อัยการเร่งส่งฟ้อง คดีดูหมิ่นเจ้าพนักงานฯ เหตุเทอาหารหมา-ด่า คฝ. ขณะประยุทธ์ไปอุบลฯ 1 ในจำเลยยืนยันไม่ได้พูดประโยคใดๆ ตามที่ถูกฟ้อง

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 พนักงานอัยการคดีศาลแขวงอุบลราชธานี ยื่นฟ้องเค้ก (นามสมมติ) และอัญธิกา (สงวนนามสกุล) ต่อศาลแขวงอุบลราชธานี ข้อหา ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ และเทหรือทิ้งสิ่งปฏิกูลฯ จากการเทอาหารหมาใส่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ระหว่างการลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา แม้จะยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุดขอให้ไม่ฟ้องคดี ก่อนศาลให้ประกันโดยการสาบานตน ไม่ต้องวางหลักประกัน

ส่วนคดีดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณาจากตะโกนและถือป้ายข้อความด่าประยุทธ์ ซึ่ง “ไบค์” หัสวรรษ (สงวนนามสกุล) และ “ภูมิ” กัมพล (สงวนนามสกุล)  ซึ่งแสดงออกระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ไปอุบลฯ เช่นกัน อัยการเลื่อนฟังคำสั่งเป็นวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ก่อนมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่ม และนัดฟังคำสั่งอีกครั้งในวันที่ 27 มกราคม 2565 

วันดังกล่าว ขณะเค้กและอัญธิกาเดินทางถึงสำนักงานอัยการคดีศาลแขวงอุบลฯ ตามนัดฟังคำสั่งอัยการ ทั้งสองได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมถึงอัยการสูงสุด ขอให้มีคำสั่งไม่ฟ้องในทั้ง 2 คดี ระบุเหตุผลว่า การกระทำของผู้ต้องหาเป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น และใช้สิทธิเสรีภาพต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของประเทศ โดยสุจริตปราศจากอาวุธ ซึ่งทั่วโลกที่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยย่อมรับรองให้ทำได้ ดังที่บัญญัติในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR และมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของไทย

อีกทั้งการแสดงออกของผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ในครั้งนี้ เป็นเรื่องส่วนรวมโดยไม่มีประเด็นส่วนตัว เป็นการแสดงออกด้วยเจตนาทางการเมือง และไม่เห็นว่าสังคมส่วนรวมจะได้ประโยชน์อะไรในการฟ้องคดี 

อย่างไรก็ตาม หลังพนักงานอัยการได้รับหนังสือขอความเป็นธรรม ได้แจ้งเค้กและอัญธิกาว่า มีคำสั่งฟ้องคดีของทั้งสองแล้ว และนัดไปยื่นฟ้องที่ศาลแขวงอุบลฯ ในช่วงบ่าย โดยคำสั่งฟ้องของอัยการเป็นไปโดยเร่งรัดหลังการแจ้งข้อกล่าวหาเพียง 3 สัปดาห์

ภาพบรรยากาศที่ศาลแขวงอุบลราชธานี จากเฟซบุ๊ก ฉัตรชัย แก้วคำปอด

คำฟ้องของพนักงานอัยการระบุว่า เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 จำเลยทั้งสองร่วมกันกล่าววาจาดูหมิ่น พ.ต.ต.ณรงค์ กุลหอม สารวัตรป้องกันปราบปราม สภ.วารินชำราบ, ด.ต.ธนเดช ธณะธรธาวิน และ ส.ต.อ.ปัญญาวิทย์ อนุพันธ์ ผู้บังคับหมู่งานป้องกันและปราบปราม สภ.ห้วยทับทัน กับพวกเจ้าพนักงานตำรวจควบคุมฝูงชน ขณะปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยและรักษาความปลอดภัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเดินทางมาตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยรับผิดชอบในเขตพื้นที่ทางสาธารณะถนนรถไฟ อำเภอวารินชำราบ

ด้วยการกล่าวถ้อยคำว่า “…พวกมึงเป็นหมารับใช้ขี้ข้าเผด็จการ…” พร้อมกับใช้อาหารสุนัขขว้างปาใส่พนักงานตำรวจดังกล่าวแล้วพูดว่า “…แดกเข้าไป มึงแดกเข้าไป มึงแดกเข้าไป มึงอย่าเก่งกับกู ถ้ามึงดู ถ้ามึงดูอีกสิบตาร้อยตา ถ้าไม่มีกูจ่ายภาษีให้พวกมึง มึงจะมีเงินเดือนไหม มึงจําไว้ มึงอย่ามาเก่ง มึงอย่ามาเก่งกับประชาชน เงินกูเป็นคนจ่ายภาษีให้พวกมึง พวกมึงแดกข้าวมาหรือยัง ถ้าพวกมึงยังไม่แดก ให้พวกมึงแดกอาหารหมา มึงอย่าเก่งกับพวกกู…” เป็นการดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท เจ้าพนักงานตำรวจให้ได้รับความอับอายเสียหาย อันเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่

คำฟ้องระบุอีกว่า จำเลยทั้ง 2 คนยังได้ร่วมกันเทเศษอาหารสุนัขซึ่งเป็นสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ลงบนถนนทางสาธารณะถนนรถไฟ อำเภอวารินชำราบ 

หลังศาลรับฟ้อง ทั้งเค้กและอัญทิกาต้องเข้าไปรออยู่ที่ห้องควบคุมตัวบริเวณใต้ถุนศาล ก่อนทนายความจะยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ และศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราาวโดยให้สาบานตนแทนการใช้หลักทรัพย์ ก่อนจะนัดพร้อมและคุ้มครองสิทธิในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 

ทั้งนี้ ข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และข้อหา เทหรือทิ้งสิ่งปฏิกูลฯ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 26 มีอัตราโทษปรับอย่างเดียว ไม่เกิน 2,000 บาท 

สำหรับอัญธิกา ปัจจุบันอายุ 24 ปี เรียนจบด้านการท่องเที่ยว ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในอุบลราชธานี เคยไปทำงานที่ภูเก็ตระยะหนึ่ง ก่อนสถานการณ์โควิด-19 ระบาด จึงตัดสินใจกลับบ้านมาทำงานธุรกิจส่วนตัว เธอไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองหรือสังกัดนักกิจกรรมกลุ่มใดมาก่อน แต่ติดตามข่าวสารมาตลอด เนื่องจากครอบครัวเคยเป็นนักการเมืองท้องถิ่น  

“สงสัย ทำไมประชาชนเข้าถึงนายกฯ ยากจัง” เหตุที่โกรธ คฝ.และไปเทอาหารหมา แต่ไม่ได้กล่าวคำด่า

อัญธิกาย้อนเล่าถึงเหตุการณ์ วันที่ 15 ตุลาคม 2564 ว่า เธอตั้งใจจะไปพบนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว หลังเสร็จงานในช่วง 14.00 น. เห็นเพจคณะอุบลปลดแอกไลฟ์สดเหตุการณ์ที่มีตำรวจควบคุมฝูงชนใช้แผงเหล็กกั้นประชาชนที่อยากเข้าไปพบนายกฯ ไม่ให้เข้าไป ทำให้รู้สึกสงสัยว่าทำไมประชาชนเข้าถึงนายกฯ ยากจัง เพราะประชาชนแค่อยากเข้าไปพูดคุยด้วย และคงไม่ได้ไปทำอะไรมากกว่านั้นอยู่แล้ว รู้สึกว่า คฝ.ทำงานเก่งกับประชาชนเกินเหตุ และฉุดกระชากประชาชน 

เมื่ออัญธิกาขับรถจากบ้านในอำเภอเมืองข้ามแม่น้ำมูลไปฝั่งอำเภอวารินชำราบจุดที่มีการรอต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ เธอเห็นร้านขายอาหารหมา จึงซื้ออาหารดังกล่าว 10 กิโลกรัม เพราะปกติเคยซื้ออาหารที่ร้านนี้เพื่อไปเลี้ยงหมาจรจัดในละแวกนั้นอยู่แล้ว 

ภาพการชุมนุมประจันหน้าคฝ.เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 จากเฟซบุ๊ก Win The Photo

จากนั้นจึงขับรถไปถึงศาลาประชาวาริน และเดินฝ่าไปทางด้านหลัง คฝ. ก่อนจะฉีกอาหารหมาเท เธอเล่าอีกว่า “ตอนนั้นไม่ได้สนใจว่าใครจะพูดอะไร เพราะโกรธมาก จากนั้นจึงเห็นคนในที่ชุมนุมหยิบอาหารหมาและโยนช่วยกันไปในกลุ่ม คฝ. โดยที่เราเองไม่ได้พูดอะไร และรู้สึกตื่นเต้น ก่อนที่จะกลับบ้านไปโดยที่ไม่คิดว่าจะถูกออกหมายเรียกในภายหลัง”  

โดยอัญธิกาทราบหลังจากทนายความติดต่อมาในวันที่ 10 พฤศจิกายนว่า ถูกออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.วารินชำราบ เมื่อเห็นข้อความของพนักงานสอบสวนที่ระบุพฤติการณ์กระทำผิด อัญธิกายังยืนยันว่า วันที่ 15 ตุลาคม  เธอไม่ได้พูดข้อความหรือประโยคใดๆ ตามที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา หรือในสำนวนฟ้องของอัยการ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ตำรวจจะถอดคำพูดเหล่านั้นมาจากแอพลิเคชั่น Tiktok ที่มีผู้ชุมนุมในวันดังกล่าวโพสต์ลงไป 

ขณะนี้อัญธิกากำลังปรึกษาทนายในการฟ้องกลับพนักงานสอบสวนที่แจ้งข้อกล่าวหา  เพราะอยากให้เจ้าหน้าที่รัฐรู้ว่าสิ่งที่ตำรวจและอัยการฟ้องมานั้นไม่เป็นความจริง ส่วนเรื่องคดีนี้ก็สู้เต็มที่ ที่บ้านที่เป็นกลุ่มการเมืองเก่าในจังหวัดก็บอกเธอด้วยว่า การไปทำกิจกรรมการเมืองครั้งนี้เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ว่าทำแบบนี้แล้วจะได้เผชิญในสิ่งนี้ สำหรับอัญธิกาที่เห็นชัดเจนคือค่อนข้างเสียเวลาในกระบวนการตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นอัยการ “แต่เราเสียเวลาตอนนี้ ดีกว่าไปเสียเวลาในอนาคตมากกว่านี้หากไม่คิดสู้กับรัฐที่ชอบปิดปากประชาชน” เธอกล่าวทิ้งท้าย  

ภาพจากเฟซบุ๊ก Win The Photo

ส่วนเค้ก จำเลยอีกคน เคยกล่าวหลังรับทราบข้อกล่าวหาเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า สิ่งที่ทำไม่ได้เป็นความผิด เพราะเป็นการใช้สิทธิในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งการเทหรือปาอาหารหมานั้นไม่ใช่สิ่งปฏิกูลตามที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาอย่างแน่นอน และคำว่า “อาหารหมา” นั้นดูเป็นการตีความไปเองของเจ้าหน้าที่ เพราะสิ่งที่นำมาใช้ประกอบการชุมนุมวันนั้นจะเป็นอาหารของใคร ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครกิน 

สำหรับการชุมนุมเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ที่อำเภอวารินชำราบ มีขึ้นขณะนายกรัฐมนตรีทำพิธีมอบสิ่งของให้ผู้ประสบอุทกภัยที่บริเวณศาลาประชาวาริน โดยประชาชนต้องการมาแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อรัฐบาล และไม่พอใจที่มีนักกิจกรรมคณะอุบลปลดแอก และกลุ่ม “ศรีสะเกษจะไม่ทน” หลายคน ถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามก่อนนายกฯ จะลงพื้นที่ แต่ต้องเผชิญกับ คฝ. ราว 4 กองร้อย ที่ตั้งแถวห่างจากศาลาประชาวารินราว 200-300 เมตร สกัดไม่ให้ประชาชนเข้าไปใกล้กับคณะของ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ชุมนุมจึงได้ทำกิจกรรมอยู่ด้านนอก โดยการชูป้ายไล่ ปราศรัยให้ลาออก รวมทั้งมีการโปรยอาหารสุนัขหน้าแถว คฝ. เพื่อแสดงความไม่พอใจที่ถูก คฝ.ปิดกั้นเสรีภาพ ซึ่งภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวจึงมีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 4 ราย 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักกิจกรรมอุบลฯ โดน 2 คดี หลังเทอาหารหมา-ชูป้าย “I Here ตู่” ขณะประยุทธ์ลงพื้นที่ ตร.แจ้งดูหมิ่น จพง.- ดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา

เฝ้าถึงบ้าน-ขู่ถอนประกัน-กดดันครอบครัว นักกิจกรรมและประชาชนอุบลฯ ถูก จนท.คุกคามหนักก่อนประยุทธ์ลงพื้นที่

X