7 มิ.ย. 2565 ศาลแขวงอุบลราชธานี นัดสืบพยานคดีของ เค้ก (นามสมมติ) แม่ค้าขายขนมปังปิ้ง และอัญธิกา (สงวนนามสกุล) จากข้อกล่าวหา ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ และเทหรือทิ้งสิ่งปฏิกูลฯ จากการเทอาหารหมาใส่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ระหว่างการลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว
เนื่องจากอัญธิกา จำเลยที่ 2 เดินทางไปทำงานที่สหรัฐอเมริกา และมีกำหนดกลับประเทศไทยช่วงเดือนตุลาคม 2565 ทนายจำเลยจึงยื่นคำร้องต่อศาลขอพิจารณาคดีลับหลังจำเลย โดยมีหนังสือเดินทางและเอกสารเกี่ยวกับการจ้างงานยื่นเป็นหลักฐาน อัยการโจทก์แถลงนำพยานเข้าสืบ 5 ปาก อย่างไรก็ตาม ในช่วงเช้ายังไม่สามารถเริ่มสืบพยานได้ เนื่องจากเค้ก จำเลยที่ 1 ติดธุระทางร้าน และเดินทางมาถึงศาลราว 11.30 น. ศาลจึงเลื่อนการสืบพยานไปเป็นช่วงบ่าย
ช่วงบ่าย หลังปรึกษาทนายความแล้ว เค้กตัดสินใจเปลี่ยนเป็นให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา เนื่องจากอยากให้คดีเสร็จโดยไว และจะได้กลับไปทำงานค้าขายต่อไป พร้อมทั้งแถลงประะกอบคำรับสารภาพด้วยวาจาต่อศาล ใช้เวลาราว 30 นาที
![](https://tlhr2014.com/wp-content/uploads/2022/06/10jun22ubolweb-1-1024x538.jpg)
คำแถลงของเค้กมีใจความโดยสรุปว่า ตลอด 8 ปีที่ผ่านมาในรัฐบาลของประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตของเธอและครอบครัวดีขึ้น โดยเฉพาะการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจและปากท้อง ไปจนถึงความเหลื่อมล้ำอื่นๆ โดยเฉพาะการเข้าถึงโอกาสและทรัพยากรที่รัฐไม่สามารถกระจายออกมาสู่พื้นที่อื่นนอกจากส่วนกลาง จึงเริ่มสนใจการเมืองและหากมีเวลาว่างจากการทำงานจึงเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวกับคณะอุบลปลดแอก แต่แล้วการออกมาเรียกร้องทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงผู้บริหารประเทศ กลับทำให้เธอถูกดำเนินคดีทางการเมืองถึง 2 คดี
สำหรับคดีนี้ที่เธอออกไปปาอาหารหมาในวันนั้น เพราะทนไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่รัฐกีดกันประชาชนไม่ให้เข้าพบนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังมีข่าวนักกิจกรรมและประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง มักจะถูกคุกคามจากตำรวจอยู่เสมอๆ รวมถึงเธอเองที่มักจะถูกเจ้าหน้าที่ติดตามและพยายามไปพบที่บ้านในช่วงที่มีบุคคลตำแหน่งสำคัญในประเทศเดินทางมาที่อุบลฯ
เค้กอธิบายต่อไปถึงอาหารหมาที่ใช้ปาใส่ตำรวจในวันนั้นว่า ไม่ใช่สิ่งปฏิกูลตามที่ถูกกล่าวหา และเธอเองก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะไปดูหมิ่นเจ้าหน้าที่คนไหนโดยเฉพาะเจาะจง เพียงแต่ทำไปเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับการกระทำของระบบที่ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องสยบยอมต่ออำนาจของผู้บังคับบัญชาโดยไม่คำนึงถึงประชาชนด้วยกันที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างสันติ
พัดชา พวงประโคน ผู้พิพากษา กล่าวกับเค้กว่า เข้าใจถึงการออกมาเรียกร้องและต่อสู้ทางการเมืองของจำเลย และแลกเปลี่ยนว่า การเลือกตั้งสมัยหน้าที่จะเกิดขึ้นในไม่กี่ปี จำเลยก็สามารถเลือกพรรคที่มีแคนดิเดตนายกฯ เป็นคนรุ่นใหม่ๆ ได้อีก
จากนั้นศาลพักการพิจารณา 15 นาที เพื่อไปร่างคำพิพากษา ก่อนกลับมาอ่านคำพิพากษา ใจความว่า
จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 33 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันไป ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ฐานร่วมกันดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่ จำคุก 2 เดือน และปรับ 6,000 บาท ฐานร่วมกันเทสิ่งปฏิกูลหรือขยะมูลฝอย ปรับ 4,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน ปรับ 5,000 บาท เห็นว่าเหตุที่กระทำความผิดเนื่องจากจำเลยต้องการแสดงออกทางการเมือง เพียงแต่วิธีการและรูปแบบยังไม่เหมาะสมเท่าใดนัก เมื่อจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน นิสัยและความประพฤติทั่วไปยังไม่ปรากฏข้อเสียหายร้ายแรง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี
หลังศาลอ่านคำพิพากษา เค้กขอรับการสนับสนุนจากกองทุนกองทุนราษฎรประสงค์ในการชำระค่าปรับจำนวน 5,000 บาท จากนั้นจึงเดินทางออกจากศาลเพื่อกลับไปเตรียมตัวขายของในช่วงเย็นต่อไป
ส่วนของอัญธิกา จำเลยที่ 2 ศาลเห็นว่าควรถามคำให้การใหม่อีกครั้ง แต่เมื่ออัญธิกาไม่ได้มาศาลวันนี้ และศาลพิจารณาเอกสารหลักฐานแล้วเชื่อว่าจำเลยได้ไปพักอาศัยอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 จริง ประกอบกับทนายจำเลยแถลงว่า ขอให้ศาลเลื่อนการพิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ออกไปก่อน เนื่องจากจำเลยจะขอให้การและแถลงข้อเท็จจริงต่อศาลด้วยตนเอง จึงให้เลื่อนไปสอบคำให้การอัญธิกาในวันที่ 31 ต.ค. 2565 และเนื่องจากเลื่อนนัดออกไปเป็นเวลานาน ศาลจึงเห็นควรให้จำหน่ายคดีออกไปชั่วคราว
นอกจากคดีนี้เค้กยังถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับอีก 3 นักกิจกรรมคณะอุบลปลดแอก ในกิจกรรมคาร์ม็อบอำนาจเจริญ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการ ก่อนหน้านี้ช่วงเดือนเมษายน 2565 จากการเสด็จของ ร.10 ไปที่อุบลฯ เธอถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่ทั้งไปถ่ายภาพที่บ้านที่ อ.สว่างวีระวงศ์ รวมถึงในหอพักที่ อ.เมือง และวันที่ 30 เม.ย. 2565 ขณะเดินทางไปถ่ายภาพขบวนเสด็จ เค้กยังถูกจับกุมพร้อมกับ ณัฐ นักกิจกรรมอีกราย ไปที่ สภ.วารินชำราบ ถูกควบคุมตัวอยู่ราว 3 ชั่วโมง ก่อนได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา
![](https://tlhr2014.com/wp-content/uploads/2022/06/245332940_369359394978524_6021332620487187093_n-1536x1024-1-1024x683.jpg)
สำหรับการชุมนุมเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 15 ต.ค. 2564 ที่อำเภอวารินชำราบ มีขึ้นขณะ พล.อ.ประยุทธ์ ทำพิธีมอบสิ่งของให้ผู้ประสบอุทกภัยที่บริเวณศาลาประชาวาริน โดยประชาชนต้องการมาแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อรัฐบาล และไม่พอใจที่มีนักกิจกรรมคณะอุบลปลดแอก และกลุ่ม “ศรีสะเกษจะไม่ทน” หลายคน ถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามก่อนการลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์
แต่ผู้ชุมนุมต้องเผชิญกับ คฝ. ราว 4 กองร้อย ที่ตั้งแถวห่างจากศาลาประชาวารินราว 200-300 เมตร สกัดไม่ให้ประชาชนเข้าไปใกล้กับคณะของ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ชุมนุมจึงได้ทำกิจกรรมอยู่ด้านนอก โดยการชูป้ายไล่ ปราศรัยให้ลาออก รวมทั้งมีการโปรยอาหารหมาหน้าแถว คฝ. เพื่อแสดงความไม่พอใจที่ถูก คฝ.ปิดกั้นเสรีภาพ
ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 4 ราย นอกจากเค้กและอัญธิกาในคดีนี้แล้ว ยังมี “ไบค์” หัสวรรษ (สงวนนามสกุล) และ “ภูมิ” กัมพล (สงวนนามสกุล) 2 นักกิจกรรมกลุ่มคบเพลิง ถูกแจ้งข้อหาดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา จากการชูป้ายด่าประยุทธ์ โดยคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง