นักกิจกรรมอุบลฯ โดน 2 คดี หลังเทอาหารหมา-ชูป้าย “I Here ตู่” ขณะประยุทธ์ลงพื้นที่ ตร.แจ้งดูหมิ่น จพง.- ดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564  นักกิจกรรมคณะอุบลปลดแอกและนักกิจกรรมกลุ่มคบเพลิงรวม 3 ราย เดินทางไปที่ สภ.วารินชำราบ หลังพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา กรณีผู้ชุมนุมแสดงออกโดยการเทอาหารหมาใส่ คฝ. และชูป้ายด่าประยุทธ์ ระหว่างการลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา

>>>เฝ้าถึงบ้าน-ขู่ถอนประกัน-กดดันครอบครัว นักกิจกรรมและประชาชนอุบลฯ ถูก จนท.คุกคามหนักก่อนประยุทธ์ลงพื้นที่

เมื่อทั้งเค้ก (นามสมมติ), อัญทิกา (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรมคณะอุบลปลดแอก และ “ไบค์” หัสวรรษ (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรมกลุ่มคบเพลิง เดินทางไปถึง สภ.วารินชำราบ คณะพนักงานสอบสวนได้แยกห้องสอบสวน ก่อนจะเริ่มกระบวนการแจ้งข้อหาในแต่ละคดี

คดีเทอาหารหมา ซึ่งมี พ.ต.ต.คุณณรงค์ กุลหอม เป็นผู้กล่าวหานั้น ร.ต.อ.กิตติพงศ์ ตั้งควนิช พนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์กับเค้กและอัญทิกาว่า เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 เวลาประมาณ 15.30 น. ขณะเจ้าหน้าที่ตํารวจชุดควบคุมฝูงชนปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และตั้งแถวกั้นไม่ให้มวลชนเดินทางเข้าไปในพื้นที่ควบคุม อัญทิกาได้นําเอาอาหารสุนัขที่เตรียมมาด้วยเทลงบนพื้นถนนและขว้างใส่เจ้าหน้าที่ตํารวจชุดควบคุมฝูงชน ร้องด่าว่า “พวกมึงเป็นหมารับใช้ขี้ข้าเผด็จการ…”

ต่อมาเค้กใช้มือหอบและกําอาหารสุนัขที่อยู่บนพื้นถนนขว้างใส่เจ้าหน้าที่ตํารวจ พร้อมกับร้องด่าด้วยถ้อยคําบางตอนว่า “แดกเข้าไป มึงแดกเข้าไป มึงแดกเข้าไป มึงแดกเข้าไป มึงอย่าเก่งกับกู ถ้ามึงดู ถ้ามึงดูอีกสิบตาร้อยตา ถ้าไม่มีกูจ่ายภาษีให้พวกมึง มึงจะมีเงินเดือนไหม มึงจําไว้ มึงอย่ามาเก่ง มึงอย่ามาเก่งกับประชาชน เงินกูเป็นคนจ่ายภาษีให้พวกมึง พวกมึงแดกข้าวมาหรือยัง ถ้าพวกมึงยังไม่แดก ให้พวกมึงแดกอาหารหมา มึงอย่าเก่งกับพวกกู…” 

ร.ต.อ.กิตติพงศ์ แจ้งว่าการกระทําของทั้งสอง เป็นการสบประมาท ดูถูกเหยียดหยาม ทําให้อับอายเสียหาย ดูหมิ่นเจ้าพนักงานตํารวจซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่  เป็นความผิดฐาน “ร่วมกันดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ และร่วมกันเทหรือทิ้งสิ่งปฏิกูล มูลฝอย หรือสิ่งอื่นใดลงบนถนน” 

โดยทั้งเค้กและอัญทิกาให้การปฏิเสธ และจะให้การในชั้นศาลเท่านั้น 

ส่วนคดีชูป้าย “I Here ตู่” นั้น พ.ต.ท.ครองชัย ตาลประดิษฐ์ รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สภ.วารินชำราบ เป็นผู้กล่าวโทษให้ดำเนินคดี โดย พ.ต.ท.สุรพล สุราษฎร์ ได้แจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหากับไบค์ หัสวรรษว่า เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 เวลาประมาณ 16.30  น. ขณะ พ.ต.อ.วรการ ป้องกัน ผกก.สภ.วารินชำราบ กับพวก ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยู่บริเวณถนนหน้าศาลาประชาวาริน มีประชาชนทั่วไป สื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่อยู่ประมาณ 30-40 คน และขบวนรถยนต์ของนายกฯ ผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ ไบค์ และ “ภูมิ” กัมพล ร่วมกันร้องตะโกนด่านายกรัฐมนตรีว่า “ไอ้เหี้ยตู่ออกไปๆ” และร่วมกันถือป้ายผ้าสีขาวข้อความพ่นด้วยสเปรย์สีดำว่า “I Here ตู่ รัฐบาลฆาตกร” พ.ต.อ.วรการ กับพวกจึงเข้าไประงับเหตุห้ามทั้งสอง และยึดป้ายผ้าข้อความดังกล่าวเป็นของกลางประกอบคดี 

พนักงานสอบสวนแจ้งว่า การกระทำของไบค์และภูมิ ที่ร้องตะโกนด่าและถือป้ายข้อความดังกล่าว เป็นการสบประมาท ดูถูกเหยียดหยาม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำให้ได้รับความเสียหาย อับอายเป็นที่น่ารังเกียจของประชาชน ด้วยการโฆษณา เป็นความผิดฐาน “ร่วมกันดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา”

ไบค์ให้การปฏิเสธและจะให้การในชั้นศาล 

เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา ตำรวจได้พิมพ์ลายนิ้วมือของทั้ง 3 คน ก่อนพนักงานสอบสวนนัดส่งตัวอัยการทั้ง 2 คดี ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 

ในคดีชูป้ายด่าประยุทธ์ มีผู้ถูกออกหมายเรียกอีกรายคือ “ภูมิ” กัมพล (สงวนนามสกุล) หนึ่งในนักกิจกรรมกลุ่มคบเพลิง แต่เนื่องจากภูมิยังไม่ได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน จึงไม่ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาพร้อมไบค์ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2564 ภูมิได้เข้าพบพนักงานสอบสวนพร้อมทนายความ หลังพนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์และข้อกล่าวหาในคดีเช่นเดียวกับไบค์ ภูมิให้การปฏิเสธและจะให้การในชั้นศาลเช่นกัน

คดีเทอาหารหมานั้น ข้อหา ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และข้อหา เทหรือทิ้งสิ่งปฏิกูลฯ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 26 มีอัตราโทษปรับอย่างเดียว ไม่เกิน 2,000 บาท 

ส่วนข้อหาดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา ในคดีชูป้ายด่าประยุทธ์ เป็นความผิดตามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 ถือเป็นความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่มีโทษเล็กน้อย คือมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นข้อหาเดียวกับที่ “มิลลิ” ดนุภา คณาธีรกุล นักร้อง ถูกอภิวัฒน์ ขันทอง ประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เข้าแจ้งความจากเหตุโพสต์วิจารณ์พลเอกประยุทธ์

เค้กกล่าวหลังรับทราบข้อกล่าวหาว่า สิ่งที่ทำไม่ได้เป็นความผิด เพราะเป็นการใช้สิทธิในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งการเทหรือปาอาหารหมานั้นไม่ใช่สิ่งปฏิกูลตามที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาอย่างแน่นอน และคำว่า “อาหารหมา” นั้นดูเป็นการตีความไปเองของเจ้าหน้าที่ เพราะสิ่งที่นำมาใช้ประกอบการชุมนุมวันนั้นจะเป็นอาหารของใคร ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครกิน 

ด้านไบค์กล่าวถึงพฤติการณ์ในคดีของเขาว่า “แค่ไปชูป้ายแล้วเป็นความผิดแบบนี้ คงไปสั่นสะเทือนต่อพลเอกประยุทธ์มาก และนายกฯ คงเป็นคนที่อ่อนไหวต่อการวิพากษ์วิจารณ์จึงต้องให้คนอื่นมาดำเนินคดีกับนักกิจกรรม ยิ่งตอกย้ำความล้มเหลว ทำให้ตนยิ่งขาดความเชื่อมั่นนายกฯ คนนี้มากขึ้น”

นอกจากคดีนี้ไบค์ยังถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 2 คดี จากกิจกรรมคาร์ม็อบอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 1 และ 15 สิงหาคม 2564 โดยเขาและนักกิจกรรมในจังหวัดอุบลราชธานี เพิ่งไปรับทราบข้อกล่าวหามาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

สำหรับการชุมนุมเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ที่อำเภอวารินชำราบ มีขึ้นขณะนายกรัฐมนตรีทำพิธีมอบสิ่งของให้ผู้ประสบอุทกภัยที่บริเวณศาลาประชาวาริน โดยประชาชนต้องการมาแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อรัฐบาล และไม่พอใจที่มีนักกิจกรรมคณะอุบลปลดแอก และกลุ่ม “ศรีสะเกษจะไม่ทน” หลายคน ถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามก่อนนายกฯ จะลงพื้นที่ แต่ต้องเผชิญกับตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ราว 4 กองร้อย ที่ตั้งแถวห่างจากศาลาประชาวารินราว 200-300 เมตร สกัดไม่ให้ประชาชนเข้าไปใกล้กับคณะของพลเอกประยุทธ์ ผู้ชุมนุมจึงได้ทำกิจกรรมอยู่ด้านนอก โดยการชูป้ายไล่ประยุทธ์ ปราศรัยให้ลาออก รวมทั้งมีการโปรยอาหารสุนัขหน้าแถว คฝ. เพื่อแสดงความไม่พอใจที่ถูก คฝ.ปิดกั้นเสรีภาพ ก่อนจะเสร็จสิ้นกิจกรรมในเวลา 17.00 น. ซึ่งภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวจึงมีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 4 ราย 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

คาร์ม็อบอุบลฯ โดน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2 คดี นักกิจกรรมชี้รัฐใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่สอดคล้อง เหตุคาร์ม็อบไม่เสี่ยงแพร่โควิด

X