ยกฟ้อง! คดีชูป้าย ‘I HERE ตู่ รัฐบาลฆาตกร’ ไม่ดูหมิ่นประยุทธ์ ศาลชี้ ‘I HERE’ ไม่พ้องเสียงกับ ‘ไอ้เหี้ย’ ทั้งนายกฯ ย่อมถูกวิจารณ์ได้ 

10 พ.ย. 2565  ‘ไบค์’ หัสวรรษ (สงวนนามสกุล) และ ‘ภูมิ’ กัมพล (สงวนนามสกุล) เดินทางไปศาลแขวงอุบลราชธานี ในนัดฟังคำพิพากษา คดีที่ทั้งสองถูกฟ้องข้อหา ดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา จากการชูป้าย ‘I HERE ตู่ รัฐบาลฆาตกร’ เปรียบเปรยเชิงสัญลักษณ์ ในระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตรวจราชการที่ จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2564 คดีนี้สืบพยานไปเมื่อวันที่ 25-26 ต.ค. 2565 ก่อนนำมาสู่การอ่านคำพิพากษาในครั้งนี้ 

>>>ก่อนพิพากษา: 2 นศ.ยืนยันป้าย ‘I HERE ตู่ รัฐบาลฆาตกร’ วิจารณ์รัฐบาลลักษณะเปรียบเปรย ไม่ได้ดูหมิ่นประยุทธ์ ผู้เชี่ยวชาญภาษาชี้ ‘I HERE’ ไม่พ้องเสียงกับ ‘ไอ้เหี้ย’  

ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 2 ชยิน สุนทรสิงคาล ผู้พิพากษา เริ่มอ่านคำพิพากษามีใจความโดยสรุปว่า 

พิเคราะห์ว่า การที่โจทก์นำสืบคำว่า I HERE หมายถึงคำว่า ไอ้เหี้ย ในภาษาไทย ถือเป็นการแปลความหมายในเชิงชี้แนะ ซึ่งผู้ที่จะวิเคราะห์ข้อความลักษณะดังกล่าวได้ น่าจะไม่ใช่สาธารณชนทั่วไป แต่ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ภาษาอังกฤษระดับปานกลางถึงระดับดีพอสมควร ส่วนที่ฝ่ายจำเลยนำสืบว่า I HERE หมายถึง ฉันอยู่ที่นี่ เป็นการแปลภาษาอังกฤษในความหมายโดยตรง แม้จะผิดหลักไวยากรณ์บ้าง แต่สาธารณชนที่มีความรู้ภาษาอังกฤษในระดับทั่วไปเข้าใจได้ง่าย  

ส่วนคำว่า ตู่ คู่ความทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่าเป็นชื่อเล่นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยเหตุผลดังที่วินิจฉัยข้างต้นทำให้พออนุมานได้ว่า คำว่า I HERE ตู่ แปลความหมายได้หลายนัยยะ ขึ้นอยู่กับความรู้ ประสบการณ์ จินตนาการของแต่ละบุคคล

นอกจากนี้ จำเลยยังนำสืบโดยมีพยานผู้เชี่ยวชาญมาเบิกความว่า คำว่า I HERE กับ ไอ้เหี้ย ไม่ใช่คำพ้องเสียง ศาลเห็นว่า คำพ้องเสียงจะต้องมีโทนเสียง (Sound Tone) เหมือนกันตามหลักภาษาศาสตร์ เช่น คำว่า Sun ที่แปลว่าพระอาทิตย์ พ้องเสียงกับคำว่า Son ที่แปลว่า บุตรชาย, คำว่า Here ที่แปลว่า ที่นี่ พ้องเสียงกับคำว่า Hear ที่แปลว่า ได้ยิน และคำว่า เฮีย ที่ใช้เรียกพี่ในคนไทยเชื้อสายจีน

ส่วนข้อความว่า รัฐบาลฆาตกร สาธารณชนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายว่ามีความหมายในทางลบทำนองว่า เป็นรัฐบาลที่ไม่ดี โหดร้าย แม้จะไม่ได้ชี้ชัดว่าหมายถึงรัฐบาลใด แต่ด้วยสถานการณ์ขัดแย้งความขณะนั้น ย่อมชี้ชัดว่าเป็นรัฐบาลปัจจุบัน แต่ข้อความไม่ได้มุ่งร้ายบุคคลใดในรัฐบาลเป็นการเฉพาะ จึงยังไม่ใช่การดูหมิ่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณาตามฟ้อง

และโดยที่นายกรัฐมนตรีเป็นบุคคลสาธารณะ ย่อมมีโอกาสถูกวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะกระทบกระทั่งจากประชาชนที่อาจมีความคิดเห็นต่าง ซึ่งเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 34 ว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นไปตามหลักการสากลเรื่อง Freedon of Speech อีกทั้งความผิดลหุโทษตามภาค 3 เป็นความผิดเล็กน้อย เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายน่าจะทุ่มเทกับความผิดร้ายแรงให้มากขึ้น แทนที่จะมาคอยดำเนินคดีกับความผิดเล็กน้อยจากการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

เมื่อประมวลพยานหลักฐานโจทก์และข้อต่อสู้ของจำเลยประกอบพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว กรณียังมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย 

พิพากษายกฟ้อง 

ส่วนป้ายผ้าของกลางที่เป็นทรัพย์ไว้สำหรับกระทำความผิด เห็นว่า เป็นข้อความที่อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นและสร้างความแตกแยกในสังคมจึงให้ริบไว้

หลังได้รับทราบคำพิพากษา ไบค์ที่เดินทางมาจาก จ.ขอนแก่น กล่าวว่า “รู้สึกคดีมันไร้สาระมาก จริงๆ มันไม่ควรเป็นคดีด้วยซ้ำ สงสัยคงเพราะไอ้การไปแอคชั่นของผมไปกระทบต่อหน้าที่การงานของเจ้าหน้าที่แหละ แต่ผมก็รู้สึกว่าผมไม่ผิด เรื่องของพวกคุณทั้งนั้น ผมก็ใช้สิทธิของผมในการแสดงออก ซึ่งผมยืนยันว่าการแสดงออกของผมไม่ได้ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น และการวิพากษ์วิจารณ์ต่อผู้นำประเทศก็ย่อมสามารถทำได้” 

ส่วนภูมิที่เดินทางจากกรุงเทพฯ สะท้อนความรู้สึกว่า “ทำไมบรรดาข้าราชการ ตำรวจ อัยการ ที่ควรอยู่เคียงข้างประชาชนถึงต้องมาไล่ฟ้องนักศึกษาอย่างเราด้วย ยิ่งเห็นการทำงานที่สอดประสานกันของข้าราชการที่จะเอาผิดเราให้ได้ มันยิ่งทำให้ผมรู้สึกว่า ทำไมพวกเขาถึงไร้สามัญสำนึกได้ขนาดนี้ เพราะการที่ต้องเดินทางมารายงานตัวเพื่อสู้คดีมันใช้ทรัพยากรมหาศาล ผมอาจจะโชคดีนิดหน่อยที่ผมเป็นนักศึกษา ไม่ใช่ประชาชนทั่วๆ ไป เเละอาจจะโชคดีที่นี่เป็นเพียงคดีลหุโทษ ไม่ใช่คดี 112”

ไม่เพียงแต่ไบค์กับภูมิ เหตุจากวันเดียวกันยังมี เค้ก (นามสมมติ) และอัญธิกา (สงวนนามสกุล) ถูกดำเนินคดีดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ และเทหรือทิ้งสิ่งปฏิกูลฯ จากการเทอาหารหมาใส่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) โดยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาในนัดสืบพยาน เค้กตัดสินใจให้การรับสารภาพ ก่อนศาลแขวงอุบลราชธานีพิพากษา ฐานร่วมกันดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่ จำคุก 2 เดือน และปรับ 6,000 บาท ฐานร่วมกันเทสิ่งปฏิกูลหรือขยะมูลฝอย ปรับ 4,000 บาท ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน ปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ในส่วนของอัญธิกาอยู่ในระหว่างถูกจำหน่ายคดีออกจากสารบบ เนื่องจากติดภารกิจทำงานที่ต่างประเทศ

การชูป้ายสัญลักษณ์ ‘I HERE ตู่’ เมื่อบ่ายวันที่ 15 ต.ค. 2564  ของทั้งไบค์และภูมิ เกิดขึ้นขณะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปตรวจราชการที่ศาลาประชาวาริน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี โดยทั้งสองคนต้องการไปแสดงตัวว่ามีบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับการบริหารของรัฐบาลชุดนี้ และอยากให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกมาแสดงออกด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ในรูปแบบต่าง ๆ ย่อมเป็นสิ่งที่ทำได้ และอยากสะท้อนถึงสามัญสำนึกของข้าราชการในการร่วมกันทำงานเพื่อเอาผิดประชาชนที่มาแสดงออกด้วยการประท้วง ที่มักหลงลืมไปว่าควรที่จะทำหน้าที่ปกป้องประชาชนมากกว่าผู้มีอำนาจ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักกิจกรรมอุบลฯ โดน 2 คดี หลังเทอาหารหมา-ชูป้าย “I HERE ตู่” ขณะประยุทธ์ลงพื้นที่ ตร.แจ้งดูหมิ่น จพง.- ดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา

ฟ้อง “ดูหมิ่นด้วยการโฆษณา” 2 นักกิจกรรมอุบลฯ ชูป้าย “I HERE ตู่” อัยการตีความ เป็นการเปรียบประยุทธ์เหมือนสัตว์ที่คนรังเกียจ 

X