กด-ปราม ยาวนาน 4 ปี จากอุบลฯ ถิ่นประท้วงของคนเสื้อแดง สู่ความสงบเรียบร้อยของ ครม.สัญจร

หากติดตามสถานการณ์ข่าวระหว่างวันที่ 23-24 ก.ค. 61 ซึ่งรายงานบรรยากาศการเดินทางไปพบปะประชาชนในจังหวัดอำนาจเจริญ และอุบลราชธานี และประชุม ครม.สัญจร ครั้งที่ 5/2561 ที่โรงแรมยูเพลส มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี/หัวหน้า คสช. และคณะรัฐมนตรี จะพบแต่บรรยากาศความยินดีของคนในพื้นที่อย่าง นายกฯลงพื้นที่ ครม.สัญจรอุบลฯ ปลื้มเด็กร้องเพลงเชียร์ ‘พัฒนาไม่หยุด คือพลเอกประยุทธ์’ปิดฉาก ครม.สัญจรอีสานใต้ เห็นชอบ 19 โครงการคมนาคม นายกฯตะโกนตอบชาวบ้าน “ถ้ารักลุงตู่ ลุงตู่สู้ตาย”

แต่หากสำรวจไปมากกว่าข่าวกระแสหลัก ก็จะเห็นการรายงานว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าสังเกตการณ์และปรามบุคคลเป้าหมาย รวมถึงนักวิชาการในมหาวิทยาลัยอย่าง ทหารบุกมหา’ลัย เคลียร์ทางประยุทธ์ลงพื้นที่  ตั้งแต่ก่อนช่วงประชุม ครม. นอกจากนี้ ในช่วงการประชุมก็จะเห็นการแชร์โพสต์ของคนในพื้นที่ว่ามีทหารไปเฝ้าที่บ้านทั้งวัน ซึ่งข่าวในลักษณะนี้ ไม่ได้แสดงถึงพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อมีการจัด ครม.สัญจร หากแต่พบอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กระทำรัฐประหารและยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 โดยเฉพาะในจังหวัดที่ถือได้ว่าเป็นฐานเสียงของรัฐบาลชุดก่อนหน้า อย่างอำนาจเจริญและอุบลราชธานี

แม้ข้อถกเถียงและเสียงเรียกร้องหาความชอบธรรมในการลงพื้นที่พูดคุย เพื่อห้ามปรามไม่ให้แสดงความเห็น ห้ามจัดกิจกรรมไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่ หรือแม้แต่การดำเนินคดีด้วยเหตุผลอันไม่สอดคล้องใด ๆ กับความชอบด้วยกฎหมายในสังคมประชาธิปไตย จะถูกผันแปรให้ตกอยู่ภายใต้ความต้องการ “รักษาความสงบเรียบร้อย” ของรัฐบาล ซึ่งนำมาสู่ปฏิบัติการคุกคาม ข่มขู่ ติดตาม เยี่ยมบ้าน เรียกรายงานตัว และดำเนินคดี ทำให้นิยามของการรักษาความสงบเรียบร้อยนี้ถูกขยายออกอย่างกว้างขวางและมีนัยยะสำคัญ เพราะบุคคลที่ถูกควบคุมด้วยคำว่า “รักษาความสงบเรียบร้อย” นี้ นอกจากจะเป็นบุคคลเดิมที่ถูกรัฐจับตามองตั้งแต่การทำรัฐประหารเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ยังต่อเนื่องวางขอบเขตเข้าไปในพื้นที่วิชาการอย่างมหาวิทยาลัยด้วย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงรวบรวมสถานการณ์เป็นรายงานและบทสนทนาของคนเล็กคนน้อยในพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ-อุบลราชธานี อาจารย์และนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ว่าต้องได้รับผลกระทบอย่างไร ตลอดช่วง 4 ปีกว่าของการรัฐประหาร เมื่อการแสดงความเห็นหรือทำกิจกรรมของตน ที่แม้จะได้รับการรับรองทั้งตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ และความสงบเรียบร้อยที่รัฐหมายถึงหรือมุ่งจะรักษา มีราคาของเสรีภาพที่ใครต้องจ่าย อย่างไรบ้าง

 

สถานการณ์คุกคามก่อนและระหว่างการลงพื้นที่ของ ครม.สัญจร ระหว่างวันที่ 23-24 ก.ค. 61

กดดัน-คุกคาม 4 นักวิชาการ เกรงเคลื่อนไหวใน ม.อุบลฯ

คนกลุ่มแรกที่ตกเป็นเป้าหมายการ “ปรามไม่ให้เคลื่อนไหว” เพื่อให้ขณะ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงพื้นที่มีแต่ “ความสงบเรียบร้อย” และ “ชื่นชมยินดี” คือ นักวิชาการและนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จากการรายงานข่าวของประชาไท และเดอะอีสานเรคคอร์ด ช่วงอาทิตย์ก่อนหน้า พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางมาอุบลฯ พ.อ.มงกุฎ แก้วพรหม รองเสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 22 (มทบ.22) ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ ค่ายทหารที่ตั้งอยู่ใน จ.อุบลฯ นัดพบ ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ เพื่อขอให้คอยตรวจดูและห้ามปรามนักศึกษาในคณะไม่ให้ทำกิจกรรมต่อต้านนายกรัฐมนตรีระหว่างการประชุม ครม.สัญจร เพราะอาจจะเกิดความไม่สงบเรียบร้อย แต่คณบดีรัฐศาสตร์ตอบนายทหารไปว่า “ผมไม่มีสิทธิที่จะไปห้ามได้ เพราะนั่นถือเป็นสิทธิเสรีภาพของนักศึกษาที่จะแสดงออกต่อการบริหารงานของรัฐบาลทุกรัฐบาล” เขาแสดงความเห็นกับผู้สื่อข่าวด้วยว่า “มหาวิทยาลัยคือสถาบันการศึกษาที่ตามหลักแล้วต้องไม่ถูกผู้มีอำนาจ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารเข้ามาควบคุมหรือปิดกั้นการแสดงออกของคณาจารย์และนักศึกษาตามหลักสิทธิ เสรีภาพในสังคมประชาธิปไตย” (ดูรายละเอียดที่ ทหารกดดันอาจารย์ม.อุบลฯห้ามต่อต้านรัฐบาล คสช.)

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊คTitipol Phakdeewanich

นอกจากนี้ รองเสธ. มทบ.22 ยังนัดพบ เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ และอยู่ในเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ที่ร้านกาแฟใน ม.อุบลฯ เพื่อตั้งคำถามว่า จะทำกิจกรรมอะไรหรือไม่ ในช่วงที่มีการประชุม ครม.สัญจร โดยก่อนหน้านั้น  มีสันติบาลไปตามหาตัวเธอในมหาวิทยาลัย รวมทั้งฝ่ายข่าวทหารสอบถามถึงเธอกับเพื่อน

“โดยหลักการคือการคุกคามแน่นอน เราไม่มีข้ออะไรที่จะข้องเกี่ยวกัน เราไม่ได้ทำผิดกฎหมาย” อ.เสาวนีย์สรุปหลังการพูดคุยกับ พ.อ.มงกุฎ “ในสภาพสังคมปกติที่มีรัฐบาลพลเรือน เราไม่เคยต้องเข้าไปในค่ายทหาร ไม่เคยมีทหารมาขอ ‘ทำความรู้จัก’ ” (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่  อุบล: ทหารบุกมหา’ลัย เคลียร์ทางประยุทธ์ลงพื้นที่)

ขณะที่อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์อีก 2 คน คือ ราม ประสานศักดิ์ และธีระพล อันมัย มีตำรวจนอกเครื่องแบบไปพบถึงบ้านพักในช่วงวันหยุด ซึ่งทำให้ทั้งสองรู้สึกตกใจอย่างมาก โดยเฉพาะ อ.ราม เนื่องจากตำรวจที่ไปพบเขาที่บ้านพกอาวุธปืนไปด้วย แม้ตำรวจจะมาแค่สอบถามด้วยคำถามคล้ายๆ กันว่า จะเคลื่อนไหวในช่วง ครม.สัญจร ที่ ม.อุบลฯ หรือไม่ พร้อมบอกว่าผู้ใหญ่กังวลว่าจะเกิดความไม่สงบเรียบร้อยระหว่างที่นายกฯ มา แล้วก็กลับไปเมื่อทั้งสองคนปฏิเสธ แต่พฤติการณ์ดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ทำให้พวกเขารู้สึกถูกคุกคาม “ผมไม่ใช่อาชญากรร้ายแรงที่เจ้าหน้าที่ต้องติดตามและคุกคามผมแบบนี้” อ.ธีระพลกล่าว (ดู ตร.อุบลฯ สกัดอาจารย์ ม.อุบลฯ หวั่นต้าน รบ.ช่วง ครม.สัญจร ถึงบ้านพัก)

ที่มาภาพ: เดอะอีสานเรคคอร์ด

ติดตามเสื้อแดงอำนาจฯ – อุบลฯ เตือนอดีตนักโทษการเมือง ‘อย่าเคลื่อนไหว’

คนกลุ่มต่อมา คือกลุ่มคนเสื้อแดงที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองก่อนหน้าการรัฐประหารปี 57 โดยแกนนำคนเสื้อแดงจังหวัดอำนาจเจริญ แจ่มจิตร ศรีโรจน์ เล่าว่าวันที่ 21 ก.ค. 61 ก่อนการลงพื้นที่ตรวจราชการของคณะ พล.อ.ประยุทธ์ 2 วัน มีตำรวจในเครื่องแบบ 2 นาย มาหาที่บ้านสอบถามว่า จะเคลื่อนไหวอะไรไหมช่วงที่นายกฯ มา กลุ่มเสื้อแดงจะเคลื่อนไหวหรือไม่ แจ่มจิตรตอบปฏิเสธไปว่า ไม่ได้เคลื่อนไหว วันรุ่งขึ้น ทหารและตำรวจยังโทรศัพท์มาสอบถามด้วยคำถามคล้าย ๆ เดิมอีก จะเคลื่อนไหวหรือเปล่า จะไปต้อนรับนายกฯ หรือไม่ แจ่มจิตรยืนยันไปว่า ไม่เคลื่อนไหว ไม่ไปต้อนรับ เพราะเขาไม่ใช่นายกฯ  หลังจากนั้น ในวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ มาจังหวัดอำนาจเจริญ ก็ไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่มาหาเธออีก การถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่เช่นนี้ ทำให้แกนนำเสื้อแดงอำนาจเจริญรู้สึกถูกคุกคาม ทั้งที่ไม่เข้าใจว่าตนเองทำอะไรผิด

เช่นเดียวกันที่ จ.อุบลฯ อดีตนักจัดรายการวิทยุเสื้อแดงและอดีตผู้ต้องขังคดีเผาศาลากลาง จ.ส.อ.สมจิตร สุทธิพันธ์ ให้ข้อมูลว่า   สันติบาลชุดที่เคยมาเป็นประจำทุกเดือนมาหาเขา 1-2 วัน ก่อน พล.อ.ประยุทธ์มาอุบลฯ แต่เขาไม่อยู่ไปปั่นจักรยาน สันติบาลก็โทรศัพท์ตามเขา สอบถามว่า จะทำอะไรต่อต้าน คสช. ช่วง ครม.สัญจรหรือไม่ จะไปต้อนรับนายกฯ มั้ย มีใครจะไปหรือเปล่า แต่จ่าสมจิตรตอบปฏิเสธไปทั้งหมด

ขณะที่ที่บ้านของอดีตผู้ต้องขังคดีเผาศาลากลางอุบลฯ อีกรายที่เพิ่งได้รับการพักโทษเป็นกรณีพิเศษออกจากเรือนจำเมื่อเดือนกันยายน 2560 มีทหารในเครื่องแบบจาก กอ.รมน.จ.อุบลฯ 2 นาย มาพบเขาบอกว่า มาดูเฉยๆ ว่าอยู่หรือไม่ เขาบอกทหารไปว่า ไปไหนไม่ได้หรอก ติดคุมประพฤติอยู่ (เงื่อนไขการพักโทษต้องไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติทุกเดือน และห้ามเดินทางออกนอกเขตจังหวัด) ทหารที่มาแจ้งเขาอีกว่า อีก 2-3 วัน จะมี กอ.รมน.ชุดใหญ่จากกรุงเทพฯ มาหา ให้รออยู่ที่บ้าน ไม่ให้ไปไหน แต่เขาไม่รับปากว่า จะอยู่บ้านหรือไม่ เพราะอาจจะต้องออกไปหากิน ซึ่งในความหมายของเขาหมายถึงการไปตกปลาหาอาหารมาให้ครอบครัว ก่อน กอ.รมน.สองนายจะกลับไป ได้กล่าวเตือนเขาเหมือนครั้งก่อน ๆ ว่า อย่าเคลื่อนไหวอะไร

สุดท้าย อดีตผู้ต้องขังคดีการเมืองก็ไม่พบว่า มี กอ.รมน.ชุดใหญ่ตามที่เจ้าหน้าที่อ้างมาหาเขา มีแต่ตำรวจที่รู้จักกันมาถามในวันประชุม ครม. ที่ ม.อุบลฯ ว่า เขาได้ออกไปไหนไหม พร้อมทั้งบอกด้วยว่า ติดตามเฝ้าดูเขาอยู่

 

คุมเข้มแกนนำกลุ่มเสรีชนตลอด 2 วัน สกัดใส่เสื้อ ‘อยากเลือกตั้ง’ โชว์ประยุทธ์

น้ำหนักการติดตามไม่ให้เคลื่อนไหว ยังเน้นหนักไปที่แกนนำกลุ่มเสรีชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังมีกิจกรรมอยู่บ้าง สัปดาห์ก่อนหน้าการประชุม ครม.สัญจร มีสันติบาลแวะเวียนมาหารัตนา ผุยพรม แกนนำกลุ่มเสรีชน ที่ร้านอุดมแอร์ 2 ครั้ง  แต่ไม่ได้ห้ามเธอออกไปเคลื่อนไหวแต่อย่างใด

วันที่ 23 ก.ค. 61 วันแรกของกำหนดการลงพื้นที่ของ ครม. ทหารจาก มทบ.22 จำนวน 3 นาย และตำรวจ สภ.วารินชำราบ 4 นาย มานั่งเฝ้าหน้าร้านอุดมแอร์ตั้งแต่ก่อนเที่ยง ตกค่ำซึ่งมีกำหนดการว่า ขบวนรถของ พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับจากเปิดงานแห่เทียนเข้าพรรษาที่ทุ่งศรีเมืองเข้าไปพักใน มทบ.22 และต้องวิ่งผ่านฝั่งตรงข้ามร้านอุดมแอร์ ก็มีตำรวจมาเพิ่มอีก 2 นาย รัตนาเริ่มรู้ว่า ตนเองตกเป็นเป้าหมายของปฏิบัติการ “เฝ้าระวัง” เพื่อไม่ให้เคลื่อนไหวในช่วง ครม.สัญจร 2 วันนี้ แต่แล้วขณะที่ขบวนรถ พล.อ.ประยุทธ์ วิ่งผ่านมา สามีของเธอกลับเป็นคนวิ่งออกไปเกาะกลางถนน ชู 2 มือ พร้อมคว่ำนิ้วโป้งชี้ลง เป็นที่ตื่นตกใจของเจ้าหน้าที่ที่เฝ้าอยู่ และตำรวจจราจรที่คอยอำนวยความสะดวกให้กับขบวนนายกฯ หลังจากขบวนรถผ่านไปหมดแล้ว ประมาณ 3 ทุ่ม เจ้าหน้าที่จึงได้กลับไป

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ค รัตนา เสรีชน

รัตนาเปิดเผยว่า เช้าวันรุ่งขึ้น ทหารก็มาอีกตั้งแต่ 06.00 น. โดยยกกำลังมาประมาณ 50 นาย เดินทางมาด้วยรถกระบะสี่ประตู 3 คัน ฮัมวี่ 2 คัน รถกระบะคันหนึ่งจอดขวางทางเข้าร้าน ทหารจำนวนหนึ่งยืนอยู่ข้างรถ หันหน้าเข้ามาในร้าน ลักษณะเหมือนจะคอยกันไม่ให้คนในร้านออกไปข้างนอก เพราะช่วงเช้าขบวนรถ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องวิ่งผ่านหน้าร้านเพื่อไปประชุมที่ ม.อุบลฯ

แกนนำกลุ่มเสรีชนได้รับการบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่ว่า ทหารในเครื่องแบบที่มาในตอนเช้านี้มาจากจังหวัดนครราชสีมา จากเหตุการณ์คืนที่ผ่านมาที่สามีเธอวิ่งไปคว่ำนิ้วโป้งใส่ขบวนรถของ พล.อ.ประยุทธ์  ทำให้มีการนำทหารจากนครราชสีมารักษาการณ์ในเช้าวันนี้แทนทหารของ มทบ.22 ทหารชุดนี้แม้ไม่มีอาวุธ แต่รัตนาก็รู้สึกว่าเขาข่มขู่คุกคามในที หัวหน้าชุดยศพันเอก พูดจาไม่ค่อยดี ซึ่งพอเธอเดินออกไปถ่ายรูปพวกเขา นายพันเอกก็พูดว่า “อย่ามาถ่ายรูปผม คุณละเมิดผม ลบเดี๋ยวนี้” แต่รัตนาเดินหลบเข้าบ้านไปโดยไม่ได้ลบภาพตามที่ทหารสั่ง นอกจากนี้ พอรัตนาบอกว่า วันนี้จะเข้าไปที่ ม.อุบลฯ หัวหน้าชุดก็รีบบอกว่า “ถ้าพี่จะไปเปลี่ยนเสื้อก่อนได้มั้ย เสื้อแบบนี้ใส่ไปไม่ได้” วันนั้น ครอบครัวของรัตนาทุกคนใส่เสื้อสีดำ สกรีนรูปสามนิ้ว “#คนอยากเลือกตั้ง” ทำให้รัตนาเถียงไปว่า “เสื้อยืดธรรมดา ทำไมถึงใส่ไม่ได้ ขนาดใส่เสื้อคุณก็ยังละเมิดเรา”

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ค รัตนา เสรีชน

หลังจากขบวนรถ พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านออกไปแล้ว เวลาประมาณ 09.00 น. ทหารจาก มทบ.22 จำนวน 8 นาย สันติบาล 2 นาย ตำรวจ สภ.วารินฯ 7 นาย นำโดย รอง ผกก.สภ.วารินฯ จึงมาเปลี่ยนให้กำลังทหารจากนครราชสีมากลับไป หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ชุดใหม่นี้ก็นั่งเฝ้าอยู่ทั้งวัน นั่งตามโต๊ะของร้านข้าวมันไก่ที่อยู่หน้าร้านแอร์ รัตนาบอกรอง ผกก.สภ.วารินฯ ว่า มานั่งแบบนี้ลูกค้าก็ไม่กล้าเข้าร้าน รอง ผกก. จึงเหมาข้าวมันไก่ไปแจกตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ใน ม.อุบลฯ

รัตนาเล่าถึงตำรวจทหารชุดที่มานั่งเฝ้าทั้งวันว่า “เขาก็ไม่ได้พูดอะไรรุนแรง ไม่ได้ห้ามไม่ให้เข้าไป ม.อุบลฯ แต่บอกว่าพี่นั่งคุยกับผมอยู่นี่แหละ อย่าไปไหนเลย พี่จะไปทำไม ตั้งใจว่าจะออกไปซื้อส้มตำ ตำรวจก็บอก เดี๋ยวผมพาไป พี่จะกินอะไรบอก เขาก็ไปซื้อมาให้กิน คือไม่ให้เราคลาดสายตาเขาเลย” “ที่เราตั้งใจไว้ก็แค่ใส่เสื้อดำสกรีน 3 นิ้ว ‘#อยากเลือกตั้ง’ ไปเดินๆ ให้เขาเห็น ก็แค่นั้น เราจะไปทำอะไรได้ ผู้หญิงตัวคนเดียว จะต้องกลัวอะไรมากมายขนาดนั้น ถ้าเข้าไปเจอนายกฯ ได้จะถามแค่ว่า จะมีเลือกตั้งจริง ๆ มั้ย เสียดายที่ไม่ได้ไป” รัตนาสรุปว่า เรื่องข่มขู่ไม่มี มีแต่รำคาญ ถึงเขาไม่ข่มขู่ แต่มาเยอะ และมาจอดรถขวางหน้าบ้านแบบตอนเช้า ก็เป็นการข่มขู่คุกคามเรา แล้วการมานั่งเฝ้าทั้งวันไม่ให้คลาดสายตา เขาก็ขัดขวางไม่ให้เราไปแสดงออกได้สำเร็จ

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ค รัตนา เสรีชน

ตำรวจ ทหาร เกือบ 20 นาย เฝ้าอยู่ที่ร้านอุดมแอร์จนกระทั่ง 6 โมงเย็น ซึ่งเป็นเวลาที่คณะ ครม.สัญจร ขึ้นเครื่องกลับ กทม.แล้ว “เท่าที่รู้นอกจากบ้านเรา เขาก็ไม่ได้ไปเฝ้าใครอีก” เป้าหมายหนึ่งเดียวของปฏิบัติการณ์เฝ้าระวังครั้งนี้ยังแสดงความเห็นใจเจ้าหน้าที่เหล่านั้นว่า “ใช้ทหารน้อย ๆ มานั่งเฝ้าทั้งวัน ก็คงเครียดและเหนื่อย อากาศก็ร้อน ๆ เขาฝึกให้ทำความอดทนกับเรื่องไร้สาระมากเลย”

 

ยอมประชุมรับข้อเรียกร้องชาวบ้านปากมูล แต่ไม่ให้ยื่นหนังสือกับนายกฯ

ขณะที่สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล แม้ไม่ได้จะเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล คสช. แต่ต้องการเข้ายื่นหนังสือกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาใน 3 เรื่อง ได้แก่ เขื่อนปากมูล, เขื่อนหัวนา และลำโดมใหญ่เน่า ก็ถูกขัดขวางและผลักดันให้ไปยื่นหนังสือที่ศูนย์ดำรงธรรมเช่นเดียวกับการลงพื้นที่อื่น ๆ ก่อนหน้านี้ ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้าน 12 คน ซึ่งเดินเท้าไปถึงทางเข้าด้านข้างโรมแรมยูเพลส มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สถานที่ประชุม ครม.สัญจร ก่อนการประชุมในช่วงเช้าวันที่ 24 ก.ค. 61 ปักหลักอยู่ตรงนั้น ยืนยันว่าจะขอยื่นหนังสือกับนายกฯ หรือตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในที่สุด เพื่อผลักดันชาวบ้านออกจากบริเวณนั้น จึงได้ข้อยุติว่า ตัวแทนสำนักนายกฯ กระทรวง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมาเจรจากับชาวบ้าน เพื่อหาข้อตกลงเบื้องต้นในเรื่องที่ชาวบ้านเตรียมมาร้องเรียนทั้ง 3 เรื่อง ที่สำนักงานเทศบาลตำบลเมืองศรีไค ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามโรงแรมยูเพลส และจัดไว้เป็นที่ตั้งศูนย์ดำรงธรรมเฉพาะกิจ เพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านที่ต้องการมายื่นเรื่องกับนายกฯ

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ค สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล สคจ. 

ผลการประชุมเจรจากับตัวแทนหน่วยงาน ที่ประชุมมีมติรับข้อเสนอของชาวบ้าน พร้อมกำหนดกรอบเวลา โดยกรณีเขื่อนปากมูนจะมีการประชุมเจรจากับกระทรวงพลังงานภายในเดือน ส.ค. 61 และผ่อนปรนการหาปลาในแม่น้ำมูนในช่วงการประกาศกฎหมายประมง 3 เดือน ให้ชาวบ้านบริเวณปากมูนหาปลาได้ตามปกติ ยกเว้นวันพระ (ชาวบ้านปากมูนมีข้อตกลงร่วมกันอยู่แล้วว่า จะไม่ใช้เครื่องมือจับปลาที่ทำลายล้าง), กรณีเขื่อนหัวนาจะมีการประชุมหาแนวทางแก้ปัญหาในวันที่ 26 ก.ค. 61 และกรณีน้ำเน่าเสียที่ลำโดมใหญ่จะต้องตั้งกรรมการแก้ไขปัญหาภายในเดือน ส.ค. 61

จันนภา คืนดี หนึ่งในตัวแทนชาวบ้านสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูน กล่าวสรุปสิ่งที่ได้จากการมาร้องเรียนในวันที่ ครม.สัญจรมาถึงอุบลฯ “ถึงแม้หน่วยงานจะรับเรื่องในวันนี้ เราก็ต้องติดตามให้มีการปฏิบัติตามข้อตกลง ไม่งั้นเรื่องก็เงียบไปเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเกิดขึ้น”

ขณะที่ชาวบ้านกลุ่มอื่น ๆ ที่มายื่นเรื่องร้องเรียนกับนายกฯ เจ้าหน้าที่ก็จัดให้ไปยื่นที่ศูนย์ดำรงธรรมเฉพาะกิจในเทศบาลตำบลเมืองศรีไคทั้งหมด ไม่มีใครได้เข้าถึงนายกฯ เช่นกัน

+++++++++++++++++

 

สถานการณ์คุกคามหลังรัฐประหาร จนถึงปัจจุบัน

ในส่วนนี้จะรายงานสถานการณ์คุกคามย้อนหลังไปตั้งแต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมา เพื่อชี้ให้เห็นความรุนแรงอย่างต่อเนื่องของปฏิบัติการรักษาความสงบเรียบร้อยโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และผลกระทบที่เกิดต่อทั้งผู้ที่ถูกคุกคามเองและครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิด จนปรากฏผลเป็นความสงบเรียบร้อยในวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ มาเยือนอำนาจ-อุบลฯ ในวันนี้ หากรายงานจะมีขนาดยาว และกล่าวซ้ำถึงสิ่งที่เกิดขึ้นแบบเดิม ๆ ก็คงต้องกล่าวโทษทหาร, คสช. และเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งผู้ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้

 

แกนนำเสื้อแดงอำนาจเจริญ ถูกควบคุมตัวจากสนามบินไปรายงานตัว

22 พ.ค. 57 ทหารในเครื่องแบบ อาวุธครบมือ ประมาณ 30 นาย บุกไปที่บ้าน แจ่มจิตร ศรีโรจน์ แกนนำ นปช.จ.อำนาจเจริญ ถามหาแจ่มจิตรและสามี จากลูกสาว อายุ 18 ปี ที่อยู่บ้านคนเดียว พร้อมขู่แจ่มจิตรทางโทรศัพท์ว่า จะจับลูกสาวเป็นตัวประกัน หากสามีไม่เข้ามามอบตัวภายใน 10 นาที หลังจากนั้น 1 อาทิตย์ ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 22 เข้าควบคุมตัวแจ่มจิตรที่สนามบิน จ.อุบลฯ นำไปปรับทัศนคติที่ มทบ.22 ก่อนปล่อยตัวกลับในวันเดียวกัน หลังจากนั้น ทหารก็มาพบแจ่มจิตรที่บ้านทุกเดือน ๆ ละ 1-2 ครั้ง ในช่วงที่การเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติทั่วประเทศ เธอก็ถูกฝ่ายความมั่นคงควบคุมตัวไปที่ศาลากลางจังหวัดอำนาจเจริญ ขอความร่วมมืออย่าเพิ่งเคลื่อนไหว แม้แต่เมื่อมีการเดินมิตรภาพของกลุ่ม We walk รวมถึงก่อนการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่กรุงเทพฯ เมื่อครบรอบ 4 ปี การรัฐประหาร แกนนำเสื้อแดงอำนาจเจริญก็ถูกทหารติดตามสอบถามว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ จนตัวเธอรู้สึกกังวลและตั้งคำถามว่า จะถูกติดตามแบบนี้อีกนานไหม เมื่อไหร่ทหารจะหยุดติดตามเธอเสียที

 

ควบคุม 5 แกนนำเสื้อแดงอุบลฯ 7 วัน ในค่ายทหาร

22 พ.ค. 57 หลังการยึดอำนาจ กำลังทหารพร้อมอาวุธเข้าควบคุมตัวประธานกลุ่ม นปช.อุบลฯ 51 นำตัวไปไว้ที่กรมทหารราบที่ 6 ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ จากนั้น กำลังทหารทยอยเข้าควบคุมตัวนายศักดิ์สิทธิ์ กิ่งมาลา แกนนำชมรมคนรักทักษิณอุบลฯ, นายพิเชษฐ์ ทาบุดดา แกนนำกลุ่มชักธงรบ, จ.ส.อ.สมจิตร สุทธิพันธ์ ผู้จัดรายการข่าวสถานีวิทยุเพื่อประชาชน และนายประยุทธ ชุ่มนาเสียว ประธานสภาองค์กรชุมชน จ.อุบลฯ นำไปควบคุมไว้ด้วยกัน 7 วัน เนื่องจากก่อนหน้านี้หลายคนมีบทบาทเคลื่อนไหวต่อต้าน กปปส. และต่อต้านการรัฐประหาร มี 2 คน ในจำนวนนี้หลบออกจากบ้านก่อน ทหารก็ติดตามไปที่บ้านทุกวันจนต้องกลับมาเข้ารายงานตัว  ก่อนได้รับการปล่อยตัวทหารให้พวกเขาเซ็นเอกสารซึ่งระบุเงื่อนไข ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

นายพิเชษฐ์ นำกลุ่มชักธงรบวางหรีดก่อนรัฐประหาร ที่มาภาพ: โพสต์ทูเดย์

ช่วง 2 เดือนแรก หลังออกจากค่ายทหาร ทั้ง 5 คน ยังต้องไปรายงานตัวที่ มทบ.22 ทุกวัน โดยไปเซ็นชื่อว่าได้มารายงานตัวแล้วก็กลับ ไม่มีการพูดคุยอะไร หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นไปรายงานตัวทุกวันจันทร์ จนถึงปลายปี 59 ซึ่งเหลือคนที่ต้องเข้าไปเซ็นชื่อรายงานตัวเป็นประจำเพียง 3 คน เนื่องจากพิเชษฐ์ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตในคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลฯ เมื่อเดือน ธ.ค. 58 (อ่านเพิ่มเติมที่ประชาไท) และศักดิ์สิทธิ์เสียชีวิตเมื่อเดือน ก.พ. 59 (อ่านรายละเอียดที่นี่) ทหารได้ลดให้ไปรายงานตัวเดือนละครั้งในทุกวันจันทร์ต้นเดือน นอกจากการต้องไปรายงานตัวเป็นประจำ ซึ่งสร้างภาระให้อดีตแกนนำเหล่านี้เป็นอย่างมากแล้ว ทหารและสันติบาลก็ยังไปติดตามที่บ้านเป็นประจำด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุการณ์หรือการเคลื่อนไหวสำคัญๆ ทั้งหมดนี้คุกคามต่อเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวของพวกเขา แม้ว่าล่าสุด จ.ส.อ.สมจิตร ให้ข้อมูลว่า เมื่อต้นเดือน มิ.ย. 61 ที่ผ่านมา ผบ.มทบ.22 ได้สั่งให้ยุติการเข้ารายงานตัวของพวกเขา 3 คน ที่เหลืออยู่แล้ว

นอกจากนี้ หลังการถูกควบคุมตัวในครั้งแรกไม่ถึงเดือน วันที่ 19 มิ.ย. 57 ตำรวจ ทหาร ประมาณ 30 นาย พร้อมอาวุธครบมือ เข้าตรวจค้นบ้านของประยุทธ และควบคุมตัวเดินทางโดยเครื่องบินไปกรุงเทพฯ (อ่านเพิ่มเติมที่ประชาไท) เพื่อสอบปากคำ โดยอ้างว่าเขาเกี่ยวข้องกับอาวุธ และเหตุการณ์ระเบิดในกรุงเทพฯ ประยุทธถูกควบคุมตัวและสอบที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล อยู่ 6 วัน โดยขาดการติดต่อกับญาติ ก่อนได้รับการปล่อยตัวกลับ โดยไม่มีการดำเนินคดีแต่อย่างใด

กำลังฝ่ายความมั่นคงเข้าควบคุมตัวนายประยุทธที่บ้าน ที่มาภาพ: ประชาไท

“หลังรัฐประหารลดบทบาทลง ไม่แสดงออก ไม่ไปไหนเลย ผมไปปั่นจักรยานออกกำลังกายอย่างเดียว ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวอะไรอีก ไม่ให้ผมพูด ผมก็ไม่พูด แต่มันอยู่ในใจผมแล้ว เปลี่ยนความคิดผมไม่ได้หรอก” เป็นบทสรุปของจ่าสมจิตรต่อสิ่งที่เขาได้รับตลอด 4 ปีมานี้ ซึ่งนอกจากเขาจะไม่ได้แสดงออกทางการเมืองผ่านการเล่าข่าวเหมือนที่เคยแล้ว สถานีวิทยุ 2 คลื่น ที่ถูกระงับออกอากาศ ยังหมายถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจอีกด้วย ทุกวันนี้จ่าสมจิตรยังต้องหาเงินมาใช้หนี้เงินกู้ที่กู้มาลงทุนเปิดสถานีวิทยุดังกล่าว “ผมอยากให้ทหารคืนอำนาจให้แก่ประชาชน ให้มีการเลือกตั้ง เข้าสู่ระบบการเมืองปกติที่เป็นประชาธิปไตย”

 

คำสั่ง คสช. เรียกรายงานตัว อดีต ส.ส.-ดีเจเสื้อแดง-นักธุรกิจ-นักดนตรี

24 พ.ค. 57 คสช. ออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 5/2557 เรื่อง ให้บุคคลรายงานตัวเพิ่มเติม เพื่อให้การรักษาความสงบและการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ปรากฏชื่อ นายเกรียง กัลป์ตินันท์ อดีต ส.ส.จ.อุบลฯ พรรคเพื่อไทย เป็น 1 ใน 35 คน ที่ต้องเข้ารายงานตัวที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ กทม. ในบ่ายวันเดียวกันนั้น นายเกรียงเดินทางเข้ารายงานตัวที่ มทบ.22 แทน และได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกัน ทั้งนี้ ประกาศ คสช.ที่ 39/2557 ระบุให้บุคคลที่มารายงานตัวต่อ คสช. และได้รับการปล่อยตัว ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กําหนดอย่างเคร่งครัด เงื่อนไขดังกล่าว คือ ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ, ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง และห้ามให้การสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง หากฝ่าฝืนมีโทษจําคุกไม่เกิน 2ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ รวมทั้งระงับธุรกรรมทางการเงิน

หลังจากนั้น น.ส.อุบลกาญจน์ อมรสิน ดีเจ ‘สาวฝั่งโขง’, นายสราวุฒิ ภูธรโยธิน นักธุรกิจโรงสีข้าว และนายพฤทธ์นรินทร์ ธนบริบูรณ์สุข นักดนตรีหนุ่ม ก็ถูกคำสั่ง คสช. เรียกเข้ารายงานตัวเช่นกัน โดยดีเจสาวฝั่งโขงเข้ารายงานตัวที่สโมสรกองทัพบกเทเวศร์ ในวันที่ 30 พ.ค. 57 และได้รับการปล่อยตัววันเดียวกัน ส่วนนายสราวุฒิ ใช้อาวุธปืนพกยิงตัวเองในบ้าน หลังทราบข่าวถูกเรียกเข้ารายงานตัว ภรรยาให้ข้อมูลสื่อมวลชนว่า สามีป่วยด้วยโรคประจำตัวรุมเร้าหลายปีแล้ว แต่อาการไม่ได้กำเริบอะไร คาดว่าจากคำสั่งดังกล่าวทำให้สามีเกิดความเครียดเพิ่มขึ้น เพราะเกรงจะถูกกักตัวไว้ในค่ายทหาร ขณะที่พฤทธ์นรินทร์เข้ารายงานตัวที่สโมสรกองทัพบก ในวันที่ 12 มิ.ย. 57 แล้วถูกอายัดตัวตามหมายจับของศาลจังหวัดอุบลฯ ในคดี 112 จากนั้นถูกส่งตัวกลับมาดำเนินคดีที่ จ.อุบลฯ

นอกจากนี้ ยังมีอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย อีก 3 คน และแกนนำ กปปส. 3 คน ที่ถูกเรียกเข้ารายงานตัวที่ มทบ.22 โดยไม่มีคำสั่ง คสช.อย่างเป็นทางการ แต่ไม่ถูกกักตัวในค่าย 7 วัน (อ่านข่าวที่นี่) ซึ่งประกาศ คสช.ที่ 40/2557 ก็กําหนดเงื่อนไขให้บุคคลที่ถูกเรียกรายงานตัวในลักษณะนี้ต้องปฏิบัติตามเช่นเดียวกับคนที่ถูกเรียกตามคำสั่ง คสช. และการฝ่าฝืนมีโทษเช่นเดียวกัน

 

จัดเต็ม ติดตามแกนนำเสรีชนเข้ารายงานตัว จนแม่ช็อคล้มป่วย

22-24 พ.ค. 57 ทหารกว่า 10 นาย อาวุธครบมือ บุกไปที่บ้านรัตนา ผุยพรม แกนนำคนเสื้อแดงกลุ่มเสรีชน และขู่ว่าจะจับตัวลูกชายที่อยู่บ้าน ทำให้รัตนาซึ่งตัดสินใจไม่กลับบ้านหลังทหารเข้ายึดอำนาจ ต้องเข้ารายงานตัวกับทหารที่ จ.ศรีสะเกษ ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน เหตุที่รัตนาเลือกเข้ารายงานตัวที่ศรีสะเกษ เนื่องจากไม่อยากถูกกักตัวอยู่ในค่ายทหาร 7 วัน เหมือนแกนนำกลุ่มอื่น ๆ เจ้าหน้าที่ทหารพูดคุยปรับทัศนคตินานกว่า 2 ชั่วโมง ก่อนปล่อยตัวกลับ ต่อมาอีก 2 วัน ทหาร มทบ.22 ก็โทรศัพท์เรียกให้รัตนาไปรายงานตัวที่ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลฯ อีกครั้ง โดยทหารพูดคุยเนื้อหาเดิม ๆ เช่น ทำไมต้องไปชุมนุม คำตอบของเธอก็คือ “ไม่สามารถทนเห็นความไม่ชอบธรรม การเอารัดเอาเปรียบ และสองมาตรฐานได้” ก่อนให้รัตนาเซ็นเอกสารระบุเงื่อนไขว่า ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง และปล่อยตัวกลับ

หลังจากนั้นมา ทหารก็มาพบรัตนาที่บ้านสัปดาห์ละ 2 ครั้ง อยู่ประมาณ 4 เดือน เพื่อสอบถามและติดตามการเคลื่อนไหว ในบางครั้งทหารไม่พบรัตนา เนื่องจากเธอไปเฝ้าแม่ที่ป่วยอยู่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ก็จะโทรตาม พร้อมทั้งตามไปพบที่โรงพยาบาล จนสามีของรัตนาทนไม่ไหว “มันจะละเมิดสิทธิเกินไปแล้ว แม่ป่วยก็เพราะพวกคุณ” แม่ของรัตนาช็อกในวันที่ทหารพร้อมอาวุธครบมือบุกมาที่บ้าน หลังจากนั้นก็ล้มป่วย และเสียชีวิตลงในเวลาไม่นานนัก ในงานศพของแม่ ซึ่งรัตนาและคนเสื้อแดงสวมเสื้อสกรีนข้อความ “เสื้อแดงเสรีชนอุบล” เจ้าหน้าที่ก็ยังมาวางกำลังสังเกตการณ์ในวัด

ถ้าหากมีความเคลื่อนไหวสำคัญๆ  ทหารก็จะมาติดตามดูรัตนาว่า จะเคลื่อนไหวอะไรหรือไม่ อย่างที่มีการนัดใส่เสื้อแดงในวันที่ 1 พ.ย. 58 ทหารในเครื่องแบบ 6 นาย มาสอบถาม พร้อมกับบอกว่า ใส่เสื้อแดงได้แต่ห้ามเคลื่อนไหวสร้างความวุ่นวาย โดยยก พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาขู่ การที่เจ้าหน้าที่ติดตามเธอเป็นประจำเช่นนี้ แกนนำกลุ่มเสรีชนเห็นว่า เป็นการรบกวนชีวิตประจำวันของเธอ ทำให้ครอบครัวรู้สึกอึดอัด กิจการร้านซ่อมแอร์ของเธอได้รับผลกระทบ ลูกค้าลดลง สติ๊กเกอร์ชื่อร้านที่ลูกค้าติดรถ เมื่อผ่านค่ายทหารก็ถูกสั่งให้แกะออก สำหรับเธอแล้วรู้สึกเหมือน “โดนกระทืบซ้ำ” หลังจากที่คนเสื้อแดงถูกสลายการชุมนุมในปี 53 และ 57 ซึ่งเธออยู่ด้วยในทั้งสองเหตุการณ์

ขณะที่ เกริกยุทธ์ คำเพ็ชรดี แกนนำอีกคนของกลุ่มเสรีชน ถูกเรียกรายงานตัวที่ มทบ.22 ในวันที่ 25 พ.ค. 57 หลังจัดกิจกรรมกินแมคโดนัลด์ต่อต้านรัฐประหารที่ร้านแมคโดนัลด์ อุบลฯ แต่ ผบ.มทบ.22 ตักเตือนเขาเรื่อง การแชร์รูปต่อต้าน คสช. บนเฟซบุ๊คส่วนตัว  หลังจากนั้น ก็มีทหารยศน้อยใหญ่แวะเวียนไปพบเกริกยุทธ์ที่บ้านเป็นประจำอยู่หลายเดือนเช่นเดียวกับที่ไปติดตามแกนนำคนอื่น ๆ

 

เรียกรายงานตัวอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลฯ ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง

3 มิ.ย. 57 อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ได้แก่ เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเล็กซานเดอร์, ธีระพล อันมัย, เสนาะ เจริญพร และราม ประสานศักดิ์ พร้อมทั้งคณบดีรวม 5 คน ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวที่ มทบ. 22 โดยทหารโทรศัพท์ถึงคณบดี ไม่มีหนังสือเรียกอย่างเป็นทางการ ในการพูดคุย ทหารแจ้งว่า คสช. ไม่สบายใจที่มีอาจารย์กลุ่มหนึ่งในมหาวิทยาลัยเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยมาตลอด แม้แต่ในช่วงประกาศกฎอัยการศึก (อ่านข่าวที่ประชาไท) จึงขอความร่วมมือไม่ให้เคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมทางการเมืองในช่วงนี้ รวมถึงการโพสต์เฟซบุ๊คด้วย ทหารยังบอกให้อาจารย์ทั้งห้าจับตามองนักศึกษาไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมือง ถ้าจะจัดสัมมนาหรืองานวิชาการ ก็ต้องแจ้งและขออนุญาตจากทหารก่อน และยังห้ามเดินทางออกนอกประเทศ แต่ไม่มีการเซ็นเอกสารตกลงแต่อย่างใด

นักวิชาการ นักกิจกรรมในอุบลฯ จุดเทียนต้านกฎอัยการศึก ก่อนรัฐประหาร ที่มาภาพ: ประชาไท

ผลของการถูกเรียกรายงานตัว ทำให้พวกเขาเกิดความกังวล และต้องระมัดระวังที่จะใช้เสรีภาพในการแสดงออกมากขึ้น ทั้งในการโพสต์เฟซบุ๊คและการบรรยายในห้องเรียน บทบาททางวิชาการของคณะก็ได้รับผลกระทบ ในช่วงแรก ๆ จะประชุมมากกว่า 5 คน ก็ต้องรายงานทหาร ต้องส่งเรื่องไป อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่อาจารย์อย่างพวกเขาไม่ทำตามที่ทหารสั่ง คือ การจับตามองนักศึกษา “เขาไม่มีสิทธิมาสั่งเราให้เรากลายเป็นคนที่คอยจับตาดูนักศึกษาของเรา ซึ่งมันขัดกับความเชื่อของเราที่ต้องการให้พวกเขามีเสรีภาพที่จะคิดจะทำอะไร”

พวกเขายังรู้สึกไม่พอใจกับบรรยากาศหลังรัฐประหารที่มีทหารมาตั้งด่านหน้ามหาวิทยาลัย มีรถทหารมาลาดตระเวน บางวันมีทหารถือปืนเดินผ่านคณะ ดูบอร์ดรายชื่ออาจารย์ ดูนักศึกษาซ้อมเชียร์ “นี่คือการละเมิดอีกอันหนึ่ง มหาวิทยาลัยควรจะเป็นแหล่งพักพิง เป็นแหล่งที่ปลอดภัยของนักคิด แหล่งความรู้ เสรีภาพ”

 

ทหารเรียกอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ปรามนักศึกษา เกรงร่วมเคลื่อนไหวกับ ‘ดาวดิน’

1 ธ.ค.57 ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.อุบลฯ เรียกตัวผู้บริหารและนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลฯ ไปพบโดยด่วน โดยมีการประสานผ่านทางมหาวิทยาลัย บุคคลที่ถูกเรียกตัว ได้แก่ รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล คณบดี, ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช รองคณบดีฝ่ายบริหาร, น.ส.รจนา คำดีเกิด รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา, นายวัชรพงษ์ พันสูงเนิน นายกสโมสรนักศึกษา พร้อมทั้งรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา และหัวหน้าสำนักงานกิจการนักศึกษา

ทหารแจ้งสาเหตุในการเรียกโดยระบุว่า ฝ่ายข่าวทหารรายงานข่าวว่า กลุ่มนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ และกลุ่มแว่นขยาย มีการวางแผนจะเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลร่วมกับกลุ่มดาวดินที่ ม.ขอนแก่น จึงขอให้คณาจารย์และนายกสโมสรคณะฯ ตักเตือนนักศึกษาไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมือง รวมทั้งถ้าจะจัดกิจกรรมอะไรในมหาวิทยาลัยต้องติดต่อแจ้งรายละเอียดให้ทหารทราบ

อ.ไชยันต์ เปิดเผยในภายหลังว่า “ผมไม่รับปากว่าจะคอยติดตาม สอดส่องให้ เพราะผมคิดว่าคณะรัฐศาสตร์ที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง ก็เป็นแง่วิชาการ ความรู้ ความเข้าใจต่าง ๆ เหล่านี้ก็ขึ้นอยู่นักศึกษาว่าจะนำความรู้ไปใช้ทำอะไร”

“หลังถูกทหารเรียกพบ กิจกรรมทางวิชาการที่จะจัด เราต้องขับรถไปขออนุญาตทหารอยู่ที่ มทบ. 22 อยู่เรื่อย ๆ” อ.ฐิติพล ให้ข้อมูล “ในความเห็นของผม ทหารพยายามควบคุมเสรีภาพทางวิชาการ ทำให้พวกเราไม่มีความอิสระ เราไม่รู้ว่าเราถูกตรวจสอบ ดักฟัง ติดตามแค่ไหน แม้แต่การเรียนการสอนในห้องเรียน” ด้านวัชรพงษ์ก็เห็นว่า “ความเป็นอิสระของการทำกิจกรรมนักศึกษาลดลง การจะจัดกิจกรรมของนักศึกษาต้องแจ้งมหาวิทยาลัยและทหารก่อน แม้แต่งานเลี้ยงส่งรุ่นพี่ ทหารยังมาที่งานและสอบถามว่างานนี้ทำเพื่ออะไร จัดทำไม”

 

เรียกรายงานตัวสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูล หลังโพสต์แถลงการณ์ให้ยกเลิกกฎอัยการศึก

25 พ.ย. 57 กฤษกร ศิลารักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล เข้ารายงานตัวที่ มทบ.22 ตามที่ได้รับแจ้งจากผู้ช่วยป้องกันจังหวัดอุบลฯ ว่า มีหนังสือจาก มทบ.22 ให้เขาเข้ารายงานตัว เพื่อทำความเข้าใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากมีการนำเสนอข่าว ทหารขอความร่วมมือให้เขาปิดเฟซบุ๊ก เพราะมีเนื้อหาที่สร้างความไม่สบายใจให้กับผู้ใหญ่ ในการเข้ารายงานตัว เสนาธิการ มทบ.22 ชี้แจงว่า ทหารขอความร่วมมือให้ลบข้อความที่แสดงความเห็นต่อต้านรัฐประหาร และ คสช. ไม่ได้ให้ปิดเฟซบุ๊ค กฤษกรยังแสดงความเห็นเรื่องเขื่อนปากมูลได้ตามปกติ การที่มีข่าวดังกล่าวจึงเป็นการบิดเบือน ทำให้ทหารเสียหาย และเกิดความแตกแยก ขอให้กฤษกรชี้แจงนักข่าวด้วย  จากนั้น ทหารได้ให้กฤษกรลงชื่อในหนังสือแสดงเจตนารมณ์ว่า จะไม่ทำการใด ๆ ที่มีลักษณะต่อต้าน คสช. หรือก่อให้เกิดความแตกแยกอีก

ทั้งนี้ กฤษกรให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านั้น ทหารได้โทรศัพท์มาขอให้เขาปิดเฟซบุ๊ค “ร่วมกันเปิดประตูเขื่อนปากมูลถาวร” ซึ่งเขาคาดว่า เนื่องมาจากมีการโพสต์แถลงการณ์ “หยุดคุกคามเสรีภาพประชาชน ยกเลิกกฎอัยการศึก” ต่อมา ทหารยังให้เขาปิดเฟซบุ๊คส่วนตัวอีกด้วย ในระหว่างที่เขายังไม่ได้เข้ารายงานตัว กำลังทหาร ตำรวจก็ไปติดตามเขาที่สำนักงานสหกรณ์การเกษตรปากมูล และที่บ้านแม่ใน อ.ราษีไศล จ.ศรีษะเกษ ทำให้แม่และคนทั้งหมู่บ้านแตกตื่น

 

แทรกแซงเวทีเสวนาของ ม.อุบลฯ “การปฏิรูปทางการเมือง เพื่อความงาม ความเจริญ และความเป็นธรรม”

27 ก.พ. 58 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยคณะรัฐศาสตร์ ร่วมกับกลุ่มคณะวิชาทางสังคมศาสตร์ มีกำหนดจัดงาน มหกรรมวิชาการทางสังคมศาสตร์แห่งชาติ ประจำปีการศึกษา 2557 ในงานมีเสวนาทางวิชาการหัวข้อ “การปฏิรูปทางการเมือง เพื่อความงาม ความเจริญ และความเป็นธรรม” ผู้เข้าร่วมเสวานาประกอบด้วย เกษียร เตชะพีระ, วรเจตน์ ภาคีรัตน์, อธึกกิจ แสวงสุข (ใบตองแห้ง) และฐิติพล ภักดีวานิช ดำเนินรายการโดย ณรุจน์ วศินปิยมงคล

แต่ก่อนถึงวันจัดงาน ทหารได้โทรศัพท์สอบถามรายละเอียดของงาน และยังให้ตัวแทนคณะรัฐศาสตร์เข้าไปชี้แจงรายละเอียดที่ มทบ.22 รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล คณบดี, ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช  รองคณบดี จึงเข้าไปที่ มทบ.22 ทหารแสดงความกังวลที่ปรากฏชื่อ อ.วรเจตน์ เข้าร่วมเสวนา เนื่องจาก อ.วรเจตน์ ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ไม่เข้ารายงานตัว คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลทหาร แต่จากการพูดคุยทหารให้จัดเสวนาต่อไปได้ โดยให้ทำหนังสือขออนุญาตจัดงานไปที่ มทบ. 22 และทหารขอส่งคนเข้าร่วมเวที

โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งานทางเฟซบุ๊คก่อนถูกทหารขอให้ปรับเปลี่ยน

 

หลังจากนั้น ทหารยังเรียกผู้จัดงานไปพบอีกครั้ง โดยให้ปรับเปลี่ยนโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งานที่โพสต์ในเฟซบุ๊คซึ่งมีรูปทหารถือปืน และแสดงความกังวล ไม่อยากให้ในงานมีการวิพากษ์วิจารณ์ คสช. คณะกรรมการจัดงานจึงมีมติว่า เพื่อให้งานลุล่วงไปได้และมีความเห็นหลากหลาย จึงให้เชิญสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เข้าร่วมในเวทีเสวนาด้วย โดยผู้ร่วมเสวนาที่ปรับเปลี่ยนใหม่ประกอบด้วย สมบัติ จันทรวงศ์, พฤทธิสาณ ชุมพล, วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และอธึกกิต แสวงสุข มีฐิติพล ภักดีวานิช เป็นผู้ดำเนินรายการ ทั้งนี้ ในวันงานไม่มีทหารในเครื่องแบบมาสังเกตการณ์ แต่ผู้จัดงานต้องบันทึกวีดิโอส่งให้ มทบ.22

 

ทหารเรียกผู้บริหาร 4 สถาบันอุดมศึกษา ให้สอดส่อง/ปราม นศ.ไม่ให้เคลื่อนไหวเชื่อมโยง 14 นศ.

17 ก.ค. 58 มทบ.22 ส่งหนังสือด่วนเรียกผู้บริหาร/คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยใหญ่ 4 แห่งในจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยราชธานี และมหาวิทยาลัยการจัดการและเทคโนโลยีอีสเทิร์น เข้าร่วมพบปะ ทำความเข้าใจการดำเนินการของ คสช. โดยอ้างถึง คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558

ในที่ประชุม พลตรี นิรุทธ เกตุสิริ ผบ.มทบ.22 ขอให้ผู้บริหารและคณาจารย์ของแต่ละมหาวิทยาลัยช่วยดูแล ตรวจสอบนักศึกษาว่า มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหวต่อต้าน คสช. หรือไม่ เช่น กลุ่มดาวดิน และกลุ่มนักศึกษาในกรุงเทพฯ อ้างรายงานของสายข่าวทหารว่า นักศึกษาของทั้ง 4 มหาวิทยาลัย มีการจัดตั้งกลุ่มขึ้นเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมือง ใช้สื่อออนไลน์ในการรับรู้ข่าวสาร และการสร้างสถานการณ์หรือทำให้เป็นข่าว ให้เหมือนว่าจังหวัดอุบลฯ มีความไม่สงบ เช่น การชูป้ายของนักศึกษา ม.อุบล ฯ ทั้งนี้ ให้ทางมหาวิทยาลัยติดต่อหรือแจ้งข่าวการเคลื่อนไหวของนักศึกษาโดยตรงกับกองข่าวของ มทบ.22 ได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ ผบ.มทบ.22 ยังขอให้ทางมหาวิทยาลัยจัดระบบในการตรวจสอบและอนุมัติเงินทุนสนับสนุนกิจกรรมของนักศึกษาที่มาจากภายนอกมหาวิทยาลัย โดยให้ผ่านความเห็นชอบจากอธิการบดีและมีการกำกับดูแลจากอาจารย์ที่ปรึกษากิจกรรมอย่างใกล้ชิด

รศ.ดร. นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดี ม.อุบลฯ กล่าวในที่ประชุมว่า “ในส่วนของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ยอมรับว่า มีการเคลื่อนไหวทางความคิดอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในระดับที่ทางมหาวิทยาลัยเฝ้าระวังและสามารถควบคุมสถานการณ์ได้” ขณะที่ผู้บริหาร ม.ราชธานี สอบถามว่า มีนักศึกษา ม.ราชธานี เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลจริงหรือ? เพราะส่วนมาก ม.ราชธานี มีแต่นักศึกษาผู้หญิง

หลังการประชุม ฐิติพล ภักดีวานิช รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลฯ แสดงความเห็นว่า “นักศึกษามีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง สิ่งเหล่านี้เราควรที่จะยอมรับเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ไม่ใช่มองความเห็นหรือการเคลื่อนไหวของนักศึกษาว่าเป็นการต่อต้านรัฐบาล มันอาจจะเป็นข้อดีต่อกระแสการปฏิรูปการเมืองก็ได้” (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

ปิดกั้นกิจกรรม สกัดการเคลื่อนไหวของชาวบ้านปากมูล พร้อมเรียกรายงานตัว

***24 ก.พ. 58 ฝ่ายความมั่นคงจังหวัดอุบลฯ ติดตามให้ กฤษกร ศิลารักษ์ ประสานงานสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล เข้าชี้แจงที่ศาลากลางจังหวัดเกี่ยวกับรายละเอียดการจัดงาน ‘2 ทศวรรษ เขื่อนปากมูน’ ซึ่งจะจัดในวันที่ 13 – 16 มี.ค. 58 โดยรองผู้ว่าฯ อ้างว่าไม่สบายใจต่อการจัดงาน เนื่องจากในงานจะมีการรณรงค์หยุดเขื่อนโลก ซึ่งไม่สอดคล้องกับบรรยากาศของการสร้างความปรองดอง และมีลักษณะเป็นการชุมนุม ซึ่งขัดต่อกฎอัยการศึก หัวหน้าฝ่ายข่าว มทบ.22 แสดงความเห็นด้วยว่า การจัดงานยังไม่มีการขออนุญาตทาง มทบ.22 อีกทั้งไม่เห็นด้วยกับไปดูงานสร้างเขื่อนดอนสะโฮงที่ สปป.ลาว หลังการชี้แจง ฝ่ายความมั่นคงยังไม่สบายใจ จึงให้กฤษกรเข้าไปชี้แจงอีกครั้งที่ มทบ.22 พร้อมส่งหนังสือขออนุญาตจัดงาน  หลังจากนั้น ทหารพยายามกดดันให้เลื่อนงานออกไป โดยอ้างถึงสถานการณ์การเมืองที่ตึงเครียด แต่สมัชชาคนจนยืนยันจัดงานตามกำหนดการเดิม โดยวันจัดงานวันแรกมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 3-4 คน เข้าสังเกตการณ์ ต่อมา ในช่วงค่ำทหารโทรศัพท์หากฤษกร สั่งไม่ให้จัดงานในวันที่สอง คณะผู้จัดงานจึงตัดสินใจงดการประชุมวางแผนรณรงค์คัดค้านเขื่อนในแม่น้ำโขง ทำให้กิจกรรมในวันที่สองเหลือเพียงพิธีสืบชะตาแม่น้ำ และรณรงค์ “หยุดเขื่อนโลก”

***30 มี.ค. 58 ก่อนชาวบ้านปากมูลเดินทางด้วยรถไฟ เพื่อไปติดตามความคืบหน้าในการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ที่ทำเนียบรัฐบาล ตำรวจได้ไปพบแกนนำชาวบ้าน สอบถามเรื่องการเดินทางและกิจกรรมที่จะทำในกรุงเทพฯ โดยมีท่าทีข่มขู่คุกคาม ทำให้แกนนำชาวบ้านและครอบครัวเกิดความหวาดกลัว

***5 มิ.ย. 58 หลังชาวบ้านสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล เข้าพบผู้ว่าฯ เพื่อเสนอปัญหาความเดือดร้อน ในวันที่ 4 มิ.ย. มีตำรวจไปที่บ้านของที่ปรึกษาและแกนนำชาวบ้านรวม 5 คน แต่ไม่พบ ตำรวจแจ้งที่บ้านว่า มทบ.22 ให้เอารถมารับตัวไปพบเพื่อปรึกษาเรื่องการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ต่อมา จึงมีหนังสือลงนามโดย ผบ.มทบ.22 /ผบ.กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.อุบลฯ (กกล.รส.จ.อุบลฯ) ให้แกนนำ 11 คน เข้าพบ แต่แกนนำยังติดภารกิจไม่สามารถเข้าพบได้

***30 มิ.ย. 58 ที่ปรึกษาและแกนนำสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล รวม 4 คน เข้าพบ ผบ.มทบ.22 ตามที่มีหนังสือไปถึง ทหารขอให้ทางแกนนำหยุดการเคลื่อนไหว และนำขบวนเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกับที่ชุมนุมให้กำลังใจคณะกรรมการแก้ไขปัญหาปากมูล หน้าศาลากลางจังหวัดเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. โดยกล่าวว่า ลักษณะการจัดขบวนมีการชูธง และมีจำนวนผู้ชุมนุมจำนวนมาก คล้ายกับการชุมนุมทางการเมือง ท้าทายกฎหมาย อาจทำให้เกิดกระแสการเคลื่อนไหวเรียกร้องในลักษณะเดียวกันอีกหลายพื้นที่ตามมา หากมีปัญหาอะไรให้มาพูดคุยกัน ด้านแกนนำชาวบ้านกล่าวโต้ว่า การที่สมัชชาคนจนชุมนุมที่หน้าศาลากลางเป็นจำนวนมากนั้นก็เพื่อให้กำลังใจคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่รัฐบาลตั้งขึ้น ทุกคนอยากฟังคำตอบจากที่ประชุม เพราะเชื่อว่าคณะกรรมการชุดนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลได้เป็นรูปธรรม หลังการพูดคุย แกนนำชาวบ้านทั้งสี่ต้องเซ็นเงื่อนไข ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง งดเว้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ก่อให้เกิดความสับสน/ความแตกแยก และห้ามวิจารณ์ คสช. หากฝ่าฝืนเงื่อนไขยินยอมให้ดำเนินคดีและระงับธุรกรรมทางการเงิน (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

***25 ต.ค. 58 ทหารและตำรวจไปพบแกนนำปากมูนในพื้นที่เพื่อยับยั้งไม่ให้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ แต่ชาวบ้านออกเดินไปก่อนแล้ว เพื่อไปกดดันรัฐบาลให้เปิดการเจรจากรณีที่ผู้ว่าอุบลฯ จะเสนอคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลให้ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน ก่อนกำหนด วันต่อมา ชาวบ้านไม่ได้เข้าพบหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล เพื่อเจรจาในเรื่องดังกล่าว จึงประกาศจัดชุมนุมใหญ่หน้าศาลากลางจังหวัดอุบล ฯ ในวันที่ 28 ต.ค. 58 ค่ำวันเดียวกัน ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง เข้าไปในพื้นที่ปากมูนหลายหมู่บ้าน ไปพบแกนนำถึงบ้าน โดยเฉพาะที่บ้านหัวเห่ว อ.โขงเจียม เจ้าหน้าที่เรียกชาวบ้านให้มาประชุม สั่งห้ามไม่ให้ชาวบ้านไปชุมนุมในวันที่ 28 ต.ค. ตามที่กฤษกรให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ โดยอ้างว่า เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ทำให้ชาวบ้านปากมูนไม่พอใจ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ข่มเหงชาวบ้านโดยไม่มีเหตุผล (อ่านที่เพจปลดปล่อยอิสรภาพให้แม่น้ำ)

***4 พ.ย. 58 ทหารจาก มทบ.22 เข้าไปในพื้นที่ปากมูล และที่สำนักงานสมัชชาคนจน พยายามข่มขู่พร้อมยก พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาอ้าง ว่าการจัดกิจกรรมเปิด “เขตรักษาพันธุ์ปลา” ที่จะมีขึ้นในวันที่ 9 พ.ย. 58 ผู้จัดต้องขออนุญาตก่อน แต่ชาวบ้านยืนยันที่จะจัดกิจกรรมเช่นเดิม

***12 มี.ค. 59 สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูลจัดกิจกรรมเนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก ตลอดกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่ทหารจาก มทบ.22 ตำรวจ และฝ่ายความมั่นคง มากำกับดูแลการจัดงานกว่า 30 นาย และสั่งให้ระงับการจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์หัวข้อ “แม่น้ำเพื่อชีวิต ไม่ใช่เพื่อความตาย” โดยให้เหตุผลว่าอาจสร้างความขัดแย้ง กลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจนจึงจำเป็นต้องยกเลิกเวทีเสวนาดังกล่าว (อ่านรายละเอียดที่ข่าวสด)

 

ศาลฎีกากลับคำพิพากษาคดีเผาศาลากลาง จำคุกตลอดชีวิต ดีเจต้อย แกนนำกลุ่มชักธงรบ

15 ธ.ค.58 ศาลจังหวัดอุบลราชธานีอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลฯ ซึ่งเหตุเกิดเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 มีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวน 21 ราย แต่ศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ยกฟ้อง โดยอัยการโจทก์ไม่ติดใจยื่นฎีกาจำนวน 8 ราย คงเหลือจำเลยที่เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา รวม 13 ราย ทั้งนี้ ศาลฎีกามีคำพิพากษากลับ ให้จำเลย 4 ราย มีความผิดฐานร่วมกันวางเพลิง ให้จำคุกตลอดชีวิต (ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน จำนวน 2 ราย) หลังจากศาลชั้นต้นและอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในข้อหา ส่วนจำเลย 4 ราย ที่ถูกคุมขังมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2553 โดยศาลชั้นต้นและอุทธรณ์พิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ลดโทษให้เหลือจำคุก 33 ปี 12 เดือนนั้น ศาลฎีกาพิพากษาแก้โทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน

นายวัฒนา จันทศิลป์ ทนายจำเลยกล่าวว่า จำเลยบางรายที่เคยถูกยกฟ้องหรือได้รับโทษไม่มากกลับมารับโทษเพิ่มขึ้น เนื่องจากศาลฎีกาเชื่อตามพยานหลักฐานและคำเบิกความของพยานโจทก์ว่า ทุกคนมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด โดยเฉพาะ ‘ดีเจต้อย’ พิเชษฐ์ ทาบุดดา ดีเจและแกนนำกลุ่มชักธงรบ ซึ่งเป็นกลุ่มมวลชนขนาดใหญ่ในจังหวัดอุบลราชธานี ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ตัดสินจำคุก 1 ปี แต่ศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีการลดหย่อนโทษ เพราะศาลเชื่อว่าเป็นผู้บงการให้มีการเผาศาลากลางจังหวัดตามที่อัยการฟ้อง

นอกจากพิเชษฐ์ (59 ปี) แล้ว จำเลยที่ต้องรับโทษจำคุกตลอดชีวิตอีก 1 คน คือ ชัชวาล ศรีจันดา (33 ปี) ซึ่งยืนยันว่า เขาไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมที่ศาลากลาง (ศาลชั้นต้นและอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง) ส่วนจำเลยที่ศาลฎีกาลดโทษให้เหลือจำคุก 33 ปี 4 เดือน คือ อรอนงค์ บรรพชาติ (47 ปี) เจ้าของสวนพันธุ์ไม้ เธอยืนยันต่อศาลว่า วันเกิดเหตุได้ขึ้นปราศรัยให้คนอยู่ในความสงบ ไม่ได้ปลุกระดมให้เข้าไปเผาศาลากลาง (ชั้นต้นลงโทษจำคุก 8 เดือน, อุทธรณ์แก้เป็นจำคุก 2 ปี) และลิขิต สุทธิพันธ์ (55 ปี) ให้การต่อศาลว่า เข้าไปขว้างก้อนหินขณะยังไม่เกิดเหตุไฟไหม้ (ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุก 2 ปี)

ต่อมา ผู้ต้องขัง 4 ราย ได้แก่ สนอง เกตุสุวรรณ์, สมศักดิ์ ประสานทรัพย์, ธีรวัฒน์ สัจจสุวรรณ และปัทมา มูลมิล ซึ่งศาลชั้นต้น พิพากษาจำคุก 33 ปี 12 เดือน และถูกขังมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2553 หลังได้รับพระราชทานอภัยโทษเนื่องในวาระพิเศษ 2 ครั้ง คงเหลือโทษจำคุก 18 ปี 9 เดือน ก็ได้รับการพักโทษเป็นกรณีพิเศษและได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 60 โดยเงื่อนไขในการพักโทษที่สำคัญ คือ ต้องไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติทุกเดือน จนกว่าจะครบโทษในเดือน พ.ค. 72 และห้ามเดินทางออกนอกพื้นที่เขตจังหวัด

ส่วนจำเลยอีก 4 คน ที่ต้องรับโทษเพิ่มตามคำพิพากษาของศาลฎีกา หลังพ้นโทษในปี 59 มีข้อมูลว่า บางคนถูกเจ้าหน้าที่ติดตามมาพบทุกเดือนจนถึงทุกวันนี้ โดยเจ้าหน้าที่มาพูดคุยสอบถามว่า เคลื่อนไหวอะไรมั้ย จากนั้นก็ถ่ายรูป แล้วกลับไป

 

รื้อหมายจับคดีชุมนุมปี 53

8 เม.ย. 59 ตำรวจจับกุมนายสิทธิชัย คำนาโฮม ตามหมายจับในคดีชุมนุมและเผายางประท้วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ หน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ ในช่วงสายวันที่ 19 พ.ค. 53 นายสิทธิชัย ให้การปฏิเสธว่าไม่ใช่บุคคลตามหมายจับ อย่างไรก็ตาม สิทธิชัยได้รับประกันตัวในชั้นสอบสวน และศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักพอจะระบุได้ว่า จำเลยเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดตามฟ้อง

15 พ.ย. 60 นายพงษ์ศักดิ์ ตุ้มทอง หรือดีเจอึ่งอ่าง ถูกตำรวจเข้าจับกุมตามหมายจับ ในคดีชุมนุมและเผาโลงศพจำลองที่ราชธานีอโศก เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 53 ซึ่งคนเสื้อแดงกว่า 2,000 คน ชุมนุมประท้วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ซึ่งสนับสนุนการใช้กำลังปราบปรามคนเสื้อแดง อดีตดีเจเสื้อแดงให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้รับการประกันตัวด้วยเงินสด 60,000 บาท ซึ่งญาติกู้ยืมมา พงษ์ศักดิ์ให้ข้อมูลว่า หลังเหตุการณ์ดังกล่าวไม่นาน เขาได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งเขาก็ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว แต่ตำรวจก็ไม่เคยติดต่อเขามาอีกเลย ทั้ง ๆ ที่เขาพักอยู่ในอุบลฯ มาตลอด ไม่ได้หลบหนี (อ่านเพิ่มเติมที่ประชาไท) ต่อมา พนักงานอัยการจังหวัดอุบลฯ มีคำสั่งไม่ฟ้องนายพงษ์ศักดิ์ในคดีดังกล่าว เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ

6 มิ.ย. 61 นายปิติพัฒน์ ธนัสถ์ทวีสิริ หรือดีเจตุ้ย ซาไก ถูกจับกุมตัวตามหมายจับในคดีเดียวกับดีเจอึ่งอ่าง หลังเข้ารับการผ่าตัดสมองจากอาการเส้นเลือดในสมองตีบ แล้วชื่อของเขาไปปรากฏในสารบบของประกันสังคม เขาถูกควบคุมตัวขึ้นรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปดำเนินคดีที่ สภ.วารินชำราบ ในวันต่อมา และได้รับการประกันตัวที่ศาลจังหวัดอุบลฯ ด้วยเงินสดที่ญาติรวบรวมมา จำนวน 70,000 บาท ปัจจุบันคดียังอยู่ในชั้นสอบสวน (อ่านเพิ่มเติมที่Redfam Fund) นายปิติพัฒน์ได้รับหมายเรียกและเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในปี 53 พร้อมนายพงษ์ศักดิ์และพิเชษฐ์ ทาบุดดา แต่หลังจากนั้น นายปิติพัฒน์ไม่เคยได้รับการติดต่อจากพนักงานสอบสวนอีก จนกระทั่งถูกจับกุมที่กรุงเทพฯ ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตถึงการนำหมายจับในปี 2553 มาเร่งจับกุมคนเสื้อแดงในหลายคดีหลายจังหวัด

 

อดีต ส.ส.เพื่อไทย ยังถูกเรียกรายงานตัวเป็นระยะ

14 ธ.ค.58  นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลฯ พรรคเพื่อไทย ถูกทหารเรียกมารายงานตัวเพื่อปรับทัศนคติที่ มทบ.22 จากกรณีที่นายสมคิดโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า “ปีนี้ ชาวนาเดือดร้อน เพราะราคาข้าวตกต่ำ อยากให้รัฐบาลรับจำนำข้าวเพื่อช่วยเหลือชาวนาเหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา” หลังการเข้ารายงานตัว นายสมคิดยินยอมที่จะลบข้อความดังกล่าวในเฟซบุ๊คออก และได้ทำหนังสือสัญญาว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง หากมีการกระทำอีก ยินดีให้ดำเนินการตามกฎหมาย (อ่านข่าวที่นี่)

30 พ.ค. 59 นายเกรียง กัลป์ตินันท์ และนายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ อดีต ส.ส.อุบลฯ พรรคเพื่อไทย พร้อมนางสาวพิศทยา ไชยสงคราม ภรรยา เข้ารายงานตัว ตามคำสั่งเรียกของ ผบ.มทบ.22 โดยในการเข้ารายงานตัว ผบ.มทบ.22 ระบุว่า มีรายชื่อของทั้งสองคนมาจากส่วนกลางว่า เป็นผู้มีอิทธิพล แต่เมื่อตรวจสอบ 16 ฐานความผิด ไม่พบว่าเป็นผู้มีอิทธิพลตามที่ได้รับแจ้ง จึงจะได้รายงานทางหน่วยเหนือต่อไป และอนุญาตให้ทั้งสองกลับบ้านได้ การพูดคุยใช้เวลาประมาณ 30 นาที (อ่านข่าวมติชน)

 

เรียกรายงานตัวพร้อมขู่ดำเนินคดีที่ปรึกษาปากมูล-เสื้อแดง เหตุโพสต์พาดพิง คสช.

***3 พ.ค.59 กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดอุบลราชธานี อ้างคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรียกนายกฤษกร ศิลารักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล เข้ารายงานตัวที่ มทบ.22 เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจ เนื่องจากเฟซบุ๊คส่วนตัวของกฤษกร มีการโพสต์ข้อความพร้อมภาพที่มีเนื้อหาส่อไปในเชิงต่อต้านการทำงานของรัฐบาลและ  คสช. กฤษกรให้ข้อมูลว่า เป็นการโพสต์เฟซบุ๊คกรณีดอนคำพวง ซึ่งเป็นที่พิพาทระหว่างชาวบ้านกับนายทุนมานานกว่า 10 ปี แต่มีการตัดไม้สงวนหวงห้าม เพื่อเตรียมออกเอกสารสิทธิ์ ชาวบ้านได้เข้าแจ้งความ มีการตรวจยึดไม้ แต่ไม้หายไป และคดีไม่มีความคืบหน้า โดยโพสต์ด้วยว่า “คสช.หายไปไหน” “คสช.รับใช้นายทุน” อย่างไรก็ตาม ผบ.มทบ.22 ให้ฝ่ายกฎหมายของ มทบ.22 แจ้งว่า ข้อความดังกล่าวสุ่มเสี่ยงผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ, (3) นำเข้าข้อมูลที่เป็นความผิดต่อความมั่นคง และกฎหมายอาญามาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน “ผบ.มทบ.22 ก็ยอมรับว่า ข้อมูลที่เราโพสต์เป็นประโยชน์ รอง ผบก.ภ.จว.อุบลฯ กับหัวหน้ากองข่าว มทบ.22 ก็บอกว่า เพิ่งทราบรายละเอียดเรื่องนี้ แต่ก็ย้ำเรื่อย ๆ ในที่ประชุมว่า เรามีความผิด สรุปก็คือ หากมีข้อมูลในลักษณะเช่นนี้อีกให้เราแจ้งข้อมูลโดยตรง อย่าโพสต์เฟซบุ๊กพาดพิง คสช. อีก ทางเราเองได้แสดงความเห็นด้วยว่า ท่านใช้วิธีการเรียกมาพบในค่ายทหาร มีเจ้าหน้าที่มาพูดคุย 10 คน อย่างนี้ สร้างความหวาดกลัว เป็นการคุกคามประชาชน อยากให้ท่านปรับรูปแบบเชิญคุยในร้านกาแฟสบายๆ แล้วการดูเฟซบุ๊คของประชาชนก็ดูที่เนื้อหาว่า ประชาชนต้องการสื่ออะไร มีข้อมูลอะไรที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่คอยแต่ดูว่า ประชาชนจะผิดกฎหมายมาตราไหน ท่านก็บอกว่า การปรับทัศนคติต้องเป็นแบบนี้” กฤษกรกล่าว (อ่านรายละเอียดที่นี่)

***1 ก.ค. 59 นายเกริกยุทธ  คำเพชร์ดี แกนนำเสื้อแดงกลุ่มเสรีชน ถูกเรียกเข้ารายงานตัวที่ มทบ.22 หลังจากเขาโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวพาดพิง คสช.ว่า “พูดแล้วทำไม่ได้ นี่หมานะครับ ‘บิ๊กตู่ ลั่น ไม่มีใครสั่งให้ปล่อยจากอำนาจได้ อัดผู้นำไทย 10 ปี ก่อนทำขัดแย้ง ฝากถ้าไม่เข้ากระบวนการยุติธรรมไม่ต้องคุยกัน’” โดยทหารกล่าวหาว่า การกระทำดังกล่าวส่อไปในเชิงต่อต้านรัฐบาล/คสช. และอาจเข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา16 ฐานดูหมิ่นผู้อื่นผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์, ประกาศ คสช.ที่ 103/2557 ข้อ1(3) เรื่องให้บุคคลงดเว้นการวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของ คสช. และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 หมิ่นประมาทคนอื่นด้วยการโฆษณา พร้อมทั้งให้เกริกยุทธเซ็นบันทึกข้อตกลงว่า จะไม่ทำอะไรที่เข้าข่ายเป็นความผิดดังกล่าวอีกต่อไป

ประชามติไม่ต้อง Free & Fair: ห้ามเปิดศูนย์ปราบโกง-ยึดเสื้อ Vote No-จับคน No Vote-ระงับเสวนา

**19 มิ.ย.59 รัตนา ผุยพรม และเกริกยุทธ์ คำเพ็ชร์ดี กลุ่มเสรีชน จัดทำบุญที่ร้านอุดมแอร์ หลังจากกำหนดจัดกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ ตามที่ นปช. นัดหมายกันทั่วประเทศ แต่ถูกทหารห้ามจัด โดยอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป กลุ่มฯ จึงได้ปรับกิจกรรมมาเป็นทำบุญ โดยมีตำรวจ ทหารในเครื่องแบบประมาณ 60 นาย มาเฝ้าสังเกตการณ์ และเข้ายึดเสื้อยืดสกรีนคำว่า “ไม่ล้ม ไม่โกง ไม่อายพม่า” ที่มีการนำมาแจกผู้มาร่วมทำบุญ

**25 ก.ค. 59 ทหารควบคุมตัวนายอติเทพ อิ่มวุฒิ ซึ่งสวมใส่เสื้อยืดสีดำสกรีนตัวอักษรสีแดงด้านหลังคำว่า “VOTE NO รธน.” ขี่จักรยานยนต์ผ่านหน้าศาลากลางจังหวัด และยึดเสื้อตัวดังกล่าวไว้ ต่อมา ตำรวจได้เชิญตัวมาสอบปากคำและสนธิกำลังกับทหาร ฝ่ายปกครอง เข้าค้นบ้านพัก แต่ไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับการต่อต้านการออกเสียงประชามติ เจ้าหน้าที่จึงนำตัวนายอติเทพมาแถลงข่าวและสอบปากคำเพิ่มเติมที่ สภ.เมืองอุบลฯ นาน 5 ชม. ก่อนปล่อยตัวโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ทั้งนี้ นายอติเทพให้การว่า ได้เสื้อดังกล่าวมาจากเพื่อน จึงแลกมาใส่ เพราะเห็นเท่ห์ดี โดยไม่มีเจตนาอะไร

ที่มาภาพ: ข่าวสด

**26 ก.ค. 59 ตำรวจจราจรเข้าจับกุมนายวิชาญ ภูวิหาร ควบคุมตัวไปดำเนินคดีที่ สภ.พิบูลมังสาหาร ในข้อหา ก่อความวุ่นวาย เพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61  โดยกล่าวหาว่า วิชาญได้พูดจากับประชาชนที่มาซื้อของในตลาด พร้อมชูเอกสาร ปลุกระดมให้ไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ หลังจากถูกจับกุมนายวิชาญให้การปฏิเสธ และอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 12 วัน เพื่อให้ยกเลิกการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งไม่ยื่นประกันตัว อย่างไรก็ตาม ทนายได้ยื่นประกันตัวในภายหลัง และศาลให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน  โดยใช้หลักประกันในวงเงิน 60,000 บาท และมีเงื่อนไขห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ต่อมา ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยมีความผิดตามคำฟ้อง ลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 30,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงเหลือจำคุก 4 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 2 ปี

วิชาญยืนยันว่า วันเกิดเหตุเขาไม่ได้ตะโกนหรือปลุกระดมไม่ให้คนออกมาใช้สิทธิลงประชามติ เพียงแต่ยืนพูดคุยกับเพื่อนในตลาดว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญและการไปออกเสียงลงประชามติ  แต่ศาลเห็นว่า ขณะที่จำเลยพูดมีคนเดินผ่านไปมาได้ยิน การกระทำของวิชาญจึงเข้าข่ายการยุยง หรือมุ่งหวังไม่ให้ประชาชนไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

**1 ส.ค. 59 ฐิติพล ภักดีวานิช คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลฯ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ยกเลิกการจัดงานเสวนา ‘การลงประชามติที่เสรีและเป็นธรรมและนัยต่อประชาธิปไตยไทย’ ซึ่งมีกำหนดจัดในวันที่ 2 ส.ค. 59 วิทยากรประกอบด้วย จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี, นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน, รศ.อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และ ผศ.ตรีเนตร สาระพงษ์ คณะนิติศาสตร์ ม.อุบลฯ

ฐิติพล กล่าวว่า การจัดงานเสวนาครั้งนี้เป็นมติของคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ตั้งใจจะเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นทั้งกลุ่มที่เห็นและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะลงประชามติ 7 ส.ค.59 จึงไม่ใช่การจัดเพื่อคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการจัดให้คนที่คิดต่างได้เจอกัน เป็นงานวิชาการ มีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งคิดว่าจำเป็นมากในเวลานี้  ที่จัดงานเสวนาครั้งนี้เพราะเคยจัดงานลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้ง ซึ่งเป็นการร่วมมือของเครือข่ายนักวิชาการในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาร่วมแลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะจัดงานเสวนาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “ทหารอนุมัติให้มีการจัดเสวนา แต่ทั้งผู้ว่าฯ และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ขอให้ระงับ เพราะเห็นว่าในวันนี้ทางจังหวัดก็ได้จัดงานเกี่ยวกับเรื่องประชามติแล้ว และเกรงว่าอาจจะหมิ่นต่อ พ.ร.บ.ประชามติฯ” (อ่านเพิ่มเติมที่ ประชาไท)

 

เสื้อแดงถูกติดตามหลังโพสต์คิดฮอดทักษิณ

24 พ.ย.59 ธีรศักดิ์ เจริญสิน ได้โพสต์รูปภาพกองข้าวเปลือกและใช้ข้าวเปลือกเขียนข้อความว่า “คิดฮอดทักษิณ” ลงในเฟสบุ๊คส่วนบุคคล หลังจากมีการแชร์ภาพออกไปอย่างกว้างขวางจนกลายเป็นข่าว ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 2 นาย ไปถามหาเขาที่บ้านป้าในอำเภอเขื่องใน แต่ไม่พบ เจ้าหน้าที่ระบุว่า นายให้มาติดตามจากกรณีโพสต์รูปกองข้าวเป็นข้อความดังกล่าว ทั้งนี้ ธีรศักดิ์เล่าว่า เขาเคยเข้าร่วมการชุมนุมกับ นปช. ที่กรุงเทพฯ ในปี 53 จึงอาจเป็นสาเหตุให้ถูกจับตาจากทหารด้วย

ที่มาภาพ: กรุงเทพธุรกิจ

 

ยังคงติดตามหวังสกัดแกนนำปากมูลไม่ให้เคลื่อนไหว

***6 ก.พ. 60 ตัวแทนสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล เดินทางจาก จ.อุบลราชธานี เข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล ติดตามการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล และคัดค้านการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง โดยผู้ประสานงานได้โพสต์รูปและข้อความเกี่ยวกับการเดินทางไปยื่นหนังสือลงในเฟซบุ๊คส่วนตัว ทำให้เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจเดินทางไปที่บ้านของแกนนำชาวบ้านในพื้นที่อำเภอ โขงเจียม สิรินธร และพิบูลมังสาหาร เพื่อข่มขู่ หวังสกัดไม่ให้ชาวบ้านเดินทางเข้ากรุงเทพฯ แต่ชาวบ้านได้ออกเดินทางไปก่อนหน้านั้นแล้ว

***25 เม.ย. 60 ทหารโทรศัพท์ถึงปริวัฒน์ ปิ่นทอง ประธานสมัชชาคนจน เขื่อนปากมูล แจ้งว่าจะพาผู้บังคับบัญชาไปพบที่ทุ่งนา แต่ปริวัฒน์รออยู่จนถึงบ่ายก็ไม่เห็นมา วันเดียวกัน นายทหารระดับผู้บังคับบัญชาก็โทรหากฤษกร ศิลารักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ให้เข้าไปพบที่ มทบ.22 แต่กฤษกรแจ้งว่า อยู่กรุงเทพฯ แล้ว ทหารจึงกล่าวกับกฤษกรว่า “จะทำอะไร ทำไมไม่บอกพี่บ้าง” ทั้งนี้ เหตุที่ทหารติดตามแกนนำชาวบ้าน เนื่องจากวันที่ 27 เม.ย. 60 ตัวแทนชาวบ้านปากมูลจะเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อเจรจาเรื่องความคืบหน้าในการแต่งตั้งกรรมการแก้ไขปัญหาและการเปิดประตูเขื่อนปากมูล

 

ผู้ว่าฯ แจ้งความที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ข้อหาหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เหตุโพสต์วิจารณ์

20 ธ.ค. 60 นายกฤษกร ศิลารักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล เข้ารับทราบข้อกล่าวหา หลังนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าฯ อุบลฯ มอบอำนาจให้ตัวแทนเข้าแจ้งความกล่าวหาว่าเป็นผู้โพสต์เฟซบุ๊คที่ใช้ชื่อว่า สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล สคจ. และ กฤษกร ศิลารักษ์ (บูรพา ไม่แพ้) โดยมีข้อความเกี่ยวกับการที่ผู้ว่าฯ เรียกประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูลเพื่อปิดประตูเขื่อนปากมูล และเชิญชวนให้คนทั่วไป ร่วม “ลอยอังคาร” ผู้ว่าฯ อันเป็นข้อความเท็จ ทำให้ประชาชนตื่นตกใจ และทำให้ผู้ว่าฯ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2),(5) และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328, 384, 393 หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา กฤษกรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และให้ข้อมูลว่า การโพสต์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะไม่เห็นด้วยที่ผู้ว่าฯ เรียกประชุม ซึ่งตนเองมั่นใจว่าเกี่ยวข้องกับการปิดประตูเขื่อนปากมูล เนื่องจากอนุกรรมการชุดที่ถูกเรียกประชุมนั้น มีหน้าที่ปิด-เปิดประตูเขื่อนปากมูล อีกทั้งขณะที่เรียกประชุมนั้น เขื่อนปากมูลเปิดประตูระบายน้ำสุดบาน ทั้ง 8 บาน จึงไม่มีเหตุผลที่จะทำให้เข้าใจเป็นอย่างอื่นได้ ทั้งนี้ การดำเนินคดีโดยผู้ว่าฯ  ในครั้งนี้ อาจเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่พยายามยุติการวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบภาครัฐ ปัจจุบันอัยการยังไม่ยื่นฟ้องคดีต่อศาล

 

ดำเนินคดีแกนนำเสรีชน หลังเข้าร่วมชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง พร้อมสกัดไม่ให้เข้าร่วมอีก

16 ก.พ. 61 พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ คณะทำงานด้านกฎหมาย คสช. เข้าแจ้งความที่ สน.นางเลิ้ง ให้ดำเนินคดีผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้งที่ถนนราชดำเนินเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 61 ในความผิดฐาน มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 โดยปรากฏรายชื่อ รัตนา ผุยพรม แกนนำกลุ่มเสรีชนของอุบลฯ ถูกแจ้งความดำเนินคดีด้วย ทำให้รัตนาต้องเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่กรุงเทพฯ และไปตามนัดหมายตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นศาล ปัจจุบันคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของต่อศาลแขวงดุสิต

ผลจากการถูกดำเนินคดีนอกจากสร้างภาระเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับรัตนาแล้ว ยังทำให้มีเจ้าหน้าที่ไปติดตามเธอมากขึ้น ทุกครั้งที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งนัดหมายชุมนุมในกรุงเทพฯ ทั้งตำรวจ ทหาร สันติบาล กอ.รมน. จะเวียนกันเข้าไปพบรัตนา เพื่อสอบถามว่าจะไปร่วมชุมนุมหรือไม่ พร้อมทั้งพยายามห้ามไม่ให้ไป ล่าสุด การชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเมื่อวันที่ 21-22 พ.ค. 61 ในโอกาสครบรอบ 4 ปี รัฐประหารเจ้าหน้าที่ประมาณ 25 นาย ไปพบที่บ้าน ห้ามไม่ให้ไปร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ โดยอ้างว่าจะผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และขัดคำสั่ง คสช. แต่รัตนายืนยันว่า ต้องนำหมูยอที่สั่งไว้แล้วไปจำหน่ายที่งาน  “เขาก็หาเรื่องให้เราอยู่จนได้ เหมาหมูยอไป 5 หมื่นกว่า วันที่ 21 ก็มาเฝ้ากันทั้งวันทั้งคืน วันที่ 22 อยู่จนถึง 3 ทุ่ม ใครจะไปก็ช่าง จะขนมวลชนไปเท่าไหร่ก็ได้ แต่พี่รัตต้องอยู่ ตลกจริง ๆ นะ กลัวอยู่แต่ผู้หญิงคนเดียว”

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ค รัตนา เสรีชน

+++++++++++++++++

ส่งท้าย

หลังจากทบทวนความหมายของ “ความสงบเรียบร้อย” ของสถานการณ์หลังการรัฐประหาร ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า แท้จริงแล้วคือการใช้อำนาจในการ “ปรามไม่ให้เคลื่อนไหว” “ความสงบเรียบร้อย” ซึ่งหมายถึง ไม่มีใครไปชูป้าย ชูสามนิ้ว หรือจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์อื่น ๆ ต่อต้าน คสช. ไม่มีคนใส่เสื้อที่สกรีนข้อความที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่อยากเห็น หรือถามคำถามที่ไม่อยากได้ยิน ไม่มีคนยื่นหนังสือร้องเรียน ขณะหัวหน้า คสช. ลงพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี พื้นที่ที่เคยเต็มไปด้วยการประท้วงนายกฯ และรัฐบาลที่มีข้อครหาว่าจัดตั้งในค่ายทหาร รวมถึงใช้กำลังปราบปรามการชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งของคนเสื้อแดงในปี 2553 เหล่านี้ล้วนแต่เป็นผลจากปฏิบัติการที่ต่อเนื่องยาวนานมาเป็นเวลากว่า 4 ปี หลังรัฐประหาร และยังคงถ่ายทอดวิธีการปฏิบัติงานแบบใหม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้อ้าง ไม่ว่าจะมีกฎหมายหรือไม่ก็ตาม เพียงแต่เพื่อควบคุมสถานการณ์ ก็อาจใช้อำนาจโดยอำเภอใจได้

การกระทำเพื่อความสงบเรียบร้อยในความหมายข้างต้น แท้จริงแล้วมีความหมายในสังคมประชาธิปไตยว่า  การจำกัดสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงความเห็น การรวมกลุ่ม การชุมนุมโดยสงบ ตลอดจนแทรกแซงสิทธิในความเป็นส่วนตัว ซึ่งการละเมิดสิทธิเสรีภาพของกลุ่มคนที่คิดต่างจากรัฐบาลและ คสช. ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบคุกคามด้วยอำนาจพิเศษของคณะรัฐประหาร และกระบวนการตามกฎหมายปกติที่ผู้ใช้กฎหมายอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือแทรกแซงโดย คสช. ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

นอกจากการกระทำดังกล่าวจะขัดต่อทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญ และพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งรับรองหลักการใช้สิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงความเห็น การรวมกลุ่ม และการชุมนุมโดยสงบแล้ว ยังคงมีสิ่งที่มิอาจประเมินเพื่อเยียวยาได้จากการใช้อำนาจดังกล่าวโดยอำเภอใจ คือผลกระทบที่มีต่อตัวผู้ละเมิด ตลอดทั้งครอบครัวและคนใกล้ชิด อีกทั้งระบบนิติรัฐซึ่งถือเป็นหลักที่ใช้ควบคุมการใช้อำนาจของรัฐมิให้ก้าวล่วงหรือละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ก็มีอันต้องเสียหายไปด้วย

ท้ายที่สุดแล้ว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า ไม่ว่ารัฐหรือเจ้าหน้าที่จะอ้างใช้เหตุผลใดในการควบคุมประชาชนไม่ให้เคลื่อนไหว แต่ด้วยแนวคิดที่มีและวิธีที่ใช้ “ความสงบเรียบร้อย” ไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากปราศจากการยอมรับซึ่งหลักสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม

 

X