10 พ.ย. 2565 ศาลแขวงอุบลราชธานีนัดฟังคำพิพากษา คดีที่ “ไบค์” หัสวรรษ (สงวนนามสกุล) และ “ภูมิ” กัมพล (สงวนนามสกุล) 2 นักกิจกรรมกลุ่มคบเพลิง เผชิญข้อกล่าวหา “ร่วมกันดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา” จากกรณีชูป้ายข้อความ “I HERE ตู่ รัฐบาลฆาตกร” เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2564 ระหว่างที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงพื้นที่ตรวจราชการที่ จ.อุบลราชธานี
เพียง 2 สัปดาห์หลังเหตุการณ์ พนักงานสอบสวน สภ.วารินชำราบ ออกหมายเรียกให้ทั้งสองไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 10 พ.ย. 2564 โดยที่ทั้งไบค์และภูมิก็ให้การปฏิเสธมาตลอด
กระทั่ง 1 ก.ค. 2565 พนักงานอัยการยื่นฟ้องทั้งสองต่อศาลแขวงอุบลฯ ในฐานความผิด “ดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ใช่หลักทรัพย์
“ประชาชนย่อมมีเสรีภาพที่จะพูดหรือเเสดงออกในที่สาธารณะตามสิ่งที่ตนเชื่อตนคิดต่อผู้มีอำนาจ เเละมันไม่ควรมีใครต้องมาโดนยัดคดี เพราะเพียงเเค่เขาเห็นต่างทางการเมืองกับผู้ที่มีอำนาจอยู่ในขณะนั้น” ภูมิกล่าวถึงคดีที่เขาต้องพบเจอขณะแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง
ยิ่งในประโยคที่ถูกฟ้อง ‘I HERE ตู่’ ที่อาจเเปลได้ว่า “ฉันอยู่ที่นี่ด้วย” ภูมิมองว่ามันมีความหมายในเชิงของสัญลักษณ์ของผู้ต่อต้านที่มีอยู่ ณ ที่เเห่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการตะโกนหรือเขียนข้อความลงบนผ้าเเล้วชูในที่สาธารณะ
ในนัดสืบพยานระหว่างวันที่ 25-26 ต.ค. 2565 มีพยานโจทก์ 5 ปาก และพยานจำเลย 4 ปาก โดยพยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจและอยู่ในที่เกิดเหตุต่างชี้ว่า แผ่นป้ายที่หัสวรรษและกัมพลชูขึ้นนั้นหันไปทาง พล.อ.ประยุทธ์ โดยมีความหมายเป็นคำด่า และกล่าวเชิงให้ร้าย พล.อ.ประยุทธ์ แต่ก็ยอมรับว่าประชาชนมีสิทธิวิจารณ์นายกรัฐมนตรี ขณะพยานโจทก์ปากครูภาษาอังกฤษ ระบุว่าภาษาอังกฤษบนป้ายว่า ‘I HERE’ แปลว่า ‘ฉัน ที่นี่’ ได้เพียงความหมายเดียว
ด้านไบค์กับภูมิและทนายจำเลยสู้คดีว่า การไปชูป้ายครั้งนั้นมีเจตนาเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการทำงานของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี คำว่า I HERE หมายถึงกลุ่มพวกเราที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลอยู่ที่นี่ ส่วนตู่หมายถึงชื่อนายกฯ คำว่า รัฐบาลฆาตกร หมายถึง การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่ทำให้ประชาชนตายจากการจัดการวัคซีนโควิด -19 อันไร้ประสิทธิภาพ ข้อความดังกล่าวเป็นการวิจารณ์รัฐบาลในลักษณะเปรียบเปรยเชิงสัญลักษณ์ และเป็นการวิจารณ์โดยชอบธรรม ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ทั้งยังมีอาจารย์มหาวิทยาลัยผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามายืนยันว่า ‘I HERE’ ไม่ได้พ้องเสียงกับ ‘ไอ้เหี้ย’
.
อัยการฟ้อง ‘I HERE ตู่’ พ้องเสียง ‘ไอ้เหี้ยตู่’ เปรียบเป็นสัตว์ซึ่งเป็นที่รังเกียจของผู้คนและเป็นคนไม่ดี
สุกฤษ เดชะทัตตานนท์ พนักงานอัยการ บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2564 ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นที่รู้จักของจําเลยทั้งสองและบุคคลทั่วไปว่ามีชื่อรองว่า “ตู่” กําลังนั่งรถยนต์ในขบวนเพื่อเดินทางกลับ หลังจากเสร็จภารกิจที่ศูนย์ดํารงธรรมศาลาประชาวารินชําราบ โดยมีประชาชนมาคอยให้การต้อนรับมากมาย รวมถึงสื่อมวลชนหลายแขนงมารอทําข่าวเกี่ยวกับภารกิจของผู้เสียหายดังกล่าว
จําเลยทั้งสองได้ร่วมกันดูหมิ่นผู้เสียหายด้วยการโฆษณา โดยร่วมกันดึงขึงถือป้ายผ้าสีขาว กว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 3 เมตร ที่มีข้อความพ่นด้วยหมึกสเปรย์สีดําเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทยว่า “I HERE ตู่ รัฐบาลฆาตกร” บนพื้นผ้าดังกล่าว บนทางสาธารณะที่มีคนสัญจรไปมาอย่างพลุกพล่าน ทั้งนี้ โดยเจตนาให้บุคคลทั่วไปรวมถึงสื่อมวลชนที่มาทําข่าวได้เห็น โดยย่อมเล็งเห็นผลว่า เมื่อสื่อมวลชนได้แลเห็นข้อความบนพื้นผ้าดังกล่าวจะต้องนําไปทําข่าวและเผยแพร่โฆษณาตามช่องทางทีวีและทางสื่อออนไลน์ที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย
และเมื่อพบเห็นและอ่านทับศัพท์ข้อความภาษาอังกฤษดังกล่าวจะพ้องเสียงกับคําด่าเป็นภาษาไทยว่า “ไอ้เหี้ยตู่ รัฐบาลฆาตกร” ซึ่งหมายถึงผู้เสียหายที่เป็นหัวหน้าผู้นําบริหารรัฐบาลในขณะเกิดเหตุ เปรียบเปรยว่าเป็นเหมือนสัตว์ชนิดหนึ่ง เป็นที่รังเกียจของผู้คนและเป็นคนไม่ดี เป็นผู้นํารัฐบาลผู้ฆ่าคนโดยไม่ชอบธรรม อันเป็นถ้อยคํากล่าวหา ดูถูก เหยียดหยามผู้เสียหาย ทําให้ได้รับความเสียหาย
และเมื่อมีการเผยแพร่โฆษณาเหตุการณ์และข้อความดังกล่าวออกสู่สาธารณชนทางทีวีและทางยูทูบ (YOUTUBE) อันเป็นผลมาจากการร่วมกันกระทําของจําเลยทั้งสอง การกระทําของจําเลยทั้งสองจึงเป็นการร่วมกันดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393
ท้ายคำฟ้อง นอกจากอัยการจะขอให้ศาลลงโทษจำเลยทั้งสอง ยังขอให้ศาลริบป้ายผ้าสีขาวซึ่งเป็นของกลางในคดีด้วย
.
รอง ผกก.สืบสวน ผู้กล่าวหา อ้าง ‘I HERE’ พ้องเสียงกับ ‘ไอ้เหี้ย’ แต่ไม่ตอบทนายจำเลยว่า ‘HERE’ ออกเสียงต่างจาก ‘เหี้ย’ หรือไม่
25 ต.ค. 2565 เป็นวันแรกของการสืบพยาน ในห้องพิจารณาคดีของศาลแขวงอุบลฯ ที่มี ชยิน สุนทรสิงคาล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลแขวงอุบลฯ เป็นผู้ออกพิจารณาคดี ชยินกล่าวกับไบค์และภูมิ รวมถึง วัฒนา จันทศิลป์ ทนายจำเลยว่า คดีนี้ศาลอยากให้จำเลยได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เพราะหากรีบสารภาพ ศาลจะเขียนคำพิพากษาได้ยาก เพราะไม่มีข้อมูลเพียงพอในการจะตัดสิน
สุกฤษ เดชะทัตตานนท์ พนักงานอัยการ เริ่มเอาพยานปากแรกเข้าสืบ ได้แก่ พ.ต.ท.ครองชัย ตาลประดิษฐ์ รอง ผกก.สส.สภ.วารินชำราบ ซึ่งเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลย เบิกความว่าเมื่อ 15 ต.ค. 2564 ขณะปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ ในการเดินทางมาตรวจราชการที่อุบลฯ เวลา 16.25 น. ผู้บังคับบัญชาแจ้งว่าให้นำกำลังพลมารวมตัวกันบริเวณเส้นทางที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเดินทางกลับขึ้นรถ ขณะนั้นจำเลยทั้งสองยกป้ายผ้าสีขาว ขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 3 เมตร มีข้อความว่า I HERE ตู่ และมีข้อความว่า รัฐบาลฆาตกร อยู่ด้านล่าง จำเลยทั้งสองยังตะโกนด้วยเสียงดังว่า รัฐบาลฆาตกร ออกไป ออกไป สลับกับข้อความว่า ไอ้เหี้ยตู่ ออกไป ออกไป มีประชาชนและสื่อมวลชนบริเวณนั้นหันมามอง ก่อนจะมีตำรวจคนอื่นยึดป้ายผ้าสีขาวดังกล่าวไป
พ.ต.ท.ครองชัย เบิกความอีกว่า จากการตรวจสอบภายหลัง ทราบว่าจำเลยทั้งสองเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ก่อนจะอธิบายกับอัยการว่า นายกฯ มีชื่อเล่นว่า ตู่ ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสองชูป้ายหันไปทางนายกฯ ด้วย ตนเห็นว่า คำว่า I HERE พ้องเสียงกับคำว่า ไอ้เหี้ย ซึ่งเป็นคำด่าในภาษาไทย คำว่า เหี้ย ตรงกับสัตว์ชนิดหนึ่ง การเขียนข้อความดังกล่าวจึงทำให้นายกฯ เกิดความเสียหายได้ หลังเกิดเหตุประมาณ 1 สัปดาห์ ตนพบการโพสต์เหตุการณ์ดังกล่าวในยูทูบ
พยานปากนี้เบิกความอีกว่า สำเร็จการศึกษา นิติศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชและสมัครเข้ารับราชการตำรวจในเวลาต่อมา มีความรู้ภาษาอังกฤษในระดับดีพอใช้ เคยสอบได้เกรดเอ
จากนั้น พ.ต.ท.ครองชัย ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ก่อนจะแจ้งความร้องทุกข์ ทางพนักงานสอบสวนทำหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานเลขานุการนายกรัฐมนตรี ได้รับหนังสือตอบว่า ให้รีบดำเนินการต่อไป
ทนายจำเลยให้ พ.ต.ท.ครองชัย ดูข้อความภาษาอังกฤษ I HERE แล้วถามว่าอ่านออกเสียงว่าอย่างไร พ.ต.ท.ครองชัย อ่านว่า ไอ เฮีย ทนายจำเลยถามต่อว่า คำว่า I เป็นเสียงสามัญหรือเป็นเสียงโท พ.ต.ท.ครองชัย ไม่ตอบ และไม่ตอบคำถามว่า คำว่า HERE ออกเสียงอย่างไร ออกเสียงต่างจากคำว่า เหี้ย หรือไม่ อีกด้วย
อย่างไรก็ตามพยานปาก พ.ต.ท.ครองชัย รับว่าประชาชนมีสิทธิวิจารณ์นายกรัฐมนตรีได้
โจทก์ยังมีพยานคู่ ที่เป็นตำรวจซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ ได้แก่ พ.ต.อ.วรการ ป้องกัน ขณะเกิดเหตุเป็น ผกก.สภ.วารินชำราบ และ พ.ต.อ.สุรวิทย์ โยนจอหอ ผกก.สภ.เขื่องใน
พ.ต.อ.วรการ เบิกความตอบอัยการว่า ในขณะเกิดเหตุที่กลุ่มวัยรุ่นตะโกนถ้อยคำไม่สุภาพใส่ พล.อ.ประยุทธ์ โดยมีเสียงตะโกนดังชัดเจนว่า “ไอ้ เหี้ย ตู่” และยังมีการชูป้ายข้อความ I HERE ตู่ รัฐบาลฆาตกร ตนรู้สึกตกใจ กลัวว่าจะโดนสั่งย้าย ซึ่งภายหลังตนก็โดนสั่งย้ายจริง ๆ ก่อนที่ศาลจะปรามและสอบถามว่า ที่พยานรับราชการเป็นตำรวจมาเคยเบิกความในศาลหรือไม่ พ.ต.อ.วรการ ยอมรับว่า เพิ่งเคยเบิกความในศาลเป็นครั้งที่ 2 เนื่องจากส่วนมากทำงานอยู่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนและตอนนี้เกษียณอายุราชการแล้ว
พ.ต.อ.วรการ เบิกความต่อว่า จากเหตุการณ์นั้นตนได้พยายามเข้าไปพูดห้ามปรามกลุ่มวัยรุ่นว่าทำอย่างนี้ไม่ดี และพยายามดึงป้ายมาเก็บไว้ แต่กลุ่มวัยรุ่นยังขัดขืน แต่ในที่สุดตำรวจคนอื่นก็ยึดป้ายดังกล่าวไปได้ ต่อมา ตนทราบว่ามีการเผยแพร่เหตุการณ์ดังกล่าวต่อสาธารณะในยูทูบ
อดีต ผกก.สภ.วารินชำราบ ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ข้อความภาษาอังกฤษที่เขียนว่า I HERE อ่านออกเสียงว่า ไอ้เหี้ย แต่ไม่ทราบคำแปล ส่วนคำด่า ไอ้เหี้ยตู่ ตนเข้าใจว่าเป็นการผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ พ.ต.อ.วรการ ยอมรับเช่นเดียวกับ พ.ต.ท.ครองชัย ว่า การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเป็นสิทธิของประชาชน และในวันดังกล่าวมีคนมาถือป้ายกว่า 10 คน
ด้าน พ.ต.อ.สุรวิทย์ เบิกความในทำนองเดียวกันว่า พอเห็นป้ายที่จำเลยทั้งสองถืออยู่ก็เข้าใจเบื้องต้นว่ามีความหมายในเชิงให้ร้าย พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงพฤติการณ์ตะโกนด้วยถ้อยคำไม่สุภาพไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ตนจึงเข้าไปดึงป้ายมาเก็บไว้
ส่วนตัวอักษรที่เขียนคำว่า I HERE อ่านว่าอย่างไรนั้น พ.ต.อ.สุรวิทย์ ตอบทนายจำเลยว่า อ่านว่า ไอ เฮีย แปลว่า ฉันอยู่ที่นี่
และพยานตำรวจคนสุดท้าย พ.ต.ท.สุรพล สุราษฎร์ พนักงานสอบสวน เบิกความว่า ได้รับแจ้งจาก พ.ต.ท.ครองชัย เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2564 ว่ามีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นบริเวณศาลาประชาวาริน พร้อมทั้งนำแผ่นป้ายสีขาวมาส่งมอบให้ ตนจึงได้สอบพยานที่เกี่ยวข้องและรวบรวมพยานหลักฐาน ก่อนมีความเห็นว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดข้อหาร่วมกันดูหมิ่นผู้อื่น และเชิญจำเลยมาสอบปากคำที่ สภ.วารินชำราบ โดยชั้นสอบสวน จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
.
ครูภาษาอังกฤษ ยืนยัน ‘I HERE’ แปลว่า ‘ฉัน ที่นี่’ และมีเสียงวรรณยุกต์ไม่เหมือน ‘ไอ้เหี้ย’
ด้วยคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ป้ายที่มีข้อความ ‘I HERE ตู่’ เป็นการดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา โจทก์จึงนำพยานผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามาเบิกความให้ความเห็นด้วย
รัชนีกร โสภาพรม ครูโรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ ซึ่งสอนวิชาภาษาอังกฤษมาเป็นเวลา 26 ปี เบิกความว่า พนักงานสอบสวนเคยให้ตนไปช่วยอ่านและแปลความภาษาอังกฤษบนป้ายสีขาวเขียนว่า ‘I HERE’ ตนอ่านแล้วอธิบายว่า คำดังกล่าวสามารถแปลได้เพียงความหมายเดียวว่า ‘ฉัน ที่นี่’ และอธิบายต่อว่า คำว่า I เป็นประธานของประโยค ส่วนคำว่า HERE เป็นคำกิริยาวิเศษณ์ (Adverb) ข้อความดังกล่าวไม่สมบูรณ์ตามหลักไวยากรณ์ เนื่องจากขาดคำกิริยา
ครูภาษาอังกฤษเบิกความตอบอัยการอีกว่า คำว่า ตู่ สามารถเขียนเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า TOO ซึ่งถ้ามีการเขียนข้อความว่า I HERE TOO ก็แปลไม่ได้ความและไม่สามารถสื่อความถึงบุคคลใดได้ ข้อความว่า I HERE ตู่ ก็ไม่สามารถแปลให้ได้ความหมาย ส่วนคำพ้องเสียงจะแปลความได้อย่างไรตนไม่ทราบ เนื่องจากอ่านเพียงข้อความภาษาอังกฤษเท่านั้น
ก่อนรัชนีกรจะตอบคำถามทนายจำเลยว่า คำว่า I HERE กับ คำว่า ไอ้เหี้ย เป็นคำพ้องเสียงกัน แต่เมื่อทนายจำเลยถามทีละคำ รัชนีกรตอบว่า I กับ ไอ เป็นคำที่มีเสียงสามัญ ส่วนคำว่า ไอ้ เป็นเสียงวรรณยุกต์โท และ HERE กับ เฮีย เป็นเสียงสามัญ ส่วนคำว่า เหี้ย เป็นเสียงวรรณยุกต์โท
.
ไบค์-ภูมิ ระบุ ป้าย ‘I HERE ตู่’ หมายถึงกลุ่มค้านรัฐบาลอยู่ที่นี่ ส่วน ‘รัฐบาลฆาตกร’ เป็นการวิจารณ์ในลักษณะเปรียบเปรย ซึ่งเป็นสิทธิของประชาชน
หัสวรรษเป็นคนแรกที่เข้าเบิกความในฐานะพยานจำเลย โดยเล่าว่า วันเกิดเหตุตนเดินทางไปกับกัมพล โดยมีเจตนาเพื่อไปแสดงความเห็นว่า ไม่เห็นด้วยกับการทำงานของรัฐบาลรวมถึงนายกรัฐมนตรี ตนได้นำป้ายข้อความไปแสดงด้วย เหตุที่เขียนข้อความว่า I HERE ตู่ ลงในป้าย ก็เพื่อสื่อให้เห็นว่า ตนกับเพื่อนได้มาที่นี่ ไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นหรือว่าร้าย พล.อ.ประยุทธ์ แต่อย่างใด
หัสวรรษยืนยันว่า การกระทำของตนและเพื่อนเป็นการวิพากษ์วิจารณ์นายกฯ และรัฐบาลโดยความเป็นธรรม ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน
กัมพลเบิกความต่อกันว่า คำว่า I HERE หมายถึงกลุ่มพวกเราที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลอยู่ที่นี่ ส่วนตู่หมายถึงชื่อเล่นของนายกฯ ส่วนคำว่ารัฐบาลฆาตกรหมายถึง การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่ทำให้ประชาชนไปตาย รวมถึงเป็นรัฐบาลที่บริหารงานเรื่องวัคซีนโควิด-19 อย่างไร้ประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการเสียชีวิตมากกว่าที่ควรจะเป็น แต่ข้อความนั้นเป็นลักษณะเปรียบเปรยในเชิงสัญลักษณ์ ไม่ใช่ความหมายที่แท้จริง
ยังมี พงศธร กันทวงค์ ผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่เป็นเพื่อนกับหัสวรรษและกัมพล เบิกความเป็นพยานให้ทั้งสองว่า วันเกิดเหตุตนพบหญิงชราคนหนึ่งพยายามจะเข้าพบนายกฯ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจห้ามปรามไม่ให้เข้าพบ ตนจึงพูดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ทำไมจะเข้าพบไม่ได้ ขณะนั้นจำเลยทั้งสองที่อยู่บริเวณใกล้เคียงได้ชูป้ายข้อความตามที่ถูกฟ้อง ตนดูเหตุการณ์อยู่ใกล้ๆ เห็นว่าทั้งสองไม่ได้ตะโกนด่าว่าร้ายนายกฯ แต่เป็นไปในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 รวมถึงกรณีที่ไม่ให้ผู้สูงอายุคนดังกล่าวเข้าพบ
.
พยานผู้เชี่ยวชาญภาษา ยืนยัน คำว่า ‘I HERE’ กับ ‘ไอ้เหี้ย’ ไม่พ้องเสียงกัน
ผศ.เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ อาจารย์ประจำคณะคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เบิกความในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจำเลยว่า คำว่า I HERE ไม่พ้องเสียงกับคำว่า ไอ้เหี้ย เนื่องจากคำพ้องเสียงนั้นจะต้องออกเสียงเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น คำว่า Sun ที่แปลว่า ดวงอาทิตย์ พ้องเสียงกับคำว่า Son ที่แปลว่า บุตรชาย แม้ว่าจะสะกดไม่เหมือนกัน และยืนยันว่า คำว่า I HERE กับ ไอ้เหี้ย ไม่ใช่คำพ้องเสียง
.
นอกจากไบค์และภูมิ เหตุการณ์คาบเกี่ยวกันยังมี เค้ก (นามสมมติ) และอัญทิกา (สงวนนามสกุล) ถูกดำเนินคดีดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ และเทหรือทิ้งสิ่งปฏิกูลฯ จากการเทอาหารหมาใส่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) โดยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาในนัดสืบพยาน เค้กตัดสินใจให้การรับสารภาพ ก่อนศาลแขวงอุบลราชธานีพิพากษา ฐานร่วมกันดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่ จำคุก 2 เดือน และปรับ 6,000 บาท ฐานร่วมกันเทสิ่งปฏิกูลหรือขยะมูลฝอย ปรับ 4,000 บาท ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน ปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี
สำหรับการชุมนุมเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 15 ต.ค. 2564 ที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี มีขึ้นขณะนายกรัฐมนตรีทำพิธีมอบสิ่งของให้ผู้ประสบอุทกภัยที่บริเวณศาลาประชาวาริน โดยประชาชนต้องการมาแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อรัฐบาล รวมทั้งไม่พอใจที่มีนักกิจกรรมคณะอุบลปลดแอกและกลุ่ม “ศรีสะเกษจะไม่ทน” หลายคน ถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จะลงพื้นที่ แต่ต้องเผชิญกับตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ราว 4 กองร้อย ที่ตั้งแถวห่างจากศาลาประชาวารินราว 200-300 เมตร สกัดไม่ให้ประชาชนเข้าไปใกล้กับคณะของ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ชุมนุมจึงได้ทำกิจกรรมอยู่ด้านนอก โดยการชูป้ายไล่ประยุทธ์ ปราศรัยให้ลาออก รวมทั้งมีการโปรยอาหารสุนัขหน้าแถว คฝ. เพื่อแสดงความไม่พอใจที่ถูก คฝ.ปิดกั้นเสรีภาพ ก่อนจะเสร็จสิ้นกิจกรรมในเวลา 17.00 น. ซึ่งภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวจึงมีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 4 ราย
.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง