อสรุป เพื่อจะไปต่อ ในสังคมที่มันถูกจำกัดการพูด จำกัดการแสดงออก ผมมองไม่เห็นว่ามันจะไปข้างหน้าได้อย่างไร

“ผมรู้สึกว่าเด็กสมัยนี้ เขากล้าหาญมากขึ้น เขากล้าที่จะพูด กล้าที่จะทวงถามสิทธิของตัวเองมากขึ้น ตอนนี้สถานการณ์ในโรงเรียนมันเปลี่ยนไป นักเรียนหลายคนกล้าที่จะพูดอย่างตรงไปตรงมา อะไรที่เขาเห็นว่าไม่แฟร์กับเขา อย่างเรื่องทรงผม คือเราก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้กล้าพูดนะ แต่ยุคนี้เขาตั้งคำถาม เขายกประเด็นนี้ไปคุยกับอาจารย์ อย่างนักเรียนเลวก็เป็นปรากฏการณ์หนี่งที่ชัดเจนมาก ไม่ได้กล้าแค่ในโรงเรียน แต่ไปถึงกระทรวงศึกษาธิการ อันนี้คือแสงสว่างที่ผมมองเห็น อันนี้คือความสำเร็จที่ผมมอง คือเราสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลง ส่วนตัวผมเลยมีความหวัง” ชมะนันท์นำเสนอความเห็นของเขา พร้อมยืนยันยังมีความหวังในการต่อสู้ต่อไป

.

X