ฟ้อง “ดูหมิ่นด้วยการโฆษณา” 2 นักกิจกรรมอุบลฯ ชูป้าย “I HERE ตู่” อัยการตีความ เป็นการเปรียบประยุทธ์เหมือนสัตว์ที่คนรังเกียจ 

1 ก.ค. 2565 “ไบค์” หัสวรรษ (สงวนนามสกุล) และ “ภูมิ” กัมพล (สงวนนามสกุล) 2 นักกิจกรรมกลุ่มคบเพลิง เดินทางไปที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงอุบลราชธานี ในนัดส่งฟ้อง หลังจากทั้งสองถูกดำเนินคดีข้อหา ร่วมกันดูหมิ่นผู้อื่นโดยการโฆษณา จากกิจกรรมชูป้ายด่าประยุทธ์ ระหว่างการลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2564

ภาพเหตุการณ์ชุมนุม 15 ตุลาคม 2564 จากเพจคณะอุบลปลดแอด

ไบค์และภูมิเดินทางไปถึงสำนักงานอัยการฯ ราว 10.00 น. ก่อนเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะไปส่งคำฟ้อง ให้ทั้งสองไปที่ศาลแขวงอุบลราชธานีเลย หลังศาลรับฟ้อง ทั้งไบค์และภูมิจึงถูกพาไปที่ห้องควบคุมตัวใต้ถุนศาลในระหว่างรอศาลพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวตามที่ทนายยื่นคำร้องไป 

สุกฤษ เดชะทัตตานนท์ พนักงานอัยการ บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2564 ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นที่รู้จักของจําเลยทั้งสองและบุคคลทั่วไปว่ามีชื่อรองว่า “ตู่” กําลังนั่งรถยนต์ในขบวนเพื่อเดินทางกลับ หลังจากเสร็จภารกิจที่ศูนย์ดํารงธรรมศาลาประชาวารินชําราบ เพื่อกลับที่พัก โดยมีประชาชนมาคอยให้การต้อนรับมากมาย รวมถึงสื่อมวลชนหลายแขนงมารอทําข่าวเกี่ยวกับภารกิจของผู้เสียหายดังกล่าว 

จําเลยทั้งสองได้ร่วมกันดูหมิ่นผู้เสียหายด้วยการโฆษณา โดยร่วมกันดึงขึงถือป้ายผ้าสีขาว กว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 3 เมตร ที่มีข้อความพ่นด้วยหมึกสเปรย์สีดําเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทยว่า “I HERE ตู่ รัฐบาลฆาตกร” บนพื้นผ้าดังกล่าว บนทางสาธารณะที่มีคนสัญจรไปมาอย่างพลุกพล่าน ทั้งนี้ โดยเจตนาให้บุคคลทั่วไปรวมถึงสื่อมวลชนที่มาทําข่าวได้เห็น โดยย่อมเล็งเห็นผลว่า เมื่อสื่อมวลชนได้แลเห็นข้อความบนพื้นผ้าดังกล่าวจะต้องนําไปทําข่าวและเผยแพร่โฆษณาตามช่องทางทีวีและทางสื่อออนไลน์ที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย 

และเมื่อพบเห็นและอ่านทับศัพท์ข้อความภาษาอังกฤษดังกล่าวจะพ้องเสียงกับคําด่าเป็นภาษาไทยว่า “ไอ้เหี้ยตู่ รัฐบาลฆาตกร” ซึ่งหมายถึงผู้เสียหายที่เป็นหัวหน้าผู้นําบริหารรัฐบาลในขณะเกิดเหตุ เปรียบเปรยว่าเป็นเหมือนสัตว์ชนิดหนึ่ง เป็นที่รังเกียจของผู้คนและเป็นคนไม่ดี เป็นผู้นํารัฐบาลผู้ฆ่าคนโดยไม่ชอบธรรม อันเป็นถ้อยคํากล่าวหา ดูถูก เหยียดหยามผู้เสียหาย ทําให้ได้รับความเสียหาย 

และเมื่อมีการเผยแพร่โฆษณาเหตุการณ์และข้อความดังกล่าวออกสู่สาธารณชนทางทีวีและทางยูทูบ (YOUTUBE) อันเป็นผลมาจากการร่วมกันกระทําของจําเลยทั้งสอง การกระทําของจําเลยทั้งสองจึงเป็นการร่วมกันดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393

ท้ายคำฟ้อง นอกจากอัยการจะขอให้ศาลลงโทษจำเลยทั้งสอง ยังขอให้ศาลริบป้ายผ้าสีขาวซึ่งเป็นของกลางในคดีด้วย 

ทั้งนี้ ฐานความผิด “ดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา” มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถือเป็นความผิดลหุโทษ หรือความผิดเล็กๆ น้อยๆ ที่มีโทษไม่ร้ายแรง แต่ถือว่าเป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน ที่แม้ไม่ใช่ผู้เสียหายก็แจ้งความดำเนินคดีได้ โดยคดีนี้มี พ.ต.ท.ครองชัย ตาลประดิษฐ์ รองผู้กำกับการสืบสวน สภ.วารินชำราบ เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี

ภาพจากเพจ คณะอุบลปลดแอก

ราว 11.30 น. ศาลจึงคอนเฟอเรนซ์จากห้องพิจารณามาที่ห้องควบคุมตัว หลังจากยืนยันว่าไบค์และภูมิเป็นบุคคลตามที่ถูกฟ้อง ศาลได้ถามคำให้การเบื้องต้น โดยทั้งสองคนให้การปฏิเสธ จากนั้นทนายแจ้งกับศาลว่า ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ใช้หลักทรัพย์ ก่อนที่ศาลจะอนุญาต โดยให้ไบค์และภูมิสาบานตนว่าจะมาตามนัดหมายของศาลทุกนัด เมื่อเสร็จกระบวนการทั้งสองจึงได้รับการปล่อยตัว

หลังออกจากศาล ภูมิซึ่งขณะนี้เป็นอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนรุ่น 17 ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมสะท้อนความรู้สึกว่า  ประชาชนย่อมมีเสรีภาพที่จะพูดหรือเเสดงออกในที่สาธารณะตามสิ่งที่ตนเชื่อตนคิดต่อผู้มีอำนาจ เเละมันไม่ควรมีใครต้องมาโดนยัดคดี เพราะเพียงเเค่เขาเห็นต่างทางการเมืองกับผู้ที่มีอำนาจอยู่ในขณะนั้น สุดท้ายข้าราชการที่เป็นกลไกสำคัญในการดำเนินคดี ทำสำนวน สั่งฟ้อง ตัดสิน ควรที่จะมีสามัญสำนึกในฐานะของการเป็นมนุษย์ในการเลือกที่จะทำหรือไม่ทำ เพราะท้ายที่สุดคุณเป็นคนตัดสินใจเเละลงมือดำเนินคดี ไม่ใช่เฉพาะ “ผู้มีอำนาจ”

ภูมิเล่าถึงคดีของเขาว่า เป็นตัวอย่างถึงหลักประกันสำคัญของระบอบเผด็จการที่จะมุ่งจำกัดเสรีภาพประชาชนในการวิจารณ์ตนเอง ระบอบเผด็จการอยู่ได้เพราะความกลัวของผู้คน ถ้าตราบใดที่ประชาชนยังหวาดกลัวในอำนาจของคุณ คุณก็จะยังไม่สั่นคลอนมากนัก เเต่ถ้าเมื่อใดที่คุณถูกวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นที่หนักขึ้น เเหลมคมขึ้น บ่อยขึ้น อำนาจของคุณก็จะถูกลดทอนลงเรื่อยๆ เเละกระจายเป็นวงกว้างได้ง่าย รวดเร็ว ในยุคปัจจุบันที่มีอินเทอร์เน็ต 

ภูมิกล่าวต่ออีกว่า สังเกตได้ว่าในปัจจุบันสื่อช่องโทรทัศน์กระเเสหลักไม่เคยนำเสนอข่าวที่เกี่ยวกับการเมืองหรือผู้ชุมนุมเลย ในขณะที่ประชาชนที่ออกมาประท้วงหรือตั้งคำถามกับรัฐบาลหรือเเม้เเต่สถาบันพระมหากษัตริย์ กลับโดนคดีโดนฟ้องติดคุกกันมากมาย หรือหนักสุดคือถูกอุ้มหาย บ้างโดนยิงจนเสียชีวิตบ้าง เพราะฉะนั้นการจำกัดเสรีภาพคนอื่นในการวิจารณ์ตนเป็นสิ่งหลักๆ ที่เผด็จการให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

ส่วนประโยคที่ถูกฟ้อง ‘I Here ตู่’ ที่อาจเเปลได้ว่า “ฉันอยู่ที่นี่ด้วย” ภูมิมองว่ามันมีความหมายในเชิงของสัญลักษณ์ของผู้ต่อต้าน ที่มีอยู่ ณ ที่เเห่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการตะโกนหรือเขียนข้อความลงบนผ้าเเล้วชูในที่สาธารณะ 

“มันคือการเเสดงตัวว่าเราคือผู้ต่อต้านเเละเราอยู่ที่นี่ เรามองคุณอยู่ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็เเล้วเเต่ เเละสิ่งที่รัฐกลัวมากที่สุดคือ การที่มีป้ายผ้าหรือมีผู้ออกมาตะโกนคำว่า I Here too ไปปรากฏอยู่ในทุกพื้นที่ที่พวกเขาไป เเละอาจจะเป็นไปได้ว่าข้อความพวกนี้จะไปปรากฏอยู่ทั่วทุกสถานที่ในประเทศไทย ซึ่งนั่นหมายถึงจำนวนคนของผู้ต่อต้านรัฐที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ เเละสั่นคลอนอำนาจของรัฐอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นจึงไม่เเปลกเลยที่คำว่า I Here too จะส่งผลสั่นสะเทือนต่อรัฐ”

ภาพไบค์และภูมิ กับทนายความที่ศาลแขวงอุบลราชธานี

คดีจากการชุมนุมช่วง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงพื้นที่อุบลราชธานี ยังมีอีกคดี คือคดีของเค้ก (นามสมมติ) และอัญธิกา (สงวนนามสกุล) ที่ถูกฟ้องในข้อหา ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ฯ และเทหรือทิ้งสิ่งปฏิกูลฯ จากการเทอาหารหมาใส่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ก่อนหน้านี้ในนัดสืบพยานเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2565 เค้กให้การรับสารภาพ ศาลจึงมีคำพิพากษาลงโทษ ฐานร่วมกันดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่ จำคุก 2 เดือน และปรับ 6,000 บาท ฐานร่วมกันเทสิ่งปฏิกูลหรือขยะมูลฝอย ปรับ 4,000 บาท ให้การรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน ปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี 

สำหรับการชุมนุมเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 15 ต.ค. 2564 ที่อำเภอวารินชำราบ มีขึ้นขณะ พล.อ.ประยุทธ์ ทำพิธีมอบสิ่งของให้ผู้ประสบอุทกภัยที่บริเวณศาลาประชาวาริน โดยประชาชนต้องการมาแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อรัฐบาล และไม่พอใจที่มีนักกิจกรรมคณะอุบลปลดแอก และกลุ่ม “ศรีสะเกษจะไม่ทน” หลายคน ถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จะลงพื้นที่ แต่ต้องเผชิญกับ คฝ. ราว 4 กองร้อย สกัดไม่ให้ประชาชนเข้าไปใกล้กับคณะของ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ชุมนุมจึงได้ทำกิจกรรมอยู่ด้านนอก โดยการชูป้ายไล่ประยุทธ์ ปราศรัยให้ลาออก รวมทั้งมีการโปรยอาหารสุนัขหน้าแถว คฝ. เพื่อแสดงความไม่พอใจที่ถูก คฝ.ปิดกั้นเสรีภาพ ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 4 ราย 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักกิจกรรมอุบลฯ โดน 2 คดี หลังเทอาหารหมา-ชูป้าย “I Here ตู่” ขณะประยุทธ์ลงพื้นที่ ตร.แจ้งดูหมิ่น จพง.- ดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา

ปรับ 1 หมื่น จำคุก 2 เดือน แม่ค้าปังปิ้งอุบลฯ คดีเทอาหารหมา-ด่าคฝ. ก่อนลดโทษ-รอลงอาญา ชี้จำเลยแสดงออกทางการเมืองไม่เสียหายร้ายแรง

X